1 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา เป็นวันที่ประเทศไทยเริ่มต้นโครงการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ (Phuket Sandbox) อย่างเป็นทางการ หรือโครงการที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว และเที่ยวใน จ.ภูเก็ต ได้ 14 วันโดยไม่ต้องกักตัวในห้องพัก และถ้าหากมีผลตรวจว่าไม่เป็นโควิด-19 ก็สามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นของไทยได้
บนความหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการต้นแบบในการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก่อนขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
แต่สิ่งที่หลายคนยังสงสัยอยู่ก็คือ คำว่า ‘แซนด์บ็อกซ์’ คืออะไร ทำไมภาครัฐถึงใช้คำนี้มาเป็นชื่อโครงการ แล้วมีความหมายว่า ‘ปราสาททราย’ อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อธิบายระหว่างการเดินทางเปิดโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาหรือไม่
[Sandbox = กระบะทราย]
หากแปลกันอย่างตรงตัวแล้ว Sandbox ก็คือกระบะทราย ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งในสนามเด็กเล่นที่ช่วยให้เด็กๆ โดยเฉพาะวัยกำลังหัดเดินได้เล่นอยู่ในนี้แบบที่มีขอบเขตกำหนด
แต่ในระยะถัดมา คำว่า Sandbox ไม่ได้ใช้หมายถึงสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังนิยมนำมาใช้ในการพูดถึงขั้นตอนการทดสอบเว็บไซต์, แอปพลิเคชั่น, ซอฟต์แวร์ต่างๆ รวมไปถึงการทำธุรกิจด้วย
หากย้อนไปในยุคทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเริ่มมีการนำคำว่า Sandbox มาใช้ในวงการไอที ในยุคนั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของการพัฒนาคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่โปรแกรมเมอร์จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ตัดขาดจากระบบกลางเพื่อทดสอบโปรแกรมที่กำลังพัฒนา เพื่อไม่ให้ข้อมูลไปปะปนหรือสร้างความเสียหายให้กับส่วนอื่นๆ
ส่วนปัจจุบันที่ระบบฐานข้อมูลส่วนใหญ่มักอยู่บนเทคโนโลยีคลาวด์ ทำให้การทำ Sandbox ในวงการเทคโนโลยีเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม เช่น การสร้างเว็บไซต์ใหม่บนอินเตอร์เน็ต ก็จะถูกนำไปรวมไว้ในกูเกิลแซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดสอบและคัดกรอง ก่อนให้ผู้พัฒนาปรับปรุงแก้ไข จนสามารถเปิดใช้งานในระยะถัดไปได้
จากนั้น คำนี้ก็เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และมีการนำมาใช้กับโครงการทดสอบนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นธุรกิจ โดยการทดสอบจะอยู่ภายใต้ระบบนิเวศที่กฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่ก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลในระดับที่จะไม่ไปสร้างความเสียหายให้ผู้บริโภคในวงกว้าง
เปรียบการสร้างระบบนิเวศนั้นเป็นเหมือน Sandbox หรือกระบะทรายที่ให้เด็กๆ ได้ลองผิดลองถูก เพื่อทำตามจินตนาการ โดยที่ไม่หลุดออกจากขอบเขตของกระบะทราย ซึ่งก็จะไม่กระทบต่อพื้นที่อื่นในสนามเด็กเล่นนั่นเอง
[Sandbox ลดอุปสรรคที่ขัดธุรกิจแห่งอนาคต]
หลังจากนั้นคำว่า Sandbox ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแวดวงคอมพิวเตอร์ แต่ยังถูกนำมาใช้ในโลกธุรกิจมากขึ้นในรูปแบบของกลไกที่เรียกว่า Regulatory Sandbox หรือการสร้างพื้นที่ที่ผ่อนปรนกฎระเบียบหรือข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยังล้าหลังกว่ารูปแบบธุรกิจหรือการพัฒนานวัตกรรม โดยยังมีหน่วยงานรัฐกำกับดูแล
ซึ่งประเทศแรกที่นำมาโมเดลนี้มาใช้ก็คือประเทศอังกฤษ ที่ในปี 2016 หน่วยงานควบคุมดูแลด้านการเงินของประเทศได้ประกาศนโยบายการเป็นศูนย์กลางของ FinTech โดยส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจการให้บริการทางการเงิน ที่รัฐยังกำกับดูแลในการสร้างกลไกทางกฎหมายแบบใหม่ๆ ให้มีความยืดหยุ่น และทันต่อความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
เรียกได้ว่า Regulatory Sandbox ก็คือสนามทดสอบแนวคิดทางธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่นักพัฒนาหรือผู้ประกอบการจะได้ทดสอบไอเดียของตัวเองในตลาดจริงแบบมีภาครัฐกำกับ ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะทำอะไรผิดจนถูกดำเนินการตามกฎหมาย
และในระยะถัดมา ประเทศอื่นๆ จะนำกลไกนี้มาใช้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย, แคนาดา, เดนมาร์ก, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฮ่องกง, สวิตเซอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทยด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น แต่ในภาคเอกชนเองก็มีการนำโมเดลนี้ไปใช้ในการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ โดยอาจสนับสนุนพื้นที่ทำงาน, แหล่งความรู้, ทรัพยากร, สภาพแวดล้อม, โอกาสพบปะนักลงทุน รวมถึงความช่วยเหลืออื่นๆ ที่จำเป็นต่อสตาร์ทอัพ หรือเป็นรูปแบบที่หลายคนคุ้นเคยจากซีรีส์เกาหลีเรื่อง StartUp นั่นเอง
ท้ายที่สุด โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่รัฐบาลประมาณการว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 100,000 คน ในไตรมาส 3 (เดือน ก.ค.-ก.ย. 64) คาดว่าจะสร้างรายได้อยู่ที่ 8,900 ล้านบาท และจะเป็นโครงการนำร่องก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่น จะประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งเป้าหรือไม่ ก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
ที่มา: