SHARE

คัดลอกแล้ว

โฆษก กต. ชี้แจงเหตุผล ไทยงดออกเสียงรับรองมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ กรณีสถานการณ์ในเมียนมา ชี้ปัญหาเมียนมาซับซ้อน กระทบความมั่นคงไทยทางตรงและอ้อม

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ไทยงดออกเสียง ในการลงคะแนนเพื่อรับรองข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ข้อมติดังกล่าวไม่ได้ให้ความสําคัญเพียงพอในการส่งเสริมการหาหนทางให้เกิดการเจรจาหารือโดยทุกฝ่าย ซึ่งน่าจะเป็นวิถีทางที่เหมาะสมที่สุด ในการผ่อนคลายปัญหาความขัดแย้งของเมียนมาซึ่งมีความสลับซับซ้อน และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายประการ ดังนี้

1. ข้อมติดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดเห็นของคนแดนไกล ที่มิได้มีพรมแดนติดกับเมียนมากว่า 2,400 กิโลเมตรเหมือนไทย และมิได้มีประชาชนที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประชาชนเมียนมาในหลายๆ ระดับมาเป็นเวลาช้านาน เช่นเดียวกับไทย ซึ่งหมายถึงว่าเหตุการณ์ความรุนแรง และการสู้รบในเมียนมามีผลด้านความมั่นคงโดยตรง ต่อไทยมากกว่าประเทศอื่นๆที่อยู่ไกลออกไป การกระทําทุกอย่างของประเทศไทยจึงต้องกระทําอย่างรอบคอบอย่างยิ่ง และต้องคํานึงถึงผลที่จะตามมาในทุกๆด้าน

2. ข้อมติดังกล่าวไม่ได้คํานึงถึงความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของเมียนมา และสถานการณ์จริงๆ ในเมียนมาทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์วันที่ 1 ก.พ. แต่อย่างใด ทั้งนี้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกฝ่ายต่างมีความขัดแย้งทางการเมืองและความเจ็บแค้น และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันสูงมาก และต่างฝ่ายต่างก็หันไปใช้อาวุธและความรุนแรงในการแก้ปัญหา

ดังนั้น สิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องทําเพื่อนําไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงนั้น จึงมิใช่เพียงแค่กล่าวโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดว่าเป็นฝ่ายผิด หรือประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกระทําการใดๆ ที่เป็นการสนับสนุนให้ความขัดแย้งบานปลายไปเรื่อยๆ อันจะรังแต่จะเพิ่มความเกลียดชังและความโกรธแค้นของทุกฝ่ายให้มากขึ้นจนทําให้ความขัดแย้งในปัจจุบันไม่สามารถระงับดับลงได้โดยสันติวิธีได้อีกต่อไป

“สิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องทําคือ หาวิธีทางสันติสุขที่จะสยบการสู้รบให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยเร่งเรื่องการหาวิธีการหรือกระบวนการที่จะฟื้นฟูและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของทุกๆ ฝ่ายในเมียนมาให้กลับคืนในระดับหนึ่ง และเร่งสร้างสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับทุกๆ ฝ่ายที่กําลังขัดแย้งกันอยู่ในเมียนมาให้หันหน้ากลับมาเจรจากันได้ เพราะทุกฝ่ายสามารถยอมรับและเห็นพ้องกันได้ว่า การใช้ความรุนแรงไม่ใช่นําไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ และการสู้รบจะไม่นํามาซึ่งชัยชนะของฝ่ายตนหรือฝ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะนํามาก็แต่ความพ่ายแพ้หายนะของประชาชนเมียนมา ซึ่งจะต้องประสบความลําบากยากแค้นแสนสาหัส อันเนื่องมาจากการสู้รบที่ยืดเยื้อ ทั้งที่พวกเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหาเลย ดังนั้นประชาคมโลกไม่ควรกระทําการใดๆ ที่เสมือนโยนเชื้อไฟเพิ่มเข้าไปในกองเพลิง” นายธานีกล่าว

ข้อมติดังกล่าว มิได้สะท้อนถึงเจตนารมณ์และความพยายามของอาเซียน ซึ่งกําลังดําเนินอยู่แล้วในการแก้ปัญหาความไม่สงบในเมียนมาซึ่งเป็นประเทศสมาชิกหนึ่งของอาเซียน โดยที่ในการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ก็ได้มีฉันทาคติเรื่องขั้นตอนและองค์ประกอบ 5 ประการอันจะนําไปสู่สันติสุขในเมียนมาได้และกําลังดําเนินการอยู่แล้ว โดยตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าทุกฝ่ายของความขัดแย้งในเมียนมาเท่านั้นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในเมียนมาเอง

อดีตนั้นไม่มีผู้ใดเปลี่ยนแปลงได้ แต่ประชาคมโลกสามารถมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างบรรยากาศหรือสภาวะใหม่ที่จะเอื้อให้ทุกฝ่ายในเมียนมา หันหน้ามาเจรจากันได้ ไม่กลับไปใช้กำลังต่อสู้ประหัตประหารกันมากขึ้น และพยายามสร้างอนาคตที่เมียนมาจะไม่ต้องกลับไปมีความขัดแย้งอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอีก

อธิบดีกรมสารนิเทศย้ำว่า สิ่งที่ไทยห่วงกังวลและให้ความสําคัญที่สุดคือประชาชนชาวเมียนมา ผู้ซึ่งเป็นผู้รับเคราะห์จากการสู้รบจากความขัดแย้งทางการเมืองของหลายฝ่ายในเมียนมามาเป็นเวลาช้านานแล้วและความลําบากยากเข็ญนั้นกําลังทวีความรุนแรงขึ้นตลอดเวลา พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นปกติสุข สามารถทํามาหาเลี้ยงชีพ มีกินมีใช้เยี่ยงประชาชนในประเทศอื่นๆรอบข้าง ซึ่งไทยไม่เห็นว่าร่างมติดังกล่าวเป็นแนวทางที่แท้จริง ที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนที่ชาวเมียนมา แสวงหาเพื่อการมีชีวิตที่ปกติสุขแต่อย่างใด

นายธานีกล่าวอีกว่า ในส่วนของประเทศไทยเอง เราได้ดําเนินการเพื่อนําไปสู่สันติภาพในเมียนมาอยู่แล้ว ในหลายๆ ทาง ทั้งที่ร่วมกับอาเซียน ทั้งในภาคทวิภาคี และพหุภาคี และไทยได้เริ่มการให้ความช่วยเหลือกับประชาชนเมียนมาไปแล้วโดยผ่านสภากาชาดของเมียนมา ไทยไม่เคยนิ่งนอนใจหรือดูดาย ในเรื่องความไม่สงบในเมียนมา และการดําเนินการเหล่านั้นมิได้มีเจตนาแอบแฝงใดๆ นอกจากจะทําสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ อันจะทําให้ทุกฝ่ายเข้ามาสู่กระบวนการ เจรจาสันติภาพ เพราะนั่นคือวิธีเดียวเท่านั้นที่จะยุติความไม่สงบในเมียนมาได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า