SHARE

คัดลอกแล้ว

นักกฎหมาย กางข้อกฎหมายประชาชนสามารถรวมกลุ่มสมาชิกผู้ได้รับผลกระทบยื่นฟ้องร้อง บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ต่อศาล ส่วนภาครัฐสามารถเรียกค่าเสียหายได้ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตาย และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ

วันที่ 6 ก.ค. 2564 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผอ.สำนักงานประสานงาน กระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊ก ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายว่าด้วยหน้าที่ของภาครัฐในการบรรเทาสาธารณภัยและการเรียกร้องค่าเสียหาย เหตุระเบิด โรงงานหมิงตี้ เคมิคอล จำกัด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

  1. หน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550

รัฐต้องมีการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการมีอำนาจควบคุมและกำกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามแผนป้องกันรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย

กรณีเหตุระเบิดและไฟไหม้ดังกล่าวถือเป็นสาธารณภัยร้ายแรงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการมีหน้าที่ต้องควบคุมและบัญชาการให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

– การให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าและระยะยาวเมื่อเกิดสาธารณภัย รวมถึงการอพยพประชาชน
– มาตรการที่จำเป็นต้องใช้ในการบรรเทาสาธารณภัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
– การจัดเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้และจัดระบบการปฏิบัติการในการบรรเทาสาธารณภัย
– การจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น
– การจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และยานพาหนะ เพื่อใช้ในการบรรเทาสาธารณภัย
– การสงเคราะห์ผู้ประสบภัย การดูแลเกี่ยวกับการสาธารณสุข และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารและการสาธารณูปโภค
– การซ่อมแซม บูรณะ ฟื้นฟู และให้ความช่วยเหลือประชาชนภายหลังที่สาธารณภัยสิ้นสุด

นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีมอบอำนาจสั่งการหน่วยงานต่างๆ ให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อบรรเทาสาธารณภัย รวมตลอดทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ที่กำหนด

  1. การเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทหมิงตี้ เคมิคอล จำกัด โดยประชาชนผู้ได้รับความเสียหายและการเรียกร้องค่าเสียหายโดยรัฐ

2.1 การเรียกร้องค่าเสียหายโดยประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย

– การดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง กลุ่มประชาชนผู้เสียหายสามารถแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มให้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอดำเนินคดีแบบกลุ่มพร้อมกับการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ โดยประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหายจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี

ซึ่งการจะฟ้องคดีโดยผู้เสียหายทุกคนเป็นโจทก์ร่วมกันย่อมทำให้ไม่ได้รับความสะดวกเนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก หรือถ้าผู้เสียหายทุกคนต่างคนต่างฟ้องคดีก็ย่อมก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทุกคน การดำเนินคดีแบบกลุ่มจึงเป็นการหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีและเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลด้วย

– การเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตรายฯ มาตรา 63 กำหนดให้ผู้มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดจากวัตถุอันตรายที่อยู่ในความครอบครองของตน และตามมาตรา 67 กำหนดอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากวัตถุอันตรายไว้ 3 ปี และถ้ามีการเจรจาตกลงในเรื่องค่าสินไหมทดแทน ให้อายุความสะดุดหยุดลงจนกว่าการเจรจาไม่อาจจะตกลงกันได้ และตามมาตรา 69/1 กำหนดว่า หากได้มีการทำประกันความเสียหายไว้ ให้ผู้รับประกันภัยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายจากวัตถุอันตราย และให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐในการเข้าช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย บำบัด บรรเทา หรือขจัดความเสียหายที่เกิดขึ้น

– การเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 กำหนดว่า ในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหาย เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม

2.2 การเรียกร้องค่าเสียหายโดยภาครัฐ

– การเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตรายฯ

พ.ร.บ. วัตถุอันตรายฯ มาตรา 69 กำหนดว่า ในกรณีที่วัตถุอันตรายก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล สัตว์ พืช สิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ ถ้ารัฐได้รับความเสียหายเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย บำบัด บรรเทา หรือขจัดความเสียหายให้คืนสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงกับสภาพเดิม ให้อัยการมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของรัฐได้ เมื่อได้รับคำร้องขอจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบวัตถุอันตราย

– การเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ

พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 กำหนดว่า ในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษทำให้ทรัพย์สินของรัฐเสียหาย รวมทั้งในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษและราชการต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่รัฐด้วย

นอกจากนี้ มาตรา 97 กำหนดว่า บุคคลใดกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน บุคคลนั้นต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไป

ที่มา : https://www.facebook.com/100002577657225/posts/4236480706447809/?d=n

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า