SHARE

คัดลอกแล้ว

ในโลกยุคปัจจุบันที่มนุษย์เข้าสู่การเชื่อมต่อไร้สายผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ จนเรียกได้ว่า ‘ทุกสิ่งเนรมิตได้ดั่งใจเพียงใช้แค่ปลายนิ้ว’ จนเกิดธุรกิจใหม่และโอกาสมากมายภายใต้โลกยุคดิจิทัล

เราสามารถซื้อและส่งบิตคอยน์ข้ามโลกในระยะเวลาไม่ถึง 1 นาที ฉีกทุกกฎเกณฑ์การโอนเงินผ่านธนาคารข้ามประเทศที่ต้องใช้เวลารอหลายวัน อีกทั้งค่าธรรมเนียมยังถูกกว่ามาก

เรามี Influencer Streamer หรือ Youtuber หน้าใหม่มากมาย ที่มีผู้ติดตามหลักแสนหรือหลายล้านคน และสามารถทำเงินจากอาชีพนี้มากกว่างานประจำทั่วไปหลายเท่า พร้อมด้วยอิสระทางด้านเวลาที่เลือกเองได้

เราสามารถปรับตัวทำงานและประชุมผ่านโปรแกรมออนไลน์อย่าง Zoom พร้อมทั้งส่งต่องานภายใต้ยุคโควิดโดยไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากัน

หรือหากเรามีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่คิดว่าดีหรือเจ๋งพอ จะสร้างธุรกิจใหม่ๆ ก็สามารถเปิดระดมทุนจากทั่วทุกมุมโลกผ่าน Kickstarter หรือ Crowdfunding โดยที่ไม่จำเป็นต้องถือเอกสารมากมายเพื่อขอทุนจากสถาบันการเงินอีกต่อไป

แต่ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งของความเร็วของโลกเทคโนโลยีและดิจิทัล เรากลับพบว่ามีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ต้องมารอต่อแถวที่ธนาคารจำนวนมากเพื่อเปิดบัญชีรับสิทธิจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ

หรือภาพติดตาจากการที่ประชาชนต้องแย่งกันต่อคิวเพื่อตรวจโควิด รวมไปถึงการแย่งกันฉีดวัคซีนที่มีจำกัดอย่างน่าใจหาย

มีคนจำนวนมากหลักหมื่นหรือเหยียบแสน ที่ต้องแย่งกันสอบแข่งขันเพียงเพื่อตำแหน่งงานในภาครัฐที่มีที่นั่งจำกัดเพียงแค่หลักพัน

มีคนจำนวนมากต้องตกงาน สูญเสียรายได้และทรัพย์สินที่เคยมี เพราะกิจการถูกปิดตัวไปด้วยพิษโควิด

หรือปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อต่างๆ ที่มีข้อกำหนดมากมาย นำมาสู่การพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ จนนำมาสู่วังวนหนี้ที่ไร้จุดสิ้นสุด

ตัวอย่างปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นระยะห่างและการเข้าถึงโอกาสที่ไม่เท่ากันเพียง ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิทธิที่ควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม จนดูเหมือนว่า ‘การถูกด้อยค่า’ ได้กลายเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนเหล่านี้ไปโดยปริยาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรากฐานสำคัญต่างๆ ของความเหลื่อมล้ำนั้น ตั้งต้นมาจากการศึกษาและการเข้าถึงดาต้าต่างๆ ที่ดูเหมือนว่านับวันช่องว่างของคนทั้งสองกลุ่มจะห่างไกลมากขึ้นและเร็วขึ้นไม่ต่างจากสัญญาณ 5G

และทั้งๆ ที่งบประมาณของกระทรวงศึกษาฯ ของไทยที่ครองแชมป์อันดับ 1 มายาวนานนับ 10 ปี

แล้วทำไม? ภาพรวมเด็กไทยจึงยังไม่เก่งขึ้น จนเด็กจบใหม่หางานไม่ได้ เพราะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดงานและโลกที่กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วอีกต่อไป

ปัญหาทั้งหมดของเรื่องราวเหล่านี้มีต้นตอที่มาจากอะไร? ยังมีแสงสว่างแห่งความหวังที่จะพลิกกระดานปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่? และเราจะมีส่วนร่วมหรือช่วยเหลือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?

workpointTODAY จะพาคุณไปสำรวจและวิเคราะห์ในทุกๆ แง่มุมปัญหาและร่วมกันหาทางเชื่อมต่อสิทธิทางการศึกษาและโลกแห่งดาต้าให้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมไปพร้อมๆ กัน

[เด็กไทยตกรถดาต้า เพราะค่านิยมและระบบการศึกษาช้ากว่า 5G]

ก่อนที่เราจะกล่าวถึงเรื่องพื้นฐานปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทั้งด้านการศึกษาและการเข้าถึงข้อมูลหรือดาต้าต่างๆ คุณเคยได้ยินคำกล่าวดังต่อไปนี้หรือไม่?

“ตั้งใจเรียนนะลูก โตไปจะได้เป็นหมอ ทหาร ตำรวจ มีอาชีพการงานมั่นคง”

“เรียนให้เก่ง สอบเป็นข้าราชการ โตไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน”

สิ่งเหล่านี้คือค่านิยมที่เกิดจากคนรุ่น Baby boomer หรือ Gen X ส่วนใหญ่ที่มีค่านิยมในเรื่องการงานมั่นคง

ซึ่งแนวคิดนี้ได้ถูกส่งจากรุ่นสู่รุ่นจนนำมาซึ่งค่านิยมของสังคมยุคเก่า ทำให้แนวทางหลักในการวัดความสำเร็จจึงตกไปอยู่ที่ตัวเลขเกรดหรือการสอบเข้าคณะยอดนิยมตามความคิดของผู้ปกครอง

แน่นอนว่าไม่ใช่ความผิดของคนกลุ่มดังกล่าวทั้งหมด เพราะเด็กหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ส่วนมากเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้เร็วขึ้น และเริ่มเข้าใจว่าตัวเองถนัดหรือชอบอะไร

แต่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือผลักดันให้ไปในทิศทางที่ต้องการ ก็มาจากปัญหาสุดคลาสสิกแห่งทศวรรษอย่าง ‘ปัญหาระบบการศึกษาไทย’

จากระบบการสอบคัดเลือกเอ็นทรานซ์ สู่ยุคของแอดมิสชั่น O-net , A-net และ GAT-PAT หรือกระทั่งโควต้าความสามารถสอบตรงต่างๆ

เรียกได้ว่าประเทศไทยผ่านการลองผิดลองถูกสำหรับการคัดเลือกเพื่อรับนักเรียนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษามากมาย เพื่อกระจายโอกาสการเข้าเรียนให้นักเรียนจากทั่วประเทศได้เข้าเรียนในคณะที่ต้องการ

ซึ่งดูเหมือนว่าการวัดผลดังกล่าวก็ยังยึดโยงกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ตัวเลข คะแนนสอบ และเกรดเฉลี่ย’ เป็นหลัก

กลายเป็นตะแกรงกรองที่ทำให้เด็กถูกตัดสินจากสิ่งที่ไม่ถนัด และถูกด้อยค่าจากค่านิยมสังคม เป็นปัญหาหลักของระบบการศึกษาที่มีมายาวนาน

เมื่อรวมกับปัญหาที่เกิดกับคุณครูเองแล้ว จะเห็นว่าปัญหาที่มีในช่วง 10-20 ปีที่แล้ว กับยุคปัจจุบันนั้น สิ่งที่เคยเกิดขึ้นแทบจะไม่ต่างไปจากเดิม โดยจากบทสัมภาษณ์และการสำรวจข้อมูลจากอดีตคุณครูประจำโรงเรียนรัฐท่านหนึ่งได้กล่าวสรุปปัญหาดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า

“ปัญหาของครูไทยที่หมดไฟมาจากส่วนหลักๆ คือ การที่ครูต้องทำงานในด้านอื่นๆ ควบคู่ไปกับการสอน ทั้งๆ ที่ควรจ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำหน้าที่แทน เช่น งานด้านการเงิน ธุรการ รวมไปถึงงานประเมินหลักสูตรการศึกษาที่มีผลต่อการเลื่อนขั้นตำแหน่ง ทำให้เวลาที่จะเตรียมการสอนเด็กก็น้อยลงไปด้วย”

โดยข้อมูลวิจัยชี้ว่า ครูต้องเสียเวลาถึง 65 วันต่อปีการศึกษาไปกับการทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอน

หรือตัวอย่างง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการยึดติดกรอบของหลักสูตร เช่น การที่ครูต้องใช้ระบบ E-learning เพื่อเป็นสื่อการสอนหรือส่งข้อมูลให้นักเรียน ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันเรามี Facebook group หรือระบบ Google document ที่ใช้งานได้ง่ายกว่า รวดเร็วและเด็กๆ เข้าใจง่ายกว่า

ยิ่งในยุคโควิดที่เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้และถูกบังคับให้เรียนผ่านหน้าจอ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมของระบบการศึกษาและผู้ปกครองที่ยังมีภาระต้องออกไปทำงานนอกบ้าน

ปัญหาจึงเกิดกับเด็กๆ ที่ถูกทิ้งไว้ที่หน้าจอลำพังหรือกับอยู่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถควบคุมหรือแนะนำอะไรได้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็กที่ตามช่วงวัยควรจะได้ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม

นำไปสู่แนวคิดเรียกร้องให้มีการหยุดเรียนออนไลน์  1 ปีเพราะพบข้อมูลสำรวจที่ว่ามีเด็กโดดเรียนออนไลน์ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

และยังสะท้อนต่อปัญหาด้านการจัดการของกระทรวงศึกษาการที่มีข่าวว่าคุณครูต้องควักเงินส่วนตัวเพื่อซื้อไอแพดให้เด็กนักเรียนใช้

รวมถึงเด็กหลายพื้นที่ยังมีปัญหาในการขาดแคลนอุปกรณ์ไอทีและการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ต้องใช้ในการเรียนออนไลน์

ซึ่งเมื่อมองไปที่ประเทศต่างๆ อย่างเช่น นิวซีแลนด์ ที่แจกคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 17,000 เครื่องแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย พร้อมขยายสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบถึงความไม่พร้อมของระบบการศึกษาไทยอย่างช่วยไม่ได้

จากความล่าช้าในการจัดการปัญหาการเรียนการสอนออนไลน์ที่ตะกุกตะกัก และเด็กหลายคนต้องตกหล่นจากระบบการศึกษา ทำให้มีการเพ่งเล็งไปที่การจัดการหลักสูตรการศึกษาที่ขาดความยืดหยุ่น

รวมไปถึงการที่หลักสูตรยังมีการออกแบบระบบที่อ้างอิงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกรอบสำคัญที่ทำให้การปรับเปลี่ยนหลักสูตรทำได้ยากมากขึ้น

แน่นอนว่าการออกแบบระบบการศึกษาโดยการยึดโยงกับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ อาจมีข้อดีในเรื่องความแน่นอนสำหรับการวางแผนระยะยาวที่ชัดเจน

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจจะไม่เหมาะกับโลกการศึกษาที่มีความเร็วในการเปลี่ยนแปลงทั้งเทรนด์ใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่จะกระทบต่ออาชีพและการทำงานในโลกอนาคตซึ่งไม่อาจคาดเดาได้ในระยะยาว

แล้วตอนนี้การศึกษาไทยอยู่จุดไหน?

จากการวัดผลจากโดย PISA ที่วัดผลทักษะด้านการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่เป็นทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยี พบว่าในปี 2019 ไทยอยู่ที่อันดับ 66 จาก 79 ประเทศทั่วโลก

เทียบกับประเทศที่มีคะแนนลำดับต้นๆ ที่ให้ความสำคัญในด้านการศึกษาอย่างสิงคโปร์ ที่มีแผนพัฒนาประชากรที่ชัดชัดเจนโดยมุ่งเน้นไปทางด้านวิทยาศาตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เพื่อให้ได้ประชากรที่มีทักษะพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงในยุคแห่งดิจิทัล

นี่จึงเป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่า ตอนนี้เด็กไทยกำลังจะตกขบวนรถไฟแห่งเทคโนโลยี ถ้าหากยังไม่มีการเร่งปรับปรุงการศึกษาทั้งระบบ รวมถึงการเสริมทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมิติอื่นๆ ตามมาทั้งระดับรายได้ คุณภาพชีวิต รวมไปถึงการแข่งขันด้านการค้าโลกในอนาคต

[ภาษาอังกฤษไม่ฟิต ปิดโอกาสเข้าถึงข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี]

ปัญหาสำคัญต่อมาที่ต้องกล่าวถึงคือ ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กไทย

โดยแม้ว่าเราจะเรียนภาษาอังกฤษหรือหัดท่อง ABC กันตั้งแต่อายุ 5 ขวบ แต่ดูเหมือนว่าภาพรวมความสามารถด้านภาษาอังกฤษจะยังล้าหลังอยู่มาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านต่างๆ ในเอเชีย

โดยไทยถูกจัดอยู่ให้อยู่ในระดับ ‘ต่ำมาก’ (อันดับที่ 20 ของเอเชีย / 89 ของโลก) ตามหลังเวียดนาม ศรีลังกา หรือแม้กระทั่งกัมพูชาเองก็ตาม

ซึ่งเด็กๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีส่วนมากก็คือเด็กที่อยู่ในเมืองที่เข้าถึงสื่อการเรียนได้มากกว่า นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเด็กที่พ่อแม่มีกำลังจะส่งลูกเข้าสู่หลักสูตร English Program (EP) หรือหากมีกำลังทรัพย์ที่มากกว่าก็สามารถส่งเด็กๆ เข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติหรือต่างประเทศ

เปรียบเทียบกับเด็กทั่วไปที่โดยพื้นฐานมักจะขาดความกล้าแสดงออก กลัวพูดผิดหรือกลัวผิดหลักแกรมม่า ทำให้การเรียนรู้ภาษาในห้องเรียนได้ผลน้อยกว่า การเป็นการสื่อสารทางเดียวจากครูผู้สอน

ซึ่งเมื่อพื้นฐานภาษาไม่ดี การศึกษาความรู้ผ่านหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะข้อมูลวิทยาศาสตร์หรือวิทยาการใหม่ๆ ก็ทำได้ยาก การพัฒนาทักษะอนาคตที่สำคัญจึงถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มและขาดความสมดุลเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาที่มีความต้องการในตลาด เช่น IoT (Internet of Things), Big data หรือการจัดการปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ซึ่งข้อมูลสำรวจจากทีดีอาร์ไอในปี 2018 พบว่า ไทยยังขาดบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ และการเรียนการสอนที่มีก็ยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ที่มีความต้องการบุคลากรในด้านนี้มากขึ้น

จากการคาดการณ์ว่าตลาดไอทีจะมีการขยายตัวอย่างน้อย 25.8 เปอร์เซ็นต์ ในอนาคต ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์ที่ตลาด IoT ในประเทศไทยที่จะมีมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านบาท และ 1.2 แสนล้านบาท สำหรับตลาดโลกแล้ว

นี่จึงอาจเป็นจุดหักเหสำคัญที่จะชี้วัดว่า แรงงานในประเทศไหนที่จะอยู่รอดและยังสามารถรักษางานเอาไว้ได้ ในยุคที่โควิด-19 กลายเป็นชนวนเร่งความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้นเร็วกว่าเดิมจนตั้งตัวไม่ทัน

[สัญญาณ (เน็ต) ครอบคลุมทั่วฟ้า ที่ (หลายๆ คน) เอื้อมคว้าไม่ถึง]

จากโลกอินเทอร์เน็ตยุค 2000 ที่ความเร็วเพียง 56 kbps และใช้งานได้ครั้งละ 2 ชั่วโมง แถมยังต้องมาลุ้นไม่ให้ใครโทรเข้าบ้านระหว่างใช้งาน จะโหลดเอกสารไม่ถึงเมกะไบต์ก็ใช้เวลาหลายนาที

สู่ยุคไฟเบอร์ออปติกความเร็วระดับ 1 Gbps ในยุค 2021 ที่โหลดอะไรก็ใช้เวลาแค่พริบตาเดียว ไม่ต้องคอยนาน ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราวัดแค่ความเร็ว อินเทอร์เน็ตในไทยถือว่าใช้งานได้ดี ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร

แต่ปัญหาหลักสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความเร็วหรือจำนวนคู่สัญญาณ แต่อยู่ที่อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรในประเทศไทยมากกว่า

จากข้อมูลสำรวจโดย Datareportal และรายงานจากสื่อ The Momentum พบว่าคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ราว 69.5 เปอร์เซ็นต์ (48.5 ล้านคนจากประชากรรวม 70 ล้านคน) รวมไปถึงการที่คนไทยมีสมาร์ทโฟนใช้ไม่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร

ปัญหาดังถูกขยายให้เห็นชัดเจนขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด เมื่อรัฐเลือกใช้นโยบายการช่วยเหลือและให้เงินอุดหนุนประชาชนโดยเลือกใช้ผ่านระบบแอป ‘เป๋าตัง’ ทั้งคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ

ทำให้ประชาชนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือเข้าไม่ถึงสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยต้องมาต่อแถวเพื่อลงทะเบียนรับสิทธิผ่านธนาคาร ซึ่งเสียทั้งเวลาและเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการแพร่กระจายของโควิดมากขึ้นด้วยซ้ำ

และแม้จะมีแผนงานยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลระยะยาว หรือโครงการอย่าง ‘อินเทอร์เน็ตประชารัฐ’ แล้วในกว่า 8,000 พื้นที่ทั่วประเทศ ประชาชนหลายกลุ่มก็ยังประสบปัญหาพื้นฐานอื่นๆ เช่น หากอยู่ไกลจากจุดส่งสัญญาณ router มากเกินไป สัญญาณก็จะอ่อนลงจนใช้งานไม่ได้เลย

ซึ่งวิธีแก้ปัญหาคือต้องซื้ออุปกรณ์เสริมพร้อมทั้งจ่ายเงินเพิ่มรายเดือนราวๆ 384 บาท กลายเป็นความลำบากและสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

เงินจำนวนเกือบ 400 บาทต่อเดือน สำหรับคนในเมืองอาจจะดูเล็กน้อย แต่หากเทียบกับสวัสดิการรัฐต่างๆ  เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จ่าย 600-1,000 บาทต่อเดือน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จ่ายเงินอุดหนุนเพียงหลักพัน ก็นับว่ามากแล้วสำหรับคนกลุ่มนี้

ทั้งหมดจึงนำมาสู่คำถามที่ว่า ทำไม? ประชาชนยังต้องจ่ายเงินเพื่อให้เข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ต และที่สำคัญถ้าหากท้องยังไม่อิ่ม ก็ยากที่จะคิดถึงเรื่องการพัฒนาความรู้ความสามารถอื่นๆ เพิ่มเติมได้

อีกทั้งคนเหล่านี้ยังมีโอกาสที่จะรับข่าวสาร รู้เท่าทันกลโกงที่มักจะฉวยโอกาสจากผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

กระทั่งเราอาจได้เห็นชุมชนที่ใช้เทคนิคการปลูกพืชที่ให้ผลผลิตได้มากในพื้นที่จำกัดอย่าง ‘Intensive Gardening’

หรือการประยุกต์ใช้การจัดการข้อมูลเพื่อบันทึกผลผลิตทางการเกษตรจากการปลูกพืชแต่ละชนิดในรูปสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างไป ถ้าประชากรเหล่านี้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สะดวกและง่ายกว่าที่เป็นอยู่

[เข้าถึงข้อมูลเดียวกัน แต่รู้ไม่เท่าทัน เพราะขาด ‘Digital literacy’]

ขั้นถัดมาของปัญหาหลังจากที่สามารถเข้าถึงดิจิทัลดาต้าหรืออินเทอร์เน็ต ก็คือการที่คนไทยไม่เข้าใจเรื่อง Data Literacy หรือการรู้เท่าทันข้อมูลดิจิทัล

ที่ไม่ใช่เพียงแค่การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เป็นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความสามารถในการใช้ทักษะแยกแยะข้อมูลในโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ซึ่งปัญหาการรู้ไม่เท่าทันในโลกดิจิทัล มักจะเกิดกับกลุ่มเด็กอายุน้อยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ที่เพิ่งเริ่มใช้งานสมาร์ทโฟนใหม่ๆ ทำให้เราได้เห็นข่าวสำคัญต่างๆ เช่น การที่เด็กถูกล่อลวงให้ถ่ายภาพหรือถ่ายคลิปต่างๆ หรือการ Cyberbully ที่เกิดในโรงเรียนจนมีการทำร้ายร่างกายกันก็มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเด็กจะสามารถเป็นเหยื่อได้เพียงกลุ่มเดียว เพราะผู้ใหญ่หลายช่วงวัยโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความรู้วิชาการมากมายก็ยังตกเป็นเหยื่อในโลกออนไลน์

โดยเฉพาะในยุคที่มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย หรือกระทั่งการหลอกลวงในรูปแบบการชักชวนการลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่ผ่านคริปโทฯ ตลาดอนุพันธ์หรือฟอเร็กซ์ ที่มีเหยื่อหลักพันและสร้างความเสียหายรวมระดับพันล้าน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น

เช่นเดียวกับการเข้าถึงอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรืออิเล็กทรอนิกส์ที่มากขึ้นก็ทำให้เกิดเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่างๆ เช่น การที่มีผู้ถูกปลอมแปลงโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กหรือไลน์ แล้วนำไปหลอกลวงเพื่อขอยืมเงินจากเพื่อนๆ คนใกล้ตัวก็เกิดขึ้นเป็นคดีนับครั้งไม่ถ้วน

แม้กระทั่งการถูกหลอกลวงให้เข้าสู่เว็บไซต์แปลกๆ ที่ปลอมแปลงอย่างแนบเนียน ที่ฉกฉวยเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตซึ่งหากไม่ทันสังเกตความผิดปกติ ข้อมูลก็จะตกไปปอยู่ในมือมิจฉาชีพที่พร้อมจะนำไปแสวงหาผลประโยชน์ และอาจสร้างความเสียหายที่มากเกินกว่าจะคาดเดา

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะโทษแค่อินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลดาต้าก็ไม่ต่างอะไรกับไฟ ที่หากใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะมีคุณค่ามหาศาล

แต่ในอีกด้านหากใช้ในทางที่ผิดทาง ผลลัพธ์ความเสียหายก็ร้ายแรงไม่ต่างกัน

จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนซึ่งเป็นผู้ใช้งานข้อมูลที่ต้องคัดกรองและพัฒนาทักษะให้เหนือกว่าการเป็นเพียงผู้ใช้ ให้กลายมาเป็นผู้เข้าใจและรู้เท่าทันดิจิทัล พร้อมส่งต่อความเท่าทันให้เท่าเทียม

[เชื่อมต่อช่องว่าง สู่แสงสว่างของโลกดาต้าและอนาคต]

หากอ่านเรื่องราวทั้งหมดมาถึงตรงนี้แล้ว อาจเกิดความเชื่อว่า ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องการศึกษาและดาต้านั้น ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่และยากเกินกว่าที่จะแก้ไขได้

กลายเป็นว่าใครรู้ทันเข้าถึงข้อมูลก็รอดไป แต่ถ้ารู้ไม่ทันก็ไม่ต่างอะไรจากการเป็นเหยื่อแทน

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาหรือปลายอุโมงค์ที่มืดมิด ยังมีความพยายามขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่พยายามจะช่วยกันลดช่องว่าง รวมไปถึงการกระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษา

ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการอย่าง กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2018

โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ลดการขาดแคลนทางทุนทรัพย์ รวมไปถึงพัฒนาความสามารถของครูโดยการบริหารงานที่เป็นอิสระภายใต้การจัดสรรเงินทุนของรัฐ

เพราะจากข้อมูลของ กสศ. ที่ระบุว่า ด้วยความยากจนทำให้เด็กไทยกว่า 5 แสนคนต้องออกจากระบบการศึกษา

รวมไปถึงอีก 2 ล้านคนที่มีแนวโน้มจะไม่ได้เรียนต่อ สร้างความเสียหายเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจในระดับ 2 แสนล้านบาทต่อปี

โดยการช่วยเหลือถูกจัดในรูปแบบทุนต่างๆ เช่น ทุนเสมอภาค ทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง หรือผ่านการพัฒนาครูและสถานศึกษา

โดยจากปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา กสศ. สามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้ทั้งสิ้น 1.07 ล้านคน จากทั้งหมด 4 ล้านคน รวมไปถึงการช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเพิ่มเติมอีกราว 7.5 แสนคน

หรือจะเป็นความพยายามที่จะร่วมมือกับสื่อที่มีความทันสมัย ในการกระจายข้อมูลข่าวสารและส่งเสียงให้เห็นถึงการทำงานผ่านการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ เช่น การตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาครูที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว

เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของสถาบันโปรแกรมเมอร์แห่งแรกในประเทศไทยอย่าง 42 Bangkok โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่เป็นหลักสูตรสร้างโปรแกรมเมอร์โคดดิ้งรุ่นใหม่ที่มีมาตรฐานในระดับโลก ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ไม่มีอาจารย์ ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม”

โดยเพียงแค่ผ่านการทดสอบที่กำหนดการสามารถเข้าเรียนได้แม้ไม่มีพื้นฐานด้านการเขียนโปรแกรมมาก่อน พร้อมกับการวัดระดับโดยการใช้เลเวลเป็นตัวกำหนด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนให้ครบปีก็สามารถเลื่อนระดับได้ทันทีหากมีทักษะเพียงพอที่จะผ่านเลเวลเดิมที่อยู่ไปได้

นี่จึงเป็นอีกรูปแบบการสร้างโปรแกรมเมอร์ที่น่าสนใจและให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยไม่จำกัดเพศ ภาษา หรือแม้กระทั่งอายุ เพราะจากโครงการแรกที่รับสมัครก็มีผู้เรียนตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี ไปจนถึงอายุ 50 กว่าปีเลยทีเดียว

ในอีกฟากหนึ่ง ทางฝั่งของเอกชน องค์กรยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารของประเทศไทยทั้ง 3 เจ้าก็มีการสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลการศึกษาและดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็น ‘ทรู’ ที่โดดเด่นในเรื่องการทำช่องทีวีเพื่อการศึกษาอย่าง ‘ทรูปลูกปัญญา’ ที่มีแพลตฟอร์มทั้งทางทีวีและอินเทอร์เน็ตในรูปแบบแอปพลิเคชัน

‘เอไอเอส’ ที่ทำแคมเปญ ‘อุ่นใจไซเบอร์’ ส่งเสริมในเรื่องความเท่าทันในทักษะด้านดิจิทัลที่สำคัญ 8 อย่าง เช่น การรับมือ cyberbully, การรู้เท่าทันสิทธิ, การจัดการเวลาใช้สื่ออย่างเหมาะสม

รวมถึง ‘ดีแทค’ เองก็มีแคมเปญที่น่าสนใจหลากหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น โครงการ Safe internet ซึ่งรวมมือกับทางดีป้า-กองทุนสื่อ ที่มีการจัดหลักสูตร ‘SOGIESC’ เน้นไปในเรื่องการทำความเข้าใจกรอบทางเพศ การเคารพสิทธิและความหลากหลายทางเพศ ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่แฝงอยู่ในโรงเรียนและเพื่อลดการกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์

ยังไม่นับรวมกิจกรรมอีกมากมายจากหลายบริษัทที่มีส่วนส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงดิจิทัลอย่างเหมาะสมซึ่งอาจจะไม่ได้ถูกกล่าวถึง แต่ก็มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างเสริมความเข้าใจด้านการศึกษาและดิจิทัล ควบคู่ไปกับการมอบโอกาสให้เข้าถึงกลุ่มที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม โครงการทั้งหมดก็เป็นแค่ความพยายามส่วนหนึ่งที่ต้องการจะแก้ปัญหาและเชื่อมช่องว่างที่ยังมีอยู่ในสังคม การนั่งรอคอยโอกาสให้เข้ามาเพียงอย่างเดียวก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

เพราะการขาดความรู้เพราะไม่รู้ข้อมูลยังพอแก้ปัญหาได้ แต่การขาด mindset หรือแนวคิดที่ดีที่จะพัฒนาตัวเองให้มีความรู้เท่าทันสื่อและเห็นถึงความสำคัญของการศึกษานั้น คงไม่ต่างอะไรจากช้างที่เมื่อมีคนยื่นอ้อยให้พร้อมกับทองคำ ช้างก็คงเลือกอ้อยทั้งๆ ที่ทองคำนั้นสามารถซื้ออ้อยกินได้ทั้งปี

และการที่ประเทศไทยยังหวังพึ่งพาเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมๆ โดยมองข้ามความสำคัญในการพัฒนารากฐานที่สำคัญซึ่งก็คือการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาด้านดิจิทัลและดาต้าซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ก็อาจทำให้ไทยตกขบวนเทคโนโลยีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ยิ่งเมื่อพิจารณาจากการที่มีการวิจัยจากทาง KKP Research โดยเกียรตินาคิน พบว่าประเทศไทยเริ่มถูกมองข้ามและลดความน่าสนใจในแง่ของประเทศที่น่าลงทุน จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนเงินลงทุนเทียบกับเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ ที่เคยสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2000-20007 พบว่าปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 4 ปีหลังสุด

นอกเหนือจากปัจจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มขึ้นแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ประเทศไทยเน้นเป็นเพียงแค่ผู้จ้างผลิตและขาดการวางรากฐานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรวมไปถึงแรงงานที่มีทักษะที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง

โดยไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคอยู่ที่เพียง 19 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าเวียดนามที่ทำได้ถึง 28 เปอร์เซ็นต์ และเอเชียที่ 26 เปอร์เซ็นต์

จึงนับว่าเป็นห่วงเมื่อเทียบกับเทรนด์และทิศทางที่ประเทศรอบด้านเร่งพัฒนาโครงสร้างด้านดิจิทัล แต่ไทยยังดูเหมือนจะช้ากว่าเพื่อนบ้านไปอย่างน้อยครึ่งก้าว ซึ่งเพียงครึ่งก้าวก็อาจนำไปสู่ระยะห่างหลายก้าวในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ท้ายที่สุดการพัฒนาให้เกิดการเข้าถึงการศึกษาและดิจิทัลจึงเป็นวาระสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการพัฒนาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ประชากรในประเทศและเศรษฐกิจรูปแบบเดิมๆ จะก้าวตามโลกไม่ทัน

เพราะหากเราเคยมีโทรเลขซึ่งเร็วกว่าการใช้จดหมายในยุคก่อน การมาถึงของอินเทอร์เน็ตก็แทบจะทำให้การมีอยู่ของโทรเลขแทบจะสูญพันธุ์ จนเหลือใช้เพียงแค่ในทางการฑูตเท่านั้น

ไม่ต่างอะไรกับทักษะเดิมๆ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศและประชากรในวันวาน ก็อาจกลายเป็นทักษะที่ถูกลืมเลือนในโลกอนาคต

และเมื่อเวลานั้นมาถึง เศรษฐกิจเดิมๆ ภายในประเทศไทยที่หยุดพัฒนา ก็อาจจะต้องถึงคราวต้องสูญพันธุ์ ไม่ต่างอะไรกับต้นไม้ที่หยุดเติบโตและแห้งเหี่ยว เหลือไว้เพียงซากตออันยิ่งใหญ่ในท้ายที่สุดนั่นเอง

บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดย เขตต์คณิต คงชนะ จากทีมบ่าวเมืองบัว ผู้เข้าแข่งขันการประกวดนักข่าวรุ่นใหม่ NEWSGEN by Dtac

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า