SHARE

คัดลอกแล้ว

ดูเหมือนว่ายิ่งนับวัน ประโยคที่ว่า “ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนต้องคิดทบทวนให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน” จะเป็นประโยคที่ใช้ได้กับการลงทุนในทุกรูปแบบ

รวมถึงการลงทุนในโลกคริปโทเคอร์เรนซี่อย่าง ‘การทำฟาร์ม DeFi’ หรือการสร้างผลตอบแทนบนแพลตฟอร์ม DeFi ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมากลับมีการโกงกัน รวมถึงถูกแฮ็กบ่อยมากขึ้น

ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คือกรณีโปรเจ็กต์ DeFi โปรเจ็กต์หนึ่งที่มีชื่อว่า DeFi100 ประกาศ exit scam หรือปิดโครงการทิ้ง พร้อมเชิดเงินนักลงทุนไป 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,000 ล้านบาท ทั้งยังทิ้งข้อความเอาไว้ซึ่งแปลอย่างสุภาพได้ว่า “เราโกงพวกคุณ และพวกคุณก็ทำอะไรไม่ได้หรอก”

อย่างไรก็ตาม บัญชีทวิตเตอร์ของผู้พัฒนา DeFi100 ได้ออกมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง พวกเขาไม่ได้โกง แต่เป็นเพราะเว็บไซต์ถูกแฮ็กซึ่งกำลังพยายามกู้คืนอยู่ และมูลค่าสินทรัพย์ที่อยู่บนฟาร์มก็ไม่ถึง 32 ล้านดอลลาร์ด้วย

เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ลองไปทำความเข้าใจกัน

รู้จัก DeFi และการทำฟาร์ม

หากจะพูดถึงเรื่องการทำเงินบนฟาร์ม DeFi แล้ว ก่อนอื่นอาจต้องทำความรู้จักกับ DeFi กันก่อน

DeFi หรือย่อมาจาก Decentralized Finance คือระบบการเงินที่ไม่มีอำนาจตัวกลางอย่างธนาคาร แต่อาศัยการกระจายอำนาจทางการเงินให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ทำให้สามารถทำธุรกรรม, กู้ยืมสกุลเงินดิจิทัล, ค้ำประกัน, แลกเปลี่ยน รวมถึงระดมทุนได้อย่างสะดวกมากขึ้น ทั้งยังได้รับผลตอบแทนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยโดยไม่ต้องถูกธนาคารหักค่าหัวคิว

DeFi ยังใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่ช่วยสร้างความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ร่วมกับ Smart Contract หรือสัญญาอัจฉริยะที่มาในรูปแบบของชุดคำสั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ทำให้สัญญาต่างๆ สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง เมื่อครบเงื่อนไขตามที่ถูกเขียนขึ้นมา

แน่นอนว่าเมื่อไม่ต้องติดข้อจำกัดในเรื่อง ‘ความน่าเชื่อถือ’ และ ‘กฎระเบียบของธนาคาร’ อีกต่อไป ทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘การทำฟาร์ม’ หรือ Yield Farming ซึ่งเป็นการให้นักลงทุนนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นหลักประกันและแหล่งเงินทุนให้กับแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโทฯ หรือแพลตฟอร์ม DeFi

ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อที่นักพัฒนาแพลตฟอร์ม DeFi จะได้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบที่ตัวเองสร้างขึ้น เพื่อให้เกิดสภาพคล่องภายในแพลตฟอร์มแบบที่ไม่ต้องระดมทุนหรือขอทุนจากใครเลย โดยจะจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนที่นำสินทรัพย์เข้ามาเป็นแหล่งเงินทุนให้

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การทำฟาร์มเป็นการที่เรานำเงินดิจิทัลไปฝากไว้กับเจ้าของระบบ และได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนกลับมานั่นเอง

ด้วยผลตอบแทนที่ดึงดูด คือมีตั้งแต่ 200-300% ไปจนถึง 1,000% ต่อปี เมื่อเทียบกับโลกการเงินแบบเดิมที่ให้ดอกเบี้ยต่ำติดดิน การทำฟาร์ม DeFi จึงกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นได้อย่างไม่ต้องสงสัย

DeFi100 โกงจริงหรือถูกแฮ็ก?

DeFi100 ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์ม DeFi ที่อยู่บนระบบบล็อกเชนของไบแนนซ์ ซึ่งเปิดให้นักลงทุนเข้าไปทำฟาร์มเหรียญคริปโทฯ ได้

โดยนักพัฒนากางโรดแมปเชิญชวนนักลงทุนตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ก่อนเริ่มให้นักลงทุนนำเงินดิจิทัลมาวางบนแพลตฟอร์มเพื่อทำธุรกรรมตั้งแต่ราวๆ เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

ซึ่ง DeFi100 จะมอบผลตอบแทนเป็นโทเคนที่มีชื่อว่า D100 ให้กับนักลงทุน โดยโทเคนดังกล่าวสามารถนำไปขายได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา บัญชีทวิตเตอร์ของโปรเจ็กต์ DeFi100 ได้มีคนเข้าไปเตือนให้ระวังว่าเจ้าของแพลตฟอร์มนี้โกงเงิน รวมถึงมีความไม่ชอบมาพากลต่างๆ

กระทั่งเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2564 ที่เว็บไซต์ของ DeFi100 ไม่สามารถใช้งานได้ พร้อมประกาศปิดโครงการ และทิ้งข้อความว่าโกงเงินนักลงทุน

ก่อนที่ทวิตเตอร์ของ DeFi100 จะแย้งว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง พวกเขาไม่ได้ประกาศปิดตัวโครงการ แต่ที่เว็บเข้าไม่ได้เพราะถูกแฮ็ก

นอกจากนี้ พวกเขายังระบุอีกว่า จำนวนซัพพลายโทเคน D100 ในปัจจุบันมีอยู่น้อยกว่า 4 ล้านโทเคนด้วยซ้ำ โดยในตอนเริ่มต้นโครงการ มีซัพพลายโทเคนทั้งหมด 2.5 ล้านโทเคน และมูลค่ารวมของเงินที่ถูกล็อกไว้บนแพลตฟอร์มก็ยังไม่ถึง 32 ล้านดอลลาร์ด้วย

ทีมนักพัฒนาระบุอีกว่า โทเคนที่ขายไปทั้งหมดระหว่าง IDO คือ 750,000 โทเคน ในราคาโทเคนละ 0.80 ดอลลาร์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ สามารถตรวจสอบได้

ขณะที่มูลค่า Market Cap สูงสุดที่เคยทำได้ยังมีมูลค่าน้อยกว่า 2 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ ดังนั้น ที่ระบุว่าพวกเขาโกงเงินไป 32 ล้านดอลลาร์จึงไม่เป็นความจริง

“นักลงทุนของเราต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งใหญ่จากโปรเจ็กต์ที่ล้มเหลวและไปไม่ถึงเป้าหมายของเรา แต่ยืนยันว่าเราไม่ได้โกง และยังคงเดินหน้าหาวิธีทำให้โปรเจ็กต์กลับมาได้อีกครั้ง” ทวิตเตอร์ของ DeFi100 ระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้นักพัฒนาจะยืนยันว่านี่ไม่ใช่การโกง แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาพูดจริงหรือไม่ จนกว่าเว็บไซต์จะกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

ความเสี่ยงที่นักลงทุนสายฟาร์มต้องเจอ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าโลกของ DeFi เป็นระบบการเงินที่ไม่มีตัวกลางใดมาควบคุม แต่ไม่เพียงเท่านั้น มันยังไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอีกด้วย

นั่นเท่ากับว่า หากเกิดปัญหาอย่างเช่นโดนแฮ็ก ไปจนถึงโดนโกง นักลงทุนจะไม่สามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากใครได้เลย และอาจสูญเงินทั้งหมดที่ลงทุนไปด้วยก็ได้

และนั่นก็คือความเสี่ยงหนึ่งของ DeFi

สิ่งที่นักลงทุนสายฟาร์มสามารถทำได้ คือ ต้องระวังถึงความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงจากนักพัฒนา ที่อาจเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาได้ ก่อนลงทุนจึงควรต้องอ่าน White Paper และโรดแมปให้ดี, เช็กเครดิตและความน่าเชื่อถือของทีมพัฒนา เป็นต้น

รวมถึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอีกด้าน คือ ความเสี่ยงจากปัญหาบน Smart Contract ซึ่งเป็นโค้ดคอมพิวเตอร์ที่รันบนบล็อกเชน ที่เราสามารถตรวจสอบได้หมดว่าใครได้เงินเท่าไหร่ เจ้าของแพลตฟอร์มได้เงินกี่เปอร์เซ็นต์ แต่นั่นหมายถึงเราต้องมีความรู้ด้านโปรแกรมมิ่ง

ซึ่งสำหรับคนที่อ่านโค้ดไม่เป็น นอกจากฟังความเห็นของคนในคอมมูนิตี้แล้ว ก็อาจตรวจสอบว่าแพลตฟอร์มนั้นมีการ Audit จากทีม Audit Smart Contract ที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้ตัดสินใจได้มากขึ้น

ท้ายที่สุด สำหรับในโลกของการลงทุนแล้ว อย่างไรคงต้องอาศัยประโยคแรกอยู่ดี คือ “ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรคิดทบทวนให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า