SHARE

คัดลอกแล้ว

วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ในวันที่แฮชแท็กชื่อ #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ในประเทศไทย ณ วันนั้น ผู้คนแบ่งความรู้สึกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ “ไม่เข้าใจ” ว่าทำไมเด็กๆ ปฏิเสธชุดนักเรียน ทำไมถึงไม่ทำตามกฎระเบียบที่โรงเรียนวางไว้ ส่วนอีกกลุ่มคือ “เข้าใจ” ในแนวคิดของนักเรียน ที่เห็นประโยชน์ของชุดนักเรียน น้อยกว่าชุดไปรเวท

ท่ามกลางความขัดแย้ง “ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์” ผู้กำกับชื่อดังจาก GDH และนาดาวบางกอก ที่มีผลงานมาแล้วมากมาย ทั้งซีรีส์ฮอร์โมน , เลือดข้นคนจาง, แฟนฉัน, ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น, เด็กหอ ฯลฯ ออกมาเขียนแคปชั่นในอินสตาแกรมว่า “ขอโทษที่วันนั้นพี่รู้และเข้าใจได้แค่นั้น วันนี้สู้ๆนะเด็กๆ” เป็นการบอกจุดยืนที่ชัดเจนว่า เขา “เห็นด้วย” กับการที่เด็กๆลุกขึ้นมาเรียกร้องขอใส่ชุดนักเรียน

ทำไมทรงยศต้องขอโทษ? จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปที่ซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซั่นที่ 1 Ep.1 ซึ่งเป็นตอนแรกของซีรีส์
ใน Ep.1 นั้น เล่าเรื่องของ วิน (พีช พชร) นักเรียน ม.5 โรงเรียนนาดาว ที่วันเปิดเทอม เขาไม่ยอมใส่ชุดนักเรียนเหมือนเพื่อนคนอื่น เจ้าตัวเลือกใส่ชุดไปรเวท มายืนเข้าแถวเคารพธงชาติ ซึ่งทำให้ครูที่โรงเรียนโมโหมาก โดยเฉพาะครูนิพนธ์ ครูฝ่ายปกครองของโรงเรียน โมโหกราดเกรี้ยวมาก ที่วิน ทำผิดกฎอย่างจงใจแบบนี้ และสั่งให้วินกลับไปใส่ชุดนักเรียน โดยไม่อธิบายอะไรเลย

วิน ไม่หยุดแค่นั้น เขาตั้งคำถามกับโรงเรียน โดยโพสต์คลิปว่า “เราใส่ชุดนักเรียนไปทำไม” ส่งผลให้เพื่อนๆจำนวนมาก ใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียนวันรุ่งขึ้น ทุกคนก็สงสัยเหมือนกันว่า ทำไมต้องใส่ชุดนักเรียน ในเมื่อเครื่องแบบ ก็ไม่ได้มีผลต่อความสามารถในการเรียนเสียหน่อย
สุดท้ายทำให้โรงเรียน ต้องเรียกนักเรียนที่ใส่ชุดไปรเวททั้งหมดเข้าหอประชุมเพื่ออบรม ซึ่งครูนิพนธ์ก็ด่าว่านักเรียนต่อไปเรื่อยๆ ว่าทำไมแหกคอก ไม่ยอมใส่เครื่องแบบ

แต่สุดท้ายสถานการณ์ก็จบลง เมื่อครูอ้อ ครูอีกคนของโรงเรียน เดินมาอธิบายว่า ที่ต้องใส่ชุดนักเรียนเพราะ “การใส่เครื่องแบบ จะทำให้เรารู้หน้าที่ของตัวเอง เหมือนตำรวจถ้าใส่เครื่องแบบ ก็จะได้รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่จับโจร ถ้านักเรียนใส่เครื่องแบบก็จะรู้ว่า หน้าที่ของตัวเองคือเรียนหนังสือ”
หลังครูอ้ออธิบายเสร็จ ผอ.โรงเรียนก็มาตะคอกซ้ำอีกว่า “ในวันนี้ผมจะยอมปล่อยให้คุณใส่ไปรเวทไปก่อน แต่ถ้าคุณยังทำซ้ำอีก ถือว่าผิดร้ายแรงเข้าใจไหม!” นักเรียนในซีรีส์ไม่รู้ว่าเข้าใจจริงหรือไม่ แต่ก็ยอมรับสถานการณ์ไป ก่อนจะรับบทลงโทษที่ฝ่าฝืนกฎ ด้วยการทำความสะอาดโรงเรียน
เรื่องใน Ep.1 ของฮอร์โมนซีซั่นแรกก็จบลงตรงนี้ ซึ่งในช่วงวันที่ 1 ธันวาคม ก็มีชาวทวิตเตอร์ เอาคลิปเรื่องราวในตอนนี้มาเผยแพร่ และโจมตี ย้ง-ทรงยศ ผู้กำกับในตอนนั้น ว่า เขียนบทอะไรออกมา ทำไมเด็กๆ ถึงต้องยอมรับ ทั้งๆที่เหตุผลของครูอ้อ ก็ฟังไม่ขึ้น และทำไมเด็กต้องโดนลงโทษในท้ายที่สุด

จากการที่ผู้คนพูดถึงเหตุการณ์ในฮอร์โมน Ep.1 ทำให้ทรงยศต้องออกมาขอโทษ ในอินสตาแกรม และซึ่งประเด็นนี้เอง ที่ทำให้ workpointTODAY ติดต่อหาทรงยศ เพราะเราอยาก “เข้าใจ” เขา ว่าในเวลานั้นความคิดของเขาคืออะไร และมันถูกเปลี่ยนแปลงไปได้เพราะอะไรกันแน่

“ในยุคสมัยที่ผมเป็นเด็ก ผู้ใหญ่จะทำอะไรโดยไม่ชอบอธิบาย คือเขาจะสั่งให้เราทำอะไรตามกฎ เด็กๆต้องเดินตามกรอบที่ผู้ใหญ่วางไว้ ห้ามเถียง ห้ามถาม ซึ่งเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย เราต้องการคำอธิบายก่อนจะทำอะไรสักอย่าง” ทรงยศเล่า

ตอนมาทำซีรีส์ฮอร์โมน ซีซั่น 1 เราก็เลยตั้งประเด็นว่า พอวินตั้งคำถาม แต่ครูนิพนธ์ไม่ยอมอธิบาย เด็กๆก็ไม่พอใจ แต่พอครูอ้ออธิบายเหตุผลในมุมของครูอ้อ มันก็เลยทำให้เด็กพร้อมจะรับฟัง นั่นคือมุมมองที่เราต้องการจะนำเสนอในวันนั้น”
ณ จุดนั้น สิ่งที่ทรงยศต้องการ คือขอแค่คำอธิบายก็พอจากผู้ใหญ่ โอเค จะฟังขึ้นหรือไม่ขึ้น ก็ว่ากันไป แต่อย่างน้อยถ้าได้อธิบายแล้ว เด็กๆก็พร้อมจะกลับไปอยู่ในกฎ โดยไม่ตั้งคำถามอีก

ซีรีส์ฮอร์โมน โด่งดังในปี 2556 และจากวันนั้นเอง แนวคิดบางอย่างของทรงยศก็ค่อยๆเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ

“ผมทำบริษัทนาดาวบางกอก เราต้องดูแลน้องๆ ศิลปินวัยรุ่น ซึ่งตอนที่เราทำงานกับเด็กๆ เราค้นพบว่า การให้อิสระกับเขา ทำให้แต่ละคนมีความสุขมากขึ้น และบริษัทก็ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นด้วย คือการที่เด็กๆได้ ‘ตัดสินใจเลือกเอง’ มันทำให้เขาต้องรับผิดชอบกับการกระทำนั้นๆ”

ที่นาดาว ทรงยศ จะไม่บังคับให้แต่ละคนต้องตัดผมทรงไหน แต่งตัวยังไง หรือดูแลรูปร่างของตัวเองอย่างไร เขาจะเพียงบอกว่า ฟีดแบ็กจากลูกค้าเป็นอย่างไร ลูกค้าต้องการพรีเซ็นเตอร์แบบไหน ซึ่งบรรดานักแสดงก็ต้องดูแลภาพลักษณ์ของตัวเอง เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่สุด คุณจะไว้ผมทรงไหน หรือปล่อยตัวอย่างไรก็ได้ แต่มันก็ส่งผลต่องานของคุณเองในอนาคต
จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบริษัทของตัวเอง เป็นจุดประกายให้ทรงยศได้เห็นว่า การให้อิสระ กลับสร้างประโยชน์มากกว่าการบังคับ

แค่อธิบายไม่พอ ต้องสู้ด้วยเหตุผล

ย้อนกลับไปที่ฮอร์โมน ซีซั่นแรก Ep.1 ตัวทรงยศยอมรับว่า เขาเสียใจที่มุมมองของเขา ณ เวลานั้น มันยังไม่แหลมคมพอ และเสียใจที่พาประเด็นชุดนักเรียนมาได้ไกลแค่นั้น

“ก็ยอมรับนะ ว่าตอนนั้นเราเข้าใจได้แค่นั้นจริงๆ” ทรงยศกล่าว

“เราโตมากับยุคหนึ่ง ซึ่งคิดว่าขอแค่คำอธิบายก็พอ แต่เด็กในยุคนี้ เขาไม่ได้ต้องการแค่นั้น เขาคิดไปไกลกว่านั้นอีก คือแค่คำอธิบายไม่พอ แต่ต้องเป็นคำอธิบายที่มีเหตุผลหนักแน่นพอ ที่จะสามารถเอาชนะเหตุผลของฝั่งเขาได้ด้วย”

กล่าวคือ ถ้าเทียบกับในซีรีส์ ตัวละครวิน และเพื่อนๆ ก็ยอมฟังครูอ้อ และจบทุกอย่างแค่นั้น โดยไม่ได้สนใจว่าเหตุผลจะโอเคหรือไม่โอเค ซึ่งในมุมของทรงยศคิดว่า ในสมัยเขาเด็กๆ ถ้าผู้ใหญ่ยอมอธิบายว่าคิดอะไรอยู่ นี่ก็ถือว่าดีมากแล้ว แต่ในยุคนี้ ต้องแพ้ชนะกันด้วยเหตุผล แค่ยอมอธิบายอย่างเดียวยังไม่พอ

ในสมัยผมเป็นนักเรียน ตอน ม.ปลาย เราเคยผมยาว แล้วโดนครูไถผมจนสั้น เราโมโหมาก แล้วไปประท้วงหน้าโรงเรียน คือ ณ ตอนนั้น เราแค่อยากรู้ว่า มันตัดผมเราทำไม เราไม่ได้มองในภาพใหญ่อะไรทั้งนั้น แต่รู้สึกว่าทำไมต้องมาทำกับเรา”

“แต่เด็กยุคนี้ เขาไปไกลกว่าเรามากๆแล้ว เขามีคำอธิบายถึงขั้นลงลึก คือไม่ใช่แค่ความไม่พอใจส่วนตัว แต่เป็นการตั้งคำถามเลยว่า การตัดผม ทำไปแล้วใครได้ประโยชน์บ้าง หักลบเหตุผล เอาข้อมูลมายันกัน 1 2 3 4 ผมเลยคิดว่าเด็กยุคนี้มันเจ๋ง ผมชอบความกล้าหาญของเขาจริงๆ”

มีชาวเน็ตตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าหากย้อนเวลาได้ ทรงยศ จะเลือกเขียนบทให้ออกมาในทิศทางอื่นหรือไม่ เช่น อาจมีบทให้ทั้งสองฝ่ายสู้กันด้วยความคิดมากกว่านี้ ไม่ใช่ให้เด็กนักเรียนยอมรับ และโดนลงโทษไปง่ายๆ ซึ่งทรงยศอธิบายว่า ก็มีคิดบ้าง แต่เขารู้ดีว่าไม่สามารถแก้ไขอดีตได้แล้ว

“มันคือการมองเห็นสังคมของเราในวันนั้น ผมกับทีมฮอร์โมนเรารู้สึกว่ามาไกลได้แค่นั้น ทีนี้พอ 6-7 ปีผ่านมา ก็เข้าใจหลายอย่างมากขึ้น ย้อนกลับไปดู รู้สึกว่าความคิดเราเปลี่ยนไป มันรู้สึกว่า ถ้าวันนั้นเราไปได้ไกลกว่านั้น เราอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้มากกว่านั้นก็ได้ อาจทำให้เด็กรุ่นต่อมา กล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถามในสังคมได้เร็วกว่านี้”

คำขอโทษของทรงยศ

จริงๆแล้ว มีข้อสงสัยคือ ทำไมทรงยศ ถึงต้องเอ่ยคำว่า “ขอโทษ” ออกมาด้วย กล่าวคือ ความเข้าใจของเขา ก็ไม่น่าจะเป็นความผิดถึงขนาดต้องออกมากล่าวขอโทษ แต่ทรงยศระบุว่า ในฐานะคนทำสื่อ เมื่อส่งสารใดๆให้สังคมที่ “ไม่ดีพอ” การออกมารับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำ ก็สมควรแล้ว

“เวลาคนทำสื่อ มันจะมีผลต่อคนดูที่เสพมันเข้าไป เขาอาจเชื่อสิ่งที่เราบอกไปแล้ว ก็เลยรู้สึกว่า เราต้องขอโทษนะ ที่นำเสนอสิ่งนั้นออกไป” ทรงยศอธิบาย

ความหมายของเขาคือ ใน Ep.1 สารในซีรีส์ ที่เขาบอกเด็กๆไปก็คือ ขอแค่ผู้ใหญ่ให้คำอธิบาย นักเรียนก็ควรยอมรับและเข้าใจ ว่ากฎมันเป็นแบบนั้น จากนั้นก็ยอมทำตามกฎไป
อย่างไรก็ตาม ทรงยศมาเข้าใจภายหลังว่า สิ่งที่เขาควรถ่ายทอดในวันนั้นคือ คุณสามารถตั้งคำถามกับกฎได้เลย ถ้าหากกฎยังไม่มีเหตุผลมากพอ ที่จะทำให้ “เชื่อ” ก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อ นอกจากนั้นผู้ใหญ่เอง ก็อย่าคิดว่าจะใช้อำนาจของตัวเอง กดเด็กเอาไว้ ให้ทำตาม แต่ทั้งสองฝ่ายต้องสู้กันด้วยเหตุผล เหตุผลใครหนักแน่นมากกว่า ก็จะเป็นฝ่ายชนะ ในบทสนทนานั้น

“รู้สึกผิดหวังตัวเอง ที่อยากสร้างซีรีส์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลง แต่เราทำได้ไม่ถึงจุดนั้น”

“ผมคิดว่า ถ้าสังคมอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ทุกคนต้องช่วยกัน และเราเมื่อมีสื่อในมือ ที่มีคนติดตามพอสมควร ถ้าเรานำเสนอประเด็นให้แหลมคมกว่านี้ มันอาจช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้ นั่นเลยรู้สึกว่า เออ เราต้องขอโทษแล้วล่ะ”

ชื่นชมเด็ก และเข้าใจผู้ใหญ่

ย้ง-ทรงยศ ปัจจุบันอายุ 47 ปี ถ้าดูจากอายุ ก็ถือว่าเป็นวัยผู้ใหญ่ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว มาพอสมควร แต่ในเชิงการทำงาน เขายังอยู่กับวัยรุ่น ต้องร่วมงานกับเด็กๆรุ่นใหม่อยู่ตลอด มันเลยกลายเป็นว่า ในสมองของเขามีความรู้สึกของผู้ใหญ่กับวัยรุ่นตีกันตลอดเวลา

“ต้องยอมรับว่า รุ่นเรา กับเด็กรุ่นใหม่นั้นต่างกันคนละเรื่อง คือ เด็กรุ่นเราไม่มีโซเชียลมีเดีย กว่าคุณจะมีโทรศัพท์มือถือก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัย หรือเรียนจบแล้ว อินเตอร์เน็ตก็ยังไม่มี ดังน้นเราเลยรู้จัก แค่กับสิ่งที่อยู่รอบตัวแค่นั้น” ทรงยศเล่า

“แต่เด็กสมัยนี้เขามีอินเตอร์เน็ต เขารู้ความเปลี่ยนแปลง และความเคลื่อนไหวของทั้งโลก ดังนั้นโลกของเขาจึงกว้างกว่าเรา”

“ปัญหาที่วัยผู้ใหญ่แบบผมเจอ คือเราตามความเร็วของโซเชียลมีเดียไม่ทัน โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่ประเด็นต่างๆมันไปเร็วมาก ข่าวอะไรก็ตาม จากเมื่อก่อนคนจะพูดถึงสัปดาห์นึง แต่เดี๋ยวนี้ แค่ชั่วโมงเดียว ก็เปลี่ยนไปเรื่องใหม่แล้ว”

สิ่งที่ผู้ใหญ่ในวัยอย่างทรงยศเจอ คือโดนแซะจากเด็กๆ ว่าตามโลกไม่ทัน อะไรใหม่ อะไรมา ก็จับกระแสสังคมช้าเกินไป กลายเป็นว่าผู้ใหญ่จึงโดนเด็กๆเย้ยหยันเอาได้ ว่าไปอยู่ที่ไหนมา โลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว

“คืออยากอธิบายนะ ว่าผู้ใหญ่หลายๆคน ชีวิตเขาไม่ได้อยู่ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดใคร เด็กไม่ผิดที่เร็ว และผู้ใหญ่ไม่ผิดที่ช้า สิ่งสำคัญคือเราต้อง Educate ให้ความรู้ซึ่งกันและกัน อะไรที่เขาไม่รู้ก็อธิบายให้รู้ อย่าคิดว่า เรื่องแค่นี้เอง ทำไมถึงไม่รู้ เพราะสังคมต้องการถกเถียง และการให้ความรู้กัน”

สำหรับทรงยศนั้น เขาเองให้คำแนะนำกับผู้ใหญ่ที่เล่นโซเชียลมีเดียว่า อย่าไปโมโหอะไรกับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ควรเลือกเก็บเกี่ยวสิ่งที่มีประโยชน์ และปล่อยทิ้งสิ่งที่ไม่มีประโยชน์

“ตอนนี้ผมมาถึงจุดที่ ไม่กลัวกับการโดนด่า โดนตำหนิ โดนแซะ นั่นเพราะถ้าการตำหนินั้นมีคำอธิบายว่า ตำหนิเพราะอะไร เราก็พร้อมจะเรียนรู้”

“เมื่อก่อนในโซเชียล เวลาคนชมเราก็ชมแบบตัวลอย เวลาด่าก็ด่าแรงแบบเราไม่เข้าใจเลย มันเลยมีช่วงที่เรารู้สึกอ่อนไหวมากๆ ว่าทำไมเขาโพสต์อะไรแบบนั้น”

“แต่พอได้เข้าใจโลกออนไลน์มากขึ้น ก็ได้รู้ว่าเราอย่าเก็บเอาใส่ใจทุกๆอย่าง เราเลือกเสพเฉพาะการพูดคุยที่มีเหตุผล เก็บเกี่ยวความเห็นดีๆ จากข้อความที่มีวุฒิภาวะ”

สังคมยังมีทางเชื่อมระหว่างคนสองวัย

ทรงยศ บอกว่าผู้ใหญ่ในประเทศนี้ที่คิดอะไรแบบสุดโต่งก็มี แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่เป็นเหมือนเขา นั่นคือพร้อมจะ “เปลี่ยนแปลง” ความคิดของตัวเองได้
เขาเชื่อว่า มีผู้ใหญ่อีกหลายคน ที่มีเหตุผล และไม่ได้หัวแข็งอะไร คือพร้อมทำความเข้าใจอยู่แล้ว เพียงแต่ เหล่าวัยรุ่นก็จำเป็นต้องใช้เหตุผลที่หนักแน่นในการต่อสู้กันทางความคิด

“คือเราโตกันมาคนละยุคสมัย เรามีความเชื่อบางอย่างที่ต่างกัน อย่างพี่ก็มีความเชื่อที่ยังหลงเหลือเอาไว้อยู่ แล้วก็ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงมาได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นมากพอ จะมาเปลี่ยนแปลงความคิดของเราได้”

“แต่ก็เหมือนกับเรื่องทรงผม ที่เคยบอกไว้ ว่าเมื่อก่อนเราก็ห่วงแค่ว่า เราโดนตัดผมแล้วเราจะไม่หล่อ แต่เด็กยุคใหม่เขาไปไกลกว่านั้น มันมีความคิดเรื่องเสรีภาพ เรื่องเศรษฐกิจ พวกเขาเอาเหตุผลมากมายมาตอบโต้ว่าทำไม ไม่ควรตัดผม หรือไม่ควรใส่ชุดนักเรียน ซึ่งผมฟังแล้วก็รู้สึกว่า เออ ถ้ามีเหตุผลมาขนาดนี้ เราจะไม่ยอมรับก็คงไม่ได้”

“คือมันอาจมีผู้ใหญ่บางคน ที่ไม่พร้อมเข้าใจ อันนั้นเราทำอะไรไม่ได้ แต่ก็มีอีกหลายคนที่เขาพร้อมจะฟัง และมันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้”

“ดังนั้นอยากให้น้องรุ่นใหม่ๆ ที่อยากจะเปลี่ยนแปลง พยายามใช้เหตุผล ใช้ความคิด ใช้ความรู้สู้ เพื่อสร้างความเข้าใจ”

“ผมเชื่อว่าผู้ใหญ่เปลี่ยนแปลงได้ ก็ดูเหมือนผมสิ 7 ปีที่แล้วผมคิดแบบหนึ่ง แต่มาตอนนี้ ผมก็เปลี่ยนไปคิดอีกแบบแล้วนะ จริงไหม”

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า