ผู้ค้าที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ เข้าร้องขอความเป็นธรรม หลังมีหนังสือเรียกคืนเงินโครงการเราชนะ โดยมียอดตั้งแต่หลักแสน และบางรายสูงถึงหลักล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง ยังได้สั่งระงับใช้ถุงเงินร้านค้าไปแล้วกว่า 2,000 ราย เหตุทำผิดเงื่อนไข พร้อมให้เข้ายื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วันหลังวันที่แจ้ง
โดยผู้ค้ากลุ่มจำนวนหนึ่ง เผยว่า ได้เอกสารแจ้งให้เงินคืนกว่า 8 แสนบาท จากการขายสินค้าหน้ากาก อนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ โดยการออกบูธตามจังหวัดต่างๆ ทำให้ต้องมีการใช้โทรศัพท์ล็อกอินหลายเครื่อง โดยยืนยันว่า ทำตามเงื่อนไขทุกอย่าง ผู้ค้ามองว่า
การส่งเอกสารเรียกคืนเงินมีลักษณะเหมือน “หว่านแห” จึงรีบนำหลักฐานการออกบูธ มาชี้แจงเพื่อให้ตรวจสอบ
ขณะที่ผู้ค้าผ้าไหมรายหนึ่ง เดินทางมาจาก จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า หลังได้รับหนังสือเรียกคืนเงิน จำนวน 1 ล้าน 3 แสนบาท ตัดสินใจเดินทางมา กทม. เข้าร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ช่วยเรื่องนี้ เธอยอมรับว่าตอนสมัครโครงการไม่ได้อ่านเงื่อนไขอย่างละเอียด จึงมีการขายนอกพื้นที่ ขายออนไลน์ รวมทั้งมีคนมาขอแลกเงินสดเพราะเดือดร้อน และตลอดการร่วมโครงการหลายเดือน ไม่มีหนังสือแจ้งเตือนส่งมา จึงเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้
“น่าจะสแกนนอกพื้นที่ แล้วก็ออนไลน์ เราจะให้เพื่อนเข้าระบบถุงเงินของร้าน แล้วก็สแกน คือเราจะส่งสินค้าไปตามทีหลัง อันนี้คือไม่รู้จริงๆ ว่ามันผิดเงื่อนไข เพราะว่าถามธนาคาร ธนาคารบอกว่าทำได้ค่ะ เหมือนแบบว่าเราทำมานานแล้ว แต่เขาไม่ได้บอกว่ามีข้อผิดพลาดอะไร เขาไม่ได้ส่งจดหมายมาเตือนอะไรเลย 1 ล้าน 3 แสน เป็นยอดขายจริงๆ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ขายออนไลน์ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์น่าจะเป็นที่คนเอามาแลก เพราะว่าบางคนเขาไม่มีเงิน เขาจะไปโรงพยาบาลค่ะ บางคนเขาจ่ายค่าเทอม ค่าหมอ ค่ายา ค่ารักษาพยาบาลค่ะ ก็คิดว่ามันไม่ผิดอะไรค่ะ ก็คิดว่าไม่มีเงินจ่าย ถ้าให้ติดคุกก็จะยอมค่ะ เพราะว่าอย่างไรเราก็ไม่มีเงินใช้คืนเขาอยู่แล้วตั้ง 1 ล้าน 3 แสนบาท” ผู้ค้าผ้าไหม กล่าว
ด้าน นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงยุติธรรม อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ชี้ ปัญหาเกิดจากรัฐ ไม่ปรับเงื่อนไขให้เข้ากับสถานการณ์ พร้อมเสนอว่าให้มีการตรวจสอบใช้ชัดเจน ในกรณีผู้ที่ให้แลกเงิน ว่ามีจำนวนกี่ครั้ง กี่บาท ออกจากยอดการขายด้วย
“โครงการเราชนะ ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ วันที่ออกมานั้นถึงมีข้อจำกัดเยอะพอสมควร เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชน เขาถึงบอกห้ามสแกนออนไลน์ ห้ามสแกนข้ามเขต อันนี้คือคนคิดนโยบาย พอรันนโยบายมาช่วงหนึ่ง เกิดวิด-19 ระบาด ตอนนั้นคนคิดนโยบายไม่ได้คิดว่าจะมีโควิดระบาด อย่าลืมว่ารัฐบาลมีคำสั่งปิด 29 จังหวัด ปิดตลาดนัด ปิดร้านค้า ปิดทุกอย่าง แต่ไม่ได้สื่อสารกับชาวบ้านที่ขายของ พอปิดบางคนก็ย้ายกลับบ้าน บางคนอยู่ภูเก็ตก็กลับไปบึงกาฬ มันเกิดปัญหาจากการที่รัฐออกคำสั่ง ทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบ คนที่ขายออนไลน์ด้วยเขาก็ไปถามธนาคาร ว่าเขาออนไลน์ได้ไหม ธนาคารก็ตอบว่าออนไลน์ได้ ในใบกรอกของธนาคารกรุงไทยก็มีติ๊กว่าออนไลน์ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีการสื่อสารกับชาวบ้าน แล้วมันจะเป็นความผิดชาวบ้านไหมครับ กระทรวงการคลังต้องตอบสิ เขารับแลกเงินกี่ครั้ง สมมติว่าเขารับแลกเงินค่าครั้ง บอกเขาได้ไหมว่าเท่าไหร่ ก็ให้เขาคืนส่วนต่าง” นายสามารถ กล่าว