SHARE

คัดลอกแล้ว

นักเศรษฐศาสตร์มี 2 คำอธิบายหลักๆว่าทำไมปุถุชนอย่างเราๆท่านๆถึงควักสตางค์ไปบริจาค

คำอธิบายแรกมีชื่อว่า ‘แสงเรืองรองที่อบอุ่น (warm glow)’ กล่าวคือผลตอบแทนจากการบริจาคคือความอบอุ่นในจิตใจณขณะที่เราได้มีสถานะเป็นผู้ให้

คำอธิบายที่สองมองการบริจาคอย่างเย็นชาว่าไม่ต่างจากการ ‘ซื้อบริการ’ เช่นหากผมต้องการปกป้องผืนป่าตะวันตกแทนที่ผมจะไปสมัครเป็นผู้พิทักษ์ป่าหรือร่วมเดินสายรณรงค์หยุดล่าสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ก็สามารถบริจาคเงินเพื่อซื้อบริการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรให้ไปทำงานปกป้องผืนป่าแทนได้ส่วนตัวผมเองก็ยังทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนต่อไปและคอยตรวจสอบผลประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการทำงานขององค์กรเราส่งเงินไปสนับสนุน

หากคุณบริจาคเพื่อหวัง ‘แสงเรืองรองที่อบอุ่น’ ผู้เขียนแนะนำให้ข้ามบทความนี้ไปแต่หากคุณบริจาคโดยหวังประสิทธิผลให้เงินที่ส่งไปนั้นสร้างประโยชน์แบบคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์บทความนี้มีคำตอบให้ครับ

1. อย่าบริจาคโดยใช้อารมณ์เป็นตัวตั้ง

ในยุคดิจิตอลที่เราสามารถหยิบโทรศัพท์มือถือมาโอนเงินได้เพียงปลายนิ้วคลิกทำให้เราเสี่ยงที่จะ ‘บริจาคแบบหุนหันพลันแล่น’ กล่าวคือเห็นพาดหัวขอรับความช่วยเหลือก็พร้อมส่งเงินไปบริจาค เป็นการตัดสินใจโดยใช้หัวใจแต่อาจไม่ได้ผ่านการไตร่ตรองโดยสมอง จะว่าไปก็คล้ายคลึงกับการช็อปสินค้าออนไลน์ที่เข้าแอพฯ ไม่นานก็เผลอกดซื้อสินค้าไปเป็นพันโดยแทบไม่รู้ตัว

นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพบว่าคำเชิญชวนโดยผู้มีชื่อเสียงหรือเรื่องเล่าสะเทือนอารมณ์ที่ถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ตรงจะสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายผนวกกับความสะดวกสบายในการโอนเงินยิ่งกระตุ้นให้เราบริจาคเงินแบบไม่คิดอะไรมากซึ่งอาจไม่เหมาะนักหากคุณต้องการบริจาคเงินแบบหวังประสิทธิผล

สำหรับผู้เขียนวิธีที่จะหยุดการโอนเงินบริจาคด้วยอารมณ์ชั่ววูบได้ดีที่สุดคือการนึกถึงความเหนื่อยยากของการหาเงินแต่ละบาทเข้ามาในบัญชีที่จะทำให้ตระหนักว่าอย่านำเงินที่ได้มาอย่างยากลำบากไปให้คนอื่นแบบง่ายเกินไปนัก

2. รายละเอียดต้องชัดเจน

หากผู้รับบริจาคเปิดรับความช่วยเหลือแบบชั่วครั้งชั่วคราว งบประมาณและรายละเอียดโครงการต้องชัดเจน เช่น ต้องการเงินทั้งหมดกี่บาท แล้วเงินดังกล่าวจะถูกแบ่งสันปันส่วนอย่างไร ใช้ทำอะไรบ้าง แล้วผู้รับบริจาคมีการหักค่าใช้จ่ายหรือไม่ ในอัตรากี่เปอร์เซ็นต์ของยอดรับบริจาคทั้งหมด แต่หากผู้รับบริจาคเป็นองค์กร อย่างน้อยเราก็ควรพิจารณาถึงพันธกิจ เป้าหมาย และความสำเร็จที่ผ่านมาจากการดำเนินการ

ตัวอย่างเช่นงบประมาณโครงการรับมือไฟป่ามูลค่า 800,000 บาทโดยจะจัดซื้ออุปกรณ์ดับไฟให้ผู้พิทักษ์ป่า 600,000 บาทและจัดทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงปัญหาไฟป่า 200,000 บาทเราในฐานะผู้บริจาคก็สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวพิจารณาความสมเหตุสมผลและความสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการหากรับได้ก็ค่อยโอนสตางค์แต่ถ้ารู้สึกไม่โอเคก็ลองมองหาผู้รับบริจาครายอื่นๆที่มีเป้าหมายใกล้เคียงกัน

ผู้เขียนขอหมายเหตุไว้หน่อยว่ากระบวนการพิจารณานี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและรสนิยมของแต่ละคนเพราะเงินอยู่ในบัญชีของเราเราก็ย่อมมีเสรีภาพในการจะนำเงินดังกล่าวไปบริจาคให้ใครก็ได้ส่วนจะสร้างประโยชน์ต่อสาธารณะมากน้อยเพียงใดสามารถหาคำตอบได้ในขั้นต่อไป

3. ติดตามตรวจสอบได้

สำหรับนักบริจาคที่หวังสร้างประโยชน์ต่อสังคม สิ่งที่เราสามารถเรียกร้องได้คือให้เหล่าผู้รับบริจาค ไม่ว่าจะเป็นองค์กรการกุศลหรือบุคคลธรรมดาที่ระดมเงินสำหรับทำโครงการ เปิดเผยยอดเงินบริจาค รายละเอียดการนำเงินไปใช้ และการวัดประสิทธิผลของโครงการ

ความโปร่งใสเรื่องยอดรับและยอดจ่ายเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สุดที่ผู้รับบริจาคต้องเปิดเผยในฐานะที่ระดมเงินจากสาธารณชนโดยมีเป้าหมายเพื่อสาธารณประโยชน์หากเป็นองค์กรก็ควรมีรายงานประจำปีเผยแพร่แต่ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปที่ริเริ่มระดมเงินบริจาคเป็นครั้งแรกก็ควรมีกลไกสร้างความโปร่งใสอยู่ในรายละเอียดตั้งแต่กระบวนการขอรับบริจาคเช่นการเปิดบัญชีเฉพาะกิจที่พร้อมจะนำรายการเดินบัญชีมาเปิดเผยภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาระดมเงินทุนหรือการให้บุคคลที่สามซึ่งเป็นอิสระและน่าเชื่อถือเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์พร้อมทั้งดูแลการเบิกจ่าย

ส่วนการวัดประสิทธิผลของโครงการเรามีเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลอย่างการวัดผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment) ที่คล้ายคลึงกับการวัดผลตอบแทนจากการลงทุนสำหรับตราสารหนี้และตราสารทุนแต่เพิ่มเติมผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงินเข้าไปในการวิเคราะห์ด้วย

ตัวอย่างเช่นการวิเคราะห์โครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าในแง่ผลตอบแทนที่พิจารณาเพียงเงินลงทุนก่อสร้างเขื่อนและรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าอาจดูคุ้มค่าแต่หากเรานำมิติทางสังคมและสาธารณะเข้าไปเช่นรายได้จากการประมงของชาวบ้านที่ลดลงมูลค่าของความหลากหลายทางชีวภาพที่หดหายและมูลค่าตะกอนดินอันอุดมสมบูรณ์ที่ถูกกักทิ้งไว้หลังเขื่อนก็อาจทำให้โครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่าหากมองผ่านแว่นตาผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน

อย่างไรก็ดี เครื่องมือดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ค่อนข้างยุ่งยาก และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะใช้สื่อสารได้อย่างดีเยี่ยมเพราะเป็นภาษาที่ใช้ทั่วไปในแวดวงธุรกิจ อีกทั้งเจ้าของโครงการยังสามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวในการปรับปรุงและพัฒนาโครงการได้ดียิ่งขึ้น โดยลดผลกระทบทางลบที่เกิดจากโครงการโดยไม่ตั้งใจ

แล้วแบบไหนที่เรียกว่าการขอรับบริจาคที่ดี?

หลายคนอาจพอเริ่มเข้าใจแนวทางการบริจาคแบบหวังผลแต่ยังคงไม่เห็นภาพว่าการขอรับบริจาคที่เหมาะสมนั้นควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ไม่ต้องห่วงครับ เราสามารถเข้าไปดูวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในการขอรับเงินบริจาคบนเว็บไซต์อย่างเทใจ แพลตฟอร์มระดมเงินบริจาคสัญชาติไทย

โครงการต่างๆ ที่กำลังของรับบริจาคบนเว็บไซต์เทใจ

เทใจทำหน้าที่เป็น ‘ตัวกลาง’ ที่เปิดรับโครงการระดมเงินบริจาคที่น่าสนใจตรวจสอบข้อมูลและสรุปภาพรวมโครงการรวมถึงรายละเอียดการใช้เงินแล้วจึงนำมาเผยแพร่บนแพลตฟอร์มให้ผู้ใจบุญสามารถมาเลือกบริจาคได้ความต้องการโดยเทใจอำนวยความสะดวกด้านระบบชำระเงินการออกใบกำกับภาษีและติดตามความคืบหน้าของโครงการภายหลังปิดรับเงินบริจาคโดยคิดค่าดำเนินการ 10 เปอร์เซ็นต์จากยอดการบริจาคทั้งหมดเรียกว่าเป็นผู้ให้ความเชื่อมั่นอย่างเป็นอิสระ (Independent Assurance) ในวงการการกุศลก็คงไม่ผิดนัก

ส่วนในโลกตะวันตกก็จะมีเว็บไซต์ช่วยเหลือคนที่กำลังมองหาองค์กรเพื่อบริจาคอย่างCharity Navigator ที่รวบรวมข้อมูลและจัดอันดับมูลนิธิโดยพิจารณาในมิติด้านการใช้เงินอย่างมีประสิทธิผลและความโปร่งใสขององค์กรแล้วสรุปมาเป็นคะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 5 ดาว พร้อมกับข้อมูลเบื้องต้นว่าองค์กรดังกล่าวมีพันธกิจอะไรและประสบความสำเร็จอะไรบ้างในอดีต โดยมีองค์กรให้เราเลือกบริจาคกว่าเก้าพันแห่ง

เฮ้อ! อ่านแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจว่าทำไมกว่าจะได้บริจาคมันแสนจะยากเย็น

แต่สำหรับผู้เขียนนี่คือการลงทุนที่คุ้มค่าเพื่อให้มั่นใจว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ของเราจะนำไปสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้จริงแถมไม่ต้องกลัวจะเจ็บใจเมื่อรู้ทีหลังว่าโดนนำเงินบริจาคไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่สำคัญเรายังเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยยกระดับวิธีปฏิบัติในการขอรับบริจาคของไทยเพื่อให้ความโปร่งใสตรวจสอบได้และความรับผิดรับชอบต่อผู้บริจาคกลายเป็นสิ่งพื้นฐานที่ผู้ขอรับบริจาคต้องทำแม้จะไม่มีใครเรียกร้องก็ตาม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า