SHARE

คัดลอกแล้ว

workpointTODAY จัดงานทอล์คความรู้ ‘THAILAND TOMORROW VACCINATED ECONOMY presented by workpointTODAY’ เตรียมความพร้อมเทคออฟเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งกับแนวคิด “วันพรุ่งนี้ เศรษฐกิจชาติ ยุทธศาสตร์ประเทศ จะเป็นอย่างไรหลังได้รับวัคซีน” โดยมีวิทยากรจำนวน 20 คน มาร่วมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ประเมินสถานการณ์แบบวิเคราะห์เจาะลึกจัดเต็มใน 5 หัวข้อหลัก จัดเต็มต่อเนื่องกว่า 11 ชั่วโมง ในรูปแบบ Virtual Conference เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564

เพื่อรวบรวมสุดยอดแนวคิดจากผู้ประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับ และผู้มีประสบการณ์ในมิติเศรษฐกิจ ธุรกิจ การท่องเที่ยว สังคม การแพทย์ และอุตสาหกรรมบันเทิง เพื่อต่อยอดเศรษฐกิจไทยในทุกระดับ หลังได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 และเพื่อสร้างแรงผลักดันให้คนไทยเห็นถึงศักยภาพตนเอง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบธุรกิจขนาดใดก็ตาม

 

VACCINATED ECONOMY โอกาสของเศรษฐกิจไทย หลังฉีดวัคซีนโลก

เริ่มต้นด้วย ‘ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ร่วมวิเคราะห์ในหัวข้อ ‘โครงสร้างเศรษฐกิจไทย พร้อมหรือไม่กับโลกหลังโควิด’ วิเคราะห์ว่าหากคาดหวังว่าหลังฉีดวัคซีนไปแล้วจะเปิดเศรษฐกิจได้ ในกรณีนั้นจะต้องฉีดปูพรมแบบอิสราเอลซึ่งฉีดไปแล้ว 70-80% ของประชากร แต่ของเรามีอยู่ไม่กี่แสนโดส ถ้าจะฉีดวัคซีนเพื่อช่วยเปิดเศรษฐกิจ ต้องฉีดเกาะภูเก็ตก่อน (เท่าที่โดสวัคซีนที่เรามีอยู่ปัจจุบัน) แล้วก็ไปเกาะสมุย และให้ 2 เกาะนั้นรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้ทันที ซึ่งทำได้ภายในสงกรานต์เลย แต่ถ้ารอ ค่อย ๆ ฉีดผู้สูงอายุก่อนและคนอื่นก่อน แม้ถึงปลายปีนี้ก็ฉีดได้แค่ครึ่งประเทศเท่านั้นเอง เปิดเศรษฐกิจยังได้ไม่เต็มที่

ระบบทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยสามารถปราบเชื้อโควิดได้ดี แต่ยังกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ดีพอ โดยปีที่ผ่านมาไทยปราบโควิด-19 สำเร็จ แต่ GDP  -6% ปีนี้ปราบโควิด-19 รอบ 2 ได้ค่อนข้างดี แต่ GDP โตขึ้นแค่ 2.8% ตามการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ ทั้ง ๆ ที่อเมริกา เรื่องโควิด-19 แย่กว่าเราเยอะเลย แต่ตัวเลขเศรษฐกิจเขาดีกว่าเราหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเขาใช้นโยบายการเงิน การคลังเต็มสูบ GDP อเมริกาปีที่แล้ว -3.5% ปีนี้คาดว่าน่าจะโต 6% ดีไม่ดี 8%

เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อน กินบุญเก่ามาจากมาบตาพุต ตั้งแต่ค้นพบแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ขึ้นมาบนบก แล้วก็สร้างนิคมอุตสาหกรรม เอาแก๊สธรรมชาติมาแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ใช้นิคมอุตสาหกรรมแห่งนั้น เป็นฐานในการรองรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และอุตสาหกรรมรถยนต์ และก็สร้างท่าเรือมาบตาพุต ท่าเรือแหลมฉบัง แล้วก็ส่งออก ซึ่งกินบุญเก่าตรงนี้มาประมาณ 30 ปี เวลาผ่านไป เราก็เลยยังหาอะไรไม่ได้ โชคดีได้ ‘การท่องเที่ยว’ ถ้าดูตัวเลขมันเหมือนบุญหล่นทับ ในตอนนั้นสัดส่วนของการท่องเที่ยว ประมาณแค่ 4-5% ของ GDP ขึ้นมาเป็น 12% ของ GDP ภายในเวลาเพียงแค่ 10 กว่าปีเท่านั้ง แล้วก็พึ่งตัวขับเคลื่อน (Engine of Growth) ตัวนี้มาจนกระทั่งเจอโควิด-19 ครับ

ดร.ศุภวุฒิ ยอมรับว่ายังด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก ยกตัวอย่าง เวียดนาม มีข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรป อยู่ใน TPP ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว เวียดนามดูน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างประเทศมากกว่าไทยเยอะทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในไทยน้อยลง คือ โครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาด้านการผูกขาด และการแข่งขันทางการค้าในประเทศ ทางออกคือประเทศไทยต้องหาตัวเองให้เจอ มีความชัดเจนว่าเก่งด้านไหน แล้วโน้มน้าวนักลงทุนต่างชาติ พร้อมๆ กับภาคเศรษฐกิจอัปเกรด Tourism ไปเป็น Medical Tourism และ World Fair Wellness ก็มีโอกาสเป็นไปได้

ทั้งนี้ หากแก้ปัญหาได้ตรงจุด หลังโควิด-19 ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่ง ดร.ศุภวุฒิ มองว่า EEC ถูกโควิด-19 ลบภาพของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปเยอะแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องกลับมาคุยกันว่าจะพาเศรษฐกิจไปทางนี้ แล้วบอกต่างชาติว่า เราจะทำอย่างไร ให้เขามามีส่วนร่วมในสิ่งที่ประเทศไทยกำลังจะทำเป็นไปได้ในลักษณะใดได้บ้าง

สุดท้าย ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มมีความหวังจะผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 ไปได้ ประเทศไทยก็มีความหวังเช่นเดียวกัน โลกหลังจากโควิด-19 ของไทย ดร.ศุภวุฒิ มองว่า ยังไม่ได้มีความหวังเท่าไหร่ ตราบใดที่ยังคงไม่มีความชัดเจนในการกำหนดอนาคตของประเทศ

 

‘รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์’ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ร่วมพูดคุยกับ ‘กวี ชูกิจเกษม’ รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ในหัวข้อ ‘มองรอบด้านเศรษฐกิจไทย เดินหน้าอย่างไรในโลกเปลี่ยนแปลง’

รศ.ดร.สมชาย เริ่มต้นด้วยการพูดถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อโลกใน 5 มิติ คือ 1) มิติด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจติดลบในรอบร้อยปี 2) มิติด้านสุขภาพ ผู้คนจำนวนมากติดเชื้อและเสียชีวิตในเวลา 1 ปี 3) มิติด้านการเมือง เช่น ความวุ่นวายในสหรัฐอเมริกา การกั๊กหน้ากากในสหภาพยุโรป 4) มิติด้านสังคม วิกฤติครั้งนี้ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งห่างกันมากขึ้น และ 5) มิติเทคโนโลยี โควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป

“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนเราว่า เราจะต้องอยู่กับสิ่งที่คาดไม่ถึง ใครจะเชื่อครับเมื่อปลายปี 2019 บางคนรวยมหาศาล 5 เดือนต่อมา ธุรกิจต่างๆ เจ๊งหมดเลย เพราะฉะนั้นโลกกำลังอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง เราต้องบริหารการเปลี่ยนแปลง” รศ.ดร.สมชาย กล่าว

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโลกย่อมส่งผลกระทบถึงประเทศไทย อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สมชาย บอกว่าช่วงที่เลวร้ายที่สุดของประเทศไทยผ่านไปแล้ว นั่นคือไตรมาส 2 ของปี 2020 ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยติดลบ 12 จากนั้นในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมา “ดีกว่าที่คาด” อยู่ที่ติดลบ 6.1

สำหรับปี 2021 เศรษฐกิจไทยจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นบวกในครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยช่วย 3-4 ปัจจัย คือ 1) การบริหารจัดการโควิด-19 ดีขึ้น 2) วัคซีน 3) เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัวทางด้านการค้า 8-9% ทำให้ไทยส่งออกดีขึ้น และ 4) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ม.33 เรารักกัน รวมถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แต่ส่วนที่ต้องทำใจคือท่องเที่ยวต่างประเทศ น่าจะยังหายไป 90% กว่าจะกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 น่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี

ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ รศ.ดร.สมชาย อธิบายว่านโยบายของไบเดนไม่แตกต่างจากของทรัมป์ก็คือจะเล่นงานจีน โดยจะพยายามร่วมมือกับพันธมิตรอย่างสหภาพยุโรป แต่สหภาพยุโรปจะเล่นด้วยในระดับหนึ่ง คืออยู่ใกล้ชิดกับอเมริกาแต่ไม่ใช่ไปฟังคำสั่งอเมริกา ส่งผลให้การกีดกันทางการค้าจะยังอยู่ การเล่นงานทางด้านเทคโนโลยีจะยังอยู่ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนขยายตัวลดลง ไทยที่พึ่งพาจีนด้านส่งออกและท่องเที่ยวต้องทำใจว่าจะชะลอตัวลง ขณะที่ด้านบวกคือไบเดนจะร่วมมือกับจีนเรื่องโควิด-19 เรื่องโลกร้อน ทำให้โลกกลับสู่ระเบียบ เป็นประโยชน์ในภาพรวม

 

กวี ฉายภาพตลาดหุ้นไทยก่อนโควิด-19 ว่า Underperform ตลาดหุ้นโลกมา 9 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นไทยไปทั้งหมด 8 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดหุ้นในอาเซียนมีเงินไหลเข้า แต่ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่โดดเดี่ยวมาก เงินไหลออกตลอด ทุกคนก็คิดว่าปี 2011 เรามีน้ำท่วมใหญ่ เรามีปัญหาการเมือง เขาเลยไม่กล้าลงทุน แต่จริงๆ แล้วปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่ปัญหาโครงสร้างของประเทศที่เราไม่มีเทคโนโลยีเลย เรามี Old Economy ล้วนๆ

อย่างไรก็ดี ช่วงปีนี้ปีหน้าตลาดหุ้นไทยจะได้รับอานิสงส์จาก Old Economy และ Outperform ตลาดหุ้นโลก เพราะเมื่อการท่องเที่ยวกลับมา การบริโภคกลับมา หุ้นกลุ่มธนาคารจะต้องขึ้น ราคาน้ำมันจะต้องขึ้น บวกกับสภาพคล่องที่มีอยู่เยอะมาก ตลาดหุ้นไทยจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อย่าไปคาดหวังว่าตลาดหุ้นไทยจะวิ่งกระจุยกระจาย ประเทศไทยจะกลับไปภาพเดิม เพราะเราไม่มี New Economy

ด้าน รศ.ดร.สมชาย เสริมว่ามาตรการการคลังและการเงินทั่วโลก ทั้งของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะทำให้มีกระแสเงินไหลไปทั่วโลกเยอะมาก หุ้นจะบูม สินทรัพย์ทางการเงินบูม แต่ต้องระวังภาวะฟองสบู่ รวมถึงเงินเฟ้อสูง นอกจากนั้นระบบการเงินของประเทศไทยยังมีเสถียรภาพสูง จึงเป็นอีกปัจจัยที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่ผลกระทบอีกด้านหนึ่งคืออัตราการแลกเปลี่ยนจะผันผวน

กวี เห็นด้วยกับ รศ.ดร.สมชาย ว่าประเทศไทยค่อนข้างได้เปรียบเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีสภาพคล่องที่ดี หนี้สาธารณะต่ำ และเงินสำรองระหว่างประเทศสูง ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยการกล่าวเตือนนักลงทุนว่า ให้ลงทุนอย่างระมัดระวังเพราะโลกทุกวันนี้ถูกอัดฉีดด้วยเงินไม่จำกัด ควรจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงให้ดี และถ้าหุ้นขึ้นไปจนเกินสัดส่วนควรลดการถือหุ้นลงมา

 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ร่วมพูดคุยในหัวข้อ ‘ถอดบทเรียนรับมือวิกฤติครั้งใหญ่ รับมือการ Disrupt’ มองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าจากจุดต่ำสุด กลับไปใกล้เคียงเดิมใช้เวลานานแค่ไหน จุดที่สองคือวัคซีนจะทำให้กลับไปใกล้เคียงเดิมได้อย่างไร การฉีดวัคซีนให้เร็ว ทำ Vaccine passport เราก็สามารถเปิดประเทศได้ โดยรัฐบาลต้องหาจุดสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจให้ได้

ในภาวะวิกฤตสิ่งที่สำคัญมีสองเรื่อง คือ เงิน คน และเวลา  โดยเฉพาะ ‘เวลา’ สำคัญที่สุด เพราะหาคืนไม่ได้ เช่น เรื่องอีคอมเมิร์ซ คือเวลาที่ใช้ในการปรับธุรกิจ จากที่เคยขายของแบบเดิม ขายผ่านผู้จัดจำหน่าย ที่จะขายให้การขายปลีกต่ออีกที และเรื่องเวลาที่ใช้ในการพัฒนาดิจิทัล หรือพัฒนาระบบออนไลน์ จากคิดว่าวัสดุก่อสร้าง ทำตลาดออนไลน์ยาก ข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักจะส่งยาก และเรื่อง installation มันไม่สามารถบอกออนไลน์ได้

หากมองในมุมบวก โควิดทำให้เห็นโอกาสอีกหลายอย่างที่สามารถทำได้ ถ้าเอาเวลาไปกังวล ลดต้นทุน หรือทำอย่างอื่น ไม่ได้เอาทรัพยากรที่มีไปใช้พัฒนาระบบออนไลน์ ก็จะมาไม่ถึงจุดนี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างว่า ‘เวลาสำคัญ’

ขณะเดียวกัน ในภาวะวิกฤตเรื่องสำคัญคือ ‘ต้องตัดสินใจเร็ว’ เอสซีจีมีเคล็ดลับคือ เลือกเรื่องที่จะตัดสินใจ ด้วยจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะตัดสินใจ ฉะนั้นตัดสินใจเร็วเกิดขึ้นได้ จากการให้ลำดับความสำคัญเรื่องที่จะตัดสินใจ

สิ่งหนึ่งที่เอสซีจีทำในช่วงวิกฤติในปีที่ผ่านมา คือ การทำงานขององค์กรช่วงวิกฤต แบ่งได้ 2 อย่าง คือ “เรื่องที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้” เช่น การปกป้องพนักงาน, เริ่มทำอีคอมเมิร์ซในช่วงวิกฤต ‘รุ่งโรจน์’ กล่าวว่ากลุ่ม must do (ต้องทำ) สำคัญมากที่สุด ต้องมีการตัดสินใจและเอาคนที่ตัดสินใจได้มาดูแล อีกส่วนคือ must plan สิ่งที่ต้องวางแผนไว้ทำทีหลัง ใช้แผนระยะสั้นแผน 6 เดือนมากกว่าแผนระยะยาว

 

SUSTAINABLE TOURISM โอกาสใหม่ในอนาคตธุรกิจท่องเที่ยว

‘ขัตติยา อินทรวิชัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “เดินหน้าท่องเที่ยวไทย พ้นวิกฤติโควิด-19” โดยกล่าวว่า  ไทยต้องปรับปรุงพัฒนาการท่องเที่ยวตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเมื่อประเทศเปิด นักท่องเที่ยวกลับมา ไทยจะได้พร้อมสำหรับโอกาส การท่องเที่ยวจะกลับมาเป็น ‘ฮีโร่’ ที่แข็งแกร่งอีกครั้ง แต่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ ไทยต้องการฮีโร่เพิ่มขึ้น จึงจะต้องมีการปรับปรุงเชิงโครงสร้าง

ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไทยมีศักยภาพ เช่น Healthcare รถยนต์ไฟฟ้า อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน เติบโตได้ดี และไม่แพ้ประเทศเพื่อนบ้าน

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ CLMV เป็นผลมาจาก Hamburger Crisis น้ำท่วม สถานการณ์ทางการเมือง

ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีเหมือนเดิม ก่อน 10 ปีที่แล้ว ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเป็น ‘ฮีโร่’ ของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด ปี 2019 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 18% ของ GDP แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 12% ของ GDP และนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 6% ของ GDP

การท่องเที่ยวไม่ได้มีแค่โรงแรม แต่รวมถึงการขนส่ง สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของที่ระลึก ร้านอาหาร ฯลฯ มีผู้ประกอบการกว่า 400,000 ราย หรือเท่ากับ 12% ของผู้ประกอบการทั้งหมด และมีการจ้างงานกว่า 4,000,000 ราย หรือเท่ากับ 10% ของการจ้างงานทั้งหมด เมื่อเกิดโควิด-19 รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงเหลือไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องรายได้หายไปเฉลี่ย 70%

เป้าหมายในระยะยาวคือ ‘การท่องเที่ยวยั่งยืน’ ประกอบไปด้วย

  1. ทำให้นักท่องเที่ยวมาใช้เวลาในประเทศไทยนานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น
  2. ขยายการท่องเที่ยวจากจังหวัดที่เป็นเมืองหลัก (แค่ 8 จังหวัด) ให้ไปท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น เพื่อกระจายรายได้
  3. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ

ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดติด 1 ใน 5 อันดับแรกของโลก ส่วนความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอยู่อันดับที่ 31 จากทั้งหมด 140 ประเทศ ข้อดีของไทยคือ สถานที่ท่องเที่ยวสวยงามน่าเที่ยวอยู่อันดับ 10, ราคาที่นักท่องเที่ยวสามารถจ่ายได้อยู่อันดับที่ 25

แต่มี 3 ประเด็นที่ต้องแก้ไข เพื่อทำให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างยั่งยืน คือ

  1. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอยู่อันดับที่ 130
  2. ความปลอดภัยอยู่อันดับที่ 111
  3. สุขอนามัยอยู่อันดับที่ 88

“โจทย์การท่องเที่ยวที่จะเกิดความยั่งยืนขึ้นมาได้ เราต้องการให้เกิดการท่องเที่ยวและสร้างประสบการณ์ที่ดี ในแบบที่นักท่องเที่ยวมีคุณภาพมากขึ้น ใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยนานมากขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น ไปจังหวัดที่เป็นเมืองรองมากขึ้น กระจายรายได้ไปสู่ทุกๆ คนมากขึ้น และสุดท้ายคือเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น”

ที่สำคัญคือ ต้องดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ

  1. การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (New Travel Culture) ปรับตัวจากการแข่งขันด้านราคา (Red Ocean) และเน้นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ยกระดับไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ (Blue Ocean) เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวด้านการแพทย์ (Medical Tourism) เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวให้สูงขึ้น และพัฒนาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (Green Ocean) และตอบโจทย์สังคม (White Ocean)
  2. การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) โดยภาครัฐ เอกชน และชุมชนในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว สร้างความเข้าใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ ใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่ และให้ความสำคัญในการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
  3. การใช้เทคโนโลยีและข้อมูล (Digitalization) มาเป็นเครื่องมือเพื่อการท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจ การทำตลาดที่ทันสถานการณ์ แชร์ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกในการวางแผนการเดินทาง สร้างสังคมออนไลน์ เปิดประสบการณ์ใหม่ในการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวและการทำธุรกิจ

“Luck Is What Happens When Preparation Meets Opportunity” แปลว่าโชคดีจริงๆ มันไม่มีหรอก จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นจากการเตรียมตัว เตรียมพร้อม และเมื่อโอกาสเกิดขึ้น เราสามารถคว้ามันไว้ได้ เพราะถ้าเราไม่พร้อม โอกาสผ่านไป เราจะคว้าไว้ไม่ได้”

 

‘สมศักดิ์ บุญคำ’ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Local Alike ร่วมพูดคุย ในหัวข้อ “ท่องเที่ยวแบบ Local Alike ยั่งยืนได้ กำไรด้วย” โดยเล่าถึงก้าวแรกของ Local Alike ธุรกิจเพื่อสังคม ที่ทำงานกับชุมชนพัฒนาและนำการท่องเที่ยวเข้าไปในชุมชน จากความเชื่อในศักยภาพของชุมชน โดยมองว่าการท่องเที่ยวของไทยไม่ควรเป็นแค่กระแสหลักอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นกระแสทางเลือกและกระแสเพื่อความยั่งยืนที่ชุมชนต้องได้ประโยชน์ด้วย

ส่วนในเรื่องผลกำไรทางธุรกิจ สำหรับนักลงทุนทั่วไปอาจจะมองว่าช่วงปีที่ 3-4 ควรจะได้กำไรแล้ว แต่ Local Alike เริ่มมีกำไรช่วงเข้าสู่ปีที่ 5 และส่วนสำคัญที่ทำให้มีกำไร คือ ‘ความพร้อมของชุมชน’ ที่ร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ของตัวเองไปพร้อมกัน  และการสร้างการเข้าถึงการท่องเที่ยวให้มากขึ้น จึงเกิดการบอกต่อจากนักท่องเที่ยวไทยสู่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ

“หลายคนมองว่าการทำงานกับชุมชนเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับทีมเรามองว่าเป็นเรื่องที่สนุกและเป็น DNA อยู่แล้ว Local Alike เราไม่ได้แค่เป็นครูไปสอนชุมชน แต่ชุมชนก็ให้อะไรเรากลับมาหลายอย่างเช่นกัน เราเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะอุดมการณ์แรก คืออยากเห็นการท่องเที่ยวไทยเป็น Inclusive ชุมชนได้ประโยชน์ และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเป้าหมายจริงๆ คือ การทำให้ชุมชนเติบโต อยากทำให้ชุมชนมีรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว มากกว่าการตั้งเป้าหมายและกำไรทางธุรกิจ สุดท้ายเราจะได้ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องกลมกลืนกันไป” คุณสมศักดิ์ กล่าว

แม้ในช่วงที่เผชิญกับวิกฤต COVID-19 ยังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส คือ ยอดจองทัวร์หายไปเกือบ 10 ล้าน แต่ยังต้องดูแลพนักงานอีก 40 ชีวิต Local Alike ได้ตั้งเป้าหมาย 3 อย่างไว้ คือ ช่วงล็อกดาวน์ 1. ทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด 2. ทำอย่างไรให้ชุมชนอยู่รอด และ 3. ทุกคนต้องไม่ติด COVOD-19 สิ่งที่คิดได้คือการต่อยอดธุรกิจ จึงทำให้เกิดอาหารและสินค้าชุมชนขึ้น ซึ่งทำลายกรอบทุกอย่างของการทำธุรกิจ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จนเกิดเป็น “Local อร่อย” และ “Local อะล็อต”

 

‘ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร’ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงการปรับห่วงโซ่อุปทาน หลังภาวะ Over Supply ของภาคการท่องเที่ยวไทยรับผลกระทบจากโควิด-19

“Over Supply เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นคู่กับประเทศไทยมาโดยตลอด เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คุ้มค่าก็จริง แต่ก็ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ราคาไม่สูง เพราะการแข่งขันสูง ตัวเลือกเยอะ เกิดการแข่งขันทางด้านราคา จนกลายเป็น Price War ในอดีตแม้ว่าคุณภาพบริการเราจะอยู่ในระดับสูง แต่ว่าเราขายได้ราคาในระดับที่ต่ำกว่า”

“ผมว่าเราต้องใช้โอกาสนี้ในการปรับซัพพลายเชน อะไรที่เคยเป็น Exclusive จะต้องกลายเป็น Inclusive ใครที่เคยเป็นคู่แข่ง วันนี้ต้องมาควบรวมเป็นคู่ค้า ใครที่เคยต่างคนต่างแสวงหาวัตถุดิบ วันนี้มาร่วมกันหา  รวมทุกคนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมมาอยู่ในธุรกิจเดียวกันเข้ามาแล้วช่วยเหลือจัดสรรเอื้อประโยชน์กัน”

“สอง คือเราต้องมาอะไรที่เป็น Less for more มากกว่า More for less สถานการณ์ Over Supply เรามีการเปิดให้บริการจำนวนมาก More และ More มีมากมายมหาศาล แต่เราได้ส่วนแบ่งนิดเดียว ถ้าหากอีกนิดเราทำให้มันน้อยลง นำธุรกิจที่ได้ประโยชย์มารวมกัน”

“อย่างไอเดียหนึ่งคือถ้าหากยังมีการกักตัว 14 วัน ให้โรงแรมสองโรงแรม ทั้งโรงแรมซิตี้โฮเทลและโรงแรมบีชโฮเทลจับมือกัน ให้นักท่องเที่ยวสามารถฮอปปิ้งระหว่างสองโรงแรมได้ ช่วงแรกอยู่โรงแรมในเมือง ช่วงสองขยับออกไปอยู่โรงแรมที่ใกล้ชายหาด”

“ผมเชื่อว่าโลกกลับมาใหม่ครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิมและไม่ควรเหมือนเดิม ถ้าเรามองหานักท่องเที่ยวที่มีเซกเมนต์ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นตลาดฮันนีมูน ลักซัวรี แฟมิลี่ หรือเมดิคอล เพื่อลดการพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว พร้อมทั้งต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วไปไปพร้อมกัน ทำให้นักท่องเที่ยวอยู่กับเรานานวันขึ้น มีค่าใช้จ่ายที่สูง แทนที่จะพึ่งพิงจำนวนเพียงอย่างเดียว”

 

‘กลินท์ สารสิน’  ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมพูดคุยในหัวข้อ ‘New Normal ท่องเที่ยวไทย ทำอย่างไรเมื่อต่างชาติไม่มากเท่าเดิม’ กล่าวว่า ปี 2562 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ 2 ล้านล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และอีก 1 ล้านล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวไทย แต่ปีที่แล้วรายได้ 2 ล้านล้านบาท หายไปหมด ส่วนอีก 1 ล้านล้านบาท ก็ไม่ถึง ส่งผลกระทบรุนแรงต่อ Value Chain ของการท่องเที่ยว ประกอบด้วยโรงแรมที่พัก 26% การช้อปปิ้ง 24% ร้านอาหาร 21% สามอย่างหลักๆ นี้ ปีที่แล้วรายได้แทบจะหายหมด

ปี 2562 ไทยพยายามโปรโมท Medical Tourism คือการที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย เช่น รักษาโรค ผ่าตัดแปลงเพศ ทำกิฟต์ และอื่นๆ โดยในส่วนนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ 4 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และจ้างแรงงานประมาณ 9,000 คน

ขณะเดียวกัน Wellness Tourism เป็นส่วนที่ยังไม่ได้รับการผลักดันเท่าที่ควร แต่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 12 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 4 แสนล้านบาท และจ้างแรงงานประมาณ 500,000 คน

“คนเขาคิดว่าบ้านเราเก่งมากด้าน Wellness เรื่องการดูแล เรื่องสุขภาพ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นจุดที่เราผลักดันในอนาคตต่อไป Wellness Tourism จะสร้างการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น กระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยเหลือท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นด้วย” ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว

นอกจากนี้ กลินท์ยังชี้ให้เห็นว่า Medical Tourism อาจทำได้เฉพาะจังหวัดที่มีโรงพยาบาลใหญ่ แต่ Wellness Tourism สามารถทำได้ทุกจังหวัด

การท่องเที่ยวคุณภาพสูง คือการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชนได้ประโยชน์ (Inclusiveness) และทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดี อยู่เที่ยวนานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น

ปัจจุบันหอการค้าแห่งประเทศไทยมีแนวคิดที่ชื่อว่า ‘Happy Model’ หรือโมเดลอารมณ์ดีมีความสุข ประกอบด้วย 1) กินดี คือการกินอาหารท้องถิ่นที่อร่อย สะอาด มีประโยชน์ บวกกับการสร้าง Branding และ Packaging เพื่อเพิ่มมูลค่า 2) อยู่ดี คือการทำที่พักให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องขยะ คุณภาพน้ำ และอื่นๆ รวมถึงรองรับเทรนด์ Work From Anywhere 3) ออกกำลังกายดี แต่ละจังหวัดมีกิจกรรมต่างๆ เช่น ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ปีนหน้าผา ฯลฯ และ 4) แบ่งปันสิ่งดีๆ คือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับท้องถิ่น หรือแลกเปลี่ยนความรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน โดยทั้งหมดนี้จะต้องสร้าง Storytelling

การสร้าง ‘Happy Model’ ให้เกิดขึ้นจริงได้นั้น กลินท์อธิบายว่ามี 5 ขั้นตอน คือ 1) สร้างความเข้าใจกับชุมชนและส่วนต่างๆ 2) กำหนดมาตรฐานร่วมกัน เรื่องที่พัก อาหาร ความปลอดภัย ฯลฯ 3) พัฒนาบุคลากรให้พร้อมบริการ 4) สร้างฐานะข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม ‘ทักทาย’ ให้นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาข้อมูล แพลนทริป หรือแชร์ประสบการณ์ระหว่างกันได้ และ 5) ส่งเสริม Creative Economy

สุดท้าย ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยย้ำว่า ประเทศไทยต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมเมื่อนักท่องเที่ยวกลับมา สร้างเอกลักษณ์ท้องถิ่น โปรโมททำการตลาด และภาครัฐควรต้องแก้กฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้วย

SME BUSINESS โอกาสใหม่บนโลกออนไลน์ ในการสร้างรายได้และธุรกิจ

‘ป้าตือ-สมบัษร ถิระสาโรช’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตือ จำกัด กล่าวถึงพัฒนาการโลกช้อปปิ้งจากออฟไลน์สู่ออนไลน์และเทรนด์ Retailtainment มองว่า Retailtainment เป็นเสน่ห์ของการช้อปปิ้งในยุคปัจจุบัน เพราะมีทั้งเรื่องของ ‘ช้อปปิ้ง’ และ ‘เอ็นเตอร์เทนเมนท์์’ มารวมกัน เพื่อสร้างเสน่ห์ในการช้อปปิ้งและทำให้คนมีความรู้สึกร่วม เพราะฉะนั้น ถ้าเมื่อไหร่แบรนด์ทำให้คนรู้จักตัวตนของคุณ รู้จักดีเอ็นเอของคุณ และร่วมอินเทอร์แอคกับคุณได้ คือคุณมีกำไรแล้ว คุณชนะแล้ว

“อย่างช้อปปิ้งแบบออฟไลน์ เราจะสามารถลองได้ จับได้ เราได้ประสบการณ์ด้วยตัวของเราเอง แต่ทุกวันนี้ออนไลน์ให้เรารับประสบการณ์ผ่านเรียนรู้จากคนอื่นๆ ผ่านการรีวิว แล้วค่อยใช้ความรู้สึกของตัวเองตัดสินในภายหลัง แล้วยังสร้างความตระหนักรู้ร่วมด้วยได้”

“ตือเคยพูดเมื่อ 5-6 ปีก่อนว่า อนาคตหน้าร้านจะกลายเป็นดิสเพลย์สำหรับจัดแสดงสินค้าและกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะช่วยดึงดูดลูกค้าเข้าไปซื้อของ”

“ออฟไลน์กับออนไลน์ทำหน้าที่ต่างกัน แต่ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค จะบอกว่าอันไหนดีกว่ามันตอบไม่ได้ ณ ตอนนี้ ออนไลน์อาจจะเข้าถึงคนได้มากกว่า แต่ออฟไลน์เขาก็มีจุดเด่นของเขาเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเมื่อไรที่ทั้งสองทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค วันนั้นธุรกิจก็จะอยู่ได้”

 

‘ภารดี สินธวณรงค์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า จำกัด ประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “ชอปปิ้งออนไลน์ ความหวังใหม่ ดัน SMEs ไทยโต” กล่าวถึงการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่โตขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกปี แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ยิ่งเป็นอัตราเร่งยิ่งโตเร็วมากขึ้น จากที่คาดการณ์ว่าจะโตไป 30  เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถโตไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

รวมถึงจะมาพูดถึงกลยุทธ์ที่จะผลักดันทำให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดออนไลน์มียอดขายที่ดีขึ้น ช่วยธุรกิจ SMEs ไทยในช่วงเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19

 

‘อณุพรรณ เครือมิ’ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด คุ้นกลิ่น มองว่า คอนเทนต์มีค่ามากกว่าค่าโฆษณาที่จ่ายลงไปเป็นจำนวนมาก แบรนด์น้ำหอม I Am Siam ใช้งบประมาณกับการตลาดหรือการเติมเงินลงไปเพื่อยิงโฆษณาน้อย เพราะมีลูกค้าจำนวนมากที่ติดตามเพจเพราะชื่นชอบคอนเทนต์ของสินค้า ส่งผลให้แทบจะไม่ต้องทำโฆษณาอะไรเลย

“ดอกไม้ไทยมีเรื่องเล่าหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ได้มีแค่ดอกเดียว ทำให้ I Am Siam มีเรื่องราวในการสื่อสารกับลูกค้าเสมอ และทำให้ลูกค้าหลายคนเลือกกดติดตามโซเชียลมีเดียของแบรนด์ เพราะชื่นชอบเรื่องราวที่ I Am Siam นำมาเล่า”

“ตอนโควิด-19 เราได้รับผลกระทบทั้งในแง่การนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออก ทำให้ I Am Siam ต้องปรับสัดส่วนหันมาทำตลาดไทยมากขึ้น และเริ่มต้นทำโปรโมชันจากที่ไม่เคยทำมาก่อน จนได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย เร่งออกสินค้าใหม่มากระตุ้นตลาด ‘ว่านจูงนาง’ จนโควิดคลายตัวทำให้สามารถกลับมาส่งออกได้อีกครั้ง”

“SME อยู่ในยุคที่ทุกคนต้องปรับตัว ต้องปรับและต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตใหม่ เราอยู่ในยุคที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เยอะ ดังนั้น ข้อมูลที่นำมาประกอบการตัดสินใจต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ลองผิดลองถูกก็ได้ ให้เวลาตัวเอง พร้อมกับมีวินัยและตั้งใจทำจะต้องสำเร็จแน่นอน”

 

‘ดร.กุลภัทร กมล’  กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามกรุ๊ป โกลบอล เทรด จำกัด กล่าวว่า การทำการตลาดออนไลน์มีความสำคัญมากในปัจจุบัน โดยลูกค้ากว่า 80% ของ Cosmaprof ที่เป็นคุณหมอผิวหนัง ทำแบรนด์สินค้าเวชสำอางล้วนมีการทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งลักษณะของการทำการตลาดออนไลน์ทำให้ลูกค้าสบายใจในการตัดสินใจซื้อมากขึ้น ไม่ต้องรู้สึกกดดันเหมือนเลือกซื้อตาม Shop หรือเคาน์เตอร์แบรนด์ที่มีคนเดินตาม

ส่วนของการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ประเทศไทยมีแหล่งวัตถุดิเป็นต้นทุนที่ดี ทำให้ต่างชาตินิยมผลิตภัณฑ์เสริมความงามของไทยมาก โดยเฉพาะตลาดยุโรปมีนักธุรกิจต่างชาติสนใจมาทำ OEM ในไทย แล้วส่งไปขายต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 ก็จะเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามา และสนใจย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยมากขึ้น

“ในส่วนของเครื่องสำอางกัญชงตอนนี้ไทยปลดล็อกเรียบร้อยแล้ว โดยสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางกัญชงมีแนวโน้มเติบโตดี และเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ประเทศและเพิ่มการจ้างงานให้กับประเทศไทยแน่นอน”

“ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการ SME จึงอยากชวนให้มองไกลออกไป ไม่ใช่แค่การขายในไทยเท่านั้น แต่ควรศึกษาตลาดเครื่องสำอางกัญชงในต่างประเทศด้วย เพราะตลาดมีแนวโน้มเติบโตสูงและไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะสามารถผลิตได้อย่างเรา”

 

MEDICAL HUB โอกาสในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพโลก

‘นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวช และรพ.บีเอ็นเอช ขึ้นกล่าวในหัวข้อ The Future Healthcare โดยกล่าวถึง 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. ทิศทางการแพทย์ในอนาคต

โดยมองว่า นิสัยของคนไทยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคอะไรจะวิ่งเข้าหาโรงพยาบาล (Sick Care) แต่ในอนาคตหลังจะเป็นแบบ Home Care คือดูแลตัวเองที่บ้าน และ Early Care หรือการดูแลก่อนป่วย และเน้นย้ำให้มี Self Care คือ การดูแลตัวเองลดการพึ่งพาแพทย์ ซึ่งจะเป็นทิศทางการแพทย์ในอนาคตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยมีเทคโนโลยี อาทิ Body Censor, Virtual Hospital ที่เหมือนการยกโรงพยาบาลไปที่บ้าน Tele-medicine รักษาผ่านสมาร์ทโฟน รักษาผ่านรีโมท โดยไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ แต่อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปโรงพยาบาลก็ยังคงมีอยู่ แต่จะมีการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น เช่น Smart ER เอาโรงพยาบาลมาไว้ในแอปพลิเคชัน หรือใช้ AI ในการรักษา

  1. สตาร์ทอัพด้านสุขภาพ

นพ.ชัยรัตน์ กล่าวว่า นอกเหนือจากสมิติเวช สตาร์ทอัพด้านสุขภาพของไทยเริ่มมีแล้ว เช่น Arin Care ที่เป็นเรื่องระบบบริหารจัดการยา, Ooca แอปพลิเคชันให้คำปรึกษาสุขภาพ หรือ สตาร์ทอัพที่ทำเรื่องเตือนความเสี่ยงโรคเบาหวาน ซึ่งภาพรวมไทยตอนนี้เห็นว่ามีหลายแห่งที่กำลังเริ่มทำ แต่ยังไม่เกิดเป็นรูปเป็นร่าง และยังถือว่ายังไม่เพียงพอ พร้อมเสนอว่าไทยควรมีสตาร์ทอัพด้านสุขภาพมากกว่านี้

  1. วงการสุขภาพในระดับโลกที่เขย่าวงการสาธารณสุขไทย

โดยยกตัวอย่างเทคโนโลยีด้านสุขภาพของต่างประเทศ ที่พบว่าล้ำหน้าไปไกล เช่น Amazon Care, Google Health และ Apple Health เป็นต้น นพ.ชัยรัตน์ มองว่า หากเทคโนโลยีของบริษัทเหล่านี้เข้ามาในไทยแล้ว โรงพยาบาลในไทยอาจจะอยู่ยากขึ้น ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน จะลดหายไป เพราะสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านระบบ Tele Consultant ได้ การผ่าตัดถ้ามี AI แล้วก็ทำข้ามทวีปได้ แม้ว่าคนไข้แบบเดิมที่เดินทางมาพบหมอจะยังมีอยู่ แต่เชื่อว่ารายได้โรงพยาบาลจะลดลงจำเป็นต้องมีการทำเทคโนโลยี พร้อมกับพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนรายได้ที่หายไป พร้อมแนะนำว่า โรงพยาบาลไทยต้องจัดระบบองค์กรใหม่ให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อว่า “นวัตกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นบนกองขยะได้”

  1. ไทยเราจะรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นและจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร

นพ.ชัยรัตน์ ระบุว่า ขณะนี้สตาร์ทอัพสุขภาพในหลายประเทศพัฒนาไปไกลมาก ถ้าไทยยังอยู่ที่การรอคนไข้เดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาลเราจะตามโลกไม่ทัน ดังนั้นเราต้องมาดูว่าจะเริ่มจากตรงไหน เริ่มอย่างไร โดยเสนอภาพ วงล้อระบบเศรษฐกิจ (Economics System) โดยมีลูปของ Medical Hub และ Med Hub ซึ่งจะต้องเอื้อซึ่งกันและกัน โดยลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสามารถเป็นลูกค้าในบริการอื่นๆ ได้พร้อมๆ กันด้วย และสิ่งที่ประเทศไทยจะต่อกรได้ คือ จุดแข็งด้านบริการที่คุณภาพดี โดยเฉพาะด้านการแพทย์และการเป็นครัวโลก โรงแรม ห้างสรรพสินค้า แต่ขณะนี้เรายังมีลักษณะของต่างคนต่างทำ ไม่ได้เอาจุดแข็งที่มีมาร่วมกัน

“การจะทำให้เกิดจุดแข็งร่วม ต้องอาศัย PPP Model คือ Public-Private Partnership เพื่อรวมสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ร่วมกันได้ ขณะเดียวกันต้องทำให้เกิดจุดแข็งใหม่ เพื่อให้เกิดจุดขายใหม่ และต้องดึงนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ และลงทุนกับสตาร์ทอัพบ้านเรา และให้สิทธิพิเศษ เช่น ฟรีวีซ่าอยู่ได้หลายปี ซึ่งหากเราทำได้พร้อมกับการเติม นวัตกรรมในทุกๆ ด้านของวงล้อของ 2 ลูป จะสามารถหมุนและเดินหน้าไปได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การท่องเที่ยวที่กิน 30% ของ GDP แต่ขณะนี้การท่องเที่ยวลดลงไปถึง 84.2% นั่นหมายความว่าประตูสวรรค์เราถูกปิดลง ลูปทั้ง 2 ก็เคลื่อนไม่ได้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องดูแลเรื่องการท่องเที่ยวก่อน ซึ่งการท่องเที่ยวแก้โดยใช้ 4 Clean Model คือ ฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยงเรียกความเชื่อมั่นว่าไทยปลอดภัย ให้วัคซีนกับคนในพื้นที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้กลายเป็นเมืองปลอดโรค และนำกลุ่มที่ทำงานรับนักท่องเที่ยว แอร์โฮสเตส นักบิน มาฉีดวัคซีน ให้เป็น Clean flight แล้วเราก็รับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว หรือ Vaccine Passport ไม่ต้องกักตัว หากทำได้จะทำให้วงล้อระบบเศรษฐกิจหมุนเดินหน้าต่อไปได้” นพ.ชัยรัตน์ กล่าว

 

ด้าน นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ รักษาการประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช Managing Director, โรงพยาบาลเมดพาร์ค ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Medical and Wellness สองขาดันไทยสู่ศูนย์กลางการแพทย์” ถึงโอกาสของธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจสุขภาพ ที่จะมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

นพ.ตนุพล เผยถึงภาพรวมของโอกาสทางธุรกิจด้าน Wellness ที่กำลังจะมีบทบาทสำคัญในอนาคต ทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมไปถึงการที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

ส่วน นพ.พงษ์พัฒน์ ได้แนะนำกลยุทธ์ในการฟื้นฟู GDP ด้านสุขภาพของประเทศไทยที่หายไป ด้วยการเน้นรักษาโรคยากและซับซ้อนที่จะสร้างรายได้ขึ้นมาทดแทนได้ รวมถึงการจับมือกันของโรงพยาบาลในอาเซียนที่จะนำไปสู่การเป็น Medical Hub ของโลก

SOFT POWER โอกาสของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยในตลาดโลก

‘มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์’ กล่าวในหัวข้อ “Soft Power ใช้เสน่ห์ไทยเข้าโจมตีหัวใจโลก” กล่าวถึงพลังของ Soft Power ที่จะเปลี่ยนให้โลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ในมุมมองของคุณมิว Soft Power คือการโน้มน้าว ชักจูง ไม่มีการแพ้หรือชนะหรือการแข่งขันกัน แต่เป็นการที่ประเทศนั้นโชว์ความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองออกมา

Soft Power คือพลังงานที่ทำให้หลายคนเปลี่ยนความมคิด มุมมอง และนำมาปรับใช้กับตัวเองได้ และสามารถปรับใช้กับประเทศไทยได้ เช่นอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย

ขณะที่ ‘อนุวัติ วิเชียรณรัตน์’ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โฟร์โนล็อค จำกัด ในฐานะผู้บริหารค่ายเพลง คุณอนุวัติได้มาพูดคุยในหัวข้อ “T-POP SOFT POWER ไทย ต้องปักธงให้สำเร็จ” โดยนำโมเดลของเกาหลีใต้ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในด้านการส่งออกวัฒนธรรมผ่านสื่อบันเทิง และสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องทำหากต้องการเดินตามรอยตัวอย่างที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง

สอดคล้องกับ ‘ภาณุ อารี’ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชันแนล จำกัด กล่าวว่าคอนเซปต์ของ Soft Power สมัยก่อนกับสมัยนี้อาจจะไม่เหมือนกัน คือสมัยก่อนเราอาจจะคิดว่าเราเผยแพร่เรื่องรำไทย ความอ่อนช้อย ความเป็นไทย แต่ทุกวันนี้คนอาจจะไม่ได้สนใจความเป็นชาติแล้ว แต่คนสนใจในประเด็นความเป็นสากลที่ทุกคนรู้สึกได้เหมือนกัน เช่น สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ถ้าเรายังยืนยันที่จะใช้ภาษาแบบเรา เป้าหมายที่เราต้องการไป เราอาจไปไม่ถึง

“ในขณะที่หลายประเทศคิดว่า Soft Power คือการส่งออกทางวัฒนธรรม คือเราจะเอาวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมมาเลเซีย วัฒนธรรมอินโดนีเซียไปเผยแพร่ แต่จริงๆ การเล่นกับ Soft Power ของเกาหลีคือ การเล่นกับวัฒนธรรมในปัจจุบัน คนสนใจอะไร คนอยากฟังอะไร เสร็จแล้วเราก็ครีเอทมันให้มันแตกต่าง อย่าง Parasite คือการสื่อสารเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วยวิธีการที่ไม่เคยมีใครเล่ามาก่อน”

“อย่างแรกเลยคือเราต้องไม่ใช้นโยบายนำความคิดสร้างสรรค์ เราอาจจะซีเรียสเกินไปกับการใช้ Soft Power เผยแพร่ความคิดอุดมการณ์แบบไทย ความคิดแบบไทย วัฒนธรรมไทย โดยเลือกสนับสนุนคนที่สร้างสรรค์ผลงานที่ตอบโจทย์เรา เช่นมีกองทุนหนึ่งสนับสนุนหนังที่สร้างมาสื่อสารความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย ผมว่าตรงนี้มันอาจจะผิดหลัก เพราะมันไม่ใช่ภาษาที่ทุกคนสื่อสารและไอเดียที่ทุกคนพูดถึง คือต่อให้ใช้เงินมากแค่ไหน หรือดาราที่มีคุณค่าแค่ไหนก็อาจจะไม่ได้ผล”

“ผมกลับคิดว่าสิ่งที่รัฐอาจจะผลักดันได้คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยสนับสนุนหนังทุกประเภทโดยไม่ไปจำกัดความคิดสร้างสรรค์เขา ให้การสนับสนุนทุกอย่างที่เป็นการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง”

 

นอกจากนี้ ยังมี ‘ศุภสรร ด้วงชนะ’ ซีอีโอบริษัท สโตเรจซิตี้ แพลตฟอร์ม จำกัด แพลตฟอร์มครีเอเตอร์ที่ชื่อ DotPlay กล่าวว่าตลาดเอนเตอร์เทนเมนท์แพลตฟอร์มในไทยมีขนาดใหญ่กว่าตลาดโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มในไทยมาก และหาก DotPlay สามารถสร้างแพลตฟอร์มความบันเทิงที่ครบวงจรได้ หนทางที่จะกลายเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของไทยย่อมเป็นไปได้

สุดท้าย ‘ยุทธศักดิ์ กฤดิพงศ์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพเอ็กซิบิชั่น จำกัด (BEX) กล่าวถึงปรัชญาในการทำงานอีเว้นต์อย่างไรให้อยู่ได้ในและหลังวิกฤติ โดยระบุว่า “ช่วงโควิดที่ทุกคน work from home ผมถึงขั้นนอนไม่หลับหลายวันมาก เป็นไมเกรนจากความเครียด แต่เราเก็บอาการ ไม่บอกใคร และยังคงมองโลกในแง่ดี แล้วก็พยายามผลักดันน้องๆ สนับสนุนและดึงให้เขาอยู่กับรูปรอย มันมีสถานการณ์นี้ แต่เดี๋ยวมันก็จะจบ เราก็อย่าพึ่งไปยอมแพ้”

“สุดท้ายปลายปี 63 ผลประกอบการเราไม่ขาดทุนและได้กำไร เราไม่ลดเงินเดือนน้องๆ เราไม่เลย์ออฟน้องๆ มันเหมือนเป็นผลงานลึกๆ ในใจ ตั้งแต่ทำงานมาเราไม่เคยขาดทุน รายได้ต่างๆ โตขึ้นเรื่อยๆ เราแบกความไว้วางใจของพี่ๆ แล้วก็แบกน้องๆ 30-40 คนในความดูแล เราจึงต้องตัดสินใจให้ดีและสุดท้ายเราก็ทำสำเร็จ”

“ปีที่แล้วเรามีงานหลายงานที่เราต้องปรับรูปแบบ แต่ปรัชญาการทำงานของเราคือ Never Say Never ตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้ามาทำงาน เวลาใครมีโปรเจ็กต์หรืองานอะไรก็ตาม เราจะฟังก่อนและทำอย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อแม้ แม้ว่างานนั้นเราจะคิดว่าทำได้หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่เราจะรับโจทย์มาก่อนแล้วพยายามทำ เราจะไม่ปฏิเสธไปก่อน Never Say Never จึงกลายมาเป็นแนวคิดในการทำงานของ BEX”

“ในปีนี้เราได้รับโจทย์ให้ยกงานกาชาดทั้งหมดไปไว้ในพื้นที่ออนไลน์ ตอนนั้นมันดูเกิดขึ้นได้ยาก แต่สุดท้ายเราก็ทำสำเร็จ สามารถยกซุ้มขายของ ซุ้มของหน่วยงานต่างๆ กิจกรรม เกม หรือแม้แต่บ้านผีสิงและการดูหมอออนไลน์ไปไว้บนพื้นที่’งานกาชาดออนไลน์ได้สำเร็จ โดยมีคนเข้าชมงานทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน ประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้และผู้เข้าชมงาน เป็นบทพิสูจน์คำว่าประโยคที่ว่า Never Say Never”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า