SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเทศไทยยังต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ‘ระลอกใหม่’ ที่ทำให้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน พุ่งทะลุเพดานสถิติเดิม 188 ราย (22 มี.ค. 63) ไปเป็น 959 ราย (26 ม.ค. 64) แล้ว

แม้จะเป็นตัวเลขที่น่าใจหาย แต่เพราะมีบทเรียนจากการรับมือการระบาดระลอกแรกมาก่อนแล้ว ความเห็นจากเหล่าผู้นำทางการศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวในการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (PMAC 2021) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 มองว่า ประเทศไทยสามารถรับมือกับ COVID-19 ระลอกใหม่ได้ หากทุกภาคส่วนนำความรู้และประสบการณ์ที่รับมือกับเชื้อไวรัสตลอด 1 ปีมาปรับใช้ การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไทยย่อมเป็นไปอย่างทันท่วงที

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ร่วมการประชุมได้จำแนกบทเรียนสำคัญจากการรับมือกับ COVID-19 ซึ่งปีที่ผ่านมาถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครรู้วิธีรับมือมาก่อน ออกเป็น 7 ข้อ ได้แก่

1.) ประเมินกลุ่มเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยงให้รวดเร็วที่สุด

ก่อนจะเริ่มบังคับใช้มาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับโรคระบาด เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องประเมินสถานการณ์เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยงเสียก่อน แล้วจึงเริ่มดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุก เพราะช่วงที่มีการระบาดระลอกแรก ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากร ทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์และทรัพยากรบุคคลมีจำกัด การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัสใกล้ชิดในระยะแรก จึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขให้ความสำคัญก่อน ภายหลังเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง จึงปรับเปลี่ยนมาคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้กว้างขึ้น และดำเนินการตรวจเชิงรุกมากขึ้น เพื่อการระบุตัวผู้ติดเชื้อให้ได้อย่างแม่นยำ

ทั้งนี้ แม้จะเป็นการตรวจเชิงรุก แต่เจ้าหน้าที่ยังต้องค้นหาจากกลุ่มเสี่ยงที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำหนด เช่น ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย สัมผัสกับผู้กักตัว หรือ กลุ่มแรงงานต่างชาติที่พบการติดเชื้อ โดยผลจากความร่วมมือของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ได้ลงพื้นที่คัดกรองกลุ่มเสี่ยงเชิงรุก ณ สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี (คลอง5-6) ช่วงเดือนสิงหาคมในปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยพบว่ามีผู้ต้องขังรายหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 นับเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศรายแรกในรอบ 101 วัน

สำหรับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ แม้จะมีการประกาศออกไปว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงถึง 700-900 ราย แต่หากตัวเลขดังกล่าวคือตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ตรวจเจอจากการคัดกรองเชิงรุก นับว่าเป็นเรื่องดี เพราะแปลว่าเรายังสามารถประเมินสถานการณ์รับมือกับการแพร่ระบาดได้

2.) ข้อมูลที่แม่นยำคือสิ่งสำคัญ

ในการรับมือกับโรคระบาด เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องทราบรายละเอียดของสถานการณ์ที่ถูกต้องและเรียลไทม์ที่สุด เหตุเพราะข้อมูลที่ล่าช้าไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง อาจนำมาสู่การประกาศใช้มาตรการที่คลาดเคลื่อน หรือไม่เหมาะกับเหตุการณ์ และเปลี่ยนสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ให้กลายเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ในทันที

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ เผยว่า ความแตกต่างของการระบาดทั้งสองระลอก คือ ระลอกแรกมีคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ เป็นสนามมวยและสถานบันเทิง ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่แออัดไม่มีใครป้องกันตัวเอง ขณะที่รัฐบาลประกาศออกไปว่า เชื้อไวรัสระบาดมาจากสถานที่เหล่านี้ กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ต่างรีบเดินทางมาตรวจว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ ก่อนจะกลับไปกักตัว หรือรับการรักษาตามมาตรการ

ขณะที่ระลอกสอง การระบาดครั้งแรกเกิดในแถบชายแดนติดประเทศเมียนมาร์ ผู้ติดเชื้อหลังจากกลับมาประเทศไทย ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าตัวเองไปที่ไหน จึงตัดสินใจไม่มาตรวจ หรือต่อให้มาตรวจ พอถามข้อมูลการเดินทางก็ไม่ตอบตามความจริง ขณะที่คลัสเตอร์ที่ 2 ซึ่งเกิดในตลาดที่จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบริเวณที่มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านกระจุกตัว แรงงานเหล่านี้แม้จะมีเชื้อ แต่เพราะเข้าประเทศมาด้วยวิธีผิด พวกเขาจึงกลัวที่จะให้ข้อมูลตามความจริง นั่นก็คืออุปสรรคที่เกิดขึ้นในการระบาดระลอกใหม่ ที่ทำให้ยากแก่การเก็บข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ

3.) ตัดสินใจใช้มาตรการให้ถูกเวลา

สำหรับการรับมือ COVID-19 ในระลอกที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้ยุทธศาสตร์ The Hammer and The Dance หรือ การทุบด้วยค้อนแล้วปล่อยให้ฟ้อนรำ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่หลายประเทศนำมาใช้และปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ สำหรับประเทศไทย ค้อน หมายถึง การควบคุม ซึ่งก็คือควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงด้วยมาตรการล็อคดาวน์ โดยรัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้มาตรการรับมือดังกล่าวอย่างทันท่วงที เพราะสถานการณ์โรคระบาดคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ไม่ใช่สัปดาห์ หากการตัดสินใจมีความล่าช้า ย่อมส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตของคนในประเทศ

4.) หาจุดสมดุลระหว่างมิติทางสาธารณสุขและมิติทางสังคม

โดยปกติช่วงเวลาที่ใช้ “ค้อน” ไม่ควรเกิน 6-8 สัปดาห์ เพราะสิ่งที่ตามมาคือผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะประชาชนต้องขาดงานอยู่บ้าน ขณะเดียวกันรายได้ที่ลดลงก็สั่งสมความตึงเครียดให้มากขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐบาลจึงต้องประเมินให้มีการผ่อนคลาย (The Dance) หรือปล่อยให้ “ฟ้อนรำ” ซึ่งหมายถึงการปล่อยให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ สุขภาพจิต และเศรษฐกิจของประเทศ

หากมองย้อนกลับไปสำรวจสถานการณ์ของประเทศอื่น ๆ ในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ เราจะเห็นหลายประเทศตัดสินใจปรับเปลี่ยนมาตรการจาก The Hammer เป็น The Dance เร็วเกินไป ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาเกินควบคุมอีก และต้องประกาศล็อคดาวน์อีกรอบ แม้บางพื้นที่จะล็อคเฉพาะเมืองหลวง แต่ก็ย่อมส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ ดังนั้น การหาจุดสมดุลเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากรีบร้อนเกินไป ก็อาจตามมาด้วยผลลัพธ์ที่เลวร้ายกว่าเก่า หรือหากช้าเกินไป ประเทศไทยก็อาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้

5.) ความร่วมมือของคนไทย

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของรัฐบาล หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขอย่างเดียว เพราะหากคนไทยไม่ให้ความร่วมมือหรือปฏิบัติตามข้อแนะนำ ก็ย่อมไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีได้ ดังนั้น การทำให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ รู้จักความร้ายแรงของโรคระบาด รวมไปถึงรู้วิธีรับมือและปฏิบัติตัว ฝ่ายผู้เชี่ยวชาญเองก็จำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชน ถึงสาเหตุและความจำเป็นที่คนไทยต้องเปลี่ยนพฤติกรรม เหตุใดควรกระทำเช่นนี้ หรือไม่ควรกระทำเพราะอะไร จึงจะเป็นการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่มีประสิทธิภาพ

อีกหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือที่น่าสนใจ คือ ผลงานของคณะสาธารณสุขศาสตร์ ที่ทำงานร่วมกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังมาตั้งแต่ก่อนจะมีการระบาดระลอกแรก ด้วยการให้ความรู้ที่ด้านสาธารณสุขที่ถูกต้อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีความรู้ที่จะป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัส ทั้งยังสามารถรักษาระดับน้ำตาลและความดันเลือดของตนให้อยู่ในอยู่ในเกณฑ์ปกติ ในช่วงที่เกิดการล็อคดาวน์ เมื่อผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว (Peer for Progress) สามารถดูแลสุขภาพของตัวเองจนผ่านช่วงเวลาวิกฤติได้ พวกเขาย่อมกลายเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยเหลือกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กระจายความรู้และบทเรียนของตนไปสู่ชุมชนเมื่อการระบาดระลอกใหม่

6.) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อกล่าวถึง เชื้อไวรัสโควิด-19 เรากำลังหมายถึงสิ่งที่สามารถแบ่งตัวและแพร่กระจายได้ในอากาศภายในเวลาไม่กี่วินาที  เมื่อมองด้วยตาเปล่ายังไม่เห็น บุคลากรทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องต่อสู้กับมันด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยกว่าเก่า อาจเรียกได้ว่าเป็นโชคดีที่ยุคสมัยนี้มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มีนวัตกรรมการตรวจหาเชื้อที่ใช้เวลาน้อยลง ทำให้มนุษย์สามารถระบุรหัสพันธุกรรมของเชื้อเพื่อที่จะหาวิธีรับมือกับมันได้ และเพราะมีการออกแบบคิดค้นเครื่องมือป้องกันการติดเชื้อชนิดใหม่ ๆ บุคลากรทางการแพทย์จึงยังปลอดภัยและสามารถช่วยเหลือผู้ติดเชื้อมาได้มากมายจนถึงตอนนี้

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในส่วนของ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ อีกหนึ่งผู้ร่วมประชุม กล่าวว่าสถานการณ์ของโควิด-19 นับเป็นโอกาสอันดีที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้นำความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการนำ “หุ่นยนต์เวสตี้” สำหรับเก็บขยะติดเชื้อ และ “หุ่นยนต์ฟู้ดดี้” สำหรับส่งอาหารและยามาช่วยเหลือผู้ป่วยและบุคลากรทางแพทย์เพื่อลดการสัมผัส รวมถึงนำเทคโนโลยีสำคัญอย่าง ‘หุ่นยนต์เอไอ- อิมมูไนเซอร์ (AI-Immunizer)’ เข้ามาช่วยสนับสนุนและยกระดับการพัฒนาวัคซีนของไทยสู่ระดับโลก

7.) การร่วมมือกันของเหล่าผู้เชี่ยวชาญ

แม้จะเคยกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างฝ่ายรัฐบาลและประชาชนไปแล้ว แต่การรับมือกับสถานการณ์เชื้อไวรัสระบาดครั้งนี้ นับเป็นโอกาสของการร่วมมือที่หาได้ยากหรือเรียกได้ว่าแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของผู้นำไม่เพียงแต่ในระดับมหาวิทยาลัย แต่ไปไกลจนถึงหน่วยงานระดับประเทศ ช่วงแรกที่มีการหารือเพื่อกำหนดนโยบายต่าง ๆ หน่วยงานอย่างกระทรวงสาธารณสุข เหล่าประธานราชวิทยาลัย แพทยสภา แพทยสมาคม และเหล่าคณะแพทยศาสตร์จากหลากหลายสถาบัน ก็ได้มีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นต่อทางออกของประเทศ การที่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามานั่งถกเถียงและร่วมหาทางออกของปัญหาไปด้วยกัน ด้วยความร่วมมือเหล่านี้ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า