SHARE

คัดลอกแล้ว

ในภาวะที่โลกเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีธุรกิจหลายอย่างที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค

ช่วงที่ประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสดังกล่าว บี๋อริยะ พนมยงค์ คือหนึ่งคนที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารคนแรกของบริษัท กูเกิ้ล (ประเทศไทย) เมื่อปี 2554 ในยุคที่โลกออนไลน์ยังถูกจำกัดอยู่บนคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ 

และในปี 2558 ที่โทรศัพท์มือถือของคนไทยเกือบครึ่งประเทศเปลี่ยนมาเป็นสมาร์ทโฟน เขาได้เข้าไปบริหารบริษัท ไลน์ (ประเทศไทย) ในยุคที่แอปพลิเคชันไลน์ยังไม่ได้มีบริการเสริมมากมายอย่างในทุกวันนี้ 

ด้วยผลงานที่โดดเด่นของเขาในด้านการบริหารบริษัทเทคโนโลยีทั้งสองแห่ง ทำให้ในปี 2562 ทางช่อง 3 ตัดสินใจดึงอริยะเข้าไปช่วยเปลี่ยนแปลงองค์กร ให้เหมาะกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ แต่สิ่งนั้นก็ไม่เกิดขึ้น เพราะหลังจากทำงานไปได้ 1 ปี เขาตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการในวันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา

อะไรคือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานในฐานะผู้บริหารของบริษัทใหญ่ ทั้งในแง่มุมที่ทำได้สำเร็จและไม่สำเร็จ 

จุดเริ่มต้นและ Culture Shock ของการทำงานในไทย

ในฐานะคนที่เกิดและโตในประเทศฝรั่งเศส จนวันหนึ่งกลับมาตั้งรกรากที่ประเทศไทย หลังจากคบหาดูใจกับภรรยาและตัดสินใจว่าจะแต่งงานและเริ่มต้นครอบครัวที่นี่ อริยะได้รับคำเตือนจากหลายคนว่า เขาอยู่ไม่รอดแน่นอน เนื่องจากไม่มีคนรู้จักที่เมืองไทยเลย

หลังจากตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะมาใช้ชีวิตในประเทศไทย ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ ออเรนจ์ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ทรูมูฟ) กำลังจะเข้ามาเปิดให้บริการในไทยพอดี 

ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยเรียนที่เมืองไทย ไม่เคยทำงานที่เมืองไทย อยู่นานสุดน่าจะเดือนครึ่ง ตอนนั้นกลับมาช่วงซัมเมอร์ ไม่เคยอยู่นาน เพราะฉะนั้นเราจะรู้จักประเทศไทยในฐานะเด็กที่กลับมาเที่ยว แต่ไม่เคยใช้ชีวิตที่นี่

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ออเรนจ์กำลังจะเปิดตัว ก็รับสมัครคน ได้ยินข่าวมาช่วงแรกก็คือช่วงปี 2000 แล้วเปิดตัวปี 2001 เลยรีบส่งใบสมัครมาสัมภาษณ์ แล้วเค้าก็รับ

ในแต่ละประเทศล้วนมีวัฒธรรมต่างกัน การพบเจอความแตกต่างทางวัฒธรรมหรือที่เรียกว่า Culture Shock เป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายคนต้องเจอในช่วงแรก โดยเฉพาะกับสังคมไทยที่วัฒธรรมการทำงานมีความเฉพาะตัวค่อนข้างสูง 

เรื่องวัฒนธรรมการทำงาน เราจะถูกฝรั่งเรียกว่าเป็นกล้วย (Banana) คือเหลืองข้างนอก แต่ขาวข้างใน คือมีความเป็นฝรั่ง เราทำงานกับฝรั่งมาตลอด เวลามีอะไรไม่เห็นด้วยก็ชี้หน้าด่ากันตรงนั้นเลย อยู่ในห้องประชุมก็เคลียร์กันตรงนั้น ไม่โอเคก็พูดมาเลย

กลับมาที่นี่การทำงานไม่เหมือนกัน ผมกลับมาวันแรก ลงเครื่องแล้วตอนบ่ายเข้าประชุมครั้งแรก อยู่กันสัก 10 คน ผมดูเรื่องระบบทางด้านลูกค้า ผมก็ถามว่าระบบนี้ใครเป็นคนเลือก เพราะคนที่อยู่ในวงการซอฟต์แวร์จะรู้ว่าเจ้านี้ไว้ใจไม่ค่อยได้ ห้องเงียบกริบเลย ผมก็นึกในใจว่าเราทำอะไรผิดแน่นอน แต่คือยังไม่รู้เพราะเป็นวันแรกที่เรากลับมา ผมก็เดินออกมาแล้วพยายามทบทวนตัวเองว่าเราทำอะไรผิดพลาด แล้วตอนออกมาจากห้องประชุมคนก็เริ่มเข้ามาคุย

ผมก็อ๋อ โอเค คือตอนผมถามว่าใครเลือก ทุกคนก็จะมีความรู้สึกว่าผมพยายามจับผิด ทุกคนก็ไม่อยากรับความผิด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เจตนาของเรา แต่ด้วยความตรง วันนั้นเราก็ถามตรงไปตรงมา เราไม่ได้คิดอะไรเลย ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้ตัวว่า ถ้ากลับมาทำงานที่นี่เราต้องปรับตัว เพราะการทำงานแบบฝรั่งในไทย คงอยู่ด้วยกันไม่ได้” 

ทางอ้อมอาจดีกว่าทางตรง

ในสังคมการทำงานแบบไทยๆ ที่แม้แต่คนที่เติบโตในไทยเองบางส่วนยังมองว่าต้องคอยอ้อมไปอ้อมมา หลายครั้งที่การแสดงความคิดเห็นตรงๆ ถูกปิดกั้นด้วยวัฒธรรมและมารยาทที่ครอบเอาไว้

อริยะยอมรับว่าเขาได้ทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ และเลือกที่ปรับตัวเองให้เข้ากับวิถีการทำงานที่นี่ให้ได้

เราต้องปรับที่เรา เพราะทั้งหมดที่ผมพูดมา ก็ไม่ใช่ว่าวิธีของฝรั่งจะดีกว่า เราดูทุกวันนี้ อเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ วิธีการบริหารเรื่องโควิดก็ใช่ว่าเขาจะทำได้ดี เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าเขาจะดีไปซะทุกอย่าง แต่บางครั้งตอนเรามองจากมุมมองของคนที่ไม่เคยอยู่เมืองไทย เราจะมองว่าวิธีการทำงานแบบไทยมันซับซ้อน ขั้นตอนกระบวนการมันเยอะ มีทั้งความเกรงใจ ทั้งความกลัวเสียหน้า มันก็มีบางสิ่งที่พูดกันตรงๆ ก็ควรจะต้องปรับ แต่มันก็มีบางสิ่งที่ผมคิดว่า การที่เราจะชนกันก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดเสมอไป มันอยู่ที่เรามากกว่า

สุดท้ายผมก็ตั้งโจทย์ให้ตัวเองว่า ระหว่างชน กับ พยายามเข้าหาคน เพื่อจะเข้าใจว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน แล้วเราเป็นคนเข้าไปหา วิธีไหนที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วที่สุด สุดท้ายอย่าไปมองที่ปัญหา ให้มองที่ผล เส้นทางไหนที่จะสั้นที่สุด เปรียบเทียบเหมือนเวลารถติด เส้นตรงไม่ใช่เส้นที่จะเร็วที่สุด บางครั้งคุณอ้อมหน่อยก็อาจจะไปถึงได้เร็วกว่า

การเติบโตที่ทรู สู่กูเกิ้ลในยุคบุกเบิก

เส้นทางการทำงานกับบริษัทแรกในไทยของอริยะถือว่าไปได้สวยทีเดียว ในวัย 37 ปี เขาได้ก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านการพาณิชย์คอนเวอร์เจนซ์ กลุ่มทรู

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เป้าหมายที่เขารู้สึกพึงพอใจ

ผมเคยเข้าคอร์สผู้บริหาร อาจารย์ที่มาจากอเมริกาถามว่า สิ่งที่เราต้องการจากการมาเรียนคอร์สนี้คืออะไร ผมก็บอกว่าผมอยากมาเรียนรู้เพื่อเป็นซีอีโอ ทุกคนก็ตกใจ เพราะเราก็ยังเด็กอยู่ แต่นี่คือสิ่งที่เราอยากเรียนรู้

จากนั้นไม่นาน เขาได้รับโอกาสให้เข้าไปทำงานในตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทย ของบริษัทกูเกิ้ล ในยุคที่เขานิยามว่าเป็น รุ่นบุกเบิกของดิจิทัล

อริยะเปิดเผยว่า การเป็นผู้บริหารสูงสุดในสาขาประเทศไทยของบริษัทระดับโลก ทำให้เขาได้เรียนรู้ที่จะเริ่มสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเขาเอง

จังหวะที่ไปกูเกิ้ลก็เป็นจังหวะที่เหวอนิดนึงนะ เพราะว่าเราเคยอยู่องค์กรหมื่นกว่าคน แล้วอยู่ดีๆ เราไปบุกเบิกออฟฟิศของกูเกิ้ลในประเทศไทยซึ่งยังไม่มีใครเลย วันแรกเรานั่งอยู่คนเดียว คิดว่าเราต้องทำอะไร ก็บินไปสิงคโปร์ บินไปคุยกับหัวหน้าของแต่ละประเทศ ไปเรียนรู้จากเค้า ไม่มีใครมาบอกเราว่า อริยะ คุณต้องทำอย่างนี้นะ เค้าคาดหวังว่าเราต้องเป็นคนลุย

เหมือนกับผมกลับไปเรียน MBA อย่างเข้มข้น เพราะเราเรียนรู้ได้เยอะมากจากองค์กรระดับโลก ถือว่าเราก็ดันตัวเราเองขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

มันไม่มีใครมาสั่งเราแล้ว หัวหน้าเราที่เบสอยู่ที่สิงคโปร์ก็คาดหวังว่าเราต้องเป็นคนสร้างธุรกิจขึ้นมา ความคิดมันจะแตกต่างกัน ถ้าเราอยู่ในองค์กรแบบดั้งเดิม (Traditional) ส่วนใหญ่ก็คือเจ้านายสั่งมา คุณก็ทำตามนั้นไป กูเกิ้ลต่างออกไป เราต้องเป็นคนเสนอเค้าว่า เราจะบุกตลาด เราจะสร้างตลาดอย่างไรในประเทศไทย มันคือหน้าที่ของเรา อันนี้คือความสนุก แต่มันก็คือความยากในตอนแรก เพราะมันคือวิธีการคิดในรูปแบบใหม่

ย้ายฟากจากดิจิทัลไปเทคโนโลยี

ตอนไลน์เข้ามามันเปิดอีกโลกหนึ่ง เดิมผมอยู่กูเกิ้ลมันคือโลกดิจิทัล แต่ผมไปอยู่ที่ไลน์มันคือโลกเทคฯ มันมีความแตกต่าง” 

การได้เป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ล ที่กำลังโตวันโตคืน หากมองจากมุมมองของคนภายนอกแล้ว นี่คือตำแหน่งที่มั่นคง แถมยังเป็นสาขาที่เขาสร้างขึ้นมาเองกับมืออีกด้วย

อะไรทำให้เขาเลือกที่จะไปอยู่กับไลน์ ที่แม้จะเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยม แต่ในเรื่องธุรกิจแล้วยังไม่มีอะไรการันตีว่าแอปฯ นี้จะไปรอดในระยะยาว

ก็คือตอนผมไปอยู่ฝั่งไลน์แล้วผมอยากทำมากก็คือ ผมอยากจะสร้างบริการ ไม่ใช่ว่าอเมริกาส่งให้มาแบบพร้อมใช้ เราแค่ทำการตลาดให้มีผู้ใช้เยอะขึ้น มีแบรนด์เข้ามาลงโฆษณากับเรา ก็โอเค เราทำมา 4 ปีแล้ว แต่ตอนไปที่ไลน์คือเราได้สร้าง คราวนี้เราสร้างจริงๆ ตั้งแต่ไลน์แมน ไลน์ทีวี ไลน์ทูเดย์ ตรงนั้นมันสนุก” 

แล้ววิธีการทำงานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะว่ากูเกิ้ลเป็นองค์กรที่ตอนนั้นอยู่มา 14-15 ปีแล้ว ตอนเรามาอยู่ที่ไลน์ เรามาอยู่ในองค์กรที่อยู่มาแค่ไม่กี่ปี ระบบอะไรคือไม่มี เพราะมันคือเริ่มต้นจริงๆ นั่นคือความสนุก เราได้สร้างตรงนั้นขึ้นมา แล้วมันคืออีกประสบการณ์หนึ่ง คราวนี้คือเรามีหน้าที่ดูตั้งแต่ธุรกิจ ยอดขาย สร้างบริการใหม่ ลงทุน ซื้อบริษัท เราทำอะไรก็ได้ คือเค้าเปิดโอกาสให้เราดูจริงๆ มันเลยเข้าไปในสายเทคฯ ที่แท้จริง

ในปี 2561 ภายใต้การบริหารงานของอริยะ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ทำรายได้ถึง 2,331,202,679 บาท เป็น 1 ในบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างมาก

3 เหตุผลที่ก้าวไปบริหารช่อง 3 

ที่ผ่านมาชื่อเสียงของอริยะถูกยกให้เป็นเบอร์ต้นๆ ของผู้บริหารบริษัทด้านเทคโนโลยีในไทย ทำให้เขาถูกเชิญไปเป็นวิทยากรในหลายเวที

แต่สิ่งหนึ่งที่ติดค้างอยู่ในใจของเขาก็คือ หากเขาเข้าไปทำงานในบริษัทที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เขาจะทำเช่นนั้นได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเขารับบทบาทผู้สร้างมากกว่าที่จะเป็นผู้เปลี่ยนแปลง

นั่นคือสาเหตุที่อริยะตัดสินใจรับงานที่ท้าทายที่สุดงานหนึ่งในชีวิต คือการเข้าไปเป็นผู้บริหารของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

ในระยะเวลา 5-6 ปีหลังที่เราขึ้นเวทีแล้วไปบรรยาย ผมมักจะพูดเรื่อง Transformation Disruption Innovation แล้วผมออกตัวทุกครั้งว่า นี่เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าน่าจะเล่าได้สนุก แต่เป็นเรื่องที่ทำยาก หลายองค์กรมักจะเข้ามาถามว่าทำยังไงที่เราจะเป็นเหมือนกูเกิ้ล เหมือนไลน์ เหมือนเฟซบุ๊ก เหมือนบริษัทพวกนี้ ผมก็จะแนะนำไป ทุกครั้งที่ลงจากเวที ผ่านไปปุ๊บ ไม่มีอะไรเกิด กลับไปที่ออฟฟิศมันกลับไปที่จุดเดิมทันทีก็เลยเป็นโจทย์อันนึงที่รู้สึกว่า เราพูดอย่างนี้มาตลอด คำถามก็คือสิ่งที่เราพูดเราทำได้ไหม ถ้าเราไปอยู่ในองค์กรที่เป็นแบบดั้งเดิม

โจทย์ที่สองก็คือ จากประสบการณ์ที่ได้มา เราช่วยสร้างธุรกิจต่างประเทศในไทย แต่เราควรจะช่วยองค์กรไทยด้วยไหม อย่างที่สามก็คือ เห็นโอกาสว่ามันมีความเป็นไปได้ รู้ว่าเป็นโจทย์ที่ยาก แต่ก็ไม่ลองก็ไม่รู้ ก็เลยอยากลองดู

ยุติบทบาทผู้บริหารองค์กรใหญ่ไปทำสิ่งที่ตนถนัด

แต่หลังจากเข้าไปบริหารงานได้เพียง 1 ปี อริยะตัดสินใจประกาศลาออก โดยขณะนั้นเขาเผยว่าเป็นการออกด้วยเหตุผลส่วนตัว

สุดท้ายเราก็จากกันด้วยดี ก็ความคิดอาจจะไม่ได้ตรงกันผมคิดว่าไอเดียที่เรามีไม่ได้ตอบโจทย์ อาจจะคิดแตกต่างกันในสิ่งที่เราอยากจะทำ ต้องยอมรับว่ามันมีโจทย์ที่เร่งด่วนอยู่

เราอาจจะเข้าไปด้วยความใจร้อน เราอยากจะเปลี่ยนอะไรที่เร็วเกินไป ซึ่งก็ยอมรับว่าด้วยประสบการณ์ที่เรามีก่อนหน้านั้น เราสร้างองค์กรขึ้นมา เพราะฉะนั้นมันเป็นทั้งทีมใหม่ทั้งธุรกิจใหม่ แต่ตอนเราไปอยู่กับธุรกิจที่เป็นแบบดั้งเดิม การเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่ใหญ่ ต้องยอมรับว่ามันมีความละเอียดอ่อนที่มากขึ้น ซึ่งเราก็อาจจะมองข้ามตรงนั้นไป

ปัจจุบันอริยะได้เปลี่ยนจากการบริหารงานในองค์กรใหญ่ มาก่อตั้งบริษัทของตนเอง

ผมตั้งบริษัทของตัวเองครับ ยังอยู่ในสายที่เราถนัดคือสายเทคฯ บริษัทชื่อ ทรานส์ฟอเมชันแนล เป็น Tech Venture Builder (การลงทุนร่วมสร้างธุรกิจประเภทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ) สิ่งที่ผมอยากจะทำคืออยากใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่ไปช่วยบริษัทที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ของไทย ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงหรือผ่านวิกฤตจากการที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ในการสร้างทั้งบริการและธุรกิจใหม่ๆ บนพื้นฐานของเทคโนโลยีและดิจิทัล คือมันเป็นสิ่งที่เราถนัด และก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่บริษัทใหญ่ไม่ถนัด

ผู้นำในแบบ “อริยะ”

ผมจะเข้าไปคลุกด้วย เราไม่ได้อยากเป็นคนที่ลอยตัว เราคือคนที่ลงไปอยู่ในสนามรบกับเค้าจริงๆ เค้าเหนื่อยเราก็เหนื่อย เราพลาดเราก็พลาดด้วยกัน เราสำเร็จเราก็สำเร็จด้วยกัน สำหรับผมคือสิ่งที่สำคัญ

ในการสวมหมวกเป็นผู้บริหาร สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือการมีทีมที่ดี อริยะเองมองเห็นในจุดนั้น และสามารถเอ่ยปากได้ว่า การสร้างทีม คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของเขา

เราไม่ได้เก่งอยู่คนเดียวนะ เป็นไปไม่ได้ ไม่มีคนที่เก่งอยู่คนเดียว ต้องมีทีมที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะตอนที่เราเริ่มขยายธุรกิจ อย่างเช่นตอนไปอยู่ที่ไลน์ ธุรกิจและบริการเยอะมาก จะให้ผมลงไปดูทุกอันมันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ผมต้องสร้างคือทีมที่แข็งแกร่ง แล้วปล่อยให้เค้าเป็นคนรันธุรกิจและบริการเหล่านี้

ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำแล้วรู้สึกภูมิใจในทุกที่ที่ไปก็คือการสร้างทีม ผมมีหลักง่ายๆ ก็คือ ทำอย่างไรถ้าวันไหนที่เราถอนตัวออกไป เค้ายังเดินได้อยู่ อันนั้นคือเราทำได้ดี

วิเคราะห์จุดอ่อนของตนเอง

แม้จะเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ทำผลงานโดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง แต่อริยะก็รับว่าในอดีตเขาเคยมีข้อผิดพลาด

และคนที่ชี้ให้เขาเห็นในตอนนั้นก็คืออดีตลูกน้องที่มายื่นหนังสือลาออก 

ผมเคยเจอลูกน้องคนนึง ที่ทุกวันนี้ยังขอบคุณเค้าอยู่ในใจ ว่าเค้าเป็นคนที่ช่วยให้ผมเติบโต วันหนึ่งเค้าลาออก ในฐานะที่เราเป็นหัวหน้าเราก็อยากจะรู้ว่า ทำไมถึงเลือกลาออก เค้าบอกว่า คุณรู้ไหมว่าคุณเป็นผู้จัดการที่แย่มาก

เหมือนเค้าเป็นกระจกที่สะท้อนกลับมาว่า สิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ดี เพราะเรามองจากมุมของเราเอง แต่ตอนเราไปฟังมุมของคนอื่น กลายเป็นว่าสิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ดี เค้ามองว่าเราไม่ได้แคร์เค้า เราไม่ได้ช่วยเค้า เราไม่ได้สนับสนุนเค้า ก็ทำให้เราปรับตัว เหมือนเป็น Wake up call (การปลุกให้ตื่น) ทำให้เราตื่นขึ้นมาว่า เรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ

การโดนผู้ใต้บังคับบัญชาวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ทำให้เขาหันกลับมามองตัวเอง และพยายามแก้ไขในจุดนั้น 

เราเร่งทุกคนโดยที่ไม่ได้ดูว่าลูกน้องและทีมงานรู้สึกอย่างไร เหมือนเราเอาโจทย์ของเจ้านายมาอีกทีแล้วเรากดดันทีมของเรา โดยที่ไม่ได้ถามว่าได้หรือไม่ได้ คุณเป็นอย่างไร โอเคไหม สมัยนั้นเราก็เป็นคนอย่างนั้นจริงๆ เรามองที่เป้าหมาย และทำยังไงก็ได้ให้เราไปถึงจุดนั้น ซึ่งก็ยังเป็นอยู่นะทุกวันนี้ แต่วิธีการเราเปลี่ยนไป

แล้วสุดท้ายพอทำได้ เค้าก็มองว่าเราไม่ได้ให้เครดิตลูกน้องเท่าที่ควร เรารู้สึกว่าเราทำนะ แต่เค้าไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น เหมือนเราดึงความดีเข้าตัวเราเองมากกว่า อันนี้เป็นสองข้อที่เค้าวิพากษ์วิจารณ์ผม ทุกวันนี้ที่เราเปลี่ยนไปก็ต้องขอบคุณเค้าคนหนึ่ง

“อริยะ” ในสายตาของลูกน้อง

จากที่เคยโดนลูกน้องวิจารณ์ในครั้งก่อน ทำให้อริยะได้เรียนรู้ถึงมุมมองของลูกน้องที่มีต่อหัวหน้ามากขึ้น

แม้จะยอมเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด เขาก็ยังคงยึดมั่นในหลักการบางอย่าง ที่อาจจะยังเห็นไม่ตรงกันกับผู้ที่ร่วมงาน แต่ในฐานะผู้บริหารแล้ว นี่คือสิ่งที่เขายังคงยึดมั่นโดยมีเหตุผลเป็นของตนเอง

ผมเชื่อว่าลูกน้องคงบอก 2 อย่าง หนึ่งก็คือ เค้าคงบ่นว่าผมชอบลงในรายละเอียด มันมีเส้นบางๆ ระหว่างการที่เราให้เค้ามีอิสระ และเราลงรายละเอียดเยอะไปหรือเปล่า ซึ่งผมเชื่อว่าเค้ากับผมจะมองไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ผมพยายามจะทำก็คือ แรกๆ ตอนที่เราสร้างอะไรใหม่ๆ ยอมรับว่าผมจะลงรายละเอียดด้วย แต่เมื่อไหร่ที่ผมรู้ว่าเค้าเอาอยู่ ผมก็จะถอย ผมก็จะไปวุ่นวายกับคนอื่นแทน

จุดที่สอง เพราะเรามีลูกน้องหลายรูปแบบ ผมเชื่อว่าบางครั้งเค้าก็คงอยากให้เราชน เหมือนเอาให้มันเด็ดขาดมากกว่านี้ ซึ่งผมเชื่อว่ามันคือเรื่องของมุมมอง เหมือนกับเรื่องทางตรงทางอ้อม ซึ่งผมจะมีมุมมองว่าทำอย่างไรให้เราไปถึงเป้าหมายให้เร็วที่สุด เค้าก็จะมองว่า เฮ้ย ชนเลย

ลูกน้องที่ “อริยะ” อยากได้

เมื่อถูกถามว่าชอบลูกน้องแบบไหน แนวคิดของอริยะอาจสะท้อนถึงการใช้ชีวิตในวัฒธรรมตะวันตกมาเกือบครึ่งชีวิต โดยตอบว่าอยากได้ลูกน้องที่ ‘ดื้อ’ ในทางที่ดี ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะนิสัยที่คนเป็นหัวหน้าหลายคนไม่อยากได้

ลูกน้องของผมทุกคนจะมีอย่างหนึ่งที่คล้ายกัน คือความดื้อในทางที่ดี แล้วมันเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าเค้าเชื่อในสิ่งที่เค้ากำลังทำ บางครั้งเราก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่ผมจะดีใจตอนที่เค้าทำให้เราเห็นว่าเราคิดผิด ผมไม่ได้มีอีโก้เลย ผมยินดีที่จะยอมรับเลย ดีใจที่เค้าดันจนในที่สุดมันทำได้ มันเหมือนเป็นคาแรคเตอร์ของลูกน้องของผม เกือบทุกที่ที่ไปเลยนะ

เค้ามีพาสชั่น เค้ามีจุดยืนที่เค้ารู้สึกว่าอันนี้มันใช่ ในสายเทคฯ มันมีบางส่วนที่เราวัดได้ แต่ถึงจุดหนึ่งตอนที่เราจะสร้างบริการใหม่ เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะประสบความสำเร็จไหม ผมเลยอยากได้คนที่เป็นนักสร้าง ผมไม่ได้ต้องการลูกน้องที่มาทำงานปฏิบัติการ (Operate) ที่บริการเกิดขึ้นแล้ว แล้วคุณรัน ผมอยากได้คนที่มาช่วยสร้างมากกว่า เหมือนสมัยก่อนที่ผมเริ่มต้นที่กูเกิ้ล ผมก็ต้องคิดเองทำเอง ลงมือเอง ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ชอบลูกน้องในลักษณะนี้

สิ่งที่ชัดเจนคือผมไม่ได้ต้องการคนที่เก่งคนเดียว อยากได้คนที่ทำงานเป็นทีมได้ โดยไม่ได้ดึงความดีเข้าใส่ตัวเอง และต้องเข้ากันได้ ผมจะพยายามนำจุดแข็งมารรวมกัน คือดึงคนที่เก่งและทำงานร่วมกันได้ด้วย ี่ไม่ได้มีอีโก้ และต่างคนมาเติมเต็ม

แนะเด็กจบใหม่ เลือกองค์กรที่เหมาะสม-อย่ากลัวที่จะถาม

จากประสบการณ์การทำงานในฐานะผู้ที่ต้องคัดเลือกคนเข้ามาร่วมงานด้วย เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

อริยะให้คำแนะนำว่าโอกาสและการเรียนรู้คือสิ่งที่เด็กจบใหม่ควรจะมองหา และต้องกล้าที่จะถามเมื่อถึงเวลา 

ผมว่าเราอยู่ในยุคที่คนมักอยากจะประสบความสำเร็จเร็ว ก็ต้องบอกก่อนว่ามันไม่ได้มีทางลัดเสมอไป ที่เราจะเร่งรัดแล้วประสบความสำเร็จภายใน 2-3 ปี ซึ่งก็มีบ้างแต่ไม่ใช่ทุกคน เราต้องมองตัวเองว่าเราคือหนึ่งในส่วนน้อยไหมที่จะทำแบบนี้ขึ้นมาได้ วิธีที่ดีก็คือ ตอนเราเริ่มต้นชีวิตการทำงาน เราต้องหาประสบการณ์และความรู้ ซึ่งฟังดูเบสิก แต่ผมอาจจะมีหลักการที่แตกต่างนิดนึง คือเราต้องเลือกดีๆ พยายามศึกษาดีๆ ว่าองค์กรที่เรากำลังจะไปอยู่ด้วย เป็นองค์กรแบบไหน วัฒนธรมของเขาเป็นอย่างไร เป็นองค์กรที่จะเปิดโอกาสให้คุณเติบโตได้ไหม

ถ้าอยู่ในองค์กรที่เป็นขั้นบันได คุณก็คอยไปจนอายุ 50-60 ถึงจะได้เติบโต ถ้าเป็นไปได้พยายามเลือกกลุ่มขององค์กร หรือลักษณะงานที่เราจะได้เรียนรู้ แต่ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ วันนี้สิ่งที่เราเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัย มันก็ไม่ใช่ว่าจะตรงกับสิ่งที่โลกสมัยนี้ต้องการ อย่างเช่นเรื่องดิจิทัลหรือเรื่องเทคฯ มันไม่มีมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องพวกนี้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เรื่องพวกนี้ด้วย

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะฝากด้วยก็คือ ผมบอกได้เลยว่าตอนเราเข้าไปอยู่ในองค์กรที่มีความเป็นอินเตอร์ เมื่อไหร่ที่เราเข้าห้องประชุม ที่มีหลายชาติอยู่ด้วยกัน ถามว่าชาติไหนที่เงียบที่สุดในห้องประชุม คำตอบคือคนไทย คนอื่นนี่ถามแล้วถามอีก และไม่กลัวในการที่จะถาม เรายังมีความกลัวอยู่

อนาคตกับเส้นทางในสายการเมือง

ที่ผ่านมามีข่าวลือหนาหู ถึงการเสนอตัวลงเลือกตั้งในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของอริยะ ซึ่งในการสัมภาษณ์กับ workpointTODAY เขายืนยันว่าเขาไม่ได้มีความคิดที่จะลงสมัครแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่ามีความสนใจที่จะลงเล่นการเมืองในอนาคต โดยเลี่ยงที่จะผูกมัดตัวเองกับพรรคการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่งในตอนนี้

มันก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่าอยากจะช่วยมากกว่า ผมคิดว่าวันนี้ผมยังไม่พร้อมเพราะว่ายังขาดชั่วโมงบิน ยังไม่รู้จักแวดวงการเมือง ยังไม่รู้ว่าวิธีการทำงาน กฎกติกาในการทำงานกับราชการเป็นอย่างไร เพราะว่าเราอยู่เอกชนมาตลอด ซึ่งมันคือคนละโลก

ส่วนตัวผมไม่อยากบอกว่าพรรคไม่สำคัญ แต่เช่นเดียวกัน ผมดูที่ปลายทาง ถามว่าถ้าเราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง เส้นทางไหนที่ทำให้เราไปถึงจุดนั้นได้ ผมไม่ได้มองที่ตัวพรรค แต่ผมมองว่า ถ้าผมเข้าไป ใครที่จะเปิดทางและโอกาสให้เราได้ทำในสิ่งที่คิดว่าเราช่วยได้ อันนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผม

ถ้าพูดตรงๆ ก็คือ วันนี้ผมมีเพื่อนอยู่ทุกพรรคเลย แล้วก็สนิท วันนี้ก็เลยยังไม่อยากออกตัวว่าเราเห็นอย่างไรกับพรรคไหน แล้วผมก็รู้ว่าทุกคนก็จะมีมุมมอง คือถ้าเราคุยเรื่องการเมืองในประเทศไทยเมื่อไหร่ มันก็จะชัดเจนเลยว่า มันมีฟากที่มองต่างกัน

มุมมองต่อการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่

ในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย ที่คนรุ่นใหม่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างมากในการเรียกร้องต่างๆ อริยะมองว่าเป็นผลมาจากโครงสร้างของสังคม ที่กดทับการแสดงความคิดเห็น รวมถึงช่องว่างระหว่างวัยที่ทำให้คนทั้งสองยุคมีความไม่เข้าใจกันและกัน

ต้องมองว่าคนรุ่นใหม่ต้องการอะไร แล้วผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ วันนี้ คงมีความรู้สึกว่า ไม่มีคนฟังเค้า ไม่ใช่แค่คนที่ลงมาประท้วง แต่ผมคิดว่ามันคือความรู้สึกของคนรุ่นใหม่โดยภาพรวม ต้องยอมรับว่าด้วยวิธีการทำงาน ด้วยโครงสร้างในสังคมเรา ใครที่เป็นเด็กจะถูกมองว่า คุณเป็นเด็ก ผู้ใหญ่หรือพี่ๆ ก็จะเรียกว่าหนูน้อง เราจะกดเค้าทันที เรียกแบบนี้คือหมายความว่าคุณไม่ได้มีประสบการณ์ ความคิดเห็นของคุณไม่ได้มาในทางที่ถูก เพราะว่าคุณยังขาดประสบการณ์ เพราะฉะนั้นมันจะมีช่องว่างอยู่ ผมเห็นช่องว่างอันนี้ในชีวิตการทำงาน เราจะเห็นเลยว่าคนรุ่นใหม่กับคนที่เป็นรุ่นพี่ที่อยู่มานาน ต่างคนต่างบ่นซึ่งกันและกัน

ผมคิดว่าการตอบโจทย์ที่ดีคือคนที่จะเข้าไปคุยไปแก้ปัญหา มันต้องเชื่อมโยง (Connect) กันได้ น่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญ

ฟังสัมภาษณ์ฉบับเต็ม “อริยะ พนมยงค์”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า