SHARE

คัดลอกแล้ว

วันที่ 8 ส.ค. 2021 ที่ผ่านมา นับเป็นวันที่แสนเศร้าที่สุดของแฟนบอลทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวกาตาลุนญ่า เมื่อ ‘ลีโอเนล เมสซี่’ นักเตะซุปเปอร์สตาร์อันดับ 1 ของสโมสรและของโลกแห่งยุคได้ประกาศอำลาสโมสรบาร์เซโลน่าทั้งน้ำตา เนื่องจากไม่สามารถต่อสัญญาที่เพิ่งหมดไปกับสโมสรได้

ด้วยระยะเวลากว่า 25 ปีที่อยู่กับสโมสรเพียงแห่งเดียว พร้อมผลงานระดับมาสเตอร์พีซ 34 ถ้วยแชมป์จาก 17 ฤดูกาล และยิงไปถึง 672 ประตู จาก 778 เกมส์ พ่วงด้วยรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของยุโรป (บัลลงดอร์) 6 สมัย และตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของลาลีกา สเปน นี่คือสุดยอดตำนานนักเตะระดับโลกที่ว่ากันว่าเก่งที่สุดเท่าที่วงการฟุตบอลเคยมีมา เทียบเคียงกับคู่ปรับตลอดกาลแห่งยุคอย่าง ‘คริสเตียโน่ โรนัลโด้’ 

สิ่งที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นเรื่องที่ช็อควงการโลกลูกหนัง และเกิดคำถามตามมามากมายว่า ทำไมสโมสรอย่างบาร์เซโลน่าที่ได้ชื่อว่ามีมูลค่ามากเป็นดับ 1 ของโลกและทำรายได้มหาศาล กลับไม่สามารถรั้งเมสซี่ไว้ได้และการตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อบาร์เซโลน่ามากแค่ไหน? TODAYBizview จะพาทุกท่านมาไขข้อข้องใจและหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดตำนาน กับนโยบายที่ผิดพลาดของผู้นำ

เดิมทีสโมสรบาร์เซโลน่าได้ชื่อว่าเป็นสโมสรที่โดดเด่นในการปลุกปั้นนักเตะเยาวชนจากศูนย์ฝึก ‘ลามาเซีย’ ซึ่งได้สร้างนักเตะระดับท็อปของโลกมากมายไม่ว่าจะเป็น ซาร์บี เฮอร์นานเดซ, อันเดรส อินเนสต้า, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์, เชส ฟาเบรกาส และรวมไปถึงตัวของเมสซี่เองด้วย

ซึ่งนักเตะชุดดังกล่าวทำให้บาร์เซโลน่าครองความยิ่งใหญ่ต่อเนื่องอย่างยาวนานนับตั้งแต่ฤดูกาล 2008-2012 ภายใต้การคุมทีมของกุนซืออัจฉริยะแห่งยุคอย่าง ‘เป็ป กวาดิโอล่าร์’ ทีมสามารถกวาดแชมป์ได้ในทุกๆ ฤดูกาลที่ลงแข่งขัน จนสามารถทำสถิติถึงขั้นที่ว่าคว้าถ้วยแชมป์ 6 รายการในฤดูกาลเดียวมาแล้ว  

ดูเหมือนว่านโยบายการทำทีมโดยใช้นักเตะแกนหลักจาก ‘ลามาเซีย’ จะเป็นไปด้วยดี ทุกนัดที่ทีมแข่งในบ้านอย่างคัมป์ นู จะมีแฟนบอลเข้าชมในสนามระดับ 9 หมื่นคนขึ้นไป และสโมสรก็มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งอย่างมาก

จนกระทั่งเมื่อ เป็ป ถึงจุดอิ่มตัวและอำลาสโมสรไปในปี 2013 และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงประธานสโมสรจาก ‘ซานโดร โรเซลล์’ มาเป็น ‘โจเซป มาเรีย บาร์โตวเมว’ ในปี 2014 เนื่องจากอดีตประธานอย่าง ‘โรเซลล์’ นั้นมีข่าวอื้อฉาวจากคดีฟอกเงิน บวกกับการที่ทีมเสียแชมป์ลาลีกาในฤดูกาล 2013-2014 ให้กับ ‘แอตเลติโก มาดริด’ ทำให้บาร์โตวเมวได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานสโมสรคนใหม่

ช่วงแรกภายใต้การบริหารทีมของบาร์โตวเมวนั้น ทีมยังประสบความสำเร็จทั้งในระดับประเทศและระดับยุโรปอยู่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือ สโมสรเริ่มใช้เงินทุ่มซื้อนักเตะเพื่อไล่ล่าแชมป์มากขึ้น สวนทางกับปรัญญาเดิมที่ทีมมักจะใช้เด็กปั้นจาก ‘ลามาเซีย’ เป็นแกนหลัก 

ประกอบกับการที่ทีมต้องอุดช่องว่างจากการสูญเสีย ‘เนย์มาร์’ หนึ่งในซุปเปอร์สตาร์ไปให้กับทีม ‘ปารีส แซ็งต์-แชร์กแม็ง’ ด้วยค่าตัว 222 ล้านยูโร (ราว 8,880 ล้านบาท) ในปี 2017 

ทำให้ทีมต้องทุ่มเงินเพื่อซื้อนักเตะอย่าง อุสมาน เดมเบลเล่, ฟิลิปเป คูติญโญ่, อองตวน กรีซมันซ์ ที่มีค่าตัวรวมๆ กันถึง 390 ล้านยูโร  แต่ผลงานในสนามกลับไม่สมกับค่าตัวและค่าเหนื่อยที่จ่ายไปแม้แต่น้อย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าพวกเขาใช้เงินซื้อนักเตะในปี 2015-2019 รวมกันมากถึง 954 ล้านยูโร (35,000 ล้านบาท) และเพดานค่าเหนื่อยนักเตะก็มากถึง 75% ของรายรับสโมสรในเวลานั้น ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่สั่นคลอนสถานะทางการเงินของทีม

และด้วยผลกระทบจากโควิด ทำให้รายได้สโมสรจากทุกทางลดลง ทั้งจากการที่สนามไม่มีแฟนบอลเข้าชม การลดลงของค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด รวมไปถึงผลงานสโมสรในเวทียุโรปที่ตกต่ำและไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ตั้งแต่ฤดูกาล 2015-2016 ทำให้สโมสรเริ่มต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อหมุนเวียนใช้จ่ายในสโมสร 

ท้ายที่สุดสโมสรมีหนี้สินรวมกันมากถึง 1.3 หมื่นล้านยูโร (500,700 ล้านบาท) และนำมาสู่การลงมติโหวตให้ ‘บาร์โตวเมว’ ออกจากตำแหน่งประธานสโมสรในช่วงปลายปี 2020

จนมาถึงเวลาที่สัญญาของเมสซี่สิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2021 ทางสโมสรพร้อมที่จะเจรจามอบสัญญาใหม่ให้เมสซี่ และเจ้าตัวเองก็ยินดีที่จะอยู่กับทีมต่อไปด้วยความพยายามที่จะลดค่าเหนื่อยลงถึง 50% จากที่เคยได้รับอยู่เดิม

แต่การต่อสัญญาก็ไม่เป็นผล เพราะ ‘กฏการจำกัดเพดานค่าเหนื่อย’ ( salary cap ) ของลีกสเปนที่กำหนดว่า ค่าเหนื่อยของนักเตะในทีมต้องไม่เกิน 70% จากรายได้รวมของสโมสร ซึ่งผลพวงจากหนี้สินและโควิดทำให้สัดส่วนค่าเหนื่อยเทียบกับรายรับของสโมสรพุ่งสูงถึง 110%

และแม้เมสซี่จะยอมลดค่าเหนื่อยลงแล้ว เปอร์เซ็นต์ค่าเหนื่อยรวมก็ยังแตะที่ระดับ 90-95% อยู่ดี เรียกได้ว่าไม่มีทางไหนที่ทีมจะต่อสัญญากับเมสซี่ออกไปได้ และนั่นจึงเป็นที่มาของการแถลงข่าวพร้อมน้ำตาลูกผู้ชายที่ต้องอำลาทีมซึ่งเขานั้นรักมากที่สุดนั่นเอง

Aftershock effect มากกว่าน้ำตาของเมสซี่ คือมูลค่าสโมสรที่หายไป

ย้อนกลับมามองในแง่มุมของธุรกิจและภาพรวมตัวเลข การปล่อยเมสซี่ออกจากทีมนั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของทีมหรือไม่? เพราะหากว่ากันตามตรง นักเตะเพียงคนเดียวไม่ควรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าสโมสร

แต่กรณีนี้อาจใช้ไม่ได้กับชายที่ชื่อ ‘ลีโอเนล เมสซี่’

หากพิจารณาจากค่าเหนื่อยรวมถึงลิขสิทธิ์ภาพลักษณ์ที่เมสซี่ได้รับต่อปีนั้นมีมูลค่าสูงถึงราว 140 ล้านยูโรต่อปี ซึ่งสูงที่สุดในโลก แต่แน่นอนว่าค่าเหนื่อยก็เป็นตัวแทนที่บอกได้ดีว่าตัวเมสซี่นั้นเก่งกาจแค่ไหนในสนาม

ทีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับรายรับที่สโมสรได้รับจากการที่มีเมสซี่อยู่ในทีม แม้ว่าอาจจะวัดเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ยาก แต่ก็มีดัชนีที่ชี้วัดถึงพลังของแบรนด์เมสซี่ โดยจากรายงานของผู้เชี่ยวชาญจาก Athletic interest ได้รวบรวมตัวเลขที่สำคัญต่างๆ ที่มีเมสซี่มีผลต่อรายได้ของสโมสรไม่ว่าจะเป็น

1) ยอดขายเสื้อแข่งของทีมปี 2019 มีมูลค่ารวม 60 ล้านยูโร พบว่า 8 ใน 10 เสื้อที่ขายได้สกรีนชื่อ ‘เมสซี่’

2) หากสปอนเซอร์ต้องการโฆษณาหรือทำแคมเปญโปรโมตโดยมี ‘เมสซี่’ รวมอยู่ด้วย พวกเขาต้องจ่ายเงินมากกว่า 50% เทียบกับการที่ไม่มีเมสซี่ในแคมเปญดังกล่าว

3) ในช่วงที่มีข่าวว่าเมสซี่ต้องการอำลาทีมในช่วงปี 2020 ก่อนจะกลับลำอยู่ช่วยทีมต่อนั้น สปอนเซอร์หลักของสโมสรอย่าง Rakuten ที่เพิ่งหมดสัญญาไป ได้ต่อสัญญาสนับสนุนเพิ่มเพียง 1 ปี มูลค่า 30 ล้านยูโร จากสัญญาฉบับเดิมที่ระยะเวลา 4 ปี มูลค่า 55 ล้านยูโรต่อปี  เพราะไม่แน่ใจว่าเมสซี่จะอยู่กับทีมต่อไปหรือไม่ เช่นเดียวกับสปอนเซอร์หลักอีกเจ้าอย่าง Beko ซึ่งกำลังจะหมดสัญญา 3 ปีที่มีมูลค่า 19 ล้านยูโรต่อปีก็ต่อสัญญาเพิ่มเพียง 1 ปี มูลค่าราว 10 ล้านยูโร ด้วยเหตุผลเดียวกัน

จากข้อมูลดังกล่าวยังไม่รวมรายรับทางอ้อมอีกมหาศาลที่เกิดขึ้นจากการที่สโมสรมีเมสซี่อยู่ รวมไปถึงเอฟเฟคที่เกิดหลังจากการย้ายทีมของเมสซี่นั้นก็เรียกได้ว่ามหาศาล

โดยได้มีการประเมินโดย Brand finance ว่ามูลค่าของสโมสรบาร์เซโลน่านั้นจะหายไปอย่างน้อย 137 ล้านยูโร ซึ่งทำให้สโมสรตกจากอันดับ 1 ของสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลกทันที

ยิ่งไปกว่านั้น อีกเหตุการณ์ที่พิสูจน์ถึงความแข็งแกร่งในแบรนด์เมสซี่ จากกระแส ‘เมสซี่ ฟีเวอร์’ ที่แฟนบอลของสโมสร ปารีส แซ็งต์-แชร์กแม็ง แห่กันจับจองซื้อเสื้อมูลค่า 92 ปอนด์ ที่มีจำนวนสต็อค 150,000 ตัว หมดภายในไม่ถึง 7 นาที ถือเป็นสถิติน่าทึ่งระดับโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

สู่ประวัติศาสตร์บทใหม่กับเจ้าบุญทุ่มแห่งยุค 2021 ‘ปารีส แซ็งต์-แชร์กแม็ง’

การย้ายมายังสโมสรปารีส แซ็งต์-แชร์กแม็ง ของเมสซี่ ว่ากันว่านี่เป็นการย้ายทีมแห่งทศวรรษ (Decade transfer) โดยเจ้าตัวได้รับสัญญา 2 ปี พร้อมค่าเหนื่อยต่อปีหลังจากหักภาษีที่ราว 25 ล้านยูโรบวกโบนัส 10 ล้านยูโร พร้อมทางเลือกต่อสัญญาเพิ่ม 1 ปี นอกจากนี้เขายังได้รับค่าเซ็นสัญญาเป็นเงินกินเปล่ามากถึง 25 ล้านยูโรเลยทีเดียว

ซึ่งจากรายงานของสื่ออย่างรอยเตอร์ ค่าเหนื่อยส่วนหนึ่งของเมสซี่จะถูกจ่ายในรูปแบบเหรียญคริปโตฯอย่าง PSG fan token โดยเพียงหนึ่งวันก่อนที่เมสซี่จะย้ายทีมมูลค่าการซื้อขายเหรียญ PSG fan token นั้นสูงถึง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และจำนวนเหรียญที่ขายใหม่นั้นมีมูลค่ามากถึง 30 ล้านยูโร

ส่วนในสนามนอกจากการมาถึงของเมสซี่จะทำให้แฟนๆ ได้ตื่นเต้นกับการประสานงานกับอดีตเพื่อนร่วมทีมเนย์มาร์ พร้อมทั้งสุดยอดดาวรุ่งอย่าง ‘คิลิยัน เอ็มปั๊บเป’ แล้ว 

ปารีสฯ ยังทุ่มเงินเสริมนักเตะระดับดีกรีแชมป์มากมายทั้ง เซคิโอร์ รามอส, อาฟรัม ฮาคิมี่, จอร์จินิโอ ไวนัลดุม และผู้รักษาประตูแชมป์ยูโรคนล่าสุดอย่าง จิอันลุยจิ ดอนนารุมม่า

ทำให้สโมสรปารีสฯ ขึ้นแท่นเป็นทีมที่จ่ายค่าเหนื่อยให้นักเตะสูงสุดอันดับ 1 ของโลกในปี 2021 จนเกิดเป็นคำถามที่ตามมาเช่นกันว่าทำไม? สโมสรปารีสฯ จึงไม่ถูกเล่นงานด้วยกฏควบคุมทางการเงินหรือ Financial fair play (FFP)

สาเหตุหนึ่งก็มาจากการที่สโมสรได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม กาตาร์ สปอร์ต อินเวสเมนต์ (QSI) ที่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในกาตาร์ รวมถึงการมีพาร์ทเนอร์แบรนด์ดังมากมายทั่วทุกมุมโลกมากถึง 28 บริษัท ก็ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งและความเป็นเจ้าบุญทุ่มแห่งยุคตัวจริงของปารีสฯ ได้เป็นอย่างดี

แน่นอนว่าทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่าก็ไม่ได้นิ่งเฉยกับเรื่องดังกล่าวและเตรียมการที่จะร่างกฏใหม่ที่จะมาใช้ทดแทน FFP อย่างกฏ Salary cap ที่จะมุ่งเน้นไปที่การจำกัดรายจ่ายของสโมสรต่างๆ ไม่ให้เกินเพดานรายรับ และจะต้องมีการจ่าย luxury taxes หรือภาษีส่วนเกิน ในกรณีที่ทีมใช้เงินเกินเพดานที่กำหนด ซึ่งก็ต้องรอดูว่ากฏนี้จะหยุดการเป็นเจ้าบุญทุ่มของปารีสได้จริงหรือไม่ในอนาคต

เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ตอกย้ำถึงสัจธรรมของโลกใบนี้อย่างชัดเจนว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” เพราะการย้ายสโมสรของเมสซี่ที่ควรจะเกิดขึ้นเพียงแค่ในเกมส์อย่างฟีฟ่าออนไลน์ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง 

พร้อมๆ กับบทเรียนราคาแพงมหาศาลของสโมสรบาร์เซโลน่า ที่ต้องเร่งกลับไปแก้ไขสถานะการเงินและต่อสู้เพื่อกลับมาสู่ตำแหน่งสูงสุดบนบัลลังก์แชมป์ให้ได้อีกครั้ง

มิเช่นนั้นแล้วฉายา ‘เจ้าบุญทุ่ม’ อาจจะหลงเหลือเพียงแค่อดีตความสำเร็จมากมาย ที่สุดท้ายก็จะต้องถูกลบเลือนหายไปกับพร้อมประวัติศาสตร์ของกาลเวลาอย่างแน่นอน

บทความโดย เขตต์คณิต คงชนะ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า