สรุปสถานการณ์น้ำท่วมเช้า 27 ก.ย. 2564
•‘ชัยภูมิ’ น้ำท่วมยังไม่คลี่คลาย
สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดชัยภูมิยังไม่คลี่คลาย ที่ อ.จัตุรัส รับมวลน้ำที่ไหลลงมาจาก อ.บำเหน็จณรงค์ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมแทบทุกตำบล โดยเฉพาะถนนสาย 201 ที่เชื่อมต่อหลายจังหวัดระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตร รถใหญ่ไม่สามารถผ่านได้
ส่วนบริเวณเขตเศรษฐกิจเทศบาลเมืองชัยภูมิปริมาณน้ำกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง บริเวณหน้าโรงพยาบาลชัยภูมิ หน้าศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ และบริเวณอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร
•‘นครราชสีมา’ กรมชลประทาน ยันอ่างฯ ลำเชียงไกรไม่แตก
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงกรณีมีการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์ว่า “ประกาศด่วน เขื่อนลำเชียงไกร #ส่วนที่ก่อสร้างแตก พี่น้องโคราช พระทองคำ ด่านขุนทด โนนไทย โนนสูง พิมายรีบขนของหนีขึ้นที่สูงด่วน” นั้น
ยืนยันว่าตัวอ่างและสันอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร มั่นคงแข็งแรง แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มากเกินความจุอ่างฯ จึงทำให้น้ำล้น ซึ่งบริเวณอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา กำลังก่อสร้างอาคารและทางระบายน้ำ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 70% แต่ขณะก่อสร้างมีฝนตกหนัก ทำให้อ่างฯ ลำเชียงไกร (ตอนล่าง) มีปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกัก มีน้ำล้นสปิลเวย์ (Spillway) มาสมทบกับบริเวณที่กำลังก่อสร้าง ประกอบกับช่วงที่ก่อสร้างได้ใช้ทำนบดินกั้นน้ำไว้ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินกว่าที่อ่างเก็บน้ำจะรับไหว จึงส่งผลให้ทำนบดินไซด์ก่อสร้างชำรุด น้ำจึงไหลลงตรงที่ก่อสร้างทางประตูระบายน้ำ
•‘ตาก’ อุ้มผางจมบาดาล ดินโคลนสไลด์ปิดถนน ไฟฟ้าดับ
อ.อุ้มผาง จ.ตาก มีน้ำท่วมใหญ่ในรอบหลายสิบปี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ก.ย. เป็นต้นมา มีน้ำท่วมสูงใกล้ถึงหลังคาบ้าน ร้านค้า สถานที่ราชการ และบ้านหลายหลังจมอยู่ใต้น้ำ
ขณะที่ไฟฟ้าในพื้นที่ อ.อุ้มผางดับตลอดทั้งวัน จนถึงกลางคืนที่ผ่านมาเนื่องจากเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องตัดกระแสไฟฟ้าเพราะน้ำท่วมสูง เกรงว่าประชาชนจะได้รับอันตราย
นอกจากนี้ยังมีดินสไลด์ ต้นไม้ล้มลงมาขวางถนนหลายจุดบริเวณเส้นทางจาก อ.อุ้มผาง มายัง อ.พบพระ และ อ.แม่สอด ทำให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ซึ่งรถยนต์ติดอยู่บนเขากว่า 100 คัน
•‘ปทุมธานี’ แจ้งเตือนปชช.เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม 24 ชม.
นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯปทุมธานี มีหนังสือ แจ้งนายก อบจ. และ ผู้อำนวยการทุกอำเภอ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกร ที่ประกอบอาชีพประมง เพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์บริเวณริมแม่น้ําเจ้าพระยา ทราบถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกําชับผู้อํานวยการท้องถิ่นในพื้นที่ให้เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำตอนบนไหลผ่าน (น้ำเหนือ) และมีฝนตกสะสม พร้อมทั้งประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมความพร้อม อํานวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง