อธิบดีกรมแพทย์ แจงเตรียมทยอยปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใน กทม. ทั้ง นิมิบุตร บุษราคัม และฮอสพิเทล ในสังกัดกรมการแพทย์ หลังแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 กทม.
วันที่ 6 ก.ย. 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ผู้ป่วยลดลง ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ทำให้เตรียมปิดการให้บริการในศูนย์แรกรับนิมิบุตร ในวันที่ 30 ก.ย. 2564
จากนั้น จะไปเปิดศูนย์แรกรับที่ รพ.เลิดสิน เพื่อเป็นศูนย์แรกรับและส่งต่อ พร้อมรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง โดยที่ศูนย์แรกรับนิมิบุตร เคยรับผู้ป่วยมากสุดถึง 350 เตียง
เช่นเดียวกับ รพ.บุษราคัม ก็เตรียมพิจารณาประเมินผลการให้บริการรับผู้ป่วยในเดือน ต.ค. เนื่องจากขณะนี้จำนวนการครองเตียงเหลือเพียง 824 เตียง มีเตียงว่าง 1,376 เตียง จากจำนวนเตียงทั้งหมด 2,200 เตียง
ส่วนที่ฮอสพิเทลในสังกัด รพ.กรมการแพทย์ ก็เตรียมปิดให้บริการ 4 แห่ง เหลือคงไว้ 2 แห่ง เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย สำหรับสถานที่ดูแลผู้ป่วยในจุดอื่นๆ คาดว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบอื่น เช่น สังกัด กทม. ก็อาจมีการพิจารณาเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องดูยอดจำนวนผู้ป่วยเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยยังคงเหลือระบบการรักษาแบบ HI และ CI เพื่อดูแลผู้ป่วยสีเขียว ส่วนสีเหลืองและสีแดง ก็มีสถานพยาบาลดูแล
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าในการจัดหายารักษาโควิด-19 นั้น จากการศึกษาวิจัยการใช้ ไอเวอร์เมกติน (ยาถ่ายพยาธิในสัตว์) ในต่างประเทศ พบว่า ไม่ได้ผล และไม่ได้มีคำแนะนำให้ใช้ ส่วนการศึกษาใน รพ.ศิริราช ก็ยังไม่สิ้นสุด แต่ในส่วนยา Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองระยะ 3 และขึ้นของ FDA USA หากสำเร็จ คาดว่า จะมีการขึ้นทะเบียนในเดือน ต.ค. และจะมีการขึ้นไทยได้ในราวเดือน พ.ย.
โดย ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาตระกูลเดียวกับ ฟาวิพิราเวียร์ ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสในชั้นเซลล์ เหมาะกับการใช้รักษาในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง หากการทดลองยานี้สำเร็จก็จะนำมาทดแทนยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับขนาดการใช้อยู่ที่ 40 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน จากเดิมยาฟาวิพิราเวียร์ ใช้ 50 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน ส่วน ยาโปรตีเอส ซึ่งเป็นยาของบริษัท ไฟเซอร์ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย