SHARE

คัดลอกแล้ว

กระแสการชุมนุมของเยาวชนทั่วประเทศไทยในปีนี้ เป็นภาพการชุมนุมที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุด นับตั้งแต่การเข้ามาสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี การเว้นระยะห่างยาวนานกว่า 6 ปี ทำให้การชุมนุมครั้งนี้ นำมาสู่ภาพใหม่ๆ ที่เป็นการตอบรับกันระหว่างความเคลื่อนไหวในโลกดิจิตัลและท้องถนน

#ไอเดียออกม็อบ ทะยานขึ้นติดเทรนด์อันดับหนึ่งของทวิตเตอร์ประเทศตลอดช่วงเช้าและบ่ายวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลากหลายบัญชีร่วมกันแชร์ความคิดเห็นว่า ‘การลงถนน’ ครั้งหน้า ควรจัดกิจกรรมอะไรประกอบการชุมนุม

ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง นอกจากแรงสะเทือนจากปรากฎการณ์ ‘ผีเสื้อขยับปีก’ ที่เริ่มจากการชุมนุม ‘เยาวชนปลดแอก’ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 18 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมาแล้ว – ความเคลื่อนไหวออนไลน์ที่ปูทางมาก่อนหน้านั้นหลายปี มีส่วนมากในการสร้างอัตลักษณ์การชุมนุมที่มีลักษณะจำเพาะนี้ขึ้นมา

จาก ไฮปาร์กตามขนบ สู่ การชุมนุมสร้างสรรค์

‘เยาวชนปลดแอก’ เป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดหลังสถานการณ์โควิด-19 สื่อต่างชาติเห็นตรงกันว่ามีคนเข้าร่วมมากกว่า 2,000 คน ดำเนินไป 8 ชั่วโมง ด้วยรูปแบบการจัดปราศรัยแบบที่ประเทศไทยเห็นจนชินตา ท่ามกลางการ ‘จัดสวน’ เจ้าหน้าที่กทม.ที่ ‘บังเอิญ‘ มาจัดวันชุมนุมทันที ทำให้ผู้ชุมนุมเรือนพันใช้พื้นที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ไม่ถนัดนัก 

ความพยายามในการขัดขวางการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ที่มาในรูปแบบของการจัดสวนถูกหยิบมาเป็นเนื้อหาในโลกออนไลน์ก่อน ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ‘แซวว่า’ ถ้าอยากให้กทม.เป็นเมืองสีเขียวก็ต้องชุมนุมกันบ่อยๆ เจ้าหน้าที่จะได้ตามไปจัดสวน สองสามปีที่แล้วเนื้อหาเหล่านี้อาจเป็นเพียงโจ๊กที่เล่นกันในโลกออนไลน์ แต่สถานการณ์แวดล้อมของเดือนกรกฎาคม ปี 2563 ทำปฏิกิริยากับความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ สุดท้ายเนื้อหานี้จึงได้กลายมาเป็นวัตถุดิบชั้นดีของการชุมนุม

“สวนสวยจริงๆ” คำพูดสั้นๆ ที่ได้ผลในโลกออนไลน์ แบบไม่บังเอิญ

วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 กลุ่มมศว คนรุ่นเปลี่ยนโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนทำกิจกรรม “ชมสวนใหม่ยาม 2 ทุ่ม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” กิจกรรมยืนมอง “สวนอันสวยงาม” ที่ทางกทม.จัดหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วตะโกนพร้อมกันว่า “สวนสวยจริงๆ” พร้อมกัน 10 ครั้ง

https://www.facebook.com/swu.newgen/posts/168635388065521

แม้ในตอนท้ายจะมีสารทางการเมือง เพราะมีการตะโกนคำว่า “ยุบสภา” ด้วย แต่การจัดวางกิจกรรมในรูปแบบของการชมสวนสร้างความปั่นป่วนต่อ “ภาพ” การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่น้อย ยิ่งมีเสียงตะโกนว่า “เจ้าหน้าที่หลบไปหน่อยครับ เห็นสวนไม่ชัด” ยิ่งเน้นย้ำสารที่มองไม่เห็นที่ว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้าระวังคนชมสวน” ซึ่งขับเน้นภาพของความแอบเสิร์ด (Absurd) ของสังคม 

ทฤษฎี Absurd เป็นทฤษฎีการละครที่ถูกคิดขึ้นมาในฝรั่งเศสสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องหนึ่งที่โด่งดังคือ “ปิกนิกในสนามรบ” เรื่องราวเล่าถึงครอบครัวหนึ่งไปปิกนิกในสนามรบอย่างไม่รู้สึกรู้สา กล่าวว่า “อากาศดีแบบนี้ ไม่รู้คนจะรบกันทำไม” การจัดวางเนื้อเรื่องให้ดูไม่สมเหตุสมผลเพื่อเน้นย้ำความไม่สมเหตุสมผลของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ละครเรื่องดังกล่าวทำให้การทำสงครามระหว่างนานาประเทศที่มีเหตุผลทางการเมืองมากมายมารองรับกลายเป็นเรื่อง “ไร้สาระ” ในทันที

ใบปิดละครเรื่อง Picnic on the Battlefield ที่จัดแสดงที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2558 กำกับโดย ปรีชญา เดชมา

การลดทอนการชุมนุมทางการเมืองให้เหลือแค่การชมสวน มีความ ‘แอบเสิร์ด’ ในลักษณะเดียวกัน คือตั้งคำถามใหญ่ว่าหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจคือการมาเฝ้าคนชมสวนหรือไม่

ละครแอบเสิร์ดทำให้คนยุคสงครามโลกชอบใจฉันใด ละครเรื่องกิจกรรมชมสวนก็สร้างความประทับใจแก่แนวร่วมเยาวชนเรียกร้องประชาธิปไตยฉันนั้น

“ผมมองว่าการประท้วงสองแบบน่าจะไปคู่กัน เรามีคนมีสาระและมีการผ่อนคลายความเครียด มันควรไปคู่กัน เพื่อให้ประชาชนมีจังหวะบ้าง” ขนุน แกนนำ ‘มศว คนรุ่นเปลี่ยน’ ให้สัมภาษณ์ workpointTODAY

“แต่มันก็มีผลกระทบนะ หลังผมชมสวนวันก่อนเขาก็รีบมารื้อเลย น่าเสียดายมาก ๆ แต่จริง ๆ ผมไม่ได้ขอให้เขายุบสวน ผมขอให้เขายุบสภา” ขนุนพูดติดตลก

นอกจากนี้ การออกมาตะโกน “สวนสวยจริงๆ” ยังได้ผลในทางการสื่อสารในโลกออนไลน์ เพราะเป็นประโยคที่กระชับ ดูสนุกสนาน ตัวประโยคเป็นบวก ทำให้คนที่อยากเลี่ยงการพูดถึงการเมืองโดยตรงสามารถแชร์เนื้อหาตรงนี้ได้อย่างไม่ขัดความรู้สึก และกลายเป็นหนึ่งในประโยคจำของการการขับเคลื่อนทางการเมืองในวาระนี้

นี่เองที่ทำให้ #ไอเดียออกม็อบ พุ่งทะยานขึ้นมาเพื่อหากิจกรรมชุมนุมแบบใหม่ที่จะมาตั้งคำถามต่อความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตัวรวจได้ในลักษณะเดียวกัน การชุมนุมทางการเมืองกลายเป็นศิลปะสร้างสรรค์ ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสมาเป็นเครื่องมือ

ติ๊กต่อก และ ทวิตเตอร์พื้นที่นำเสนอเนื้อหาการเมืองของผู้ชุมนุม

ผู้ใช้ติ๊กต่อกชื่อ xisminteux ได้ลงวีดีโอ ยาวเพียง 6 วินาที เป็นภาพนักเรียนกลุ่มหนึ่ง สวมหน้ากาก ชูสามนิ้วพร้อมการเต้น เคลื่อนไหวอย่างสนุกสนาน คลิปนี้มีคนนำมาโพสต์ต่อๆ กันในทวิตเตอร์และกลายเป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ไวรัลที่มีคนเห็นและเป็นภาพใหม่ๆ ของการเมืองไทย

รวมถึงผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่อัดคลิปของตนเอง โดยเนื้อหาบอกว่าไม่ถนัดภาษาไทย แต่ตอนท้ายได้วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ทั้งสองคอนเทนต์นี้ ถูกต้องตามหลักการผลิตเนื้อหาออนไลน์ที่จะไวรัล กล่าวคือสั้น กระชับ มีคอนเซ็ปท์ที่ชัดเจนของตนเอง และมีจุดหักมุมที่ช่วยกระตุกอารมณ์ของคนที่เห็นได้เป็นอย่างดี และส่งผลให้ทั้งสองวิดีโอมีคนส่งต่อมหาศาล

“ไม่น่ารักหรือเปล่า” ป๊อปคัลเจอร์ลงสู่ถนน

วัฒนธรรมและการเมืองไม่เคยแยกออกจากกัน วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการสร้างอำนาจนำ (Hegemony) ได้ วัฒนธรรมก็เป็นเครื่องมือของการต่อต้านได้

รูปแบบแรก ๆ ที่เราเห็นในการหยิบวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนมาในรูปแบบ “มีม (Meme)” เพจ “คาราโอเกะชั้นใต้ดิน” หยิบเอาเนื้อเพลงมาจัดวางคู่กับภาพเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์ ขณะที่ในบทสนทนาประจำวันของ “ชาวเน็ต” ภาพของดาราฮ่องกงถูกนำมาใช้แทนรองนายกรัฐมนตรีในการสื่อสารหลายต่อหลายครั้ง ในโลกทวิตเตอร์ วลีฮิตของลูกดาราดัง “ไม่น่ารักหรือเปล่า” ถูกหยิบมาใส่ชื่อนักการเมือง “ประยุทธ์ไม่น่ารักหรือเปล่า?” สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดลงมาบนถนนทันทีที่การเคลื่อนไหวออนไลน์ไหลลงพื้นที่ทางกายภาพ

วัฒนธรรมเหล่านี้ถูกจับมาเขียนบนป้าย ในการชุมนุมวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 กลุ่มนักศึกษา LGBT ชูป้าย “ตัวแทนแห่งดวงจันทร์จะลงทัณฑ์เผด็จการ” หยิบเอาประโยคยอดฮิตจากการ์ตูนขวัญใจ LGBT อย่างเซเลอร์มูนมาสร้างความสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น

เยาวชนถือป้ายระหว่างในการชุมนุมวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หรือการชุมนุม ‘เยาวชนปลดแอก’ ท่ามกลางป้ายมากมาย ป้ายหนึ่งที่สะดุดขึ้นมาคือ “ละแมะ ละแมะ ละไม่ออกสักที” และ “อะหรือ อะหรือ อะหรือว่ามีคนสั่ง?” หยิบเอากระแสไวรัลของ “หยาดพิรุณ” มายั่วล้อใส่สารทางการเมือง

ยังไม่หยุดแค่นั้น วัฒนธรรมป๊อปกลายมาเป็นธีมหลักในการขับเคลื่อนการชุมนุมอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง

จาก #ไอเดียออกม็อบ มีผู้เสนอให้จัด “ม็อบกะเทย” โดยมีกิจกรรมร่วมต่อบทจากภาพยนต์ชุดชื่อดัง “หอแต๋วแตก” ประกอบการแสดงแดรกควีน มีผู้รีทวีตเกือบ 50,000 ครั้ง และผู้เสนอไอเดียประกาศจะนำเรื่องนี้ลงถนนจริงในที่สุด

วิ่งกันนะแฮมทาโร่ ทำการเมืองให้น่ารัก แต่ก็สากลในเวลาเดียวกัน

อีกไอเดียหนึ่งคือมีผู้เสนอให้วิ่งร้องเพลงประกอบการ์ตูนแฮมทาโร่ ใครจะนึกว่าการ์ตูนเด็กเล่าเรื่องแฮมสเตอร์ตัวจิ๋วสุดน่ารักกลายมาเป็นเครื่องมือส่งสารทางการเมือง

“เลือกแฮมทาโร่เพราะคิดว่าคนน่าจะรู้จักเยอะ” ผู้เสนอให้ใช้เพลงแฮมทาโร่ในการชุมนุมประท้วงบอก workpointTODAY เธอขอให้เราเรียกเธอว่า “26” 

26 ทวีตเพลงแฮมทาโร่เวอร์ชั่นปรับแต่งของเธอเอง ช่วงพีคที่สุดในเพลงปรับเนื้อร้องเป็น “ของอร่อยที่สุดก็คือ ภาษีประชาชน” ทวีตนี้ได้รับการรีทวีต 3 หมื่นครั้ง

”เนื้อเพลงจากที่เห็นผ่านตาก็ปั่นดีค่ะไม่หยาบแถมเป็นเพลงสั้นๆ ดนตรีก็น่ารักค่ะคนน่าจะฟังจนจบ หรือไม่ก็อาจจะฟังวนซ้ำได้ ” 

เย็นวันเดียวกัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกรายประกาศนัดรวมพล #วิ่งกันนะแฮมทาโร่ โดยร้องเพลงแฮมทาโร่เวอร์ชั่นปรับแต่งนี้ไปด้วย แน่นอนว่าเราจะได้เห็นความแอบเสิร์ดในแง่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมาเฝ้าระวัง “คนวิ่งแฮมทาโร่” แต่เป้าหมายของผู้จัดได้มองข้ามการยั่วล้อความไม่สมเหตุสมผลของระบบระเบียบของรัฐบาลไปแล้ว เป้าหมายของกิจกรรมวิ่งแฮมทาโร่คือการดึงดูดความสนใจ

“จุดมุ่งหมายของ #วิ่งกันนะแฮมทาโร่ คือการอยากให้มันแมสค่ะ แมสจนสื่อต่างชาติต้องทำข่าว ถ้าสื่อหลักไม่อยู่ข้างเรา เราก็จะสร้างพื้นที่สื่อขึ้นมาเอง” เธอพูดถึงการสร้าง ความเป็นไวรัล (Virality) ผ่านอุปกรณ์ที่ทุกคนมีคือ โซเชียลมีเดีย “ขอรบกวนทุกท่านด้วยนะคะ จะมาเพื่อถ่ายลงไอจี ลง TikTok ยังไงก็ได้ค่ะ มาด้วยกันนะคะ”

จะเห็นได้ว่าไม่ว่ารู้ตัวหรือไม่ก็ตาม รูปแบบความเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ไหลเวียนเป็นวงจร จากแพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ตสู่พื้นที่บนถนน จากพื้นที่บนถนนไหลกลับเข้าสู่แพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ต 

เรื่องความก้าวหน้าของข้อเรียกร้องที่หลายฝ่ายกล่าวว่าการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษาครั้งนี้ก้าวหน้ากว่าการชุมนุมประท้วงครั้งไหน ๆ ในสังคมไทย หากจะว่ากันในแง่ของรูปแบบการเคลื่อนไหว นี่ก็ถือเป็นการข้ามผ่านครั้งใหญ่ เพราะได้สลายเส้นกั้นระหว่างพื้นที่ทางกายภาพและโลกอินเตอร์เน็ตโดยสิ้นเชิง

เป็นบรรยากาศที่เกิดขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยว่างเว้นจากการชุมนุมทางการเมืองที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมากมานานกว่า 7 ปี ซึ่งถือเป็น 7 ปีที่โลกออนไลน์เบ่งบานขึ้นมาก และในเวลาเดียวกันคนก็เข้าถึงมันมากเช่นกัน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า