SHARE

คัดลอกแล้ว

Exclusive จากดูไบ จับเทรนด์โลก ผ่าน World Expo 2020 รีวิวครบทุกธีมย่อย ภายใต้แนวคิด  “Connecting Minds, Creating the Future-เชื่อมความคิด สร้างอนาคต” สาส์นที่ดูไบอยากสื่อต่อโลก

ผ่านมาแล้วกับพิธีเปิดงาน World Expo 2020 จัดขึ้นที่มหานครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เลื่อนมาตั้งแต่ปี 2020 จากพิษโควิด-19 จนเปิดงานได้ในที่สุด

งาน World Expo มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 200 ปี นับตั้งแต่การขยายการค้าทางทะเลยุคใหม่และการล่าอาณานิคมปรากฏ ขณะนี้กลายมาเป็นหนึ่งในงานมหกรรมระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดเทียบเท่าบอลโลก หรือโอลิมปิก แทนที่เป็นสงครามการกีฬา งานนี้เป็นสงครามโฆษณาประเทศและประกาศจุดยืนการพัฒนาว่าต่อจากนี้ไปนานาประเทศจะเดินไปในทางไหน และเป็นอะไรของประชาคมโลก

จากธีม “Feeding the Planet, Energy for Life” ของ World Expo 2015 ที่มิลาน ปีนี้เจ้าภาพดูไบเลือกส่งสาส์นต่อโลกด้วยธีม “Connecting Minds, Creating the Future-เชื่อมความคิด สร้างอนาคต” ก่อนแบ่งธีมย่อยออกเป็น “Opportunity-โอกาส”, “Mobility-การเคลื่อนที่” และ “Sustainability-ความยั่งยืน” ให้ 190 ประเทศที่เข้าร่วมเลือกตำแหน่งแห่งที่ในการนำเสนอภาพลักษณ์และอนาคตของประเทศตนเอง

ประเทศต่าง ๆ วางแบรนด์แบบไหน เทรนด์โลกกำลังจะเป็นอย่างไร workpointTODAY มาสรุปให้ฟัง

Al Wasl Dome หัวใจแห่งงานเอ็กซ์โปดูไบ สถาปัตยกรรมโดดเด่นใจกลาง World Expo 2020 Dubai ขนาดกว้างเกือบเท่าเครื่องบินแอร์บัส A380 สองเครื่อง พื้นผิวสามารถฉายภาพได้ 360 องศา (เจ้าภาพบอกว่าใหญ่ที่สุดในโลก) ออกแบบโดย Adrian Smith + Gordon Gill Architecture

โลกอาหรับ พร้อมก้าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Globalisation แล้ว

เริ่มจากเจ้าภาพอย่างดูไบ ซึ่งพรีเซนต์ตัวเองเป็นหนึ่งในตัวแทนโลกอาหรับ ตัวการเป็นเจ้าภาพจัดงานของดูไบเองเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการวางตัวอยู่ระหว่างตะวันออกและตะวันตก สอดรับกับภาพลักษณ์ที่มหานครดูไบพยายามบ่มเพาะในฐานะตัวเชื่อมโลกและสถานที่ในการประกอบการธุรกิจข้ามชาติ

ในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองแล้ว ‘สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ เป็นหนึ่งในประเทศอาหรับที่กระตือรือร้นที่จะพิสูจน์ตัวในเวทีโลกมากที่สุด ตลอดทั้งงานนี้จึงเห็นการผลิตซ้ำเรื่องสัญลักษณ์ของโลกาภิวัตน์เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ผ่านสัญลักษณ์ที่เป็นรูปแหวนอันเกิดจากการเชื่อมร้อยของวงกลมหลายวง ผ่านเพลงประจำงานที่กล่าวถึงการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในยุคใหม่เพื่ออนาคตที่กำลังจะมาถึง ประกอบกับสัญญะต่าง ๆ ที่แสดงผ่านพาวิลเลียนใหญ่ประจำธีมที่ลงทุนหลายพันล้านเหรียญ เล่าเรื่องความพร้อมทางเทคโนโลยีในการเป็นตัวเชื่อมร้อยประสานโลก เรื่องความพร้อมในการฟันฝ่ากับความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และยกพาวิลเลียนใหญ่อีกพาวิลเลียนหนึ่งให้องค์การสหประชาชาติเล่าเรื่องความร่วมมือร่วมใจกันของมนุษยชาติในการทำตามเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของโลก หากใครปวดท้องหนักเบาเข้าห้องน้ำไป สัญลักษณ์ความร่วมมือกับองค์กรสหประชาชาติก็กระจายอยู่ทั่วประตูสุขาเช่นเดียวกัน

พาวิลเลียนของ ‘สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ จัดงาน Expo 2020 ด้วยงบลงทุนมหาศาล สถาปัตยกรรมปีกนกเหยี่ยว (ภาพโดย – / AFP)

‘สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ ยังแสดงออกชัดแจ้งว่าอาสาเป็นตัวกลางในการหาทางออกต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ผ่านการปรากฏตัวของพาวิลเลียนประเทศต่าง ๆ ที่เคยขุ่นข้องหมองใจทางการทูต ไม่ว่าจะเป็น ‘การ์ตา’ ที่เคยมีข้อพิพาทถึงขั้นห้ามบินผ่านน่านฟ้า หรือ ‘ปาเลสไตน์’ ที่เพิ่งขัดใจกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อคราวเกิดวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์

(ไม่วาย เขียนหน้าพาวิลเลียนไว้ตัวใหญ่ว่า “แต่ก่อนเรียกว่าปาเลสไตน์ วันนี้ก็ยังเป็นปาเลสไตน์ ” โดยรู้ว่าตั้งอยู่ใกล้กับพาวิลเลียนของอิสราเอลเพียง 2 นาที )

ในหมู่ประเทศตะวันออกกลางมีเพียงอัฟกานิสถานที่รัฐบาลเพิ่งถูกโค่นล้มโดยตาลีบันเท่านั้นที่ไม่ได้มาออกร้านงานแฟร์ขนาดใหญ่ครั้งนี้

นิยามของการเคลื่อนที่ก้าวพ้นมิติเวลาและพื้นที่ไปแล้ว

“การเคลื่อนที่” หรือ “Mobility” เป็นหนึ่งในสามธีมใหญ่ หากจะว่ากันตามความคาดหวังทั่วไปก็นับว่าไม่ผิดหวัง ในงานนี้เราพบกับการโชว์แคปซูลโดยสารสำหรับไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) แบบใหม่ในพาวิลเลียนของยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์อย่าง DP World มีโชว์บินเครื่องบินผาดโผนจากฝรั่งเศส

ส่วน ‘ไทย’ เปิดตัวด้วยสุพรรณหงส์และราชรถเพื่อนำไปสู่การแนะนำรถไฟความเร็วสูง พลังงานไบโอจากข้าวโพด ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินและการท่องเที่ยว ก่อนปักหมุดนำเสนอตนเองเป็นหนึ่งในปลายทาง (Destination) ของโลก

อาคารแสดงประเทศไทย มีผู้เข้าชมเฉลี่ยวันละ 8,000 คน และได้พื้นที่จัดงานใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ร่วมจัดงานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

ประเทศมหาอำนาจที่เป็นที่จับตามองอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ยกจรวดฟอลคอนของบริษัทสเปซเอ็กซ์ขนาดใหญ่มาตั้ง ส่วนจีนเอารถไฟความเร็วสูงและรถยนต์พลังงานสะอาดมาโชว์ เกือบจะดีสมศักดิ์ศรีมหาอำนาจ ถ้าไม่มีประเทศโชว์เหนือด้วยการตีความคำว่า ‘การเคลื่อนที่’ พ้นออกเหนือมิติของเวลาและพื้นที่ไป

อาคารแสดงนิทรรศการ ‘สหรัฐอเมริกา’

ภายใต้ภาวะโควิด-19 ที่ทำให้การเคลื่อนที่ทางกายภาพหยุดชะงักไปกว่าปี การเคลื่อนที่แบบใหม่ได้รับความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ นี่เองที่ทำให้พาวิลเลียน ALIF หนึ่งในพาวิลเลียนใหญ่ของเมืองดูไบเจ้าภาพที่นำเสนอธีมการเคลื่อนที่ นอกจากเสนอคำประกาศกร้าวของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่จะพาโลกอาหรับสู่ดวงจันทร์แล้ว ยังให้ความสำคัญกับความเคลื่อนที่ทางความรู้ผ่านการเชื่อมต่อดิจิทัลอันนำมาสู่การเคลื่อนที่ของภูมิปัญญามหาศาลที่เชื่อมต่อกันทั้งโลก

ซึ่งนอกจากพาวิลเลียนธีมของเจ้าภาพแล้วอีกประเทศหนึ่งที่ตีความได้อย่างลึกล้ำคือ ‘เกาหลี’ ที่นำเสนอการเชื่อมต่อจากอดีตสู่ปัจจุบันผ่านวัฒนธรรม Pop Culture ที่นำมาสู่การเคลื่อนของวัฒนธรรมที่ก้าวพ้นมิติของเวลาและพื้นที่ และรัสเซียที่นำเสนอพื้นฐานการเชื่อมโยงของระบบประสาทภายในร่างกายมนุษย์ผ่านแนวคิดของนักจิตวิทยาชาวรัสเซียและขยายมาสู่การเชื่อมโยง เคลื่อนที่ โยกย้ายของอารยธรรมมนุษยชาติที่ก้าวพ้นกรอบของการนิยมของรัฐชาติ

อาคารนิทรรศการของรัสเซีย ด้านในสื่อความหมายถึงการเคลื่อนที่ และเชื่อมต่อของเซลล์สมองมนุษย์

สัญลักษณ์ของประเทศแถวหน้าคือการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ตั้งแต่องค์กรสหประชาชาติประกาศ 12 เป้าหมายเพื่อความยั่งยืนก็เป็นที่แน่ชัดว่าหลังจากนี้โลกจะแข่งด้วยความยั่งยืน พาวิลเลียนจากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วจึงพร้อมใจนำเทคโนโลยีเรื่องนี้มาแสดงกันอย่างกินกันไม่ลง

ประเทศรายได้สูงจำนวนมากมุ่งเน้นการแสดงความก้าวหน้าในการจินตนาการเมืองแห่งอนาคต สิงคโปร์เสนอโมเดลเมืองที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว โปแลนด์เสนอการอยู่กับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร ส่วนโจทย์ของอินเดียเสนอเมืองที่จะสามารถรับรองประชากรจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็สามารถเลี้ยงตนเองด้วยอาหาร เคลื่อนที่สะดวก และต้องเป็นเมืองที่ทำให้คนสุขภาพดี

Terra รูปเห็ด ที่เจ้าภาพดูไบจัดขึ้นรวมธีมความยั่งยืน

ในฐานะเจ้าภาพ ‘ดูไบ’ ออกตัวด้านความยั่งยืนด้วยสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่ชื่อ Terra ออกแบบเป็นรูปเห็ด สามารถดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ตลอดจนเก็บน้ำฝนมากักเก็บได้ในปริมาณมหาศาล ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางพลังงานและความมั่นคงทางน้ำที่นอกจากเป็นโจทย์ของโลกแล้ว ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญสำหรับเมืองใหญ่กลางทะเลทรายอย่างดูไบที่พยายามหาทางออกมาตลอดในภาวะที่ทรัพยากรน้ำมันกำลังนับถอยหลัง

ส่วนหนึ่งของนิทรรศการออกแบบมาปิดแผลความมั่นคงทางอาหารที่ดูไบถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเสมอว่าดูดซับเอาทรัพยากรอาหารจำนวนมหาศาลจากทั่วโลกมาเติมเต็มภาวะบริโภคล้นเกินในเมืองใหญ่ กล่าวคือเจ้าภาพนำเสนอนิทรรศการอาหารแห่งอนาคตที่จะปลูกต้นไม้สำหรับบริโภคและเลี้ยงปศุสัตว์ให้รอดในทะเลทราย ขณะเดียวกันก็พัฒนาพันธุ์ปลาที่จะอยู่รอดในภาวะน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นทุกวัน

ปัญหาน้ำทะเลเพิ่มระดับสูงขึ้นเป็นปัญหาที่นิทรรศการเจ้าภาพให้ความสำคัญเป็นพิเศษในหมวดสิ่งแวดล้อม สาเหตุหนึ่งเพราะเกาะที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จัดการถมทะเลจะอยู่หรือจะไปก็ขึ้นกับปัญหานี้เช่นกัน

อย่างไรก็ดีนิทรรศการนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังขาดการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง ยกตัวอย่างส่วนหนึ่งในนิทรรศการที่ให้ผู้ชมเลือกว่าจะเลิกใช้มือถือเพื่อแลกกับการที่โลกร้อนน้อยลงหรือไม่ โดยไม่ได้กล่าวถึงปัจจัยหลักอย่างการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ

นิทรรศการภายในพาวิลเลียนเยอรมนี

ประเทศที่ได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นเจ้าแห่ง World Expo หลากหลายยุคอย่างเยอรมนีเองที่นำเสนอเรื่องพลังงานได้อย่างกว้างขวางครอบคลุม ตั้งแต่แผนการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานแบบทดแทนไม่ได้มาเป็นพลังงานที่ทดแทนได้ของเยอรมนีและโลก ไปจนถึงการจินตนาการรูปแบบพลังงานใหม่ ๆ ที่อาจเข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้แหล่งพลังงานของโลกยั่งยืนขึ้น เช่น พลังงานใต้ผืนโลก พลังงานจากมหาสมุทรเป็นต้น

ขณะที่อีกประเทศหนึ่งที่นำเสนอเรื่องนี้ได้อย่างดีเยี่ยมคือเนเธอร์แลนด์ซึ่งเสนอโมเดลพลังงานใหม่ที่สามารถสร้างได้ไม่เพียงแต่พลังงาน แต่ยังสกัดน้ำจากอากาศได้และสร้างบรรยากาศที่เอื้อแก่การปลูกพืชในสภาพแวดล้อมที่อาจปลูกพืชได้ยาก

พาวิลเลียนของสหราชอาณาจักรในงาน Expo 2020 Dubai เป็นโครงสร้างประติมากรรมไม้ที่เฉลิมฉลองความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความร่วมมือ โดยเน้นว่าเป็นสถานที่นัดพบของวัฒนธรรมและแนวคิด Poem Pavilion สร้างโดยศิลปินและนักออกแบบ Es Devlin ใช้อัลกอริธึม การเรียนรู้ด้วยเครื่องขั้นสูงเพื่อแปลงข้อมูลของผู้เยี่ยมชมให้เป็นบทกวี (ภาพโดย Giuseppe CACACE / AFP)

หลายประเทศ ก็มาเพื่อ Branding ล้วน ๆ

หลายประเทศมองงาน World Expo ในฐานะงานประกาศจุดยืนทางการเมืองบนเวทีโลกทั้งการเมืองเชิงอำนาจและเชิงวัฒนธรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้หลายว่าหลายประเทศอีกเหมือนกันก็มองในฐานะโอกาสที่จะ ‘วางแผง’ สร้างแบรนดิ้งเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและเงินลงทุนเข้าประเทศ

สถาปัตยกรรมสุดล้ำด้วยงบลงทุนจำนวนมาก ของพาวิลเลียนประเทศซาอุดีอาระเบีย

ประเทศที่หลายคนจับตาในฐานะหนึ่งในยักษ์ใหญ่แห่งตะวันออกอย่างอิหร่านเลือกที่จะพับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเก็บไว้แล้วนำเสนอนิทรรศการเรื่องพรมเปอร์เซียแสนสวย อาคารประดับด้วยหัวเสาอารยธรรมเปอร์เซียประกอบกับการแสดงด้านวัฒนธรรม ประเทศซาอุดีอาระเบียมีพาวิลเลียนที่ก่อสร้างด้วยงบประมาณแพงระยับ แลดูโมเดิร์นแต่นิทรรศการประกอบด้วยแบบจำลองเมืองเก่า จอขนาดยักษ์ฉายภาพสถานที่ท่องเที่ยว (ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสวยและดึงดูดให้ไปเที่ยวจริง ๆ ) และบันไดเลื่อนสู่ทางออก อิตาลีโชว์งานดีไซน์เก๋ไก๋ด้วยพาวิลเลียนขนาดใหญ่อลังการเส้นทางวนนำไปสู่แบบจำลองห้องแล็บในอิตาลี ห้องสมบัติโรมันโบราณ สวนจำลองชนบทในทัสคานีและรูปปั้นเดวิดใหญ่ยักษ์

หุ่นยนต์แสดงคำแนะนำการป้องกันโควิด-19 ที่งาน Expo 2020 มหานครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ภาพโดย Giuseppe CACACE / AFP)

ขณะที่สำหรับหลายประเทศ งาน World Expo เป็นโอกาสอันดีที่จะเสนอภาพสวยงามของประเทศต่างจากภาพข่าวที่มีนำเสนออยู่ทั่วไป เมียนมาที่เพิ่งผ่านการรัฐประหารประดับพาวิลเลียนด้วยผ้าผวยจากชาติพันธุ์ต่าง ๆ แสดงถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมียนมา มีโมเดลเจดีย์ทองชเวดากอง แสดงถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมตั้งอยู่ในพาวิลเลียน ผลงานเหล่านี้มาจากรัฐบาลก่อนที่มอบหมายให้ภาคเอกชนเมียนมาระดมทุนและจัดการโดยให้สิทธิเด็ดขาด แต่ก็มีเสียงเล่าอยู่เช่นกันว่ารัฐบาลปัจจุบันพยายามจะเข้ามาดูแลและจัดให้แม่ทัพนายกองของเมียนมาเวียนมาดูนิทรรศการ

เยเมน ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างหนักนำเสนอโอทอปอย่างน้ำผึ้งและกาแฟ ขณะที่ซีเรียที่เพิ่งผ่านภัยสงครามไม่ได้พูดเรื่องการก่อร่างสร้างเมืองใหม่ ไม่ได้นำเสนอเนื้อหาตามธีมใด แต่นำเสนอที่มาที่ไปของตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกจากอารยธรรมเมโสโปเตเมียผ่านแท็บเล็ตหลายร้อยเครื่องที่ประดับรอบพาวิลเลียน

งาน World Expo 2020 เป็นงานอีเวนต์ที่ไม่ใช่งานกีฬาขนาดใหญ่งานแรกของโลก ที่มีการจัดขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ออกฤทธิ์รุนแรงต่อเนื่องจนทำให้ภาคธุรกิจและการลงทุนหยุดชะงัก

การเปิดงานครั้งนี้จึงมีนัยมากกว่าการแสดงซอฟต์เพาเวอร์ของแต่ละประเทศ แต่ถูกคาดหวังด้วยว่าจะกระตุ้นการลงทุนระหว่างประเทศไม่มากก็น้อย ทั้งผ่านความประทับใจในการเข้าเยี่ยมชมพาวิลเลียน นำไปสู่การท่องเที่ยวหรือการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศต่อเวทีโลกในระยะยาวเพื่อดึงดูดสายตานักลงทุน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า