SHARE

คัดลอกแล้ว

อย่างที่ทราบกันว่าเจ้าของบ้าน ‘อุ๋ย – ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ’ และ ‘จ๋อง – พงศ์นรินทร์ อุลิศ’ สองผู้บริหารจากโรงภาพยนตร์ House Samyan ที่ได้ย้ายคอมมูนิตี้ของคนรักหนังที่เปิดมากว่า 15 ปีแห่งนี้ ไปอยู่ที่สามย่านมิตรทาวน์ ครบ 1 ปีแล้ว WorkpointTODAY จึงถือโอกาสนี้แวะมาเยียม House Samyan พูดคุยในบรรยากาศที่น่ารัก เป็นกันเองเหมือนเดิม และยังแอบซ่อนรายละเอียดที่สะท้อนความผูกพันระหว่าง House และแฟนๆ ไว้อย่างลึกซึ้ง รวมถึงการรับมือกับสิ่งที่กระทบกับธุรกิจโดยตรงอย่างโควิด – 19

ย้ายบ้านใหม่ คำบ่นเรื่องการเดินทางหายไป

อุ๋ยเล่าว่า ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่สามย่านมิตรทาวน์ สิ่งที่หายไปคือคอมเมนท์ ที่ทาง House ได้รับอยู่ตลอดเวลาตอนอยู่ที่ RCA ว่าอยู่ไกลเดินทางยากค่ารถแพงหรืออยากดูนะแต่ไปไม่ไหวทุกคนรู้สึกว่ามาง่าย แต่ก็จะมีคนอีกกลุ่มที่เป็นแฟนของ House RCA ที่รู้สึกว่าไกลขึ้น

“ปัญหาเรื่องการเดินทางก็ปลดไป เพราะปัญหาคืออยู่ที่ RCA มันคือชานเมืองจริง ๆ พอมาที่สามย่านก็มีคนถามว่าเข้าเมืองเลยหรอ แต่ผมคิดว่าพลังของภาพยนตร์ก็น่าจะทำให้เขาเดินทางได้” จ๋อง พูดเสริม

โรงหนัง House ขายบ้านด้วยหรือ 

หลังจากย้ายจาก RCA มาอยู่สามย่านมิตรทาวน์คนดูเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวเป็นกลุ่มคนใหม่ สัมผัสได้ตั้งแต่วันแรกที่เปิด House Samyan มีคนอีกมากมายที่ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามี House ทั้ง ๆ เปิดมาแล้ว 15 ปี

“แต่พอมาอยู่ตรงสามย่านมิตรทาวน์ ก็สามารถบอกได้ว่าเราคือใคร เราทำอะไร เราไม่ได้ขายบ้านนะ แต่เรากำลังฉายหนังเพราะว่ามีคนเข้าใจว่าเราเป็นคนขายบ้าน เพราะด้วยความที่ชื่อว่า House คนก็เลยเข้าใจว่าขายบ้างและโซนด้านหน้า ก็ทำเหมือนไม่ใช่โรงหนัง มีคนถามโรงแรมหรือเปล่าครับ หรือว่าจะทำคอนโดคะ มีห้องตัวอย่างไหม” สองผู้บริหารเฮาส์เล่าไปขำไป

เพิ่งเข้าใจ คำว่า “โลเคชั่นคือคีย์”

โลเคชั่นคือคีย์ พอย้ายมาในโลเคชั่นที่เดินทางง่ายขึ้นคนกลุ่มใหม่ที่ชื่นชอบหนังนอกกระแสมาเจอ House หลายคนก็เพิ่งรู้ว่ามีโรงหนังแบบนี้ที่เป็นทางเลือก พอได้ใช้บริการก็ชื่นชอบกลับมาให้บริการอีกกลายเป็นลูกค้าประจำ รวมถึงแบบกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มาดูหนังที่ House Samyan มากขึ้น

“ทุกอย่างกลับไปตอบโจทย์ความคิดตั้งแต่แรกที่ตัดสินใจย้ายมาที่สามย่าน คือ ถ้าให้ตัดสินใจให้เลือกจริง ๆ คือเราชอบที่เก่าคือที่ RCA เพราะใกล้บ้าน แต่ย้ายมาที่นี่มันเป็นเรื่องที่ดีกับคนกลุ่มใหญ่ทำให้หนังกับคนดูเขาใกล้กันขึ้น สนุกกันขึ้นมันน่าจะเวิร์คเราก็คิดแบบนั้นและที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าที่คิดมันไม่ผิด ปัญหาของโรงหนังมันก็มีแค่นั้นจริง ๆ มันมีหลายเรื่องแหละแต่ที่มันเป็นเรื่องใหญ่ ก็คือเป็นเรื่องของการเดินทางถ้าเขาสะดวกขึ้นมันก็น่าจะทำให้เขาได้เจอกับหนังที่เขาอยากดูง่ายขึ้น”

‘อุ๋ย – ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ’ และ ‘จ๋อง – พงศ์นรินทร์ อุลิศ’ ผู้บริหารจากโรงภาพยนตร์ House Samyan

ย้ายบ้านปีแรกก็เจอโควิดมาทักทาย  

ช่วงโควิด – 19 ที่ผ่านมาHouse ก็โดนด้วยแน่นอนเพราะโรงหนังคือสถานที่ที่คนจะอยู่รวมกันในที่ปิด ฉะนั้นโรงหนังจึงเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ เข้าข่ายที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยช่วงก่อนที่รัฐบาลจะสั่งปิด ทั้งอุ๋ยและจ๋องยอมรับว่าเครียดเพราะแม้ว่าทางเฮาส์จะปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดเพื่อให้พื้นที่สะอาดปลอดเชื้อทำหมดทุกอย่าง เพราะกลัวว่าจะมีเคสเกิดที่โรงหนังพอรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ก็เริ่มโล่งเพราะไม่ต้องมาค่อยระแวง

จ๋องพูดเสริมอย่างอารมณ์ขัน ว่า “ไม่รู้ว่าทำเท่าไหร่ถึงจะพอ เราบ้าเลือดถึงขนาดไปสั่งซื้อเครื่องพ่นมาไม่ได้เช่านะครับซื้อเลย ช่วงนั้นก็จะพ่นโต๊ะ เช็ดเก้าอี้ เช็ดแล้วเช็ดอีกถอดเก้าอี้ออกเพื่อให้คนเขานั่งเว้นระยะห่างเราทำทุกอย่างจนสุด ๆ นี่แหละครับบรรยากาศปีแรกที่ย้ายบ้านมาเราได้รับการต้อนรับจากโควิด”

“แม้ว่าจะมีมาตรการต่าง ๆ มารับมือแต่ต้องอย่าลืมว่าเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคนอยู่กับข่าวร้ายทุกวัน ดังนั้นตัวเลขมันก็ไม่ดีตั้งแต่ตอนนั้น มันก็ลดลงไปแบบเห็นได้ชัดถ้าเทียบกับเดือนธันวาคม 2563 หรือมกราคมปีนี้ เพราะที่ผ่านมาเรากำลังอยู่ในช่วงกราฟขึ้น โอ้โหคนเยอะจังเลยกะว่ารวยแน่ ๆ พอปิดไปแล้ว ได้รับการประกาศใหม่ว่าให้เปิดบริการได้ก็มีความตื่นเต้นใหม่เกิดขึ้นเหมือนเปิดโรงใหม่เลยไม่รู้ว่าจะทำอะไรบ้าง”

รอดโควิดได้เพราะฉายหนังไม่อิงกระแสโลก 

สำหรับ House แทบไม่รู้สึกว่าก่อนกับหลังโควิดจะแตกต่างกันเพราะจากเปอร์เซ็นต์คนดูก่อนปิดกับหลังเปิดเปอร์เซ็นต์ของคนที่เข้ามาดูหนังลดลงไม่มากนักลดลงแค่นิดเดียวเท่านั้น แต่ถ้าหากเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งตอนนั้น House ยังอยู่ที่ RCA ตัวเลขก็ยังดีกว่าตอนอยู่ RCA

จ๋องเล่าถึงความได้เปรียบของ House ในช่วงหลังโควิด-19 ว่า  “เป็นโชคของเราคือตรงนี้เราฉายหนังที่ไม่ได้พัวพันกับโลก คือโรงหนังที่เป็นโรงหนังหลักโรงหนังใหญ่ๆเขาจะผูกกับโลก พอฝรั่งป่วยอยู่อเมริกาเข้าไม่ได้ หนังก็ไม่ออก หนังที่ต้องรีลีสในอเมริกาในยุโรปมันยังมาไม่ได้ มันก็ไม่รีลีสในประเทศไทยดังนั้นเนี่ยโรงใหญ่ ๆ จะประสบปัญหากับการที่เอาหนังมาฉายอย่างมาก แต่เรานั้นเป็นโรงหนังที่ฉายหนังเล็ก ๆ ไม่เกี่ยวพันกับใครส่วนมากหนังที่ฉายอยู่ในเวลานี้ประเทศอื่นเขายังไม่ฉายเลยด้วยซ้ำหรือว่าหนังบางเรื่องอาจจะฉายไปแล้ว 1 ปี มันก็เลยไม่กระทบเราเลยไม่มีปัญหาเรื่องการหา Content ที่นี้คนที่อยากดูหนังอย่างนี้อยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งคนอยากเข้าโรงหนังฉันอยู่บ้านมาหลายเดือนฉันต้องดูหนังก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขเราแทบไม่ลดลงหรือลดลงแค่นิดหน่อยเท่านั้นเอง”

ไม่มีแพสชั่น ก็คงไม่มี House ตั้งแต่แรก

 “จะว่าไปแล้วแพสชั่นมันก็ทำให้เรามาได้ถึง 15-16 ปี หมายความว่าถ้าไม่มีแพสชั่น ก็อาจจะหยุดไปตั้งแต่ 5- 6 ปีแรกเพราะว่ามันไม่เห็นการอยู่รอดได้ทางธุรกิจ แต่ว่ามันเห็นอะไรบางอย่างในแพสชั่น ทำให้คิดว่ายังไหวอยู่” อุ๋ยบอกอย่างมั่นใจว่า แพสชั่นสำคัญขนาดไหน

จ๋องยืนยันอีกเสียงว่า แพสชั่น คือสิ่งที่ทำให้ House อยู่มาจนก้าวสู่ปีที่ 16 “หากไม่มีแพสชั่น ก็คงไม่มี House ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เราไม่ได้ทำมันเพราะอยากรวย เรารวยไม่ได้อยู่แล้วรู้ตั้งแต่วันแรกว่าเราทำสิ่งนี้แล้วมันไม่ตอบโจทย์สิ่งนั้นหรอก 5 ปีแรก ช่วงที่คนเริ่มไม่เห่อเราแล้วเราก็คิดว่า เอ๊ะยังไงเรามาใหม่เราแปลกไงมันก็เป็นที่ฮือฮาก็ตื่นเต้นกัน พออยู่มาไม่แปลกแล้วประกอบกับโรงหนังอื่น ๆ เริ่มเอาหนังแบบนี้ไปฉายเป็นเรื่องธรรมดาทำให้มีภาวะแห่งความเอาไงกันวะ”

“แต่อย่างหนึ่งที่เราคุยกันแต่ก็คือ ยังไงเราก็อยากทำและเราก็มองว่าที่มันไม่ดีเพราะเราทำได้ไม่ดีเองมันไม่ใช่ว่ามันไปไม่ได้ไม่ใช่ว่าเราไม่ทำอะไรกันเลย เราไม่โปรโมทมัน แต่เราต้องเอาจริงเอาจังกับมันมากกว่านี้ พอจังหวะมันเริ่มเดินได้เราก็เริ่มหันข้างให้มันนิดหน่อยเพื่อไปทำอย่างอื่นก็เลยสุดท้ายแพสชั่นนั่นแหละมันกลับมาตอบเราว่าเฮ้ยเราทำได้ไม่ดีพอเอง”

“โรงหนังอินดี้” หยุดทำดีไหม คิดผิดหรือยากไป

อุ๋ย เปิดใจว่า เคยคิดอยากจะหยุด “มีช่วงที่ House เปิดมา ปีที่ 8 ปีที่ 9 รู้สึกว่าเราจะหยุดดีไหมหรือเราคิดผิดหรือมันยากไป จำได้ว่าเราเปิดที่ RCA มาได้สักครึ่งปีเราจำได้เลยมีพี่ที่เรานับถือมาบอกเราว่าอุ๋ยต้องอดทนนะ ซึ่งตอนนั้นเราไม่คิดขนาดนั้นหรอก คิดแค่ว่า 5 ปีมันก็สร้างคาแรคเตอร์และบิ้วได้แล้วคนก็น่าจะมา แต่ว่ามันก็จริงเพราะมันเข้ามาปีที่ 8 ปีที่ 9 มันเริ่มถามจะไหวไหมมันจะรอดไหม”

“จุดเทิร์นนิ่งพอยท์อีกอย่างหนึ่งคือโลกเปลี่ยนจากฟิล์ม 35mm เป็นดิจิตอล “การที่เปลี่ยนมาเป็นดิจิตอลการเข้าถึง Content มันง่ายขึ้นหมายถึงเมื่อก่อนทุนของ 35mm มันสูงมาก ฉะนั้นเจ้าของหนังแต่ละคนพอจะเอาหนังมาฉายที่ House ก็จะคิดหนักเพราะว่ามันไม่คุ้มกับค่าผลิตฟิล์ม แต่พอมันเป็นดิจิตอลทำให้อย่างมันถูกลง Selection เราเลยเยอะขึ้นช่วงปี 2 ปีหลังเราก็เริ่มเห็นช่องทางของการอยู่รอด”

ต้องมีหนังสำหรับคุณสักเรื่อง ถ้าพยายามตามหาต่อไป

“เราเชื่อว่า You are what you eat เราเห็นอะไร เราอ่านอะไร เราฟังอะไร เรากินอะไร เราก็จะได้สิ่งนั้น ผมคิดแค่ว่าเราอยากจะเปิดโลกให้เขา ในวันที่เราเริ่มทำเราอยากให้มีประสบการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้น” จ๋อง เชื่อว่าเรื่องนี้สำคัญ ยกตัวอย่างหากรู้จักหนัง 7 เรื่องจะสามารถเทียบเคียงได้แค่ 7 เรื่อง แต่ถ้ารู้จักหนัง 70 เรื่องก็จะเปรียบเทียบได้มากมาย เพราะว่าเป็นข้อมูลที่แตกต่างกันและที่สำคัญที่สุดคือจะเข้าใจได้ว่าคนชอบอะไรที่ไม่เหมือนกัน ก็ได้แล้วมันก็ไม่ผิดไม่ควรไปตัดสินใจแทนกัน เพราะชีวิตมีมากกว่านั้น

“ถามว่าเราตอบแทนอะไรกับสังคมบ้าง ผมว่าสิ่งนี้เราตอบเรามอบให้สังคมตั้งแต่วันแรกที่เราทำแล้ว คือคนเราถ้ามีข้อมูลมากพอเขาก็จะรู้จักการประเมินมันเปรียบเทียบมันตัดสินใจว่าชอบไม่ชอบ เห็นด้วยไม่เห็นด้วยผมไม่เคยบอกว่าคนที่มาดูหนังที่นี่แล้วต้องชอบเพราะพวกคุณอาจจะไม่ชอบก็ได้ อาจจะไม่กลับมาอีกเลยก็ได้ เพราะมันไม่ใช่ทางแต่มันต้องมีหนังสำหรับคุณสักเรื่องหนึ่งถ้าคุณพยายามหามันต่อไปคุณต้องเจอ เราชอบใช้คำว่าหนังมันเลือกคนดู หนังมันจะเลือกคนคนนั้นมาดูมันเองไม่ใช่ใครอื่น” จ๋องกล่าว

House ไม่ได้อินดี้ แค่อยากเป็นทางเลือกให้ดูหนังได้หลากหลาย

อุ๋ย เล่าว่า “15 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นที่ทำ House เพราะเราอยากจะให้คนไทยรู้ว่าโลกนี้มีหนังที่หลากหลายตัวเลือกให้เลือกมีหนังอีกมากมายที่ยังไม่เคยเห็น ที่คุณเห็นหรือที่เขาเลือกมาให้ดูมีประมาณปีละ 200 – 300 เรื่องเท่านั้นเอง แต่ในขณะที่ในโลกทำหนังอยู่ 4,000 เรื่อง ซึ่งในหนังจำนวนมากมันก็คงดีพอแต่เราไม่ได้ดูเพราะมันมีอุปสรรคด้านภาษา สไตล์ ลีลา หน้าตา เราก็เลยคิดว่าเราทำโรงหนังขึ้นมาเพื่อให้คนเขารู้ว่าหนังอะไร พอเขารู้ว่าหนังมันหลากหลายเขาก็จะมีข้อมูลมากขึ้นมีรสนิยมที่หลากหลายมากขึ้นมันก็จะเป็นภาพที่ดีต่ออุตสาหกรรมหนัง ทั้งคนทำหนังไทยเองทั้งคนที่จะเอาหนังเข้าฉายในบ้านเราเองเพราะฉะนั้นเราก็จะหยิบจับอะไรได้ดีขึ้น

แต่วันที่โลกยังไม่มีอินเตอร์เน็ตการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปได้ยากใน 15 ปีก่อน ทุกอย่างเดินไปได้ช้ามาก ๆ แต่พอมีโซเชียลมีเดีย ก็จัดการคลังข้อมูลดีขึ้นคนสามารถดูหนังใน YouTube อย่างถูกต้อง ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคนได้รู้จักและเรียนรู้ได้เร็วมาก สิ่งที่เคยประหลาดในตอนนั้นเดี๋ยวนี้ไม่ประหลาดอีกต่อไป กลับกลายเป็นเรื่องที่รู้จักกันใจวงกว้าง

“เราเองก็ไม่ได้อยากจะพิเศษอะไรขนาดนั้น แม้จะตายเราก็ไม่ได้อยากหนีก็เลยเป็นข้อดีที่ทำให้มีคนรู้จักหยิบอะไรมาก็มีคนรู้จัก ดีกว่าที่ไม่มีคนรู้จักอะไรเลย”

“ผมเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตมีส่วนอย่างมากในการทำให้เขามีประสบการณ์มากขึ้น แล้วข้อดีคือเขาเลือกที่จะมีประสบการณ์ในโรงหนังเหมือนเขาไปดูหนังตัวอย่างมาก่อน แล้วเขาก็ไปทำการบ้านมาก็จะมีประสบการณ์ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ดี” จ๋องกล่าวเสริม

“โรงหนังไม่เคยตาย” อินเทอร์เน็ตแย่งได้แค่เวลากับพื้นที่

“มันแย่งได้แค่เวลามั้งครับ” จ๋องตอบทันทีเมื่อถามว่า แพลตฟอร์มดูหนังบนอินเทอร์เน็ตมีผลกระทบต่อธุรกิจโรงหนังบ้างหรือไม่ โดยมองว่าเป็นทางเลือกในเชิงเวลาและสถานที่ถ้าวันนั้นอยากอยู่บ้านการดูที่บ้านก็ถูกต้องสำหรับเขา แต่ถ้าเขาอยากดูในโรงและสิ่งนั้นมันสู้ไม่ได้อยู่แล้วมันคนละประสบการณ์ คือสุดท้าย Netflix หรือช่องทางที่เป็น Streaming ทั้งหลายก็คือช่องทางที่มาแทนโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ที่เมื่อก่อนอาจจะเป็น DVD ,Video, CD Bluray หรือทีวี โรงหนังก็ยังเป็นประสบการณ์ของโรงหนังที่ไม่มีสิ่งใดมาแทนได้เพราะให้ความรู้สึกไม่เหมือนกันซึ่งจะนำมามีเทียบเคียงกันไม่ได้

“สรุปว่าเขาแย่งได้แค่เวลากับพื้นที่เท่านั้นเอง แล้วมันยังเป็นแพลตฟอร์มที่ต่างกันในเชิงเนื้อหาหนังที่คุณเจอใน Netflix ไม่มีในโรงตอนนี้ มันคนละตลาดคนละกลุ่มเป้าหมายกัน ดีเสียอีกที่ส่งเสริมพฤติกรรมให้คนชอบดูหนังเขาจะได้เห็นแล้วกลับมาดูที่โรงเรา มีคนบางคนคาดการณ์ว่าโรงหนังอาจจะเป็นธุรกิจที่หายไป อย่าไปเชื่อเขาครับเพราะว่ามันจะเป็นอย่างนี้จะมีแนวคิดแบบนี้ทุก 10 ปี อย่างเช่นเมื่อ 40 ปีที่แล้วเอา Video มาทุกคนก็พูดแบบนี้ว่าโรงหนังจะตายก่อน พอ CD มาก็โรงหนังต้องตายก่อน DVD มาโรงหนังต้องตายก่อน อะไรมาก็บอกโรงหนังตายก่อนหมดเลยแต่โรงหนังไม่เคยตาย อย่าประมาณการโรงหนังกันแบบนั้น”

ลูกค้าหลักคือเด็กรุ่นใหม่ที่โตมากับมือถือ

อุ๋ยเล่าถึงลูกค้าของ House ว่าส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เติมโตมากับเทคโนโลยี “ลูกค้าของหลักเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เป็นคนรุ่นใหม่ด้วยนะ ไม่ใช่รุ่นเราที่โหยหาการเข้ามาโรงภาพยนตร์ แต่มันคือกลุ่มเด็กที่ยังเสพหนังและที่สำคัญคือลูกค้าหลักตอนนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เติมโตมากับมือถือ”

“ผมไม่รู้ว่าเรื่องนี้เกิดจากอะไร แต่ว่าคนทรีตโรงหนังเป็นเรื่องพิเศษ คุณจีบกันครั้งแรกคุณพากันไปโรงหนังไปดูหนัง คือจะมีที่ไหนที่คุณยินดีไปนั่งอยู่ที่มืด ๆ 2 ชั่วโมงคุยกันได้น้อย เราต้องเงียบ ๆ คุณต้องใช้ชีวิตแบบนั้นที่ไหน อยู่วัดคุณยังคุยกันดังกว่านั้นเลย ดังนั้นสิ่งที่มันอยู่ในจอและสิ่งที่เราได้ยินมันจริง ๆ มันทำงานอย่างเป็นพิเศษ คนจะมีสมาธิมาก ๆ และจดจ่อกับมันเวลาดูมัน อยู่บ้านไม่มีทางที่จะทำได้เดี๋ยวหยุด เดี๋ยวก็ต้องรีดผ้าดูไม่เคยจบเรื่องทั้ง ๆ ที่มันงานดี ๆ ทั้งนั้น”

“ผมเลยคิดว่า ใครบอกว่าโรงหนังตายเนี่ยมาคุยกันหน่อย มันไม่ใช่ทฤษฎีของเรา” จ๋อง พงศ์นรินทร์ หนึ่งในผู้บริหาร House Samyan กล่าวทิ้งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า