SHARE

คัดลอกแล้ว

#explainer ท่ามกลางกระแสข่าวที่คนไทยต้องรอลุ้นว่า ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข้ามาวันไหนกันแน่ และพอถึงกำหนดเดือนมิ.ย. จะได้ฉีดวัคซีนตัวนี้หรือเปล่า

ในต่างประเทศเอง ก็กำลังมีการพูดถึงคดีความของ EU และแอสตร้าเซนเนก้า หลังจากที่เกิดข้อพิพาทขึ้น เนื่องจากแอสตร้าเซนเนก้าจัดส่งวัคซีนล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญาที่ระบุไว้

เหตุใดเรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกัน เรื่องนี้จะมีผลมาถึงไทยที่กำลังรอวัคซีนอยู่หรือไม่ workpointTODAY จะสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดให้เข้าใจในโพสต์เดียว

1) สหภาพยุโรป หรือ EU คือกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ที่รวมตัวกันจนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และเป็นภูมิภาคที่มีอำนาจซื้อสูงที่สุดในโลก 

ปัจจุบัน EU ประกอบไปด้วยสมาชิก 27 ประเทศ หากนำประชากรของทุกประเทศมารวมกันแล้ว จะมีประชากรรวมเกือบ 450 ล้านคน 

แม้ว่าล่าสุดจะมีเหตุการณ์ที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกไปจาก EU เมื่อต้นปี หรือที่เรียกกันว่า Brexit แต่ถึงสหราชอาณาจักรจะออกไป เมื่อดูในภาพรวมแล้ว EU ก็ยังถือเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองสูงอยู่ดี 

 

2) ด้วยความที่หลายประเทศใน EU เป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูงอยู่แล้ว ยิ่งพอมารวมตัวกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว จึงทำให้ EU กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในเวทีการค้าโลกที่มีอำนาจต่อรองสูงมาก รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย

ทีนี้เวลาไปเจรจาเรื่องอะไรก็ตาม EU ก็จะเป็นตัวแทนของประชากร 450 ล้าน ไปเจรจาทีเดียว ทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองที่มากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว เรียกว่าไม่แพ้จีนและสหรัฐฯ เลย

 

3) หลักการเดียวกันถูกนำมาใช้ในการสั่งจองวัคซีนป้องโรคโควิด-19 ขณะที่หลายประเทศใช้วิธีเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนแยกกันไป ฝั่ง EU ใช้วิธีเข้าเจรจาเพื่อสั่งจองวัคซีนทีละเยอะๆ สำหรับประชากรทั้ง 27 ประเทศ แล้วจากนั้นค่อยนำมากระจายให้ประเทศสมาชิกตามสัดส่วนประชากรทีหลัง

หนึ่งในบริษัทที่ EU ทำสัญญาจองวัคซีนล่วงหน้า คือแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในตอนนั้น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าถือเป็นหนึ่งในวัคซีนที่คนตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูง หลังจากที่พวกเขาจับมือกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ในการพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 

การร่วมมือลักษณะนี้ นับเป็นการเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน ฝั่งของอ็อกซ์ฟอร์ดก็มีความเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาวัคซีน ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีองค์ความรู้ ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้าก็มีเงินทุน มีกำลังการผลิต และมีช่องทางที่จะสามารถจัดส่งวัคซีนไปได้ทั่วโลก

 

4) ท่ามกลางภาวะการระบาดของโควิด-19 ณ ขณะนั้น ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องวัคซีนออกมา ว่าแต่ละเจ้าจะพัฒนาเสร็จเมื่อใด และมีผลการทดสอบออกมาเป็นอย่างไร

EU ถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ยอมเสี่ยง ตัดสินใจทำสัญญาสั่งจองวัคซีนกับแอสตร้าเซนเนก้าล่วงหน้าตั้งแต่ผลการทดสอบขั้นสุดท้ายยังไม่ออกมา โดยทั้งสองฝ่ายเริ่มต้นเจรจาตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย. 2020 ก่อนจะหาข้อสรุปและเซ็นสัญญากันในเดือนส.ค. 2020 แบ่งเป็นการสั่งจองวัคซีนเบื้องต้น 300 ล้านโดส และมีทางเลือกในการขอจองเพิ่มในภายหลังอีก 100 ล้านโดส

 

5) ในสัญญาระบุไว้ว่า ทางแอสตร้าเซนเนก้าจะขายวัคซีนให้ในราคาที่ไม่ได้กำไรและไม่ขาดทุน ก็คือขายในราคาเท่าทุนนั่นเอง และยังระบุกำหนดส่งแบบคร่าวๆ คือ ภายในปี 2020 จะส่งให้กี่โดส และในไตรมาสแรกของปี 2021 อีกกี่โดส 

อย่างไรก็ตาม ในเอกสารสัญญาที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ข้อมูลเรื่องจำนวนโดสได้ถูกคาดแถบดำทับไว้ เพราะถือเป็นความลับทางการค้า ทำให้ในช่วงนั้น เรารู้เพียงแค่ว่าแอสตร้าเซนเนก้าจะทยอยส่งวัคซีนให้จนครบ 300 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2021 แต่เราไม่รู้ว่า การจัดส่งแต่ละครั้งมีจำนวนเท่าใดบ้าง 

 

6) แต่พอเข้าสู่ช่วงต้นปี 2021 ทาง EU เริ่มออกมาแสดงความกังวล ด้วยการบอกว่า แอสตร้าเซนเนก้าไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ เนื่องจาก EU ได้รับวัคซีนในไตรมาส 1 เพียงแค่ 30 ล้านโดส พร้อมกับเปิดเผยข้อมูลส่วนที่ตอนแรกถูกแถบดำคาดทับในสัญญา ว่าอันที่จริง แอสตร้าเซนเนก้าสัญญาไว้ว่าจะต้องส่งให้ 90 ล้านโดสแล้วนะ

พอเวลาล่วงเลยไปถึงไตรมาสที่ 2 เมื่อปัญหาส่งช้ายังมีอยู่ ทาง EU จึงออกมาเปิดเผยอีกครั้ง ว่าได้รับวัคซีนมาแค่ 70 ล้านโดสเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในสัญญา แอสตร้าเซนเนก้าบอกว่าจะส่ง 180 ล้านโดสในไตรมาสนี้

 

7) เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ EU จึงไปตรวจสอบดูว่า แล้วประเทศอื่นๆ ที่ทำสัญญาไว้กับแอสตร้าเซนเนก้าล่ะ เจอปัญหาแบบพวกเขาบ้างไหม 

ผลปรากฎว่า อังกฤษที่ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก ไม่เจอปัญหานี้เลย ประเทศอื่นๆ ก็ไม่เป็น แล้วทำไมถึงมามีปัญหาเฉพาะกับ EU ล่ะ 

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมา เพราะ EU รู้สึกว่าแอสตร้าเซนเนก้าไม่มีความรับผิดชอบเท่าที่ควร ถ้าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับทั่วโลกก็ยังพอเข้าใจได้ แต่นี่ดันมาเกิดเฉพาะกับ EU ที่เดียว

 

8 ) โดยปกติแล้ว ข้อขัดแย้งทำนองนี้จะหาข้อสรุปง่ายมาก คือถ้าแอสตร้าเซนเนก้าสัญญาไว้ว่าจะส่งให้จำนวนเท่านี้ แต่ถึงเวลาจริงกลับส่งให้น้อยกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา เท่ากับว่าแอสตร้าเซนเนก้าเป็นฝ่ายผิด ซึ่งก็ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย

แต่ปัญหาของเคสนี้คือ มีการใส่คำ 1 คำเข้าไปในสัญญา คือคำว่า Best Reasonable Effort แปลเป็นไทยได้ว่า ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่และสมเหตุสมผลที่สุด ในการที่แอสตร้าเซนเนก้าจะจัดส่งวัคซีนให้ตามสัญญา

ก็คือถ้าแอสตร้าเซนเนก้าส่งวัคซีนให้ไม่ครบ แต่พิสูจน์ได้ว่าพวกเขาพยายามอย่างที่สุดแล้ว ก็จะถือว่าแอสตร้าเซนเนก้าไม่ผิดนั่นเอง

 

9) ทางฝั่งแอสตร้าเซนเนก้าก็ออกมาอ้างสาเหตุที่ส่งล่าช้าว่า เกิดจากปัญหาในกระบวนการผลิตของโรงงานที่เบลเยี่ยม ทำให้ไม่สามารถส่งวัคซีนให้ EU ได้ครบตามสัญญา และทางบริษัทได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว ที่จะจัดส่งตามออเดอร์ที่ตกลงกันไว้

 

10) แต่ EU กลับไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างดังกล่าว โดยยกข้อมูลส่วนหนึ่งในสัญญาที่ระบุว่า วัคซีนที่จะส่งให้ EU สามารถนำมาจากโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศสมาชิกของ EU เอง และรวมถึงโรงงานในอังกฤษ แม้อังกฤษจะออกจากสมาชิก EU แล้วก็ตาม

ซึ่งต้องบอกว่าข้อความดังกล่าวมีการระบุไว้ในสัญญาจริงๆ ตอนนั้นที่ทำสัญญากัน อังกฤษยังไม่ได้ออกจากการเป็นสมาชิก EU อย่างเป็นทางการ แต่ทุกคนรู้ดีว่าเดี๋ยวก็กำลังจะออกแล้ว ทำให้ทีมกฎหมายเขียนไว้ชัดในสัญญาเลยว่า ให้นำวัคซีนมาจากโรงงานใน EU และรวมโรงงานในอังกฤษเข้าไปด้วย

ทีนี้ EU เลยมีข้อโต้แย้งว่า ถ้าโรงงานที่เบลเยี่ยมเกิดปัญหา คุณก็ต้องไปเอาจากโรงงานในอังกฤษมาให้สิ แต่นี่มาส่งให้เราช้า แต่กลับส่งให้อังกฤษตามปกติ แสดงว่ายังไม่ได้พยายามอย่างถึงที่สุดหรือเปล่า นี่มันสองมาตรฐานชัดๆ

 

11) ในเมื่อ 2 ฝ่ายหาข้อสรุปกันไม่ได้ EU จึงนำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยกล่าวหาว่าแอสตร้าเซนเนก้าละเมิดสัญญา ไม่ยอมจัดส่งวัคซีนให้ตามที่ตกลงกันไว้ 

ทีมทนายความของ EU ขอคำสั่งศาล ให้แอสตร้าเซนเนก้าส่งวัคซีนเพิ่มอีก 20 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนมิ.ย. รวมเป็น 120 ล้านโดสในไตรมาส 2 และต้องส่งอีก 180 ล้านโดสที่เหลือภายในเดือนก.ย. 

หมายความว่า แอสตร้าเซนเนก้าจะเหลือเวลาเพียง 4 เดือนเศษนับจากนี้ ในการส่งวัคซีน 200 ล้านโดสให้กับ EU ซึ่งตรงนี้ต้องรอการพิจารณาจากศาลอีกที

 

12) ส่วนในเรื่องของตัวเงิน เบื้องต้น EU ขอให้ศาลสั่งปรับแอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านยูโร (380 ล้านบาท) สำหรับการละเมิดสัญญา และขอให้มีการจ่ายค่าเสียหายให้ EU ในอัตรา 10 ยูโร/โดส/วัน หากเกิดความล่าช้าขึ้นในการจัดส่ง

ลองคำนวณดูคร่าวๆ ถ้าหากว่าแอสตร้าเซนเนก้าส่งวัคซีนช้าไป 1 วัน เป็นจำนวน 10 ล้านโดส เท่ากับว่าพวกเขาจะต้องจ่ายให้อียูถึง 100 ล้านยูโร (3,800 ล้านบาท) ซึ่งถ้าดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าคงไม่ได้ส่งช้าแค่วันเดียวแน่ๆ แต่อาจส่งช้าเป็นเวลาหลายเดือน และอาจมีจำนวนมากกว่าสิบล้านโดส รวมๆ แล้วนับเป็นค่าเสียหายที่มีมูลค่าสูงมาก

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงตัวเลขที่ EU ยื่นไปเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ผู้ฟ้องต้องเรียกค่าเสียหายให้สูงเอาไว้ก่อน ถ้าศาลเห็นว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สมเหตุสมผล ก็มีสิทธิ์ที่จะสั่งให้แอสตร้าเซนเนก้าจ่ายน้อยกว่านี้ได้ แต่ ณ ตอนนี้เรายังไม่ทราบว่าศาลจะตัดสินออกมาในทิศทางใด 

 

13) ทางฝั่งทนายความของแอสตร้าเซนเนก้าแย้งว่า บริษัทได้บอกไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าการผลิตวัคซีนตัวใหม่นั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อีกทั้งในสัญญาก็ระบุชัดว่าบริษัทจะไม่ต้องรับผิดหากเกิดความล่าช้าขึ้น

ส่วนเรื่องการนำวัคซีนจากโรงงานในอังกฤษมาส่งให้ EU ทางแอสตร้าเซนเนก้ายอมรับว่า มีระบุไว้ในสัญญาจริง แต่พวกเขาก็มีการทำสัญญากับอังกฤษไว้เหมือนกัน ว่าจะสามารถทำแบบนั้นได้ ก็ต่อเมื่ออังกฤษเองมีวัคซีนใช้งานเพียงพอแล้วเท่านั้น

 

14) อีกประเด็นที่ถูกยกมาพูดถึงก็คือ จริงๆ แล้วประเทศสมาชิก EU ไม่ได้ต้องการวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าอย่างเร่งด่วนขนาดนั้น ตอนนี้ประชากรใน EU ยังมีวัคซีนเพียงพอสำหรับฉีด โดยไม่ต้องพึ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าด้วยซ้ำ

เรื่องนี้ตรงกับรายงานของบีบีซี ที่เผยว่า หลายประเทศใน EU ยังฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าไม่หมด บางประเทศยังฉีดได้ไม่ถึงครึ่งของที่มีอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสข่าวเรื่องอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเกิดความไม่เชื่อมั่น

 

15) หากมองในแง่ผู้บริโภคแล้ว EU เป็นฝ่ายได้รับความเสียหายอย่างชัดเจนในกรณีนี้ เพราะทำสัญญาไว้แล้ว แต่อีกฝ่ายผิดสัญญา การยกข้ออ้างเรื่อง Best Reasonable Effort ขึ้นมา ก็พิสูจน์ได้ยากอีกว่าคุณทำเต็มที่แล้วจริงหรือเปล่า

 

16) อย่างไรก็ตาม สำหรับ EU แล้ว ถึงพวกเขาแพ้คดีขึ้นมาก็ไม่ได้เสียหายอะไรมาก เพราะยังมีวัคซีนยี่ห้ออื่นให้ใช้งานอีกมากมาย อีกทั้งล่าสุดยังมีการทำสัญญาสั่งจองวัคซีนกับไฟเซอร์ เป็นจำนวน 1,800 ล้านโดส โดยจะเริ่มทยอยส่งให้ตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ ไปจนถึงปี 2023 

นั่นหมายความว่า ตอนนี้ EU เองก็ไม่ได้ลำบากอะไรเรื่องวัคซีน ต่อให้ไม่มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามาเพิ่ม แต่การที่ทำสัญญาไว้กับหลายเจ้า ทำให้ EU ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะมีวัคซีนไม่พอฉีด

แต่ฝั่งที่เสียหายหนักกว่าก็คือแอสตร้าเซนเนก้า เพราะนอกจากจะขายวัคซีนแบบไม่ได้กำไรแล้ว ยังต้องมาเสียเงินเพื่อสู้คดี และเสี่ยงจะโดนค่าปรับเพิ่มขึ้นอีกหากแพ้ขึ้นมา โดยคาดว่าศาลจะตัดสินภายในไม่เกิน 1 เดือนนับจากนี้ 

 

17) เรื่องที่น่าติดตามต่อไปก็คือ การฟ้องร้องครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะประเทศในยุโรปและแอสตร้าเซนเนก้าเท่านั้น เพราะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นที่ต้องการอย่างมากในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ

แม้ในสัญญาจะระบุไว้ว่า แอสตร้าเซนเนก้าต้องนำวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานภายในประเทศสมาชิก EU และอังกฤษ มาส่งให้เท่านั้น แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่เช่นกัน ว่าในกรณีที่จำเป็นต้องเร่งรัดเพื่อส่งให้ทันตามออเดอร์ แอสตร้าเซนเนก้าสามารถส่งเรื่องให้ EU พิจารณารับวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานนอก EU ได้ 

 

18) ฉะนั้น หากศาลตัดสินให้ EU เป็นฝ่ายชนะคดี นั่นหมายความว่า แอสตร้าเซนเนก้าจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหาวัคซีนมาจัดส่งให้ EU ตามกำหนด ซึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลกที่สั่งจองวัคซีนไว้

ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นคงต้องมารอลุ้นกันอีกที ว่าประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและกำลังรอใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลักอยู่ จะโดนหางเลขไปด้วยหรือไม่

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า