Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

“วี๊ด บูมบูมบูม เราบูมบูมบูม ให้ตูมตูมตูม รวมเป็นใจเดียวกัน”

“โอม มะลึกกึ๊กกึ๋ยส์ มะลึกกึ๊กกึ๋ยส์  มะลึกกึ๊กกึ๋ยส์ เพี้ยง”

“โอเคนะคะ นะคะ เจอะกันสักแป๊ปนึง”

“แฟนจ๋าฉันมาแล้วจ้ะ อยู่นี่แล้วน่ะ เขยิบมาใกล้ใกล้ อะตาลาวา”

สารพัดท่อนเพลงฮิตที่เด็กมิลเลนเนียลในวัยกระเตาะพร้อมส่ายสะโพกโยกย้าย โชว์ลีลาเท้าไฟและแหกปากร้องเพลงสุดเสียง แถมฉายแววอนาคตนักร้องด้วยการกำมือเป็นไมค์หลอกมาจ่อที่ปาก แล้วให้ห้องน้ำเป็นเวที 7 สีคอนเสิร์ต ถ้านี่คือความสนุกในวัยเด็กเมื่อได้ฟังเพลงไทยป็อป หรือทีป็อป (T-Pop) … เราคือเพื่อนกัน

ขอบคุณภาพจาก มิวสิควิดีโอเพลง Boom – CHEER GMM GRAMMY OFFICIAL

T-pop รสชาติใหม่ของวงการเพลงไทย?

ต้องบอกว่า T-pop ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการเพลงไทย เพราะกระแสเพลงป็อปมีมาตั้งแต่พ.ศ. 2520 อย่างวง The Impossible และ Grand Ex ศิลปินยุคบุกเบิกที่ทำให้เรารู้จักทีป็อปในชื่อ ‘เพลงสตริง’ ซึ่งได้รับอิทธิพลแนวเพลงมาจากฝั่งตะวันตก ประกอบไปด้วยป็อป ร็อก อาร์แอนด์บี หรือแดนซ์ ซึ่งไทยป็อปเข้าสู่กระแสหลักอย่างจริงจังช่วงพ.ศ. 2530 เป็นต้นมา

ศิลปินที่เรารู้จักมักจี่เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ‘ธงไชย แมคอินไตย์’ ศิลปินเดี่ยวที่มีเพลงฮิตนับไม่ถ้วน ‘ติ๊ก ชิโร่’ เจ้าพ่อเพลงแดนซ์ป็อป ‘ลิฟท์กับออย’ คู่หูที่ปลุกกระแสศิลปินดูโอ ‘2002 ราตรี’ เกิร์ลกรุ๊ปเท้าไฟ มาจนถึง ‘Kamikaze’ ค่ายเพลงวัยรุ่นที่โด่งดังในหน้าประวัติศาสตร์ทีป็อป และยังมีอีกหลายวงที่ไม่ได้เอ่ยถึง ซึ่งวันที่เรายังไม่เห็นเคป็อป (K-pop) เริ่มตั้งไข่ในประเทศไทย พวกเขาเหล่านี้แหละคือความบันเทิงที่ต้องยกนิ้วให้ว่าเป็นยุคคึกคักของวงการเพลง และเพลงฮิตเยอะมากจนนึกไม่ออกว่าเพลงไหนไม่ดังบ้าง

ขอบคุณภาพจาก มิวสิควิดีโอเพลง จีนี่ จ๋า ศิลปิน 2002 ราตรี GMM GRAMMY OFFICIAL

และ ‘ความนอสตัลเจีย (Nostalgia)’ โหยเพลงไทยป็อปยุคก่อนในทุกครั้งที่โอกาสจับไมค์ร้องคาราโอเกะนี่แหละ คือเครื่องพิสูจน์ว่าพวกเราเองก็เติบโตมาพร้อมกับ T-Pop

 

อดีตอันข่มขื่น

น่าแปลกใจตรงที่เส้นทางของ T-Pop ไม่ใช่กราฟพุ่งสุดหรือดำดิ่งจนน่าอนาถ แต่กลับขึ้นๆ ลงๆ และเป็นเส้นตรงบ้าง คล้ายกับรถไฟเหาะก็คงไม่ผิดเท่าไหร่ ซึ่งในยุคสมัยที่สังคมไร้อินเทอร์เน็ตเมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นยุคทองของเทปคาสเซ็ท ไปจนถึงซีดีเพลง และการันตีความป็อปปูลาร์และความปังปุริเย่ด้วย ‘ยอดขาย’ ยิ่งเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งดังมากเท่านั้น นั่นหมายรวมถึงเม็ดเงินที่เข้ามาด้วย

แต่อยู่ดีๆ วงการเพลงไทยป็อปก็แผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด และศิลปินบางกลุ่มต้องโบกมือบ๊ายบายจากอุตสาหกรรมเพลงเร็วกว่าปกติ เพราะการมาของ ‘แผ่นผีซีดีเถื่อน’ ทำลายวัฎจักรให้เสียระบบ ซึ่งจากเดิมที่ศิลปินและค่ายต้องพึ่งพายอดขายเป็นหลัก มันกลับไม่ใช่แหล่งรายได้ที่จะเลี้ยงปากท้องให้อยู่รอดต่อไป

แถมการทำเพลงแนวป็อปต้องลงทุนสูง แต่ได้ผลตอบแทนไม่เต็มที่ ต่อให้ ‘เพลงดัง’ ก็ไม่มีความหมาย อีกทั้งอุตสาหกรรมไทยป็อปยังไม่มีนายทุนคนไหนพร้อมเสี่ยงในระยะยาว บวกกับป็อปคัลเจอร์จากนานาประเทศเริ่มเข้ามาแย่งสัดส่วนตลาดทีละเล็กละน้อยยิ่งทวีคูณความยาก เพราะประเทศไทย ‘ไร้พื้นที่รองรับ’ อื่นๆ ด้วย

บางคนอาจทักท้วงว่าเรามี ‘7 สีคอนเสิร์ต’ ซึ่งเป็นพื้นที่ ‘โชว์’ อย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนดู เช่น การโหวตให้กับศิลปินที่ชื่นชอบเพ่ือคว้าชัย ‘เพลงดีประจำสัปดาห์’  ดังนั้นนอกจากการสนับสนุนจากสปอนเซอร์รายการจึงแทบไม่มีรายได้อื่นๆ เข้ามา ประกอบกับเป็นเวทีเดียวในยุคนั้นที่ให้ศิลปินมาแสดง ขณะที่ปริมาณนักร้องนั้นมีเยอะกว่าหลายเท่าตัว จึงไม่เพียงพอต่อการผยุงศิลปินทุกคน

ยังไม่รวมร้านเหล้า ผับ บาร์ ที่กลายเป็นอีกหนึ่ง ‘เวทีโชว์’ ให้กับศิลปินแทน ถึงแม้จะมีรายได้เข้ามาแต่ก็ไม่ยั่งยืน หรือบางครั้งก็มี ‘อีเวนต์เฉพาะ’ ซึ่งโปรโมตให้เข้าถึงคนไม่กี่กลุ่ม ส่วนรายการเพลงก็เน้นเปิดมิวสิกวิดีโอผ่านโทรทัศน์เสมือนเพลย์ลิสต์ที่เราฟังในสปอติฟาย (Spotify) จึงมีเพียงค่าลิขสิทธิ์เพลงเป็น ‘รายได้’ เท่านั้น แถมภาครัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงไม่แปลกที่ T-Pop จะแผ่วลง

ขณะที่วงการ K-Pop มีพื้นที่เพียบพร้อมให้ศิลปินได้ ‘เฉิดฉาย’ ทั้งรายการเพลง รายการวาไรตี้ มินิซีรีส์ หรือการสร้างวัฒนธรรมย่อย เช่น แท่งไฟ สะสมการ์ดจากอัลบั้ม Meet&Greet กับศิลปิน ฯลฯ ผนวกกับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้รายได้ของเคป็อปนั้นมาจากหลายทางและช่วยผยุงให้อยู่รอดได้

เหตุการณ์ครั้งนั้น จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้วงการเพลงเฟ้นหาลู่ทางการสร้างรายได้ โดยไม่พึ่งยอดขายอัลบั้มเป็นหลักอีกต่อไป

 

เมื่อ T-Pop พร้อมสยายปีก

การเห็นศิลปิน T-pop ยุคใหม่เริ่มสยายปีกในวงการเพลงไม่ว่าจะเป็น Trinity, 4EVE, 4Mix และอีกนับไม่ถ้วนที่หลายค่ายเพลงพร้อมลุยเต็มพิกัด เพราะศักยภาพของเด็กไทยใช่ว่าจะเทียบเคียงต่างชาติไม่ได้ เพียงแต่เรายังไม่มีพื้นที่รองรับความสามารถความเก่งของเด็กกลุ่มนี้ รวมถึงอาการคิดถึงการ ‘ความกามิกาเซ่’ ที่แฟนๆ ให้การตอบรับจนกระพรือเทรนด์ทีป็อปให้มาแรงยิ่งขึ้นในไทย

ถ้าจำ ‘รักติดไซเรน (My Ambulance)’ เพลงประกอบละครรักฉุดใจนายฉุกเฉิน ทำตลาดเพลงแตกเพราะมีกลิ่นอายของ ‘กามิกาเซ่’ (Kamikaze) เรียกยอดวิวในยูทูปไปมากกว่า 236 ล้านวิว ซึ่งนับว่าเป็น ‘Soft Power’ อย่างหนึ่งที่นอกจากจะให้นอสตัลเจียเพลงยุค MSN ก็ทำให้คนตระหนักได้ว่า T-Pop บ้านเราก็ดีเหมือนกันนี่หว่า!

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ เวลานี้ T-Pop กำลังมาแรงบนโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสหลัก เพราะเทคโนโลยีที่อยู่ในทุกอณูของชีวิตประจำวัน ทำให้เราอัปเดตข่าวสารของวงการเพลงได้ทันท่วงที เทรนด์ทีป็อปแบบไหนกำลังมา วงไหนกำลังเปรี้ยงในต่างแดน ฯลฯ อีกทั้งแพลตฟอร์มฟังเพลงอย่างถูกลิขสิทธิ์ก็ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ค่ายเพลงและศิลปินไทยเผชิญหน้ากับความปวดใจเรื่อง ของเถื่อน น้อยลง

ส่วนแฟนเพลงที่อยากเห็นศิลปินของตัวมากขึ้นก็สมหวัง เพราะจะได้เห็นมุมต่างๆ ของศิลปินผ่านคอนเทนต์บนโลกออนไลน์มากขึ้น ชนิดที่ถ้าเป็นยี่สิบปีก่อน เราคงไม่ได้เห็นชีวิตประจำวัน หรือเรื่องเฮฮาปาจิงโกะของพวกเขาแน่ๆ และแน่นอนว่าค่ายเพลงกับศิลปินก็มีรายได้จากหลายทาง โดยไม่ต้องพะว้าพะวงว่า ‘วันนี้คือวันเกษียณอายุในอาชีพนักร้องของตัวเองหรือเปล่า’

ในวันที่ประเทศไทยกำลังให้พื้นที่ทีป็อปมากขึ้น การได้เห็นรายการเพลงใหม่ๆ อย่าง ‘T-POP STAGE’ ที่เปิดให้โหวตอย่างจริงจังเหมือนรายการ M-Countdown, Inkigayo หรือ Music Bank จากแดนกิมจิ และเป็นสเตจแรกในสังเวียนทีป็อป ซึ่งอาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าไหร่ แต่ถือว่าเป็นก้าวครั้งสำคัญของวงการที่พร้อมให้ศิลปินไทยได้โลดแล่น และมอบความสนุกแก่ผู้ชมต่อไปเรื่อยๆ

หากถามว่า “T-Pop เปรี้ยงแล้วหรือยัง?” ก็คงพูดไม่ได้ทันทีว่าประสบความสำเร็จจนขับเคลื่อนประเทศได้เหมือน K-Pop หรือ J-Pop แต่เราค่อยๆ ก้าว ค่อยๆ ไต่ขึ้นบันไดอย่างช้าๆ และมั่นคง อีกทั้งคนรุ่นใหม่ที่มีทีท่าว่าสนใจเพลงไทยป็อปมากขึ้น และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ก็อาจกลายมาเป็นแฟนเพลงกลุ่มใหญ่ที่เข้มแข็งแล้วขับเคลื่อนวงการนี้ต่อไปได้ในอนาคต ฉะนั้น ณ วันที่ T-Pop กำลังยืนอยู่ตอนนี้ แน่นอนว่ามันต่างจากสิบปีก่อนอย่างสิ้นเชิง และบอกได้ว่าเรากำลังเข้าใกล้ความตั้งใจทีละนิดว่า ‘อยากเห็น T-pop ไปไกลระดับโลก’

 

บทความอ้างอิง

ผู้จัดการออนไลน์. เกิดแล้วดับ-รอดแต่ไม่ปัง!? เจาะลึกชะตากรรม “บอยแบนด์ – เกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติไทย”

MAYA CHANNEL. การกลับมาของ T-POP ความภูมิใจวงการเพลงไทย

Positioning. ปิดตำนาน “เจาะใจ” – “7สี” เมื่อหมดแรงจะ “ยื้อ” ก็จำต้อง “ยุบ”

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า