การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างระบบนิเวศสำหรับธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Ecosystem) และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลควบคู่กันไป เพื่อให้ธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทยเกิดความยั่งยืน อันจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการลงทุนและเป็นผู้นำอุตสาหกรรมดิจิทัลของภูมิภาค การสนับสนุนเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีโอกาสทางธุรกิจในระยะใกล้ มีมูลค่าสูง มีศักยภาพเป็นเทคโนโลยีพลิกผัน (Disruptive Technology) อันจะสามารถพลิกโฉมระบบนิเวศธุรกิจดิจิทัลได้ นั่นคือ ‘เทคโนโลยีควอนตัม’ จึงทำให้เทคโนโลยีควอนตัมเป็นที่จับตามองว่ามีโอกาสเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีผลกระทบในเชิงกว้างสำหรับยุคอุตสาหกรรม 5.0
แม้ว่าเทคโนโลยีควอนตัมกำลังอยู่ในกระแส ดึงดูดความน่าสนใจจากคนทั่วโลก แต่ก็ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับภาคธุรกิจมาก ชวนให้หาคำตอบในเทคโนโลยีอนาคตนี้ อาทิเช่น ควอนตัมคืออะไร? ควอนตัมคอมพิวเตอร์กำลังจะเข้ามา Disrupt เทคโนโลยีบล็อกเชนจริงหรือไม่? ควอนตัมจะเข้ามามีบทบาทต่อภาคธุรกิจได้อย่างไรบ้าง?
workpointTODAY จะพาไปทำความรู้จักเทคโนโลยีควอนตัมให้มากขึ้น รวมถึงการไขข้อสงสัยประเด็นต่างๆ และบริบทเกี่ยวกับเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย โดย ผศ.ดร.วรานนท์ อนุกูล ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยีควอนตัม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงวิชาการควอนตันมากกว่า 10 ปี
‘ควอนตัม’ คืออะไร
อันที่จริงควอนตัมเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว กล่าวได้ว่า ควอนตัมก็คือเทคโนโลยีแม่เหล็กไฟฟ้ารูปแบบหนึ่ง ที่สามารถทำได้มากกว่าแค่การควบคุมประจุไฟฟ้าของอะตอมแบบเทคโนโลยีแม่เหล็กไฟฟ้าดั้งเดิม
เทคโนโลยีควอนตัมที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจมีอยู่สามด้านหลักๆด้วยกัน ประกอบด้วย ควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) ควอนตัมเซนเซอร์ (Quantum Sensor) และการสื่อสารเชิงควอนตัม (Quantum Communication) หากแต่ในปัจจุบันการสื่อสารเชิงควอนตัมยังไม่มีลูกค้าแม้แต่รายเดียว เนื่องจากหน่วยงานความมั่นคงของอังกฤษและสหรัฐอเมริกายังไม่รับรองการใช้งานจริง
ผศ.ดร.วรานนท์ เล่าว่าเทคโนโลยีแม่เหล็กไฟฟ้า มีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแน่นแฟ้น แต่ด้วยราคาของเทคโนโลยีแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างควอนตัมสูงกว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมาก จนตลาดรู้สึกว่าการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิตอลคุ้มค่ามากกว่าการลงทุนในเทคโนโลยีควอนตัม
ส่วนประเด็นควอนตัมจะเข้ามา Disrupt บล็อกเชนหรือไม่นั้น ผมมองว่า “ควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังเป็นเพียงคอมพิวเตอร์ที่แก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อ Disrupt เทคโนโลยีบล็อกเชนแต่อย่างใด หากนำควอนตัมคอมพิวเตอร์ไปเทียบกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ยังมีความเป็นไปได้ที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะสามารถเจาะระบบเทคโนโลยีบล็อกเชนมากกว่าควอนตัมคอมพิวเตอร์จะทำได้เสียอีก” ผศ.ดร.วรานนท์ กล่าว
ควอนตัมและภาคธุรกิจ
แม้ว่าการลงทุนในเทคโนโลยีควอนตัมยังมีไม่มากนัก แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง กูเกิล (Google) และ ไอบีเอ็ม (IBM) กลับประสบความสำเร็จในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบเทคโนโลยีควอนตัมที่ทรงอิทธิพลต่อธุรกิจระดับมหภาคมากที่สุดในปัจจุบัน
ธุรกิจซอฟแวร์ เป็นธุรกิจหนึ่งที่สามารถใช้ควอนตัมคอมพิวเตอร์ในการนำเสนอแนวทางแก้ไขที่จำเป็นเฉพาะกับธุรกิจ (Solution Provider) โดยใช้เป็นอุปกรณ์คำนวณ จำลองระบบ ออกแบบอัลกอริทึม รวมเข้ากับระบบ Artificial Intelligence (AI) และการเรียนรู้จักรกล (Machine Learning) เพื่อแก้ปัญหาบางประเภทที่ยากเกินกว่าคอมพิวเตอร์คลาสสิกจะจัดการได้
ในปี พ.ศ. 2562 บริษัท กูเกิล ได้ประกาศความสำเร็จ ในการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงควอนตัมเป็นครั้งแรกของโลก โดยทีมนักวิจัยคาดการณ์ว่าหากใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะประมาณ 100,000 เครื่อง ในการคำนวณแก้ปัญหาที่ได้รับการออกแบบมาอย่างพิเศษ จะใช้เวลากว่า 10,000 ปี ในการคำนวณ แต่หากใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัมดังกล่าว จะสามารถย่นเวลาในการแก้ปัญหาเหลือเพียง 3 นาที 20 วินาทีเท่านั้น
นอกจากกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์แล้ว ยังมีหลายอุตสาหกรรมที่สามารถนำเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการพัฒนาหรือปรับปรุงทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (Optimization) อาทิเช่น อุตสาหกรรมสุขภาพและเภสัชกรรม สามารถใช้ระบบเครือข่ายคำนวณควอนตัมเพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคเชิงลึกและการค้นพบยาใหม่ๆ ธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี สามารถใช้ควอนตัมในการประเมินความคุ้มค่าแหล่งขุดเจาะน้ำมันใหม่ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหาแหล่งน้ำมัน
ระบบเครือข่ายคำนวณควอนตัมสามารถใช้เพื่อหาชุดตัวแปรที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงที่สุดในการจัดการสินค้าและบริการตลอดห่วงโซ่อุปทาน กำหนดเส้นทางและลำดับการขนส่ง จัดการกลุ่มรถแท็กซี่ พยากรณ์เที่ยวบิน รวมถึงวิเคราะห์ข้อเสนอและความต้องการของลูกค้า สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต โลจิสติกส์และธุรกิจค้าปลีก
การเงิน การธนาคารและตลาดหลักทรัพย์เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่สามารถใช้เทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์ในการแก้ปัญหาการจัดการหลักทรัพย์ การกำหนดราคาตราสารอนุพันธ์ การซื้อขายหุ้นอัตโนมัติ การประเมินความเสี่ยง แนะนำข้อเสนอทางการเงิน ตลอดจนคาดเดาตลาดเพื่อการตัดสินใจด้านแผนงานและการลงทุน
ผศ.ดร.วรานนท์อธิบายเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถนำทั้งควอนตัมคอมพิวเตอร์และควอนตัมเซนเซอร์มาใช้เพื่อประโยชน์ในการปกป้องประชาชนและการสงคราม โดยสามารถใช้ระบบเครือข่ายคำนวณควอนตัมคอมพิวเตอร์เพื่อการถอดรหัสข้อมูลความลับ เช่นเดียวกับรหัสลับ Enigma ที่ถูกถอดรหัสโดยกองทัพเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งสอง
ขณะที่ควอนตัมเซนเซอร์สามารถนำมาใช้ในการสร้างเครื่องมือเพื่อชี้เป้าการเคลื่อนกำลังพล รถถังอำพราง เครื่องบินล่องหน โดรนขนาดเล็กและเรือดำน้ำ เทคโนโลยีเดียวกันนี้ยังสามารถพัฒนาไปเป็นเครื่องตรวจหาระเบิดและการเคลื่อนที่ของยุทธภัณฑ์โลหะที่ถูกฝังใต้ดิน ไปถึงการสร้างนวัตกรรมทางการทหารใหม่ๆ เช่น การสร้างฝูงโดรนพิฆาตและการสกัดกั้นขีปนาวุธที่แม่นยำสูง เป็นต้น
เทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิชาการและนักวิจัยด้านทฤษฎีควอนตัมอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนมีความพยายามที่จะผลักดันให้งานวิจัยเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมได้จริง
หลักไมล์อันสำคัญยิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย คือ ความสำเร็จในการกักขังอะตอมเดี่ยว โดยทีมนักฟิสิกส์วิศวกรรม ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีศูนย์วิจัยเพียงสามสิบกว่าแห่งทั่วโลกที่สามารถทำได้ อุปมาการได้ว่า “การมองหาอะตอมเดี่ยว 1 อะตอมบนเหรียญ 1 บาทนั้น ยากเย็นพอกับการมองจากพื้นโลก เพื่อหาเหรียญ 1 บาท บนดวงจันทร์” ผศ. ดร.วรานนท์กล่าว
อะตอมเดี่ยวนี้ คือ หน่วยย่อยเล็กที่สุดของควอนตัมคอมพิวเตอร์และควอนตัมเซนเซอร์ ถือว่าเป็น Core Technology ของควอนตัมทั้งหมดจริง เพื่อนำมาใช้จริงกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ตามที่อธิบายข้างต้น
อย่างไรก็ดี การพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมสำหรับภาคธุรกิจ ยังต้องการงบประมาณสนุบสนุนเพื่อจัดหาเครื่องมือเฉพาะต่อยอดนวัตกรรมและองค์อความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน นโยบายที่สนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งความร่วมมือและการพัฒนาโจทย์ความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมสู่การทำวิจัย เพื่อให้เทคโนโลยีควอนตัมที่มีในประเทศไทย ณ เวลานี้ สามารถสร้างมูลค่าที่แท้จริงแก่เศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้
บทความชิ้นนี้เป็นผลงานของ แววไพลิน พันธุ์ภักดี, คุณานนต์ กิตติพุฒ, และ ฐานันดร ภาเอนกพันธ์กุล จากทีม Siam Quantum ผู้เข้าแข่งขันการประกวดนักข่าวรุ่นใหม่ NEWSGEN by Dtac