SHARE

คัดลอกแล้ว

สัมภาษณ์  จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน  คนดนตรีคู่ใจของ ประภาส ชลศรานนท์ กับเส้นทางดนตรีจากเบื้องหลังสู่เบื้องหน้าในรายการ เพลงเอกนอกรอบ

“เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ”

“เสียงนั้นเสียงหนึ่ง”

“เขียนให้เธอ”

“พระพุทธเจ้า”

เพลงเอกของกาลเวลา”

เชื่อว่าหลายคนเคยฟังเพลงเหล่านี้กันมาบ้าง ด้วยเนื้อเพลงที่งดงามราวบทกวี และทำนองไพเราะเสนาะหู ทำให้เพลงเหล่านี้ประทับอยู่ในใจใครหลายคน ซึ่งหากสืบค้นข้อมูลจะพบว่า เพลงทั้งหมดแต่งคำร้องโดย ประภาส ชลศรานนท์ นักคิด นักเขียน และนักแต่งเพลงแห่งวงดนตรี “เฉลียง” เคียงคู่ชื่อผู้แต่งทำนองและเรียบเรียง จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน อยู่เสมอ

ล่าสุดจักรพัฒน์เป็นที่รู้จักมากขึ้น กับการก้าวสู่เบื้องหน้าในรายการประกวดร้องเพลงลูกกรุงและสุนทราภรณ์ “เพลงเอก” ในฐานะผู้เรียบเรียงและผู้ควบคุมวงดนตรีออร์เคสตร้า ตั้งแต่ซีซั่น 1 มาจนถึงรายการ “เพลงเอกนอกรอบ” ที่กำลังฉายอยู่ทางช่องเวิร์คพอยท์ 23 เวลานี้

โช้ย จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน คือนักดนตรีที่ทำงานกับ จิก ประภาส ชลศรานนท์ มาโดยตลอด เขามีผลงานแต่งทำนองและเรียบเรียงดนตรีให้กับบริษัทเวิร์คพอยท์มากมาย อาทิ เป็นผู้ควบคุมดนตรี “วงคุณพระช่วยออร์เคสตรา” เป็นผู้ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ “สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก” แอนิเมชั่น “ยักษ์” สารคดีดนตรีเล่าเรื่อง “น้ำคือชีวิต” รวมไปถึงเพลงทั้งหมดในละครเวที “โหมโรง เดอะมิวสิคัล” ​และ “นิทานหิ่งห้อย เดอะมิวสิคัล”

แม้ไม่ได้อยู่ท่ามกลางแสงไฟจนโด่งดัง แต่จักรพัฒน์คือคนเบื้องหลังความสำเร็จของบทเพลงทั้งหมด กระทั่งประภาสเรียกเขาว่า “คนดนตรีคู่ใจที่ผมทำงานด้วยมากที่สุด”

“เมื่อก่อนคิดว่าเป็นความบังเอิญ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ พี่จิกพูดว่าทุกอย่างไม่มีความบังเอิญ เป็นเรื่องที่ถูกลิขิตมาแล้ว การที่เราจะได้มาเจอคนคนหนึ่งมันต้องมีเหตุ”

workpointTODAY  จึงชวนจักรพัฒน์มาคุยถึงเส้นทางดนตรี มิตรภาพระหว่างเขากับประภาส และการย้ายตัวเองจากเบื้องหลังมาอยู่เบื้องหน้าในวันนี้

นักดนตรีกลางคืนผู้เรียนรู้จากครูพักลักจำ

เส้นทางดนตรีของจักรพัฒน์อาจไม่เหมือนคนอื่น ๆ ที่มักเริ่มต้นจากการศึกษาดนตรีอย่างจริงจัง ขณะที่เขาเริ่มต้นจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองมาโดยตลอด ผ่านการฟังดนตรีแล้วร้องฮัมตาม กระทั่งมีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนคริสต์ที่มีการร้องเพลงประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บรรยากาศในโบสถ์วันนั้นราวต้องมนตร์สะกด ทำให้เขาเคยแอบหนีเรียนมาเล่นเครื่องดนตรีในโบสถ์เอง

น่าเสียดายที่วงดนตรีในโรงเรียนดังกล่าวมีจำนวนคนครบแล้ว จึงไม่มีโอกาสเข้าอยู่ในวงเต็มตัว เป็นได้เพียงนักดนตรีที่เล่นแทนคนอื่น ก่อนจะเรียนต่อชั้นมัธยมปลายในโรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรปราการ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้เล่นดนตรีกับวงโรงเรียนเช่นกัน จนกระทั่งเรียนจบต่อเข้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะนั้นมีงานให้เล่นจำนวนมาก เป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้จากเวทีจริง เขาจึงเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเพียง 1 ปี แล้วตัดสินใจออกมาทำงานเล่นดนตรีอย่างเดียวโดยไม่ได้บอกเรื่องนี้กับครอบครัว

“เราเป็นนักดนตรีที่เล่นดนตรีกลางคืน ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร เล่นแบ็คอัพให้วงอื่นไปเรื่อย”

นี่คือประโยคที่เขานิยามการทำงานของตัวเองในช่วงแรก ทว่าการเล่นสนับสนุนให้วงดนตรีตามงานต่าง ๆ ทำให้มีโอกาสได้พบศิลปินรุ่นเก่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นวง P.M.5, Power Band, Royal Sprites และยังมีโอกาสได้ทำโปรแกรมกลองให้วง The Ovation ทำให้ค้นพบสวรรค์การทำงานในห้องอัดที่ไม่ต้องพบเจอใครให้วุ่นวาย ไม่ต้องเดินทางมากมาย และสามารถอาศัยอยู่ในนั้นได้ทั้งวันทั้งคืน

“เราเป็นคนรักสันโดษ แล้วก็อยากเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด”

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนก็คือการได้รับคำแนะนำให้ลองเล่นเครื่องดนตรีชิ้นใหม่อย่าง เปียโน

“ตอนแรกเล่นกีต้าร์ แล้วก็เล่นเบส พอเปลี่ยนมาเล่นเปียโนเราขายกีต้าร์เลย ขายมอเตอร์ไซค์ด้วย นำเงินทั้งหมดมาซื้อเปียโนคีย์บอร์ด หัดเล่นและแกะเพลงตามที่เราได้ยิน เป็นการก็อปปี้และครูพักลักจำ เหมือนที่ตอนเด็ก ๆ เราชอบฟังเพลงแล้วฮัมตามได้หมด ทุกวันนี้ก็เลยทำงานเป็นคนสร้างทำนองเพลงเอง”

แม้การฟังแล้วเล่นตามได้หมดอาจฟังดูเหมือนพรสวรรค์ แต่สำหรับจักรพัฒน์เองกลับไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าทุก ๆ ทักษะเกิดจากการก็อปปี้ คล้ายการฝึกภาษาที่เกิดจากการฟังแล้วพูดตามเช่นกัน ฉะนั้นการเรียนรู้ทางดนตรีของเขาจึงเกิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างเดียว

“เราเล่นดนตรีกลางคืนไปเรื่อย ๆ ชอบเล่นตามบ้านสวนอาหาร เพราะจะได้โน้ตเพลงหลากหลาย เช่น ลูกทุ่ง สตริง ลูกกรุง สากล ฯลฯ ทำให้เราเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากตรงนั้น แล้วก็เริ่มหาหนังสือมาอ่านว่าเรากำลังเล่นดนตรีอะไรอยู่”

อย่างไรก็ตาม เส้นทางดนตรีก็มิได้ราบรื่นเสมอไป เมื่ออุปสรรคใหญ่ของเขาก็คือครอบครัวที่ไม่ได้สนับสนุน

“สมัยก่อนนักดนตรียังถูกมองเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน เราเคยทำงานเพลงเรียบเรียงเพลงหนึ่งเพลงให้กับวง แคนนอน โดยมี อ.เบิ้ม เทิดพล ใคร้วานิช วง P.M.5 เป็นโปรดิวซ์เซอร์ ได้เงินมาประมาณ 5,000 บาท นับเป็นเงินจากการทำงานเรียบเรียงและอัดดนตรีทั้งหมดครั้งแรก แต่คุณพ่อก็กลับมองว่าจะได้เงินสักเท่าไหร่กัน ไม่กี่ตังค์หรอก วันนั้นน้ำตาร่วงเลย แต่ไม่ได้โกรธนะ มันเป็นความจริงที่เราต้องพิสูจน์ว่า การทำงานดนตรีมันเลี้ยงเราได้”

จักรพัฒน์ยังคงเลือกเดินในเส้นทางดนตรีต่อไป และยังเป็นนักดนตรีที่เล่นแทนคนอื่นเช่นเดิม

ทำดนตรีได้ทุกแนวเพราะเล่นแทนมาหลายวง

ด้วยประสบการณ์การเล่นดนตรีแทนนักดนตรีหลากหลายวง ทำให้จักรพัฒน์ได้แกะเพลงหลากหลายตามไปด้วย เขาได้เรียนรู้จากการแกะเพลง แยกเครื่องดนตรีเป็นชิ้น ๆ และวิเคราะห์ท่อนดนตรีเพื่อง่ายต่อการจดจำเวลานำไปใช้ และทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆ จนตกผลึกกลายเป็นลายเซ็นผลงานของตัวเอง

แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น คือการรู้ว่าลายเซ็นของเราจะไปยืนอยู่จุดไหนต่างหาก

“มีลายเซ็นแล้ว เราก็ต้องหาที่ยืนของลายเซ็นของเราให้ได้ ถ้ามีลายเซ็นแต่ไม่มีที่วางก็เปล่าประโยชน์ ยิ่งปัจจุบันหาที่ยืนยาก เพราะมีเด็กรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาเต็มไปหมด จนแทบไม่มีที่เหลือให้เรายืนด้วยซ้ำ

“สำหรับผมลายเซ็นน่าจะเกิดจากการฟังเพลงแล้ววิเคราะห์ตาม ทำให้เห็นดนตรีว่าคอร์ดตัวนี้ไปเจอตัวนี้เพราะอะไร ทำไมต้องสูง ทำไมต้องต่ำ ฟังแล้ววิเคราะห์ตาม เราจึงเก็บเกี่ยวความรู้ตรงนั้นมาใช้แต่งเพลง

“เพลงที่เราจะทำเกิดจากงานที่คนอื่นจ้าง เราไม่ได้ทำด้วยตัวเอง 100% แต่เกิดจากการคุย คุยแล้วปรับตัว สิ่งเหล่านี้เกิดจากประสบการณ์เล่นดนตรีแทนคนอื่น ถ้าอยากทำงานกับเขา คุณก็ต้องปรับตัว อยากเล่นกับวงนี้นาน ๆ ก็ต้องปรับตัว ทุกวันนี้เราก็ยังปรับตัวตามโจทย์อยู่ตลอดเวลา”

มิตรภาพแห่งความเคารพ

หลังจากเล่นดนตรีที่ทอรัสผับกับ แต๋ม – ชรัส เฟื่องอารมณ์ แล้วเคมีตรงกัน จักรพัฒน์ก็ได้รับคำชวนให้มาทำเพลงด้วยกัน เพลงนั้นเป็นเพลงหนึ่งในอัลบั้มของ ตุ๊ก – วิยะดา โกมารกุล ณ นคร แม้จะไม่ได้โด่งดังมากนัก แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เขาได้พบกับ ใหญ่ – สุระชัย บุญแต่ง ที่ห้องอัด

วันหนึ่งสุรชัยก็โทรศัพท์มาหาจักรพัฒน์ บอกว่าเวิร์คพอยท์ขาดคนมิกซ์เสียงเพลง จากนักดนตรีกลางคืนที่ชอบอยู่ห้องอัดอยู่แล้ว เขาจึงตัดสินใจมาทำงานประจำที่เวิร์คพอยท์ทันที

สิงหาคม พ.ศ. 2544 จักรพัฒน์ก็ได้พบประภาสเป็นครั้งแรกกับโจทย์งานเพลงโชว์ศิลปินในงาน “ดัชชี่บอยแอนด์เกิร์ล (Dutchie Boys & Girls)

“เจอกันครั้งแรกเรารู้สึกว่าเราเป็นแค่ลูกจ้าง ครั้งแรกไม่ได้คุยอะไรมากมาย รู้สึกว่าไกลกันมาก เราก็ไม่คิดไม่ฝันว่าจะทำงานอะไรกับแกมาถึงทุกวันนี้”

หลังจากนั้นเขาก็ได้ทำงานร่วมกับประภาสมาโดยตลอด จนกระทั่งเปิดบริษัทห้องอัดขึ้นมาในนาม Ground แต่ใช่ว่าการทำงานจะไม่มีความลำบาก เมื่อความคิดเห็นบางครั้งก็ไม่ตรงกัน สุดท้ายจักรพัฒน์ก็ปรับตัวยืดหยุ่นในการทำงานกับประภาส

“เรารู้สึกว่าจะต้องเข้ากับผู้ใหญ่คนนี้ให้ได้เพราะเป็นการลงทุนร่วมกัน จะเอาอารมณ์ตัดสินไม่ได้ เวลาทำอะไรก็ต้องรอบคอบขึ้น ก็เลยทำทุกวิถีทางให้เข้ากับเจ้านาย”

เขายอมรับ ทุกวันนี้ยังมองประภาสเป็นเจ้านายเสมอ

“เราไม่เคยข้ามรุ่นไปหาแก ยังรู้สึกว่าแกยังเจ้านายเสมอ”

มิตรภาพระหว่างจักรพัฒน์และประภาสจึงเป็นความสัมพันธ์แบบการเคารพผู้ใหญ่ ซึ่งเขามองว่าเป็นความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน

 จากเบื้องหลังสู่เบื้องหน้า และเสน่ห์เพลงอมตะใน “เพลงเอกนอกรอบ”

หลังจากทำงานอยู่เบื้องหลังมานาน ในที่สุดเราก็ได้เห็นจักรพัฒน์ในจอโทรทัศน์ กับการรับหน้าที่เรียบเรียงและเล่นดนตรีในรายการประกวดร้องเพลงลูกกรุงและสุนทราภรณ์ “เพลงเอก” ตั้งแต่ซีซั่น 1 จนมาถึง “เพลงเอกนอกรอบ” ที่ฉีกกรอบการประกวดแบบเดิมให้ทันยุคทันสมัย โดยนำผู้เข้าแข่งขันที่เป็นแชมป์สายจากรายการเพลงเอกทั้ง 12 คน มาถ่ายทอดเพลงคู่กับศิลปิน 12 ท่านแบบที่แต่ละฝ่ายไม่เคยเจอกันมาก่อน บรรเลงเพลงโดย “วงคุณพระช่วยออร์เคสตร้า”

“สาเหตุที่ออกมาอยู่เบื้องหน้าเพราะเราทำงานด้วยความตั้งใจ แต่ก่อนเราเคยจ้างคนอื่นเล่นดนตรีแล้วสิ่งที่ถ่ายทอดออกมามันเปลี่ยนแปลงไปตามสไตล์คนเล่น ซึ่งจะแตกต่างไปจากต้นฉบับที่เราเรียบเรียง แต่พอมาในรายการเพลงเอก เรารู้สึกว่าดนตรีไม่ควรหลุด ก็เลยลงมาเล่นดนตรีในรายการเอง และต้องการถ่ายทอดความเป็นตัวตนของวงคุณพระช่วยออร์เคสตร้าให้ชัดเจน ไม่ผิดเพี้ยนจากความคิดเรา”

เสน่ห์หนึ่งของรายการคือการเลือกเพลงอมตะมาร้องประกวด ซึ่งกว่าเพลงเพลงหนึ่งจะเป็นเพลงอมตะได้นั้น จักรพัฒน์มองว่าประกอบจากคำร้องที่คล้องจองดั่งกลอน ทำนองที่แต่งเรียบง่าย และเนื้อหาที่สื่อสารกับผู้คน

“สมัยก่อนไม่ได้แต่งเพลงซับซ้อนอะไรมากมาย ไม่คำนึงถึงฮาโมนี้หรือคอร์ดมากนัก เขาแค่เอาทำนองขึ้นมาแล้วก็ใส่คำร้องเลย ซึ่งครูบางคนอาจแต่คำร้องก่อนทำนองด้วยซ้ำ แต่ความอมตะจริง ๆ มาจากคำที่สื่อสารกับคน และพาเราย้อนไปถึงช่วงวันวาน”

จักรพัฒน์ยกตัวอย่างเพลง “เชียงรายรําลึก” เพลงคลาสสิกที่ใครฟังก็จะนึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ ของจังหวัดเชียงราย แม้แต่ละคนก็จะมีช่วงเวลากับพื้นที่นั้นแตกต่างกันไป แต่ทุกคนก็สามารถซึมซับบรรยากาศเดียวกัน และถ่ายทอดบทเพลงต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเพลงใหม่ ๆ ในท้องตลาดปัจจุบัน จักรพัฒน์คิดว่าเป็นเรื่องยากที่เพลงสมัยใหม่จะก้าวขึ้นมาเป็นเพลงอมตะได้ เนื่องจากเนื้อเพลงสมัยใหม่นิยมใช้คำศัพท์ตามกระแสนิยม ซึ่งอนาคตอาจไม่ได้ใช้คำคำนั้นแล้ว รวมไปถึงระยะเวลาการเปลี่ยนยุคสมัยของเพลงก็สั้นลง ทำให้ระยะเวลาในการตราตรึงบทเพลงก็สั้นลงเช่นกัน

“สมัยก่อนเพลงเพลงหนึ่งดังเป็น 10 ปีกว่าจะเปลี่ยนยุค แต่เดี๋ยวนี้วัยรุ่นแต่งเพลงใหม่ ๆ ลง YouTube ทุกวัน ถึงแม้ยอดวิวจะขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ระยะเวลาของเพลงกลับสั้นลงเรื่อย ๆ ทุกอย่างถูกแทนที่เร็วมาก เพราะทุกคนมีเครื่องมือที่ทันสมัย โทรศัพท์เครื่องหนึ่งสามารถแต่งเพลงได้แล้ว เท่ากับว่าคนรุ่นเก่าจะโดนแทนที่ด้วยเด็กรุ่นใหม่เร็วขึ้น”

การเรียนรู้ทางดนตรีไม่มีวันสิ้นสุด

  “นักดนตรีรุ่นใหม่ก็อย่าหยุดพัฒนา”

จักรพัฒน์ตอบทันทีหลังจากเราถามถึงการอยู่รอดในวงการดนตรีสมัยนี้

เพราะเมื่อไหร่ที่หยุดเท่ากับว่าเรากำลังถอยหลัง เหมือนคุณกำลังสู้กับบันไดเลื่อน เราต้องเดินให้เร็วกว่าเพื่อไปข้างหน้า เพราะถ้าเดินด้วยความเร็วเท่าเดิมก็อยู่กับที่เสมอตัว เราต้องเคลื่อนให้เร็ว”

สำหรับเขาการพัฒนาคือการเรียนรู้ เหมือนที่เริ่มเรียนรู้ดนตรีด้วยตนเองมาโดยตลอด จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเรียนรู้อยู่เสมอ

“ความรู้ไม่มีวันหมด การเรียนดนตรีก็ไม่มีวันสิ้นสุด เราสามารถหาความรู้ใหม่ ๆ มาเติมเต็มความรู้สมัยเด็กได้จากหนังสือและวิดีโอที่ฝึกสอนการเล่น แต่ปัจจุบันได้จาก YouTube และ Google เราอาจไม่ได้ขยันเรียนจนได้ใบปริญญาเหมือนคนอื่น แต่ก็ต้องขยันทำงานในทางที่เราทำอยู่

 “เรายอมรับได้ถ้ามีคนมาบอกว่าเราไม่ใช่นักดนตรีที่เก่ง ใช่ ผมไม่ได้เก่ง แต่ผมปรับตัวให้เข้ากับงานที่ทำเสมอ โจทย์มาอย่างไรก็ประยุกต์ใช้ความรู้ในอดีต ทำให้เราทำดนตรีได้ทุกแนวทาง เพลงฮิปฮอป เพลงแร็ปผมก็ทำ อยู่ที่ว่าโจทย์ลูกค้าคืออะไร เพราะเราไม่ได้ทำงานตามโจทย์ของตัวเอง”

แล้วอะไรคือโจทย์ของจักรพัฒน์?

          “อาจรอให้แก่อีกหน่อยคงทำอะไรเป็นของตัวเอง ตอนนี้ก็ทำงานตามโจทย์ไปเท่าที่มีกำลัง เราเพิ่งอายุ 54 เอง ยังวัยรุ่นอยู่เลย” จักรพัฒน์เผยรอยยิ้มเป็นการทิ้งท้าย และบอกเคล็ดลับความสุขของคนเบื้องหลังให้ฟังว่า “แค่ทำงานในสิ่งที่รักและถนัด เราก็มีความสุขแล้ว”

 

 

ติดตามผลงานของ จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน ได้ใน “เพลงเอกนอกรอบ” รายการประกวดร้องเพลงที่นำเอาบทเพลงไพเราะและอมตะที่จะมาฉีกกรอบแบบเดิมให้ทันยุคทันสมัย ผนวกคนสองยุคเข้าด้วยกัน ออกอากาศทุกวันเสาร์  เวลา 20.05 น. ทางช่องเวิร์คพอยท์ กดเลข 23

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า