บช.น. ดำเนินคดี ‘ผู้สื่อข่าวอิสระ’ ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว เผย 6 องค์กรสื่อไม่ยืนยัน ด้าน DemAll-รังสิมันต์ โรม ค้าน ย้ำไลฟ์-ถ่ายรูปเจ้าหน้าที่เป็นสิทธิที่ประชาชนทำได้
วันที่ 14 ก.ย. 2564 พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในฐานะโฆษกบช.น. เปิดเผยถึงการจับกุมแอดมินเพจสำนักข่าวราษฎรและเพจปล่อยเพื่อนเรา จำนวน 2 คน เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. ของวันที่ 13 ก.ย. 2564 ว่า เป็นบุคคลที่ออกมานอกเคหสถานในช่วงเวลาที่มีการห้าม โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร
ซึ่งจากการตรวจสอบกับ 6 สมาพันธ์องค์กรสื่อ ที่ทำข้อตกลงกันไว้ ก็ไม่ยืนยันว่าเป็นนักข่าวที่ได้รับอนุญาต ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีแอดมินเพจสำนักข่าวราษฎร มีการห้อยบัตรนักข่าววอยซ์อยู่ด้วยได้มีการตรวจสอบตรงนี้หรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ถ้า 6 สมาพันธ์ฯ รับรอง อนุโลม ถือว่าเป็นนักข่าว ถูกต้องตามระเบียบตามข้อตกลงของบช.น.แต่ว่า เมื่อ 6 สมาพันธ์ไม่รับรอง ทางเจ้าหน้าที่ คงต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ 6 องค์กรสื่อ ประกอบด้วย สภาการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
ขณะที่ DemAll สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์มีใจความโดยสรุป อ้างอิงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เคยวินิจฉัยว่า ประชาชนสามารถถ่ายภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหว ขณะเจ้าหน้าที่รัฐกำลังปฏิบัติหน้าที่โดยที่การทำงานไม่ได้ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ เป็นสิทธิที่กระทำได้
“ขอเรียกร้องให้ทางตำรวจหยุดคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน คำว่าสังกัด ไม่ควรจำเพาะเจาะจงองค์กรสื่อขนาดใหญ่ แต่ประชาชนทุกกลุ่มล้วนเป็นสังกัดของตนเอง หยุดเข้าไปใช้อำนาจข่มขู่ หยุดปิดกั้นการทำงาน และหยุดใช้อำนาจกฎหมายควบคุมตัวสื่อมวลชน เพราะความเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิส่วนบุคคล สื่อเลือกข้างเป็นเรื่องปกติของโลกยุคปัจจุบัน บัตรผู้สื่อข่าวไม่ใช่สารัตถะสำคัญ แม้แต่สื่อภาคประชาชนก็ถือว่าเป็นสื่อมวลชน ทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลเหตุการณ์ไปสู่ประชาชนได้”
ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สิ่งที่นักข่าวพลเมืองถ่ายทอดออกมาให้สังคมได้รับรู้ ช่วยให้เราได้เห็นว่า ประเทศนี้ รัฐบาลนี้ ล้มเหลวในการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไร ความกล้าหาญของพวกเขาช่วยเป็นหูเป็นตาให้ประชาชนภายนอกที่ชุมนุมได้เห็นสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องเห็น และว่า การหาเรื่องจับนักข่าวเหล่านี้ จึงไม่อาจหาเหตุผลอื่นใดได้เลย นอกจากเพราะฝ่ายรัฐต้องการปิดหูปิดตาประชาชน