SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเทศไทยมีจำนวนคนพิการที่ได้รับบัตรประจำตัวอยู่กว่า 2 ล้านคน ในจำนวนนั้นกว่า 3 แสนคน คือ บุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (Persons with special needs) คนกลุ่มนี้ได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวคนพิการน้อยกว่าความเป็นจริง ด้วยภาวะอาการที่ไม่แสดงให้เห็นทางกายภาพ เช่น กลุ่มออทิสติก กลุ่มที่บกพร่องทางพฤติกรรม อารมณ์ สติปัญญา หรือกลุ่มภาวะสมาธิสั้น ซึ่งต้องได้รับการตรวจประเมินโดยแพทย์เพื่อรับรองความพิการ แต่หากประเมินแล้วไม่ผ่านตามเกณฑ์ก็จะไม่ได้รับบัตรประจำตัวคนพิการ และไม่สามารถใช้สิทธิ์รักษาพยาบาล หรือ สิทธิประกันสังคม อย่างที่คนพิการประเภทอื่นพึงมีได้

ในปัจจุบันมีกลุ่มคนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษนับแสนที่ยังไม่สามารถจัดทำบัตรประจำตัวคนพิการได้ ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสังคมและความไม่เท่าเทียมที่ซ้ำร้ายนอกจากจะเกิดกับวัยผู้ใหญ่ก็ยังเกิดขึ้นกับ เด็กกลุ่มที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ด้วย เพราะถึงจะสามารถอาศัยร่วมชุมชนและเรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนได้ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังไม่ได้รับการส่งเสริมด้านพัฒนาการและสุขภาวะอย่างเท่าเทียม เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างครอบคลุมให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนหรือทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ

ความไม่เท่าเทียมนี้เองที่อาจนำมาซึ่งผลกระทบขนาดใหญ่ เพราะเด็กพิการไทยยังต้องเติบโตไปเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของประเทศ ดังนั้น แม้พวกเขาจะยังเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากทั้งครูผู้สอนและผู้ปกครอง แต่หากได้รับการส่งเสริมด้านพัฒนาการและสุขภาวะทางร่างกาย เด็กกลุ่มนี้ย่อมสามารถดูแลตนเองได้ เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาเติบโตขึ้น

เพราะคำนึงถึงผลลัพธ์เหล่านี้ ความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาจึงบังเกิด โดยกรมพลศึกษา กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคมได้จับมือกันผลักดัน หลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) เพื่อพัฒนาทักษะทางร่างกาย และเพิ่มโอกาสการเรียนรู้วิชาพลศึกษาแก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา ในฐานะที่ปรึกษาโครงการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือดังกล่าวว่า “ที่ผ่านมาเราพบโรงเรียนระดับประถมศึกษาหลายแห่งไม่มีครูที่จบสาขาวิชาพลศึกษาโดยตรง ทำให้ทักษะการทำกิจกรรมทางกายขั้นพื้นฐานถูกสอนแบบไม่ถูกต้อง เด็กบางคนจึงมีพฤติกรรมต่อต้าน ไม่รักการออกกำลังกาย ไม่ชอบเล่นกีฬา เป็นเหตุให้กรมพลศึกษาตัดสินใจร่วมมือกับสสส. และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม ผลักดันหลักสูตรอบรมสำหรับครูพละเพื่อให้ครูรู้จักการออกแบบกิจกรรมทางกายให้เหมาะกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งการสอนกิจกรรมทางกายที่ถูกต้องจะช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง และช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างตรงจุด”

หลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) จะเข้ามาช่วยเติมเต็มศักยภาพให้แก่ครูพละในโรงเรียน ทำให้พวกเขาเปลี่ยนแนวคิดและจุดมุ่งเน้นในการเรียนการสอนใหม่ โดยเน้นการสร้างพัฒนาการและการเคลื่อนไหวของเด็กเป็นหลัก ด้านเนื้อหาจะแนะนำวิธีการสอนที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กไม่ต่อต้านการทำกิจกรรมทางกาย ทั้งยังช่วยให้ครูผู้สอนรู้จักวิเคราะห์สภาพแวดล้อม เพื่อคิดค้นวิธีส่งเสริมกิจกรรมทางกายรูปแบบใหม่ๆ เป้าหมายเพื่อให้เด็กสามารถปฏิบัติกิจกรรมได้ รับฟังคำสั่งได้ ครูเองก็สามารถเข้าใจความต้องการของเด็กที่บางครั้งไม่ได้สื่อสารผ่านคำพูดแต่เป็นท่าทาง และเกิดความเข้าใจในธรรมชาติของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

“ปกติเราจะใช้ค่าเฉลี่ยของ IQ เป็นตัววัด เพื่อประเมินหาเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมี IQ ต่ำกว่า 70 ซึ่งส่งผลให้มีพัฒนาการช้า และใช้เวลานานกว่าในการเข้าใจบทเรียนเมื่อเทียบเด็กปกติ ทีนี้เมื่อพูดถึง วิชาพลศึกษา จะเกี่ยวข้องกับทั้งทักษะทางสติปัญญาและทักษะทางร่างกาย ถ้าหากเด็กกลุ่มนี้เขาเรียนรู้บทเรียนได้ช้ากว่าคนทั่วไป ครูพลศึกษาจะรับมืออย่างไร โครงการนี้เราอยากจะนำร่องให้ครูพลศึกษาได้รู้จักแนวทางการสอน การให้รางวัล การลงโทษ และเข้าใจพัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ” ผศ.ดร.มยุรี ศุภวิบูลย์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพลศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ กล่าว

แม้คำว่า ‘กิจกรรมทางกาย’ จะดูเหมือนเป็นคำใหม่ แต่ที่จริงองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสำคัญกับคำนี้มานานแล้ว เพราะข้อมูลจากงานวิจัยเผยว่า การขาดกิจกรรมทางกายมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่าง โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ผศ.ดร.เกษม นครเขตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกาย อธิบายว่า กิจกรรมทางกาย คือ การเคลื่อนไหวร่างกายแบบใดก็ได้ที่เป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ซึ่งการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดใหญ่จะก่อให้เกิดการเผาผลาญพลังงาน ถ้าเราทำบ่อยๆ ก็จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และป้องกันการเจ็บป่วยได้มากขึ้น

เมื่อพูดถึงกิจกรรมทางกายสำหรับเด็ก ผศ.ดร.เกษม ให้คำตอบง่ายๆ ว่ามันคือ การวิ่งเล่น เด็กวัย 6-10 ปีควรมีโอกาสได้วิ่งเล่นอย่างน้อยวันละ 60 นาทีจึงจะเหมาะสม แต่ในความเป็นจริงพบว่า เด็กไทยเพียง 1 ใน 4 หรือ 25% เท่านั้นที่ได้ทำกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ ข้อมูลนี้เป็นความน่ากังวลอย่างหนึ่ง เพราะมันหมายถึงเด็กอีก 75% มีสิทธิ์ที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่กล่าวมาเมื่อโตขึ้น

ด้วยเหตุนี้ วิชาพลศึกษา จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กได้ทำกิจกรรมทางกาย ดังนั้น หากในชั้นเรียนมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษร่วมเรียนอยู่ สิ่งที่ครูผู้สอนควรทำจึงเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนและการออกแบบกิจกรรมให้เข้ากับเด็กทุกกลุ่ม ปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเด็กกลุ่มนี้เสียใหม่ ไม่ควรตัดโอกาสให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษต้องนั่งรอเฉยๆ เวลามีการเรียนการสอน เพราะจะส่งผลระยะยาวต่อสุขภาวะ และยังควรต้องเข้าใจเสียก่อนว่า “การวิ่งเล่นของเด็กคือสิทธิ ไม่ใช่หน้าที่ตามหลักสูตรเพื่อตอบสนองให้มีพัฒนาการที่ดี”

ความคิดเห็นจาก ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ อธิบายกระบวนการเรียนรู้ของเด็กว่า จุดเริ่มต้นของการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เริ่มได้จากสถาบันครอบครัว เพราะตัวสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งแรกที่เด็กจะสัมผัส ถ้าหากพ่อแม่สนใจการออกกำลังกาย เด็กก็จะมีพฤติกรรมเลียนแบบและสนใจตามไปด้วย กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นกับทั้งเด็กทั่วไปและเด็กที่มีความผิดปกติ พวกเขาเรียนรู้ได้จากการทดลองและเผชิญกับปัญหา อย่างเช่น เวลาหกล้ม สมองของเด็กจะจดจำว่ามันเจ็บ ต่อไปพวกเขาจะระวังมากขึ้น สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำจึงเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ผ่านการกระทำไม่ใช่คำสั่ง

บทบาทของโรงเรียนเองก็เช่นกัน หากครูสอนเด็กผ่านการทำกิจกรรม สอนให้ทำ สมองของเด็กก็จะเรียนรู้และจดจำผ่านกระบวนการเหล่านี้ ยิ่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษอาจควบคุมตัวเองไม่ได้เหมือนเด็กปกติ กิจกรรมทางกายจึงจะช่วยกระตุ้นให้พวกเขาได้มีโอกาสปฏิบัติตามเงื่อนไข เช่น ต้องทำอะไร ทำอย่างไร ให้บรรลุเป้าหมาย ให้ผ่านการทดสอบ กิจกรรมเหล่านี้จะยิ่งทำให้ผู้สอนรับรู้ว่าเด็กต้องได้รับการพัฒนาทักษะด้านใด ก่อนจะนำไปพัฒนาทักษะของเด็กให้ตรงจุด

โครงการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ ยังคำนึงถึงปัจจัยทางครอบครัวที่มีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) จึงถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวช่วยผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้สามารถจัดกิจกรรมทางกายร่วมกับบุตรหลาน เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขภาวะที่ดีและมีความสุขนอกรั้วโรงเรียน

เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจถึงกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก นอกจากจะอธิบายโดยใช้ภาษาเข้าใจง่าย ทีละขั้นตอน ภาพประกอบ 4 สีจะยิ่งช่วยให้ผู้ปกครองสามารถทำความเข้าใจและนำคู่มือไปใช้สอนบุตรหลานได้เอง

ข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2564 ระบุว่า ประเทศไทยมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กลุ่มพิการด้านสติปัญญามากถึง 142,667 คน ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะพบเด็กกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ความเห็นจาก ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสสเผยว่า เหตุผลที่สสส. ร่วมพัฒนาหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายฯ และคู่มือกิจกรรมทางกายฯ (ฉบับผู้ปกครอง) ขึ้นมา ก็เพื่อทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษทั่วประเทศได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพ ไม่ถูกละเลยหรือถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะในรั้วโรงเรียนหรือในสังคม ทั้งยังตั้งเป้าว่าภายในปี 2565  จะผลักดันให้เกิดการขยายการจัดอบรมให้ครูในโรงเรียน เพิ่มเติมศักยภาพการสอนกิจกรรมทางกายอย่างถูกต้องตามหลักการ เพื่อสุขภาวะที่ดีของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

“สสส.ให้ความสำคัญกับสุขภาวะถึง 4 มิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคม ในด้านร่างกาย เราพยายามสนับสนุนให้เด็กพิการมีสุขภาวะที่ดี ร่างกายแข็งแร็ง อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐาน แต่สำหรับด้านอื่นๆ สสส.เองก็อยากจะสนับสนุนให้เด็กกลุ่มนี้มีความหวัง ความมั่นใจ สามารถพึ่งพาตนเอง และตระหนักรู้เองได้ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี เราจึงช่วยเตรียมความพร้อมให้กับเด็กกลุ่มนี้ ทั้งในด้านการใช้ชีวิตและการทำงาน ที่ผ่านมา สสส.จัดทำโครงการที่เอื้อให้ผู้ปกครองและเด็กสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ทั้งจัดกิจกรรมช่วยบำบัดและกิจกรรมที่ช่วยให้คนพิการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนทั่วไป รวมถึงสนับสนุนด้านการทำงาน โดยจัดทำคู่มือสำหรับเด็กพิการ ที่จะช่วยประเมินทักษะอาชีพที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการ เพื่อเตรียมให้พวกเขาพร้อมที่จะออกไปสู่โลกแห่งความจริง ”

ทั้งหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) และ คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) นอกจากจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีผ่านบทเรียนการเคลื่อนไหวที่เน้นการใช้งานกล้ามเนื้อทุกส่วนซึ่งทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงาน นำไปสู่พัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ทั้งหมดนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ อย่างเท่าเทียม

ผู้ที่สนใจดาวน์โหลดคู่มือสอนกิจกรรมทางกายทั้ง 2 หลักสูตร สามารถดาวน์โหลดได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ : พลศึกษาเพื่อสุขภาวะเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า