SHARE

คัดลอกแล้ว

รายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำตลอดปีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 150,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่กลับมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ได้จริงเพียงแค่ปีละ 42,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. วิเคราะห์ว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงปี 2564 ทำให้ไทยจะต้องเจอวิกฤตภัยแล้งอีกระลอก และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเราใช้น้ำกับทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุปโภค บริโภค ภาคเกษตร รักษาระบบนิเวศ และอุตสาหกรรม

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เปิด คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สสน. พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2564 สถานการณ์น้ำของไทยยังอยู่ในขั้นวิกฤต พร้อมกับยกข้อมูล 40 ปี ย้อนหลัง (ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 – 2563) พบว่าสถานการณ์น้ำของไทยแปรผันอย่างมาก และการการสลับแปรปรวนยังเกิดถี่ขึ้น จากทุกๆ 10 เป็นทุกๆ 5 ปี จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “Climate Change” ดังนี้

– ในปีที่ปริมาณน้ำมากกว่าค่าเฉลี่ย (น้ำท่วม) จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 15 ก็สูงขึ้นเป็นร้อยละ 24 – 25 ปริมาณน้ำคือปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น

– ส่วนปีที่ปริมาณน้ำที่น้อยกว่าค่าปกติ (วิกฤตภัยแล้ง) เคยมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยลบร้อยละ 12 – 13 ปัจจุบัน กลายเป็นเป็นลบร้อยละ 15 โดยเฉพาะ พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยลบร้อยละ 17 ซึ่งน้อยสุดที่ภาคเหนือและภาคกลาง

เมื่อฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปีติดต่อกัน โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางที่เป็นที่ตั้งของเขื่อนหลักทั้งประเทศ ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อย ส่งผลให้ภัยแล้งเกิดขึ้นในพื้นที่เขตชลประทาน ซึ่งจะเป็นผลสืบเนื่องมาถึงปีนี้ แม้ปริมาณฝนที่ตกจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

“อธิบายง่ายๆ คือ เราใช้น้ำปีละประมาณ 150,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ฝนที่ตกทั้งประเทศตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 750,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำฝนที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำจะได้ปริมาณน้ำท่าประมาณ 280,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
แต่เราได้ปริมาณน้ำใช้งานจริงแค่ 42,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น เนื่องจากความจุทุกอ่างเก็บน้ำมีประมาณ 76,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มีตะกอนในอ่างประมาณ 10,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นช่องว่างที่จะเก็บน้ำต่อปีมีเพียงแค่ 52,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่น้ำที่ไหลเข้าเฉลี่ยไม่เต็มอ่างมีแค่ 42,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของความจุดที่อ่างรับได้) ทำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่กับปริมาณน้ำใช้ต่างกันเกือบ 4 เท่า เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ”

ขณะที่แนวโน้มการใช้น้ำของประเทศในอนาคตไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง (ประเทศไทยใช้น้ำเป็นอันดับ 4 ของโลก ถัดจาก อเมริกา กรีก มาเลเซีย อิตาลี) เมื่อวิเคราะห์ในแง่ของ วอเตอร์ฟุตพรินต์ (Water Footprint) หรือ การใช้น้ำทั้งทางตรงทางอ้อม ในการอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม และการเกษตรของทั้งประเทศ คาดว่าความต้องการการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกร้อยละ 25

ข้อมูลการจัดสรรน้ำที่มีอยู่ ปี พ.ศ. 2564 ใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.พ. 2564 จากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ http://www.thaiwater.net/wate ) มีปริมาณน้ำใช้การเพียง 5,771 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่มีความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝนประมาณ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ฤดูแล้งปี 2564 มีน้ำไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการเกษตร

เกษตรกรกำลังใช้น้ำที่ไม่ได้ถูกจัดสรรให้เพื่อการเพาะปลูก

จากปริมาณน้ำทั้งหมดนี้เราต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อนอุปโภคบริโภคและผลักดันน้ำเค็มด้วย ทำให้ไม่เพียงพอสำหรับการทำเกษตรนาปรัง ในพื้นที่ชลประทานภาคกลาง แต่กลับพบข้อมูลการปลูกข้าวนาปรังไปแล้วถึง 2.8 ล้านไร่ หมายความว่า ชาวนากำลังใช้น้ำที่ไม่ได้ถูกจัดสรรให้เพื่อการเกษตร แม้ว่าภาครัฐจะประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดทำนาปรัง โดยจะใช้น้ำสำหรับ การอุปโภค-บริโภค และ รักษาระบบนิเวศ เท่านั้น ซึ่งพบปัญหาว่าเกษตรกรสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองชลประทาน จนน้ำที่ต้องใช้ผลิตน้ำประปาหลายแห่งไม่เพียงพอ และเริ่มมีข่าวการแย่งน้ำเกิดขึ้น

ไม่พอผลิตน้ำประปา – ค่าความเค็มสูง

สสน. วิเคราะห์ว่า ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนในฤดูแล้งปี 2564 นี้ อาจเกิดการสูบน้ำออกไปจากระบบเพิ่มมากขึ้น การประปาหลายแห่งที่ใช้น้ำจากคลองชลประทานอาจเกิดปัญหาขาดน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย ขณะที่ภาคตะวันตกที่ฝนตกน้อย (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.พ. 2564 จากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ http://www.thaiwater.net/water) พบว่า เขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำใช้งานได้จริง ร้อยละ 13 และ เขื่อนวชิราลงกรณ มีน้ำใช้งานได้จริง ร้อยละ 14 ซึ่งปริมาณน้ำ 2 เขื่อนรวมกันมีเพียง 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่างจากปีก่อนมี 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่ง 2 เขื่อนนี้มีความสำคัญคือสามารถผันน้ำไปช่วยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยได้ คาดว่าปีนี้จะปล่อยมาช่วยได้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา

“ผลจากการที่ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อย ทำให้น้ำที่ผลักดันน้ำเค็มน้อยลงไปด้วย ทำให้น้ำในการผลิตน้ำประปาเกิดค่าความเค็มสูงสุดมาตั้งแต่ มกราคมที่ผ่านมา พบว่าค่าความเค็มสูงถึง 2.19 กรัมต่อลิตร และสูงสุดอยู่ที่ 2.53 กรัมต่อลิตร เกินกว่าค่าที่การประปานครหลวงจะใช้ผลิตน้ำประปา (ซึ่งต้องไม่เกินกว่า 0.5 ลิตร) จะเห็นว่าค่าความเค็มเกินไปถึง 5 เท่า”

น้ำแล้งกระทบเศรษฐกิจ

จากการประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของ ศูนย์ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ พยากรณ์เศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2564 ระบุว่า ภัยแล้ง จากระดับน้ำในเขื่อนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ยังถือเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเศรษฐกิจ ไม่น้อยไปกว่าการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และความล่าช้าของวัคซีน , แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกับเสถียรภาพสถาบันการเงินผ่านระดับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น , ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ และ เงินบาทที่แข็งค่าเร็ว โดยไม่ว่าจะเกิดภัยแล้งมากหรือน้อย จะส่งผลกระทบทั้งสิ้น ทั้งการค้า การบริโภค การลงทุน ภาคการเงิน และเศรษฐกิจมหภาค เพราะการผลิตได้น้อยก็จะกระทบต่อการส่งออก กระทบต่อราคาของผลผลิคทางการเกษตรที่ได้น้อยลงทำให้ราคาสูงขึ้น

ทางรอดวิกฤตแล้ง

หลักสำคัญในตอนนี้ คือ เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องเข้าใจสถานการณ์น้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤต และไม่สูบน้ำจากแม่น้ำลำคลอง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาต่อน้ำกินน้ำใช้ ส่วนประชาชนทุกภาคส่วนก็ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบ จนกว่าจะสถานการณ์ภัยแล้งจะเริ่มคลี่คลาย ซึ่งคาดว่าในเดือนเมษายนนี้ อาจจะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติและอาจเกิดพายุฤดูร้อน

สิ่งที่รัฐควรบริหารจัดการให้เป็นรูปธรรมคือการเตรียมตัว รับมือกับภัยแล้งก่อนที่จะเกิดวิกฤต อาจทำได้ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการบริหารจัดการน้ำ เกษตรกรมีแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กสำรองใช้ในการเพาะปลูก เพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยงแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นแบบแปรผันในทุกๆ ปี

ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เสนอโมเดลชุมชน 1,700 กว่าหมู่บ้าน ที่รอดพ้นจากภัยแล้ง ในปี 2562-2563 พบว่า ชุมชนมีการฟื้นป่าโดยการทำฝายเพิ่มน้ำ ทำระบบน้ำประปาภูเขา สามารถใช้เป็นระบบน้ำอุปโภคบริโภค ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร ชุมชนแก้ปัญหาโดยการดูแลอ่างเก็บน้ำและทำเป็นระบบสระพวง และทำการเกษตรจะแตกต่างจากพื้นที่ราบ คือทำเป็นวนเกษตร และนำมาสู่การทำกองทุนชุมชน นับเป็นหนึ่งตัวอย่าง การแก้ปัญหาความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

“หลายชุมชนมีความเป็นอยู่เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว คือมีกองทุนของตัวเอง เวลาเกษียณอายุหรือเวลาเจ็บป่วยจะมีเงินช่วยเหลือ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างชุมชน เอกชนและรัฐ ไม่ใช่รัฐทำฝ่ายเดียว ยกตัวอย่างเช่น ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน เราเข้าไปฟื้นโดยการทดลองพื้นที่ 2,000 ไร่ เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพด และแทนที่จะปลูกป่าชุมชน เริ่มจากฟื้นฟูฝาย ฟื้นระบบแทงก์น้ำ แล้วปลูกกล้วยนำก่อน 7 เดือน จากนั้นปลูกถั่วดาวอินคา มะนาว มะละกอ ทุเรียน แล้วมี กสทช.เอา 4G เข้าไปในพื้นที่ ชาวบ้านสามารถขายผลผลิตผ่านออนไลน์เกิดธุรกิจ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่า ไม่มีการบุกรุกป่าและทำเป็นวนเกษตรและชุมชนไม่แล้งอีกต่อไป”

ฝั่งรัฐบาลมีมาตรการรองรับปัญหาภัยแล้ง ปี 2564 ซึ่งได้เผยแพร่ผ่านรายการวิทยุไทยคู่ฟ้า วันที่ 4 ธันวาคม 2563 ว่า

  • เร่งเก็บกักน้ำก่อนหมดฝน จัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบ ปฏิบัติการเติมน้ำในพื้นที่เกษตรและที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ
  • กำหนดจัดสรรน้ำฤดูแล้งไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการอุปโภค-บริโภค จัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำ
  • วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง
  • ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมจัดการน้ำตามหลัก 3R คือ ลดใช้ ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่
  • สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำ ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจและร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัดตามแผนที่วางไว้

โดยปีนี้ สสน. คาดการณ์ว่าฝนจะตกเยอะกว่าปี พ.ศ. 2563 แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ รวมทั้งยังมีช่วงที่ฝนตกหนักจนอาจเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ด้วย โดย สสน. วิเคราะห์อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรรอบประเทศไทยที่มีอิทธิพลต่อสภาพบรรยากาศ พบว่า ฝนตกเร็วตั้งแต่เดือนเมษายนฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย มีพายุฤดูร้อนมากขึ้น ช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม จะเกิดฝนทิ้งช่วง และเกือบค่อนประเทศมีน้ำท่วมเกิดขึ้นในเดือนกันยายน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า