โลกทวิตเตอร์ผุดแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี ขึ้นมา เปิดจินตนาการใหม่ ๆ ว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพแค่ไหนหากการเมืองช่วยเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้เต็มประสิทธิภาพ

เวิร์คพอยท์ทูเดย์สำรวจกรณีศึกษาจากต่างประเทศ หยิบเอาบางประเด็นที่กรณีชีวิตคนเปลี่ยนโดยมีการเมืองเป็นตัวตั้งมาดูกัน

อากาศสะอาดเป็นเรื่องของการเมืองเรื่องการต่อรองล้วน ๆ ระหว่างประชาชน รัฐบาล และภาคการผลิต แต่รัฐบาลที่มีความรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อประชาชนจะตัดสินใจเรื่องนี้ได้อย่างสมดุลโดยไม่มีใครต้องแบกรับความเสียหายมากเกินไป
สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ ย้อนกลับไปหลังช่วงสงคราวโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาขยายตัว มีการสร้างโรงงานมากมาย และที่มากับโรงงานคือควันเสียที่ปล่อยออกมาโดยไร้การควบคุม เมืองใหญ่ ๆ หลายแห่งประสบปัญหาควันพิษ
ปี 1970 เกิดกระแสความเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมาทำให้ชาวอเมริกากว่าล้านคนลงถนนเพื่อเรียกร้องอากาศบริสุทธิ์ รัฐบาลริชาร์ด นิกสันจึงต้องรีบเซ็นผ่านกฎหมายนี้ออกมา กำหนดให้ควบคุมปริมาณควันพิษที่ปล่อยออกจากโรงงาน
นั่นคือสมัยที่เราอาจจะเรียกว่า “การเมืองดี” เนื่องจากผู้นำรับผิดรับชอบตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน และรัฐบาลต่อ ๆ มาก็ใช้แนวทางในการสร้างสมดุลระหว่างเสียงของผู้ผลิตกับเสียงประชาชน
อย่างไรก็ดี สภาวะเช่นนี้ไม่ได้อยู่คงทนถาวรเสมอไป
ในสมัยรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ การรักษาสมดุลตรงนี้หายไป เดือนเมษายน 2020 ประธานาธิบดีผู้นี้เลือก แอนดรูว วีลเลอร์ ผู้เป็นล็อบบี้ยิสต์อุตสาหกรรมถ่านหินมานั่งตำแหน่งประธาน E.P.A. ซึ่งเป็นผู้กำหนดค่ามาตรฐานในการควบคุมมลพิษ
ไม่นานอดีตล็อบบี้ยิสต์ก็ออกนโยบายผ่อนคลายค่ามาตรฐาน ให้โรงงานปล่อยมลพิษได้มากกว่าเดิม นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าการเมืองส่งผลต่อการหายใจของเราอย่างไร
สำหรับประเทศไทย มีความพยายามจะผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาดแต่ยังไม่สำเร็จ บทความเรื่อง “กฎหมายอากาศสะอาด : ยากถึงยากมาก”ของ กรุงเทพธุรกิจ
วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ
จะถกเถียงว่าการเมืองไทยเป็น “การเมืองดี” หรือ “การเมืองไม่ดี” อีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่เห็นชัดคือเป็นการเมืองที่ไม่สามารถต่อรองกับกลุ่มผลประโยชน์เพื่อสร้างนโยบายเรื่องอากาศที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพประชากรได้

ประเทศเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาเรื่องสิทธิแรงงานตามกระบวนการประชาธิปไตย
ในสมัยที่เกาหลีใต้อยู่ใต้การปกครองของระบอบเผด็จการในทศวรรษ 1970-1980 รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบส่งออกแรงงานค่าแรงต่ำ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้มาใช้เป็นฐานการผลิต
แรงงานเกาหลีทำงานในสมัยนั้นโรงงานเย็บผ้าแลกค่าแรงต่ำ สภาพการทำงาน 14-15 ชั่วโมงต่อวัน และเมื่อมีการรวมตัวประท้วงของแรงงานรัฐบาลทหารใช้เจ้าหน้าที่ปราบปรามทั้งที่เป็นกิจการของเอกชน กล่าวได้ว่ารัฐบาลทหารมีบทบาทไม่น้อยในการกดไม่ให้แรงงานมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างในขณะนั้น
ขบวนการแรงงานของเกาหลีใต้เฟื่องฟูพร้อม ๆ กับการมาของประชาธิปไตย เมื่อเกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยได้สำเร็จก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งขั้วอำนาจต่อรองระหว่างรัฐและนายทุน
เมื่อ “การเมืองดี” แล้ว เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงแล้ว แรงงานที่มีจำนวนมากกลายมาเป็นฐานเสียงและมีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ผู้ตัดสินใจทางการเมืองจำให้ต้องรักษาฐานเสียงของแรงงานด้วยการยอมให้มีการตั้งสหภาพได้อย่างเสรี ทำให้แรงงานเกาหลีมีเสียงในการต่อรองมากขึ้น นำมาซึ่งการปรับปรุงสภาพการทำงาน มีชั่วโมงการทำงานสั้นลง และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง
ช่วงปี 1970 เกาหลีใต้เป็นแหล่งส่งออกแรงงานราคาถูกพร้อม ๆ กับไทย ปัจจุบันค่าแรงเกาหลีใต้อยู่ที่ชั่วโมงละ 8,720 วอน หรือประมาณ 228 บาท (ถ้าทำงานวันละ 8 ชั่วโมงก็ตกวันละ 1,824 บาท) ขณะที่ไทยอยู่ที่วันละ 331 บาท
เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่กล่าวได้เต็มปากว่า “การเมืองดี” อย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะมองจากอันดับความเป็นประชาธิปไตย (EIU Democrcy Index) หรือความโปร่งใสในการบริหาร (Corruption Perceptions Index) และยังทำให้เป็นหนึ่งในประเทศที่คนมีความสุขที่สุดในโลก
OECD ระบุว่าการเมืองดี ๆ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเดนมาร์กมุ่งลงทุนกับการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไม่ใช่เพียงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์เพื่อรักษาความเป็นประชาธิปไตยของเดนมาร์กอย่างนี้ต่อไป
ในประเทศเดนมาร์กใครก็ตามที่เข้าเรียนชั้นปริญญาจะได้รับเงินเดือนละ 5,839 โครน โดยไม่ต้องจ่ายคืนแม้จะเรียนไม่จบ เริ่มตั้งแต่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถรับเงินส่วนนี้ได้สูงสุด 6 ปี หมายความว่าเรียนได้จนจบป.โท ถ้าใครเรียนเก่งก็จะได้เงินพิเศษเพิ่มด้วย
ผลของนโยบายนี้ยังทำให้มหาวิทยาลัยเดนมาร์กมีอัตราการจบการศึกษาสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่เป็นสมาชิก OECD และจบออกมาโดยไม่มีหนี้ที่เกิดการจากกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายกับการศึกษาด้วย แต่ก็แลกมาด้วยภาษีที่จ่ายในอัตราสูง
นโยบายนี้ถูกโจมตีจากภาคธุรกิจว่าค่าเทอมฟรีทำให้นักเรียนนักศึกษาขาดแรงจูงใจในการแข่งขันเข้าสาขาที่จบมาจะได้ค่าแรงสูง ส่งผลให้ตลาดแรงงานขาดผู้เชี่ยววชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ขณะที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการของเดนมาร์กบอกว่าที่ให้แบบนี้เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ว่านักศึกษามีภูมิหลังแบบไหนก็จะสามารถเข้าเรียนในสิ่งที่สนใจและประสบความสำเร็จทางการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังชี้ว่าการที่ใครสักคนต้องตกหล่นจากการศึกษาไปก็สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจด้วยเช่นเดียวกัน

เอสโตเนียกลายเป็นประเทศร่ำรวยจากเศรษฐกิจดิจิตัลโดยใช้เวลาเพียง 25 ปี หลังออกจากสหภาพโซเวียต เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่เกิดจากศูนย์เริ่มใหม่ทั้งหมดแต่ปัจจุบันไล่กวดประเทศอย่างฟินแลนด์และสวีเดนได้แล้วถึง 70%
Viljar Lubi รัฐมนตรีด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ กระทรวงกิจการเศรษฐกิจและการสื่อสารแห่งเอสโตเนียเคยให้สัมภาษณ์กับ the 101 World ว่าการเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดสิ่งนี้ คือหลังได้รับเอกราชก็เปลี่ยนจากประเทศคอมมิวนิสต์มาเป็นทุนนิยมมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
อีกหนึ่งส่วนที่ทำให้เอสโตเนียก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดคือมีการ “ผลักนักการเมืองรุ่นเก่าออกไปจากระบบ และเปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานการเมืองผ่านวิถีประชาธิปไตย” โดยนักการเมืองรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นอดีตผู้นำนักศึกษาที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดของประเทศใหม่ทั้งหมด นายกรัฐมนตรีคนแรกของเอสโตเนียอายุ 32 ปีตอนเข้ารับตำแหน่ง
การเข้ามาของคนรุ่นใหม่นี้เองที่เข้ามาสร้างเสริมสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านดิจิทัล การฟูมฟักทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่รุ่นเด็กให้ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่ ทำให้วันนี้เอสโตเนียเป็นประเทศสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยอัตราสตาร์ทอัพต่อประชากร 1 คน ต่อจำนวนประชากร 3,000 คน
อีกหนึ่งไฮไลท์คือ เอสโตเนียเป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง “e-government” เชื่อมระบบราชการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แก้ปัญหาระบบราชการที่เทอะทะและจัดให้มีความโปร่งใสได้ง่ายด้วยบริการแบบ open data ทำให้เอสโตเนียติดอันดับต้น ๆ เรื่องการมีรัฐบาลที่โปร่งใสอีกด้วย
ความสำเร็จเรื่องสมรสเท่าเทียมในสหรัฐอเมริกาเป็นความสำเร็จจากการเมือง
ที่บอกอย่างนี้ เพราะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาคือศาลรัฐธรรมนูญ (หรือศาลสูงสุด) ตัดสินแต่ละครั้งเปลี่ยนประวัติศาสตร์อเมริกันไปตลอดกาล เช่น เรื่องยุติการแบ่งแยกทางสีผิว เป็นต้น ตัดสินแล้วถือว่ามีผลบังคับใช้ในทุกมลรัฐทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา
แน่นอนว่าหน้าที่สำคัญขนาดนี้หลายคนหมายมั่นปั้นมืออยากจะตั้งคนที่มีความคิดเห็นตรงกับตัวเองเข้าไปนั่งในศาล เพื่อให้กฎหมายของประเทศออกมาสอดคล้องกับแนวทางของตนเอง แต่อำนาจในการแต่งตั้งศาลเป็นของประธานาธิบดี ซึ่งไม่ใช่ว่าประธานาธิบดีทุกคนจะมีสิทธิแต่งตั้งด้วย ผู้พิพากษาในศาลชุดนี้ดำรงตำแหน่งตลอดชีพ จะมีการแต่งตั้งได้ต่อเมื่อศาลพ้นจากตำแหน่ง (เสียชีวิต) เท่านั้น
ศาลจะมีแนวคิดหัวสมัยใหม่ หรืออนุรักษ์นิยม ขึ้นกับเทรนสังคมในช่วงที่มีการแต่งตั้งนี่เอง
สมัยของบารัค โอบาม่าก่อนจะมีการตัดสินเรื่องการสมรมเท่าเทียม ตำแหน่งผู้พิพากษาบังเอิญว่างลง 2 ที่ ทำให้มีโอกาสแต่งตั้งเพิ่มเข้าไปถึง 2 คน
โอบามาใช้โอกาสนี้ในการสร้างความหลากหลายภายในศาลที่มีผู้หญิงส่วนเป็นน้อย โดยการแต่งตั้งผู้หญิงผิวสีสองคนเข้าไปนั่ง คนหนึ่งคือ Kagan อีกคนหนึ่งคือ Sotomayor เพื่อให้ศาลสูงสุดของประเทศมีความหลากหลายขององค์คณะ
สองเสียงที่เพิ่มเข้ามา กลายเป็นกำลังสำคัญพลิกทำให้เสียงส่วนใหญ่ของศาลมีความก้าวหน้า และทำให้การตัดสินเรื่องสมรสเท่าเทียมคลอดออกมาบังคับใช้ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา
ก่อนหน้านี้ปี 1971 เรื่องการแต่งงานของคนเพศ (sex) เดียวกันเคยถูกยื่นไปศาลรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แล้ว แต่ในขณะนั้นองค์คณะทั้งคณะเป็นผู้ชาย ขาดความหลากหลาย เรื่อง LGBT ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคม ทำให้ศาลไม่รับเรื่องนี้เข้าพิจารณา
ผ่านมากว่า 30 ปี สังคมอเมริกามีความตื่นตัวพอที่จะเลือกประธานาธิบดีผิวสีที่สัญญาว่าจะทำเพื่อความหลากหลาย ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งก็เลือกผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติด้วยเกณฑ์ของความหลากหลายตามที่ให้สัญญา
เรื่องนี้เองชี้ให้เห็นว่าหากที่มาของอำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาชนก็จะสามารถสะท้อนเสียงสาธารณะและตอบสนองความต้องการ รวมถึงเดินหน้าไปพร้อมสังคมได้