Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ประชาคมโลกจับตาท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการรัฐประหารเมียนมาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าไทยในฐานะที่มีพรมแดนติดกับเมียนมากว่า 2,400 กิโลเมตร และมีความสัมพันธ์กับเมียนมาอย่างใกล้ชิด จะช่วยแก้วิกฤติการเมือง และลดความรุนแรงในเมียนมาได้

อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยแสดงออกไม่ชัดเจนว่าต่อต้านการรัฐประหารเมียนมา วันนี้ workpointTODAY ยกตัวอย่าง 5 กรณี ซึ่งเป็นท่าทีของไทยที่แตกต่างออกไปต่อการรัฐประหารในเมียนมา

⚫️ งดออกเสียงในเวทีสหประชาชาติ ห้ามขายอาวุธให้เมียนมา

วันที่ 18 มิ.ย. 2564 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ลงมติเสียงข้างมาก สนับสนุนการห้ามขายอาวุธให้เมียนมา เพื่อตอบโต้ที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร และใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ออกมาชุมนุมแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ไทยตัดสินใจลงมติงดออกเสียง โดยเป็นหนึ่งใน 36 ประเทศ เช่นเดียวกับรัสเซียและจีน ขณะเดียวกันชาติอาเซียนที่มีท่าทีเดียวกับไทยคือ บรูไน ลาว และกัมพูชา

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงกรณีนี้ว่า ข้อมติดังกล่าวไม่ได้ให้ความสําคัญเพียงพอในการส่งเสริมการหาหนทางให้เกิดการเจรจาหารือโดยทุกฝ่าย ซึ่งน่าจะเป็นวิถีทางที่เหมาะสมที่สุด ในการผ่อนคลายปัญหาความขัดแย้งของเมียนมาซึ่งมีความสลับซับซ้อน และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า สิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องทําเพื่อนําไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงนั้น จึงมิใช่เพียงแค่กล่าวโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดว่าเป็นฝ่ายผิด หรือประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกระทําการใดๆ ที่เป็นการสนับสนุนให้ความขัดแย้งบานปลายไปเรื่อยๆ อันจะรังแต่จะเพิ่มความเกลียดชังและความโกรธแค้นของทุกฝ่ายให้มากขึ้นจนทําให้ความขัดแย้งในปัจจุบันไม่สามารถระงับดับลงได้โดยสันติวิธีได้อีกต่อไป

⚫️ ช่วยประสานงานนานาชาติ คุยรัฐบาลทหารเมียนมา หวังลดความรุนแรง

วันที่ 14 พ.ค. 2564 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังพบกับนางคริสทีเนอ ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ (Mrs. Christine Schraner Burgener) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา ยืนยันว่า ไทยดำเนินการทุกวิถีทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งไทยมีประสบการณ์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เพื่อนบ้านมายาวนาน

การพบกันระหว่างผู้นำไทยกับผู้แทนพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากมีรายงานของสื่อญี่ปุ่น อ้างคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีไทยว่า พล.อ. ประยุทธ์มีช่องทางติดต่อกับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา และทั้งสองเคยพูดคุยกันแล้ว หลังจากพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารในเมียนมา

โดยผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาหวังว่า ไทยจะสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว และแสวงหาความร่วมมือกับกองทัพเมียนมาในการหาทางออกอย่างสันติ

ขณะที่เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งเป็นเวลาไม่ถึง 1 เดือน หลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร นายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร เดินทางเยือนไทย และได้เจรจาร่วม 3 ฝ่าย กับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย และนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย

การพบกันของรัฐมนตรีต่างประเทศ 3 ชาติ ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่รัฐบาลทหารเมียนมา ส่งผู้แทนชี้แจงสถานการณ์ในเมียนมากับต่างประเทศ และนำไปสู่ความพยายามแก้ปัญหาของอาเซียนในปัจจุบัน

โดยในวันที่ 25 ก.พ. หนังสือพิมพ์ The Global New Light of Myanmar สื่อของรัฐบาลเมียนมารายงานว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเมียนมา เยือนประเทศไทยตามคำเชิญของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และได้หารือกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมา

⚫️ จับนักข่าวฝ่ายประชาธิปไตย หนีเข้าไทยผิดกฎหมาย จนต้องลี้ภัยประเทศที่สาม

วันที่ 9 พ.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ จับกุมนักข่าว 3 คนของสำนักข่าว DVB (Democratic Voice of Burma) ในบ้านพักหลังหนึ่ง หลังได้รับแจ้งว่านักข่าวทั้ง 3 คน หนีเข้าไทยผิดกฎหมาย โดยระหว่างการจับกุมพบอุปกรณ์รายงานข่าว ซึ่งคาดว่าน่าจะเตรียมรายงานสถานการณ์เมียนมาจากประเทศไทย

การจับกุมดังกล่าวทำให้สำนักข่าว DVB ต้นสังกัด ออกแถลงการณ์ขอร้องรัฐบาลไทย อย่าส่งนักข่าวทั้ง 3 คนกลับประเทศ เพราะอาจเป็นอันตราย เช่นเดียวกับองค์กรสื่อและหน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่แสดงความกังวลต่อการควบคุมตัวนักข่าวเมียนมา

1 เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. สำนักข่าว DVB เปิดเผยว่า นักข่าวทั้ง 3 คนที่ถูกทางการไทยควบคุมตัว ลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 แล้ว แต่ไม่ได้เปิดเผยว่าปลายทางคือประเทศใด เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

บรรณาธิการ DVB กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนในประเทศไทยและทั่วโลก ที่ช่วยรณรงค์จนสามารถผลักดันให้นักข่าวทั้ง 3 คนเดินทางไปประเทศที่สามได้สำเร็จอย่างปลอดภัย พร้อมย้ำว่า นักข่าวทั้งสามคนจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่อีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจัดการกับความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญได้แล้ว

⚫️ นายกฯ ไม่เข้าร่วมประชุมอาเซียน แก้วิกฤติเมียนมา

วันที่ 24 เม.ย. 2564 ชาติสมาชิกอาเซียน จัดการประชุมสุดยอดวาระพิเศษ เพื่อหารือสถานการณ์ในเมียนมาโดยเฉพาะ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เข้าร่วมการประชุมด้วยตัวเอง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหา รวมทั้งยังเป็นการเผชิญหน้ากับพล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการรัฐประหารเมียนมา ที่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ไทยตัดสินใจส่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมแทนนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับลาวและฟิลิปปินส์ โดยให้เหตุผลถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

การประชุมครั้งนี้ลงเอยด้วยฉันทามติ 5 ข้อ เรียกร้องยุติความรุนแรง รวมไปถึงการเปิดทางให้ทูตพิเศษของอาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์สถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งมีการส่งผู้แทนอาเซียนเดินทางไปเมียนมาในเวลาต่อมา แต่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าได้พบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมาที่ถูกจับกุมตัวอยู่หรือไม่

นายโม ซอ อู รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลคู่ขนานต่อต้านกองทัพเมียนมา ให้ความเห็นต่อการเดินทางเยือนเมียนมาของผู้แทนอาเซียนว่า รู้สึกสิ้นศรัทธาต่ออาเซียน เนื่องจากคิดว่าอาเซียนไม่มีแผนใดๆ ที่น่าเชื่อถือ เพื่อช่วยยุติความรุนแรงในเมียนมา

⚫️ อำนวยความสะดวก ส่งข้าวให้ทหารเมียนมา

วันที่ 20 มี.ค. 2564 บริเวณท่าเรือแม่สามแลบ ริมแม่น้ำสาละวิน ชายแดนไทย-เมียนมา จ.แม่ฮ่องสอน พบกองข้าว 700 กระสอบถูกวางกองไว้อย่างปริศนา ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าหน้าที่เข้มงวดการสัญจร ขนส่งสินค้าข้ามชายแดน ผลจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า หน่วยงานความมั่นคงของไทยพยายามจัดส่งกองข้าวเหล่านี้ เป็นเสบียงให้ทหารเมียนมา หลังจากที่กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงทหารเมียนมา เพื่อตอบโต้ต่อการทำรัฐประหาร

สำนักข่าวชายขอบรายงานอ้างแหล่งข่าวที่ระบุว่า การขนเสบียงครั้งนี้ทราบว่าได้รับคำสั่งมาจากส่วนกลางของรัฐบาลไทย และรถบรรทุกขนข้าวเหล่านี้มาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก การที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของไทยยอมส่งเสบียงให้ทหารเมียนมาครั้งนี้ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการไม่สมควร เพราะเป็นปัญหาภายในเมียนมา ที่สำคัญคือ สังคมโลกกำลังจับตาดูการกระทำอันรุนแรงที่กองทัพเมียนมากำลังทำกับประชาชน ดังนั้นการส่งเสบียงให้ เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ทหารเมียนมาทำร้ายประชาชน

วันที่ 23 มี.ค. ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า มีเสียงปืนดังขึ้นจากอีกฟากฝั่งของแม่น้ำสาละวิน บริเวณฐานของทหารเมียนมา ขณะที่ชาวบ้านและสื่อมวลชนเดินไปสำรวจข้าว 700 กระสอบ โดยเป็นลักษณะคล้ายยิงปืนขึ้นฟ้ารวม 5 นัด เหมือนกับเป็นการขู่

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้นายธนดล สถาวรเวทย์ ปลัดอำเภอสบเมย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่บ้านแม่สามแลบ สอบถามความเดือดร้อนของชาวบ้าน โดยชาวบ้านต่างต้องการให้มีการขนกระสอบข้าวและเสบียงออกไปโดยเร็ว

ขณะที่ พันโท เอ เม็น สั่น ผบ.พัน 341 จ.ผาปูน ของเมียนมา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า เสียงปืนที่ดังขึ้น ไม่ใช่การยิงข่มขู่ แต่เป็นเสียงปืนปกติตามแนวชายแดน ขอให้ชาวบ้านสบายใจ และใช้ชีวิตตามปกติ อย่ากังวล

ในเวลาต่อมา พลโทอภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาค 3 เปิดเผยว่า การส่งข้าวให้ทหารเมียนมาไม่ใช่การส่งเสบียงสนับสนุน แต่เป็นการประสานฝากซื้อข้าวสาร ของใช้ต่างๆ จากฝั่งไทย โดยประสานผ่านคณะกรรมการชายแดนระดับท้องถิ่น (TBC :Township Border Committee) ทำมายาวนานนับเป็นสิบๆ ปี

ขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบัน แหล่งข่าวคนหนึ่งเปิดเผยกับ workpointTODAY ว่า ยังมีความพยายามส่งเสบียงจากไทยให้ทหารเมียนมาอยู่

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า