SHARE

คัดลอกแล้ว

ในเดือนหนึ่ง คุณเสียเงินกับผ้าอนามัยไปเท่าไหร่ ? และรู้สึกไหมว่าเราจ่ายแพงเกินไป?

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Period Poverty หรือ ปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัย ในไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่จริงๆ แล้วประเด็นนี้เป็นปัญหาที่มีมานาน และเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก ซึ่ง Period Poverty ไม่ได้หมายถึงแค่ ‘การขาดแคลนผ้าอนามัย’ แต่ยังหมายรวมถึงการขาดแคลนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือสวัสดิการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการมีประจำเดือนอีกด้วย

Period Poverty ไม่ได้หยุดอยู่ที่เรื่องผ้าอนามัย

แน่นอนว่าผลกระทบของ Period Poverty นอกจากจะเป็นการที่ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้แล้ว ยังส่งผลในชีวิตประจำวันของผู้มีประจำเดือนในด้านต่างๆ เช่น ด้านสุขอนามัย ผู้ประสบปัญหา Period Poverty หลายคนเลือกที่จะใช้ผ้าอนามัยซ้ำ ๆ หรือใช้วัสดุอื่นแทน ซึ่งการใช้ผ้าอนามัยโดยที่ไม่เปลี่ยนเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงติดเชื้อราช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือร้ายแรงที่สุดคือภาวะพิษในกระแสเลือด (Toxic Shock Syndrome) จากการที่เชื้อโรคที่สะสมอยู่ในผ้าอนามัยไหลกลับเข้าสู่แผลภายในช่องคลอดเข้าไปรวมกับกระแสเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เป็นกรณีที่พบได้ค่อนข้างน้อย

ในด้านการศึกษาหรือการทำงาน มักเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามหรือถูกมองว่าการมีประจำเดือนเป็น ‘ข้ออ้าง’ในการเรียนหรือการทำงาน แต่ในความเป็นจริงมีคนจำนวนมากที่ต้องขาดเรียนและลางานเนื่องจากปัญหา Period Poverty รวมถึงอาการอื่นจากการมีประจำเดือนด้วย

โดยในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย มีกฎหมายอนุญาตให้พนักงานสามารถลาหยุดได้ในช่วงมีประจำเดือนโดยที่ยังได้รับค่าแรง อย่างไรก็ตามยังมีหลายประเทศที่ไม่ได้มีนโยบายดังกล่าวรองรับ ทำให้ผู้ที่ประสบปัญหา Period Poverty จำเป็นต้องเสียโอกาสในการเรียนหรือถูกหักค่าแรงจากการลางาน

นอกจากนี้  Period Poverty ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตด้วย ผลการสำรวจของ BMC Women’s Health ในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา พบว่า นักศึกษาที่ประสบปัญหา Period Poverty มีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลางจนถึงรุนแรงมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยประสบปัญหาเลย

จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีประจำเดือนไม่เพียงแต่ต้องแบกรับภาระในเรื่องของค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยและผลิตภัณฑ์อื่นๆ แต่ภาระนั้นยังครอบคลุมไปถึงปัญหาระดับสุขภาพและสังคมของตัวผู้มีประจำเดือนเอง

ภาษีผ้าอนามัยในไทยและทั่วโลก

ไม่นานมานี้เกิดประเด็นเกี่ยวกับผ้าอนามัยแบบสอดซึ่งถูกจัดให้อยู่ในสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ทำให้เกิดการพูดถึงอย่างเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ รวมถึงเกิดความกังวลว่าจะมีการเก็บภาษีผ้าอนามัยแบบสอดในอัตรา 30% ตาม พ.ร.บ.สรรพสามิตหรือไม่ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าไม่มีการเพิ่มภาษีดังกล่าวแต่อย่างใด แต่เป็นการทำให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอางตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ปี 2558 ซึ่ง พ.ร.บ.เครื่องสำอางนั้นมีไว้เพื่อควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยและราคาของสินค้า และยังคงมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เช่นเดียวกับผ้าอนามัยแบบแผ่น

หลายประเทศทั่วโลกก็มีการเก็บภาษีผ้าอนามัยในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งเมื่อเทียบในส่วนของอัตราภาษีแล้วก็ดูจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่ถ้าลองเอามาเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำรายวัน พบว่าอัตราภาษีต่อค่าแรงขั้นต่ำรายวันของไทยค่อนข้างแตกต่างจากประเทศอื่นเลยทีเดียว

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงต้องเทียบอัตราภาษีกับค่าแรงขั้นต่ำ จะเห็นได้ว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ที่ประมาณ 313 – 336 บาทโดยประมาณ (10.77 ดอลลาร์สหรัฐ) นั่นหมายความว่า สำหรับผู้มีประจำเดือนที่ได้รับรายได้รายวันเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ หากต้องใช้ผ้าอนามัยตามปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน ประมาณ 4 – 5 แผ่น จะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยมากกว่า 12% ของรายได้ต่อวันทั้งหมด

ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในผ้าอนามัย อาจไม่มากเกินไปสำหรับใครหลายคน ในขณะเดียวกันก็เป็นค่าใช้จ่ายราคาแพงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนอีกมาก กลายเป็นว่าราคาผ้าอนามัยถูกผลักให้เป็นภาระของผู้มีประจำเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า จนกลายเป็นปัญหา Period Poverty ในที่สุด ด้วยเหตุนี้ในบางประเทศจึงมีการผลักดันให้ผ้าอนามัยเป็นรัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐานและลดหรือยกเลิกภาษีมูลค่าสำหรับผ้าอนามัย

การมีประจำเดือนคือเรื่องปกติ และผ้าอนามัยควรเป็นรัฐสวัสดิการ

สกอตแลนด์ เป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายแจกผ้าอนามัยและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนให้กับผู้มีประจำเดือน โดย โมนิกา เลนนอน (Monica Lennon) สมาชิกผู้แทนราษฎรหญิง ได้พยายามผลักดันและต่อสู้เพื่อแก้ปัญหา Period Poverty มาตั้งแต่รับตำแหน่ง จนกระทั่งกฎหมาย Period Products (Free Provision) (Scotland) Act ฉบับแรกของของสกอตแลนด์และของโลกผ่านมติในที่สุดเมื่อ 25 พ.ย. 2563

นอกจากสกอตแลนด์แล้ว ประเทศอื่นๆ ก็เริ่มมีการผลักดันเรื่องของสวัสดิการผ้าอนามัย และมีการออกกฎหมายเพื่อรองรับภาวะขาดแคลนผ้าอนามัยเช่นกัน อย่างในสหรัฐอเมริกามีการออกกฎหมายให้มีการจัดสรรผลิตภัณฑ์สำหรับผู้มีประจำเดือนในสถานศึกษาในบางรัฐ และในสหราชอาณาจักรทุกโรงเรียนสามารถขอเบิกงบประมาณในการจัดซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับการมีประจำเดือนให้กับนักเรียนในโรงเรียนจากรัฐได้

“ที่ผ่านมา เรื่องนี้มักถูกพูดถึงในเชิงของปัญหาความยากจนและความลำบากในการใช้จ่ายมาเสมอ แต่ หากมองในมุมกว้างกว่านั้น มันเป็นเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการ มันเป็นเรื่องของการสร้างความตระหนักว่า การมีประจำเดือนคือเรื่องปกติ” โมนิกา เลนนอน กล่าวในการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายสวัสดิการผ้าอนามัย กับสำนักข่าว Holyrood ของสกอตแลนด์

การเคลื่อนไหวเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยของไทยอยู่ในจุดไหน?

ขบวนการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ Period Poverty เพื่อเรียกร้องสวัสดิการผ้าอนามัยได้เกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก และที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดน่าจะเป็น #FreePeriods แคมเปญที่เริ่มก่อตั้งขึ้นในสหราชอาณาจักร ปี 2559 โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักเรียน โดยได้เริ่มจากการเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องสวัสดิการผ้าอนามัยและเพื่อหยุดการตีตราผู้มีประจำเดือน พร้อมทั้งเกิดเป็นแฮชแท็กในโซเชียลมีเดียซึ่งนโยบายงบประมาณสำหรับผ้าอนามัยในโรงเรียนของสหราชอาณาจักร ก็เป็นผลงานของกลุ่ม #FreePeriods เช่นกัน

สำหรับในประเทศไทย ปีที่ผ่านมาเราอาจจะได้เห็นแฮชแท็ก #Saveผ้าอนามัย กันมาบ้าง ซึ่งจุดประสงค์ของ #Saveผ้าอนามัย เกิดจากแคมเปญของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัย และแจกผ้าอนามัยในสถานศึกษา พร้อมทั้งยื่นรายชื่อสนับสนุนจำนวน 30,000 รายชื่อไปยัง ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งเมื่อเกิดประเด็นของผ้าอนามัยแบบสอดขึ้นในเวลาต่อมา ธัญวัจน์ ก็ได้ออกมาย้ำเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยอีกครั้งว่า “ถึงแม้จะไม่มีการขึ้นภาษี แต่ผู้มีประจำเดือนยังมีต้นทุนที่เกี่ยวกับเพศที่ต้องจ่ายอีกมากมาย และล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

นอกจาก #Saveผ้าอนามัย ก็ยังมีแฮชแท็กอื่นๆ เช่น #แจกฟรีไม่ได้รึไง หรือ #ภาษีผ้าอนามัย ที่น่าสนใจก็คือมีแฮชแท็กเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ด้วยไม่ว่าจะเป็น #ถ้าการเมืองดี #ม็อบ3พฤศจิกา และ #ม็อบ14พฤศจิกา เนื่องจากในช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการตั้งม็อบเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองเกือบจะทุกวัน ซึ่งนอกจากจะมีประเด็นเรื่องการทํางานของรัฐบาลเป็นหลัก ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ยังมีการกล่าวถึงประเด็นอื่นด้วย เช่น ความหลากหลายทางเพศ ปัญหาเกษตรกรรายย่อย รวมถึงสวัสดิการผ้าอนามัย

สุขภาวะทางเพศกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ผู้มีประจำเดือนหลายคนต้องเคยกระซิบขอยืมผ้าอนามัยจากเพื่อนไม่ให้คนอื่นได้ยิน แอบหยิบผ้าอนามัยใส่กระเป๋า หรือใช้อย่างอื่นปกปิดเพื่อเอาไปเปลี่ยนในห้องน้ำ

ทั้งๆ ที่การมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ แต่ทำไมหลายคนยังต้องรู้สึกอับอายเวลาที่มีประจำเดือน?

อีกปัจจัยสําคัญที่ทําให้ปัญหาอันเกิดจากการมีประจําเดือนไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง หรือถูกแก้ไขอย่างตรงจุดตลอดเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากสังคมทั้งในไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ มีค่านิยมที่ทำให้การมีประจําเดือน เป็นเรื่องที่สกปรกหรือน่าอับอาย แม้กระทั่งในปัจจุบัน การเรียกร้องเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยในการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ยังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องและอยู่นอกเหนือประเด็นการเคลื่อนไหว นอกจากนี้การมองข้ามหรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการมีประจำเดือน ยังส่งผลให้เยาวชนหรือกลุ่มที่ไม่ได้เข้าถึงการศึกษาไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัยในช่วงที่เป็นประจำเดือน และไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิที่จะมีสุขภาวะทางเพศที่ดีที่ตนเองควรจะได้รับ

นั่นหมายความว่า ถ้าการเมืองดีผ้าอนามัยจะเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน สุขภาวะทางเพศที่ดีของประชาชนย่อมเกี่ยวข้องกับการเมืองและสวัสดิการจากรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การขาดแคลนผ้าอนามัยไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล แต่เป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในประเทศได้อีกด้วย เวลานี้ประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงสวัสดิการผ้าอนามัยมากขึ้น ซึ่งการที่ผ้าอนามัยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดและถกเถียงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนับเป็นก้าวที่สำคัญในการผลักดันให้เรื่องของผ้าอนามัยและสุขภาวะทางเพศเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ โดยที่ไม่ถูกมองว่าเป็นประเด็นปัญหาเฉพาะเพศหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป

อ้างอิง
  • https://www.forbes.com/sites/alicebroster/2020/04/22/what-actually- happens-if-you-leave-a-tampon-in-for-too-long/?sh=15b5ad481336
  • https://so05.tci- thaijo.org/index.php/journal_law/article/view/240754/164767
  • https://bmcwomenshealth.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12905-020-01149-5
  • https://www.huffpost.com/entry/period-poverty-tampons-study_n_5c379cbee4b045f6768a2ce4.
  • https://www.citronhygiene.com/blog/what-period-poverty-looks-like-around-the- world-2/
  • https://theaseanpost.com/article/lets-talk-about-period-poverty
  • https://www.holyrood.com/inside-politics/view,a-period-of-power-interview-with- monica-lennon_15212.html
  • https://www.worldbank.org/en/news/feature/2018/05/25/menstrual-hygiene-management.
  • https://borgenproject.org/tag/period-poverty/
  • https://www.statista.com/chart/18194/sales-tax-rate-on-feminine-hygiene-products-in-selected-countries/

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า