หมอนิธิพัฒน์ เปิดสมการเตียงผู้ป่วยไอซียูโควิด-19 ใน กทม. คาดอีก 10 วันข้างหน้า ส่อวิกฤตไม่พอรองรับผู้ป่วยหนัก
วันที่ 25 มิ.ย. 2564 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว วิเคราะห์คาดการณ์ไว้อีก 10 วันข้างหน้าสถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.ไม่เพียงพอแน่นอน โดยอ้างอิงจากอาการของผู้ป่วยโควิดที่อยู่ในแต่ละประเภทที่ต้องการใช้เตียงไอซียูและอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ผ่านมา โดยได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
การระบาดระลอกแรก กรุงเทพมหานคร มีเตียงผู้ป่วยหนักโควิด-19 จำนวน 200 เตียง
ระลอกที่ 2 มีเตียงผู้ป่วยหนักโควิด-19 เพิ่มมาเป็น 300 เตียง และในระลอกที่ 3 มีเตียงผู้ป่วยหนักโควิด-19 จำนวน 500 เตียง ซึ่งปัจจุบันถูกใช้ไปแล้ว 475 เตียง เหลืออยู่ 25 เตียง
จะเห็นว่า แม้จะเพิ่มจำนวนเตียงให้มากขึ้นแต่ก็ยังถูกแซงด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มากกว่าอย่างรวดเร็ว
โดยในจำนวนเตียงที่ถูกใช้ไปแล้ว 475 เตียงนี้ ถูกแยกประเภทเป็น
– ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องหายใจ 300 เตียง
– ผู้ป่วยที่ใช้ไฮโฟลว์หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่น 175 เตียง
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ วิเคราะห์ในอีก 10 วันข้างหน้า จะเป็นอย่างไรบ้าง โดยคำนวณไว้ว่า
“อัตราเสียชีวิตผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ คือ 50% จะมีผู้เสียชีวิต 150 คน
ส่วนอีก 150 คนที่เหลือจะย้ายออกจากไอซียูได้หนึ่งในสาม คือ 50 คน
จะมีผู้ป่วยใช้ไฮโฟลว์หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่นอาการทุเลาออกจากไอซียูโควิดได้ร้อยละ 80 คือ 140 คน จึงเหลือเตียงว่างเป็น 25+150+50+140 = 365 เตียง หากมีผู้ป่วยใหม่วันละ 1,000 คน รวม 10 วัน คิดเป็น 10,000 คน ผู้ป่วยโควิดใหม่ทุกๆ 100 คนโรคจะลุกลามจนต้องใช้ไอซียูโควิด 5 คน ดังนั้นจะต้องเตรียม 500 เตียง ดังนั้นเตียงที่ยังขาดอยู่คือ 500-365 = 135 เตียงคำถามคือว่าจะหาเตียงเพิ่มได้จากที่ไหน แม้จะต้องไปดึงเตียงมาจากผู้ป่วยโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด-19มา 100 เตียง แต่ก็ยังขาดอีก 35 เตียงอยู่ดี”