SHARE

คัดลอกแล้ว

ตั้งแต่ผู้เขียนมีชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน เคยพบเห็นการชุมนุมมาหลายครั้ง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รูปแบบของชุมนุมในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีความแตกต่างมากๆ จากในอดีต โดยเฉพาะหากเรานำไปเทียบกับการชุมนุมของฝั่งเสื้อเหลืองหรือฝั่งเสื้อแดง

การชุมนุมครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ “วิธีการ” ที่ต่างออกไปเท่านั้น แต่ทัศนคติและความคิดของคนที่มาร่วมชุมนุมก็เห็นได้ชัดเลยว่า พวกเขามองโลกด้วยสายตาอีกแบบ

มีอะไรที่เราเห็นบ้างจากเหตุการณ์ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคมเป็นต้นมา นี่คือมุมมองของคอลัมนิสต์อายุ 36 ปี รวบรวมให้คุณอ่านใน 10 ข้อ

1) การชุมนุมแบบ “ไม่จำเป็นต้องมีแกนนำ”

ตามปกติแล้ว ม็อบใดๆก็ตาม เวลาที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการจะเอาชนะกลุ่มผู้ชุมนุม พวกเขาจะจัดการ “แกนนำ” ก่อน ถ้าแกนนำล้มเลิก หรือโดนจับเมื่อไหร่ คนอื่นๆในกลุ่มประท้วงก็ไม่รู้จะเดินหน้าอย่างไรต่อ แล้วก็จะลงเอยด้วยการล่มสลายของม็อบ แต่กับกรณีของเยาวชนปลดแอกนั้น เป็นอะไรที่ประหลาดมาก กล่าวคือ ไม่มีตัวผู้นำในการชุมนุม

ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Leaderless protest คือ ประท้วงแบบไม่ต้องมีผู้นำ คนที่มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่ขึ้นพูดปราศรัยคือใคร แต่มาประท้วงเพื่ออุดมการณ์ ไม่ใช่มาเพื่อเชียร์ใครเป็นรายบุคคล

มีการเปรียบเทียบว่าการชุมนุมครั้งที่ผ่านมาๆ เหมือนเล่นหมากรุก ถ้าขุนโดนกินก็จบ แต่การชุมนุมครั้งนี้เหมือนเล่น “โกะ” คือหมากทุกตัวมีพลังเหมือนกันหมด ไม่ได้มีใครเป็นขุน เป็นเรือ หรือเป็นเบี้ย ดังนั้นต่อให้หมากตัวหนึ่งโดนกิน ก็ยังอยู่ในเกมได้ต่อ

และแน่นอนการไม่มีแกนนำแบบนี้ ในมุมของรัฐบาลที่กุมอำนาจก็รับมือได้ยาก เพราะต่อให้จับตัวคนนั้นคนนี้ไป ก็มีคนใหม่ขึ้นมาพูดความรู้สึกได้เสมอ คำถามคือรัฐบาลจะกำจัดแกนนำไปได้ถึงเมื่อไหร่?

2) การรวมตัวกันรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงฉับไว มีประสิทธิภาพ

ในยุคก่อนถ้าจะมีการชุมนุมใหญ่สักอย่าง ต้องมีการวางแผนกันเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ต้องกระจายข่าวออกไป จัดเตรียมขนส่งมวลชน เพื่อระดมคนเข้ามาให้มากที่สุด ซึ่งทำให้ฝั่งรัฐบาลมีเวลามากพอที่จะปรับแผนรับมือได้ทัน แต่การชุมนุมคราวนี้ ไม่ต้องใช้ทรัพยากรขนาดนั้น แค่เพียงมีเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์เท่านั้น ก็มากพอที่จะทำให้คนได้รับรู้แล้วว่าแผนการเป็นอย่างไร

ตัวอย่างที่น่าทึ่งมาก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อเวลา 21.41 น. เฟซบุ๊กของเยาวชนปลดแอกโพสต์ว่า “ประกาศยุติเวทีในวันนี้ แต่เราจะกลับมาพรุ่งนี้เวลา 17.00 น.” ปรากฎว่าพริบตาเดียว พอถึง 4 ทุ่ม ผู้คนทยอยกลับบ้านกันอย่างเป็นระเบียบ จากนั้นไม่นานถนนราชประสงค์ก็สามารถเดินรถได้ตามปกติ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ยังมีผู้ชุมนุมหลายหมื่น

หรืออย่างในวันนี้ (16 ตุลาคม) เมื่อมีการวางแผนป้องกัน วางรั้วลวดหนามที่สี่แยกราชประสงค์ซึ่งเป็นจุดนัดพบแรก กลุ่มผู้ชุมนุมก็พลิกเกมประกาศนัดพบที่สี่แยกปทุมวันแทน

การจัดการที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพขนาดนี้ ด้วยการโพสต์แค่ 1 ครั้ง มันทำให้ฝั่งรัฐบาลเองก็ยากที่จับทางถูกว่าผู้ชุมนุมจะเดินหมากไหนต่อกันแน่

3) คำขู่จากรัฐ ไม่ได้ผลอีกแล้ว

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเตือนประชาชนที่มาร่วมชุมนุมวันนี้ ให้คิดให้รอบคอบ เพราะถ้ากระทำความผิดจะมีประวัติติดตัว และมีผลกระทบต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้ยุติการชุมนุมเพราะไม่อยากให้ใครถูกดำเนินคดีทางกฎหมายทั้งสิ้น

ถ้าเป็นในอดีต ผบ.ตร.กับนายกฯ ออกมาพูดแบบนี้ คนอาจจะมีหวั่นๆ กลัวบ้าง แต่ในยุคนี้ ไม่มีใครสนใจกับคำขู่ลักษณะนี้อีกแล้ว ในเมื่อประวัติที่ผ่านมา คนที่มาร่วมชุมนุมในหลายๆ ม็อบก็ได้ดิบได้ดี ไม่มีใครต้องมีประวัติติดตัวเลยสักคน

ไม่ว่าจะเป็นนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ที่เคยชุมนุมที่ราชประสงค์ ในภายหลังก็ได้กลายเป็น รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือในยุคของกปปส. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่เป็นหนึ่งในแกนนำ ก็กลายเป็นรมว.ศึกษาธิการในขณะนี้ รวมถึงนายถาวร เสนเนียม ที่เป็นอีกหนึ่งแกนนำกปปส. ก็กลายเป็น รมช.คมนาคมในปัจจุบัน

ดังนั้น เมื่อผู้ชุมนุมเห็นจากในอดีตแล้วว่าคนมาร่วมม็อบไม่เห็นจะเสียเครดิตอะไร ตรงกันข้ามกลับถูกเชิดชูมากมายหลังสิ้นสุดการชุมนุม แล้วจะไปกลัวอะไรกับแค่คำขู่ของรัฐ

4) มีความคิดสร้างสรรค์ซ่อนอยู่เต็มไปหมด

ด้วยความที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ในยุคนี้ เป็นเด็กวัยรุ่น ทำให้พวกเขารู้จัก “เทรนด์” ของโลกออนไลน์ แต่ละคนคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับอินเตอร์เน็ต รู้ว่าทำอะไรแล้วจะได้รับความสนใจจากคนหมู่มาก ดังนั้นไม่แปลกเลย ที่แต่ละอย่างในการชุมนุมจะเป็นไวรัลได้ง่ายมาก เพราะเด็กวัยรุ่น เขาอยู่กับความไวรัลตลอดเวลาอยู่แล้ว

การชูป้ายกระดาษเช่น “วันนี้ไม่ได้มาชุมนุม แต่มาขอผัวกับตรีมูรติ” หรือ “จะไม่ยอมเป็นทาสใครยกเว้นแมว” คำง่ายๆ แบบนี้ แต่ก็สร้างเสียงหัวเราะ และกลายเป็นไวรัลได้ หรือภาพที่ผู้ชุมนุมช่วยกันกางร่ม เปิดแฟลช ให้น้อง ม.ต้น ทำการบ้าน ก็เป็นภาพที่น่ารักที่ทำให้คนแชร์ต่อไม่ยาก

งานชุมนุมที่มีรายละเอียดที่ตลก ผสมอ่อนโยนแบบนี้ สามารถเข้าถึงจิตใจของคนทั่วๆไปได้มากกว่า เพราะถ้าเป็นงานชุมนุมที่น่ากลัว และดูจะใช้ความรุนแรง คนที่อยู่ตรงกลาง ก็ไม่แน่ใจว่าจะเข้าร่วมดีหรือไม่ แต่เมื่อมันมีความคิดสร้างสรรค์ดีๆให้เห็น ก็จะง่ายกว่าในการดึงคนที่ไม่มีฝั่งไหน ให้สนใจเข้ามาร่วมชุมนุมดูสักครั้ง

5) อายุของผู้ชุมนุมคือกลุ่มวัยรุ่น

มุมของภาครัฐ ยังเข้าใจว่าผู้ชุมนุมที่มาร่วม ต้องมี “ท่อน้ำเลี้ยง” อยู่เบื้องหลัง มันคือไอเดียในยุคเก่าที่คนมาม็อบบางคนมาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่มันไม่ใช่ในยุคนี้อีกแล้ว เมื่อภาพที่เห็น คนที่มาส่วนใหญ่คือเด็กวัยรุ่นทั้งนั้น ซึ่งพวกเขาคงไม่ได้มาม็อบเพราะหวังจะได้เงินทองหรืออะไรแน่ๆ

ผู้ชุมนุมจำนวนมากที่ราชประสงค์ คือเด็กนักเรียนมัธยม และเด็กมหาวิทยาลัย เราเห็นภาพนร.โรงเรียนดังอย่างเตรียมอุดมศึกษา มีนิสิตนักศึกษาจากจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้อนาคตไปย่อมมีพาวเวอร์ และเป็นพลังสำคัญในการบริหารประเทศ

สิ่งที่เราเห็นซ่อนอยู่ในเรื่องนี้ก็คือ คนที่จะมีอำนาจในอนาคตข้างหน้า ล้วนต่อต้านการมีอยู่ของรัฐบาลทหารทั้งสิ้น

ซึ่งถ้ามองด้วยสายตาเป็นกลาง กลุ่มอนุรักษ์นิยมย่อมต้องเห็นแล้วว่า โมเมนตั้มของการเมืองจากนี้ไป เด็กรุ่นใหม่จะไปอยู่ในฝั่งเสรีนิยม และจำนวนผู้สนับสนุนฝั่งรัฐบาลของคสช. ในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ก็จะลดลงเรื่อยๆ จนอาจไม่เหลือเลย

ในเวลาไม่เกิน 10 ปีต่อจากนี้ พื้นที่ของฝั่งอนุรักษ์นิยมอาจจะมีเหลือน้อยมากๆ ดังนั้นกลยุทธ์ที่ดีของรัฐบาลอาจเป็นการยอมนั่งคุยกันด้วยเหตุผล ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร เพื่อหาทางออกร่วมกัน

แต่หากฝั่งรัฐบาล ไม่ยอมอะไรสักอย่าง คราวนี้แม้แต่พื้นที่ที่อยู่ร่วมกันได้ ก็อาจไม่มี และมีโอกาสนำมาสู่ความขัดแย้งที่ไม่อาจหวนกลับได้อีก

6) เด็กรุ่นใหม่ มี Critical Thinking

สิ่งที่ผู้ใหญ่พยายามปลูกฝังเด็กๆ คือทุกคนควรมี Critical Thinking กล่าวคือ เมื่อเห็นอะไรมา อย่าเพิ่งเชื่อแต่ต้องคิดทบทวนด้วยเหตุผล โดยไม่เอาอารมณ์มารวมด้วย ผู้ใหญ่อย่างเราจะดีใจมากถ้าเด็กรู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม เพราะนี่คือทักษะสำคัญของประชากรในประเทศที่เจริญแล้ว

ดังนั้นเมื่อเด็กวัยรุ่นยุคนี้เจอสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ แทนที่จะ “เชื่อตามๆกันไป” พวกเขากลับคิดวิพากษ์ และตั้งคำถามกลับ ว่าทำไมต้องเชื่อแบบนั้น ทำไมต้องทำแบบนั้น ซึ่งหน้าที่ของผู้ใหญ่ มันจะดีกว่าไหมถ้าเรา “ตอบ” คำถามของเด็กๆตรงๆ โดยไม่ไปสั่งเขาให้เชื่อทันที โดยไม่ต้องคิด

ถ้าเด็กๆในชุมนุมมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องจงรักภักดีต่อสถาบัน สำหรับผู้ใหญ่มันก็จะง่ายกว่า ถ้าแค่ตอบไปด้วยเหตุผลว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ จากนั้นคนทั้งสองวัย ก็จะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ซึ่งมันย่อมดีกว่าบังคับให้เด็กๆเชื่อ โดยไม่อธิบายอะไรเลยแน่ๆ

ในระบบการศึกษาไทย เราฝันมาตลอดไม่ใช่หรอ ว่าอยากให้เด็กๆคิดเป็น อยากให้เด็กตั้งคำถาม แล้วมาในวันนี้พวกเขารู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม เอาจริงๆ มันไม่น่าดีใจหรอกหรือ?

7) ยังไม่มีภาพรุนแรงให้เห็น และควรไม่มีต่อไป

ตามปกติการชุมนุมที่อดีตที่ผ่านมา เราจะเห็นลักษณะของความรุนแรง เช่นตั้งบังเกอร์ไม้ไผ่ เอายางรถมากั้น มีการ์ดเสื้อสีนั้นสีนี้ มาเดินรักษาความเรียบร้อย เหมือนเป็นลักษณะหน่วยรบ แต่ในการชุมนุมครั้งนี้ ไม่ได้มีลักษณะอย่างนั้น เป็นการแสดงออกด้วยสันติตามปกติ

แต่แน่นอน นี่จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญของกลุ่มผู้ชุมนุมในระดับต่อไป เพราะยิ่งการชุมนุมเพิ่มจำนวนวันมากขึ้น ก็จะมีคนเข้ามาร่วมหลากหลายมากขึ้น คนที่มีลักษณะนิสัยอยากสร้างความรุนแรงก็มี ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น รัฐก็จะอาศัยสิ่งนี้ ในการสร้างความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับ ดังนั้นผู้ชุมนุมเองจึงจำเป็นต้องเตือนกันให้ดีด้วย และระมัดระวังอะไรก็ตาม ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

8) บททดสอบของสถาบันครอบครัว

ไม่เคยมีการชุมนุมครั้งไหน ที่มีความขัดแย้งระหว่างวัยมากขนาดนี้ ในครอบครัวเดียวกัน พ่อแม่อาจเห็นอย่างหนึ่ง ส่วนลูกวัยรุ่นอาจคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งนี่จะเป็นบททดสอบถึงคำกล่าวที่เราเคยเรียนมาตลอดว่า “สถาบันครอบครัว คือสถาบันที่เล็กที่สุดแต่มีความสำคัญมากที่สุด” มันเป็นเรื่องจริงหรือไม่

ความรักระหว่างพ่อแม่ลูก พี่น้อง จะถูกบั่นทอนได้ด้วยแนวคิดที่แตกต่างกันเรื่องการเมืองหรือเปล่า?

พ่อแม่หลายคนไม่เข้าใจว่าลูกทำไมถึงไม่เห็นด้วยกับตัวเอง ตามข่าวนั้นมีพ่อแจ้งความ ม.112 จับลูกตัวเองมาแล้วก็มี เช่นเดียวกับลูกบางบ้าน ที่คิดว่าพ่อแม่ยังไงก็ไม่ฟังแน่ ก็เลยเลิกพยายามจะอธิบายด้วยเหตุผล กลายเป็นว่าคนสองวัย แทนที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน กลับต้องมาทะเลาะกัน เพราะคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวตัวเองด้วยซ้ำ

ดังนั้น นี่เป็นสถานการณ์ที่คนทั้งสองแนวคิด ต้องมาคุยกันด้วยเหตุผล พ่อแม่ต้องฟังสิ่งที่ลูกคิดเพราะอนาคตจากนี้ไป สังคมที่อยู่ตรงนี้คือสิ่งที่เขาต้องเผชิญ ส่วนลูกๆ ก็ต้องฟังสิ่งที่พ่อแม่คิดเช่นกัน ว่าทำไมเขาถึงมองโลกแบบนั้น ไม่ใช่จะทำท่าทีรำคาญไปเสียหมด

9) อินเตอร์เน็ตมีข้อดี แต่ต้องระวังให้มาก

สื่อหลักที่กระจายข่าวเรื่องการชุมนุมคือทวิตเตอร์ ซึ่งข้อดีของมันคือ ทุกคนสามารถทวีตอะไรก็ได้ วิจารณ์อะไรก็ได้ ลงภาพ ลงวีดีโออะไรก็ได้ โดยไม่มีขีดจำกัด

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าการที่มันเร็วมาก ทำให้บางคนที่ได้ข่าวสารมา ก็รีทวีตต่อทันที โดยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงหรือไม่จริง ซึ่งบางเรื่องอาจโดนแอคหลุมปั่นเรื่อง หรือโดนสร้างสถานการณ์ขึ้นมาก็ได้ ทำให้ทุกอย่างมันสับสนวุ่นวายเข้าไปใหญ่

ดังนั้นแม้โลกจะเร็วแค่ไหน แต่ก่อนที่เราจะแชร์อะไร ก็ต้องมั่นใจว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้องจริงๆ และเราเองต้องไม่ใช่ต้นเหตุของการกระจายข่าวเท็จ ถ้าสิ่งไหนไม่ชัวร์ว่าจะจริง แค่อ่านแล้วผ่านไปก่อนก็ได้ รอเช็กข้อมูลให้แน่ๆ ว่ามันใช่จริงๆ ค่อยกลับมาแชร์ต่อก็ไม่เสียหาย

10) สังคมต้องการสื่อที่นำเสนอให้ไกลกว่าเรื่องคดีความ

สื่อมวลชนหลายสำนักมาก ที่ยังให้ความสำคัญกับการชุมนุมแค่เรื่องตัวแกนนำ เช่น “อนุมัติหมายจับ”, “ไม่ให้ประกันตัว”, “ศาลสั่งฝากขังแกนนำ” มาถึง ณ ตรงนี้ สิ่งที่น่าสนใจกว่าเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ คือ “พวกเขาออกมาชุมนุมทำไม?” มันมีความอัดอั้นตันใจอะไรที่ต้องออกมาประกาศจุดยืนกันขนาดนี้

เด็กๆมัธยมต้น มัธยมปลาย ทำไมถึงออกมา พวกเขาคิดอะไรอยู่ และทำไมเด็กๆเหล่านี้ถึงสนใจเรื่องการเมืองอย่างจริงจัง ทั้งๆที่ในยุคก่อน เรื่องการเมืองถือว่าไกลตัวมาก เด็กๆจะสนใจกันแต่ชีวิตของตัวเอง แต่ยุคนี้เด็กๆรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ต่างหาก ที่ควรนำเสนอมากกว่าเรื่องคดีความ

การเสนอข่าวในทุกแง่มุม ครบทุกมิติ โดยไม่ให้ราคากับพวกที่สุดโต่งทั้งสองฝั่ง คือความท้าทายของสื่อมวลชนทุกสำนัก ไม่ใช่แค่เสนอในมุมของผู้ชุมนุมเท่านั้นด้วย แต่คนที่เชียร์รัฐบาลอยากให้มีทางออกอย่างไรให้จบสวยที่สุดก็เป็นมุมที่น่าสนใจมากๆ เช่นกัน

[ สเต็ปต่อไปที่ต้องติดตาม ]

สำหรับการชุมนุมจากวันนี้ไป จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น เพราะตอนนี้กระแสจุดติดสำเร็จแล้ว แม้แต่สื่อต่างชาติทั้งโลก ยังหันมาให้ความสนใจ ประเด็นข่าวการชุมนุมถูกนำเสนอทั้งใน CNN BBC และสื่อชั้นนำทั่วโลก

ฝั่งผู้ชุมนุม จะเป็นบททดสอบความอดทน ว่าถ้ารัฐบาลยังไม่ยอมทำอะไรสักอย่าง ยังนิ่งเฉยอยู่อย่างนั้น พวกเขาจะยังอดทนอดกลั้นได้นานแค่ไหน เพราะถ้าผู้ชุมนุมสติหลุด เผลอไปใช้กำลังขึ้นมาเมื่อไหร่ สถานการณ์จากเป็นบวก ก็จะกลายเป็นติดลบทันที

ส่วนฝั่งรัฐบาล ก็ไม่ใช่เอาแต่จะคิดว่า “ผิดกฎหมาย”, “รวมกลุ่มมากกว่า 5 คน”, “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” นี่ไม่ใช่เวลามาสนใจเรื่องปลีกย่อยอะไรพวกนี้ แต่ควรตั้งคำถามว่า คนเขาออกมาเรียกร้องอะไร แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม มานั่งคุยอย่างจริงจังมั้ย ว่าอะไรเปลี่ยนได้ อะไรเปลี่ยนไม่ได้

การพูดคุยกัน ย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่าการใช้กำลังโดยเฉพาะการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมที่เต็มไปด้วยเยาวชนแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับใครเลย ทั้งจะทำให้คนที่อยู่ตรงกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มีความโกรธแค้นต่อรัฐมากขึ้น นอกจากนั้นภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทยในสายตาชาวโลก ก็จะโดนมองติดลบยิ่งขึ้น เมื่อเลือกใช้วิธีสลายชุมนุมแบบนี้

สำหรับการชุมนุม จะยังมีต่อไป ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าบทสรุปจะออกมาทิศทางไหน จะมีการใช้ความรุนแรงยิ่งไปกว่านี้หรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือ จากนี้ไปเมื่อเด็กๆ วัยรุ่นที่เป็นอนาคตของชาติ ตัดสินใจได้แล้วว่าจะลุกขึ้นตั้งคำถามกับสังคม ประเทศไทยในยุคใหม่ก็จะไม่เหมือนเมื่อวานอีกต่อไป

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า