หลายประเทศในยุโรปตัดสินใจนำวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ากลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากที่หน่วยงานของสหภาพยุโรปออกมายืนยันความปลอดภัย
วันที่ 18 มี.ค. 2564 สำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานว่า องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) สรุปผลการสอบสวนออกมาแล้ว โดยระบุว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาร่วมกันโดย แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่เกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันหลังได้รับวัคซีน
เอเมอร์ คุก ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของ EMA กล่าวเสริมว่า นี่คือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ประโยชน์ที่ช่วยปกป้องผู้คนจากความเสี่ยงที่จะสูญเสียชีวิตหรือต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะโรคโควิด-19 ยังคงสูงกว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลข้างเคียง และไม่ได้มีผลต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของลิ่มเลือดอุดตันในภาพรวม
แต่ทางผอ.ของ EMA กล่าวเสริมว่า ทางหน่วยงานไม่สามารถการันตีได้ 100% ว่า ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ระหว่างวัคซีนและอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นจำนวนเคสที่น้อยและหายาก แต่ก็รุนแรงและอันตราย
หลังจากการแถลงข่าว หลายประเทศในยุโรปตัดสินใจกลับมาฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับประชากรอีกครั้ง โดยอิตาลี สเปน ลัตเวีย และลิธัวเนีย ได้ยืนยันแล้วว่าจะสานต่อการใช้งานวัคซีนตัวนี้ ส่วนโปรตุเกสจะเริ่มต้นในวันจันทร์หน้า
ขณะที่ไอร์แลนด์จะประกาศในวันพรุ่งนี้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร เช่นเดียวกับสวีเดนที่ขอเวลาถึงสัปดาห์หน้า ส่วนเยอรมนีขอเลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อน
นับตั้งแต่มีรายงานออกมา ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมายืนยันว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง โดยส่วนใหญ่เป็นอาการที่พร้อมจะเกิดกับบุคคลทั่วไป และอัตราการเจ็บป่วยระหว่างผู้ที่ได้รับวัคซีนและผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนก็ไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด
ทางองค์การอาหารและยาของสหราชอาณาจักรชี้ว่า มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเกิดอาการเพียง 1 ในล้าน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับโอกาสที่จะเกิดอาการเหล่านั้นตามธรรมชาติ