SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer นี่เป็นคดีสะเทือนขวัญที่สร้างอิมแพ็กต์ให้กับคนอังกฤษทั้งประเทศ ถึงขั้นฝ่ากฎล็อกดาวน์ ออกมาประท้วงและด่าตำรวจกันทุกมุมเมือง

คดีซาราห์ เอเวอราร์ด เป็นคดีลักพาผู้หญิงใจกลางกรุงลอนดอน โดยคนร้ายมีอาชีพเป็นตำรวจ เรื่องราวเป็นอย่างไร workpointTODAY จะอธิบายให้เข้าใจใน 19 ข้อ

1) ซาราห์ เอเวอราร์ด สาววัย 33 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดอแรม ทางตอนเหนือของอังกฤษ ก่อนจะลงมาลอนดอนเพื่อทำงานในบริษัทโฆษณา ชีวิตของเธอมีความสุขดี นอกเวลางานเธอชอบออกกำลังกาย ชอบลงแข่งขันในงานวิ่งมินิมาราธอน ขณะที่ชีวิตรัก เธอมีแฟนหนุ่มชื่อ จอช โลวธ์ อายุ 33 เท่ากัน และมีแผนจะแต่งงานกันในอนาคต

2) วันที่ 3 มีนาคม 2021 ซาราห์ไปหาเพื่อนที่ย่านแคลปแฮม ในลอนดอน เธอออกจากบ้านเพื่อนเวลา 21.00 น. จากนั้นเดินกลับบ้านที่ย่านบริกซ์ตัน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 50 นาที ในการเดินเท้า ระยะทางอาจจะไกลสักหน่อย แต่ตัวซาราห์ชอบเดินออกกำลังกายอยู่แล้ว และเธอก็เดินในเส้นทางนี้เป็นประจำ เพราะถนนหนทางก็สว่างปลอดภัยมาก ย่านแคลปแฮม อยู่ในโซน 2 ของกรุงลอนดอน ไม่ได้ชานเมืองขนาดนั้น

3) ซาราห์เดินทะลุผ่านสวนสาธารณะแคลปแฮม คอมม่อน เข้าสู่ถนนสาย A205 ระหว่างนั้นเธอคุยโทรศัพท์กับแฟนไปด้วย ราว 14 นาที ก่อนจะวางสายไป แต่ทว่าเธอนั่นคือครั้งสุดท้ายที่มีคนได้ยินเสียงของเธอ เพราะคืนนั้น ซาราห์ไม่กลับบ้าน วันรุ่งขึ้น แฟนหนุ่มแจ้งตำรวจว่าซาราห์หายตัวไป ติดต่อไม่ได้ จึงมีการทำป้าย Missing เพื่อตามหาคนหาย แปะป้ายทั่วกรุงลอนดอน

4) การสืบค้นเริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้น ตำรวจค้นหาในบ้าน 750 หลังทั่วลอนดอนตอนใต้ รวมถึงทุกพื้นที่ในสวนแคลปแฮม คอมม่อน นี่เป็นการปูพรมค้นหาครั้งใหญ่ เพราะคนเราไม่สามารถหายตัวกันไปได้เฉยๆ ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องนี้เกิดขึ้นกลางเมืองลอนดอน ในช่วงเวลาหัวค่ำ ที่ผู้คนยังใช้ชีวิตกันปกติอยู่เลย

5) ตำรวจไปขอดูกล้องวงจรปิด ที่ติดไว้หน้าบ้านของประชาชน โดยมีหนึ่งกล้องที่จับภาพของซาราห์เอาไว้ได้ ที่ถนนพอยเดอร์ส โร้ด ในเวลา 21.28 น. และการสืบสวนคดีก็เริ่มจากจุดนี้

6) ตำรวจไปหากล้องจากรถเมล์ที่ผ่านถนนพอยเดอร์ส โร้ด ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ปรากฏว่ามีรถเมล์คันหนึ่ง จับภาพได้ในเวลา 21.35 น. ว่ามีรถยนต์ยี่ห้อ Vauxhall สีขาว จอดอยู่ข้างถนน ใกล้ๆกับจุดที่ซาราห์เจอเป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นตำรวจจึงตามเส้นทางของรถคันนี้ ซึ่งปรากฏว่ารถขับออกจากลอนดอน ไปเมืองชื่อเคนท์ ที่อยู่ห่างจากลอนดอนราว 90 กิโลเมตร

7) ตำรวจกระจายกำลังค้นหาทั่วเมืองเคนท์ เพราะอาจได้เบาะแสอะไรบางอย่าง และในที่สุด วันที่ 10 มีนาคม 2021 ตำรวจพบชิ้นส่วนของศพอยู่ในป่าแอชฟอร์ด ในเมืองเคนท์ โดยหลักฐานทางทันตกรรม ยืนยันว่าศพนี้เป็นของซาราห์ เอเวอราร์ดแน่นอน นั่นแปลว่าเธอโดนคนขับรถ Vauxhall ลักพาตัว ฆาตกรรม และแยกชิ้นส่วนศพเอามาทิ้ง

8) เมื่อรู้แล้วว่า รถ Vauxhall มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม ถึงตรงนี้ก็ตามต่อไม่ยากแล้ว ในที่สุดก็พบผู้ต้องสงสัย ได้แก่เวย์น เคาเซนส์ วัย 48 ปี โดยประเด็นสำคัญคือ เวย์น คูเซนส์ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาทำงานอยู่ที่รัฐสภา และบางครั้งก็ถูกส่งไปลาดตระเวนตามสถานทูต แน่นอนว่าคูเซนส์ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน

9) นี่เป็นเรื่องช็อก แต่ก็พออธิบายบางอย่างได้ เพราะซาราห์ คงไม่ยอมขึ้นรถคนแปลกหน้าง่ายๆ แต่ถ้าอีกฝ่ายแสดงตัวว่าเป็นตำรวจ มีตรา มีโล่ มีปืน แล้วอ้างว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ เธออาจจะยอมขึ้นรถไป โดยการคาดเดาคือ คูซินส์อาจต้องการล่อลวงไปข่มขืน แต่ฝ่ายหญิงอาจขัดขืน จึงนำไปสู่การฆาตกรรมในเวลาต่อมา

10) เหตุการณ์ครั้งนี้ สร้างความสยองขวัญให้คนอังกฤษ ใน 2 ประเด็น
ประเด็นแรกคือการที่คนร้ายเป็นตำรวจ สาเหตุเพราะตำรวจ สกอตแลนด์ยาร์ด ที่ประชาชนควรไว้ใจได้มากที่สุด กลับกลายเป็นฆาตกรเสียเอง และไม่มีใครรู้ว่า ก่อนหน้านี้ จะมีผู้หญิงกี่คนต้องตกเป็นเหยื่อของนายตำรวจคนนี้มาแล้ว บางทีเคสอื่นๆ อาจจะไม่ถึงกับฆาตกรรม แต่อาจลักพาตัวไปข่มขืน โดยอ้างว่าถ้าไม่ยอม ก็จะยัดข้อหาให้ก็ได้ เรื่องแบบนี้ไม่มีใครรู้

11) ประเด็นที่สองคือความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน กล่าวคือ ในฐานะประเทศพัฒนาแล้ว อังกฤษภูมิใจเสมอในเรื่องความปลอดภัยภายในประเทศ แต่จากเรื่องที่เกิดขึ้น ผู้หญิงอังกฤษตั้งคำถามว่า คนที่ปลอดภัย มีแต่เพศชายอย่างเดียวหรือเปล่า ชีวิตของผู้หญิงในอังกฤษ มันไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด เดินๆอยู่ก็อาจโดนฉุดไปฆ่าข่มขืนก็ได้
กาบี้ ฮินสลิฟฟ์ นักข่าวจากเดอะ การ์เดี้ยน บรรยายความรู้สึกว่า “จากนี้ไปเมื่อคุณต้องเดินในท้องถนนเวลากลางคืน มือคุณต้องกำกุญแจให้แน่น และภาวนาต่อพระเจ้าไม่ให้โดนลักพาตัว หรือฉุดไปข่มขืน”

12) เทรนด์ทวิตเตอร์ที่อังกฤษ คำว่า Text me when you get home (ส่งข้อความมาบอกหน่อยนะตอนเธอกลับถึงบ้านแล้ว) ขึ้นอันดับ 1 ของเทรนด์ สาเหตุเพราะ มันเป็นประโยคที่เพื่อนผู้หญิงจะส่งหากัน เพื่อสอบถามเพื่อนว่า “แกกลับถึงบ้านปลอดภัยแล้วใช่ไหม?” แต่ถ้าสังเกตดู ถ้าเป็นเพื่อนผู้ชายสองคนจะไม่เคยส่งข้อความแบบนี้หากัน นั่นเพราะผู้ชายยังไงก็ปลอดภัยอยู่แล้ว ต่างกับผู้หญิงที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ระหว่างทางกลับบ้าน จึงขอให้เพื่อนส่งข้อความมาบอกหน่อย จะได้สบายใจ

13) หลังจากรู้ว่าซาราห์โดนฆาตกรรม ทั่วอังกฤษ มีการยืนไว้อาลัย บรรดาเซเล็บทั้งหลาย ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้ แม้แต่ เคท มิดเดิลตัน ภริยาของเจ้าชายวิลเลียม ก็ยังออกมาร่วมอาลัยที่สวนสาธารณะแคลปแฮม คอมม่อนด้วย

14) ช่วงปลายสัปดาห์ กลุ่มรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีของอังกฤษ เตรียมจัดการชุมนุมครั้งใหญ่ ในวันเสาร์ที่ 13 มีนาคม ที่ 32 ชุมชนทั่วประเทศ ในชื่อแคมเปญว่า Reclaim these street (เอาท้องถนนที่ปลอดภัยของเราคืนมา) อย่างไรก็ตามภาครัฐไม่อนุญาตให้จัดการชุมนุม เพราะผิดมาตรฐานการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด ที่ห้ามรวมตัวผู้คนหมู่มากในจุดเดียว

15) แม้ผู้จัดจะประกาศขอยกเลิกงานชุมนุม ที่เมืองอื่นอาจจะไม่ได้รวมตัวกัน แต่ที่ลอนดอนผู้คนไม่สนใจ ก็ยังมารวมตัวกันหลายพันคน นั่นทำให้ตำรวจต้องทำตามคำสั่งของรัฐบาล นั่นคือการสลายการชุมนุม
เราจึงเห็นภาพที่ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมหลายคนด้วยความรุนแรง มีการใส่กุญแจมือ และกดหน้าลงกับพื้น ขณะที่ผู้ชุมนุมตะโกนกันอย่างพร้อมเพรียงถึงตำรวจว่า “Shame on you” (หน้าไม่อาย) และ “Arrest your own” (จับกุมพวกแกเองก่อนเถอะ) สาเหตุเพราะคนที่ก่อคดีฆาตกรรมซาราห์ เอเวอราร์ด ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ดนั่นเอง

16) สุดท้ายตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมไป 4 คน ในข้อหา “ขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงาน และละเมิดกฎของกระทรวงสาธารณสุข” และมีผู้ชุมนุมต้องบาดเจ็บไปหลายคน ซึ่งในเรื่องนี้ตำรวจก็ถูกหลายคนวิจารณ์ว่าทำแรงเกินไป โดยนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ซาดิ๊ก ข่าน กล่าวว่า ผู้บัญชาการตำรวจไม่ได้ให้คำอธิบายอย่างดีพอ ว่าทำไมถึงต้องใช้ความรุนแรงขนาดนั้นกับประชาชน

17) สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ศาลกำลังไต่สวนคดีฆาตกรรมอยู่ ซึ่งหลักฐานที่มี กับผู้ต้องหา เวย์น คูซินส์นั้นหนาแน่นมาก เชื่อว่าดิ้นไม่หลุดแน่นอน แต่ก็จะมีการสืบสวนเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เขาเคยทำอาชญากรรมใดๆ ในลักษณะคล้ายกันหรือไม่

18) ขณะที่ช่องว่าง ระหว่างประชาชนในอังกฤษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็เริ่มแตกร้าวขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีความไม่เชื่อใจเกิดขึ้น เพราะตำรวจเป็นคนก่อคดีเสียเอง แถมยังใช้ความรุนแรงระหว่างการชุมนุมอีก ซึ่งแน่นอนว่า ประชาชนกับตำรวจต้องใช้เวลาในการเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างกันสักระยะ

19) ในขณะที่ประเด็นความปลอดภัยของผู้หญิงในที่สาธารณะ ก็กลายเป็นที่ถูกพูดถึงไปทั้งโลก สาเหตุเพราะขนาดอังกฤษ ที่มีกล้องวงจรมากที่สุด และมีไฟส่องสว่างในทุกๆเมตร ยังเจอเหตุการณ์แบบนี้ได้ แล้วกับประเทศอื่นๆที่มีความปลอดภัยน้อยกว่าล่ะ ผู้หญิงคงใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบากมากๆ และต้องระวังตัวเป็นพิเศษ แทนที่จะใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ

ในโลกออนไลน์ ตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กผู้หญิงต้องเกิดมา และถูกสั่งสอนว่า “เป็นผู้หญิงต้องระวังตัว” ทั้งๆที่ นี่ก้าวเข้าสู่ปี 2021 แล้ว ในโลกที่เต็มไปด้วยวิวัฒนาการ แต่เพศหญิงยังต้องมาระวังโดนคนฉุดลากไปข่มขืนเหมือนร้อยปีก่อนไม่มีผิด

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า