ปภ.รายงานฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลากน้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรงในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี รวม 27 อำเภอ 145 ตำบล 769 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 37,317 ครัวเรือนจุดอพยพ 7 จุด ผู้อพยพ 391 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมและสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือ
วันที่ 8 ม.ค.2564 อิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งสหพันธรัฐมาเลเซีย ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564 – ปัจจุบัน 8 มกราคม 2564 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และดินสไลด์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี รวม 27 อำเภอ 145 ตำบล 769 หมู่บ้าน
ประชาชนได้รับผลกระทบ 37,317 ครัวเรือนจุดอพยพ 7 จุด ผู้อพยพ 391 คน (นราธิวาส 3 จุด ยะลา 2 จุด สงขลา 2 จุด) แยกเป็น พื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 4 รวม 26 อำเภอ 140 ตำบล 731 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 37,260 ครัวเรือน
จ.นราธิวาส น้ำไหลหลากในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่อำเภอศรีสาคร อำเภอบาเจาะ อำเภอระแงะ อำเภอสุไงปาดี อำเภอรือเสาะ อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอจะแนะ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอยี่งอ และอำเภอตากใบ รวม 65 ตำบล 401 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,308 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
จ.ยะลา น้ำไหลหลากในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอกรงปีนัง อำเภอธารโต และอำเภอเบตง รวม 50 ตำบล 246 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 12,082 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
จ. สงขลา น้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี รวม 11 ตำบล 45 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 60 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
จ.ปัตตานี น้ำไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอแม่ลาน อำเภอสายบุรี และอำเภอหนองจิก รวม 14 ตำบล 39 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,810 หมู่บ้าน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
พื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 2 จังหวัด ได้แก่ ยะลา และนราธิวาส รวม 3 อำเภอ 7 ตำบล 22 หมู่บ้าน ไม่มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต
ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยระดมเครื่องจักรกลและเครื่องสูบน้ำเข้าพื้นที่เพื่อเร่งระบายน้ำ และให้การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่ และประเมินความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป