SHARE

คัดลอกแล้ว

เศรษฐกิจไทย ณ วันนี้ ภาคการผลิตไม่ใช่คำตอบ เพราะความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกของไทยกำลังลดลงเรื่อยๆ 

หลายอุตสาหกรรมในไทย เช่น รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาเทคโนโลยีช้ากว่าประเทศอื่นๆ รวมถึงไม่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างมีนัยสำคัญจากภาครัฐ 

จนมีคำพูดที่ว่า “โลกเริ่มไม่สนใจไทย” และไทยกำลังถูกทิ้งห่างด้านความสามารถในการแข่งขัน 

ในยุคโควิดยิ่งเห็นชัดว่า ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

เมื่อเจอปัญหาแบบนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจไทยมีทางออกอื่นอีกหรือไม่ รวมถึงภาคบริการและการท่องเที่ยวยังพอจะเป็น “ตัวแบก” ทางเศรษฐกิจต่อไปได้อีกไหม

ในบทความนี้ ผู้เขียนย่อยงานวิจัยของ KKP Research หัวข้อ “เมื่ออุตสาหกรรมแข่งไม่ไหว หรือภาคบริการคือคำตอบของไทย” มาให้อ่านแบบเข้าใจง่ายๆ

———————————————

KKP Research วิเคราะห์ว่า ในเมื่อภาคอุตสาหกรรมของไทยแข่งไม่ไหว คำตอบของเศรษฐกิจไทยจึงอาจเป็น “ภาคบริการ”

แต่ประเด็นสำคัญคือ ต้องไม่ใช่ภาคบริการแบบเก่าอย่างที่ไทยเคยทำมา เพราะสุดท้ายภาคบริการเดิมเป็นได้แค่ตัวตามทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถนำได้

คำถามก็คือ มีภาคบริการแบบเก่า ก็หมายความว่าต้องมีภาคบริการแบบใหม่
แต่คำว่า “ภาคบริการ” หมายถึงอะไรกันแน่

ตามนิยามแล้ว เราสามารถแบ่ง “ภาคบริการ” ได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 

(1) กลุ่มบริการสมัยใหม่ที่เน้นการใช้นวัตกรรม เช่น กลุ่มสื่อสารและสารสนเทศ
(2) กลุ่มบริการดั้งเดิมที่เน้นการใช้แรงงานทักษะต่ำ และเน้นการค้าระหว่างประเทศ (Low-Skill Tradable Services) เช่น ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจขนส่ง
(3) กลุ่มบริการที่ใช้แรงงานทักษะต่ำและพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก (Low-Skill Domestic Services) เช่น ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์
(4) กลุ่มบริการที่เน้นแรงงานทักษะสูง (High-Skill Intensive) เช่น แพทย์ การศึกษา 

สำหรับไทย เมื่อวิเคราะห์แล้ว จะพบว่า ภาคบริการส่วนใหญ่อยู่ใน “กลุ่มบริการแบบเก่า” ซึ่งมีสาเหตุมาจาก 

1) ภาคบริการไทยที่เติบโตกระจุกตัวเฉพาะในกลุ่มบริการแบบเก่า ทำให้เพิ่มขนาดตลาดยาก เช่น ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง การขนส่งสินค้า การให้บริการสาธารณะ โรงแรมและที่พัก และการก่อสร้าง

ในขณะที่ภาคบริการที่อยู่ใน “กลุ่มบริการสมัยใหม่” ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า ยังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ

และเมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจในประเทศจะชะลอตัวลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ จะทำให้ภาคบริการในไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง

2) ภาคบริการไทยแบบเก่า ไม่ได้ทำหน้าที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง และโรงแรม ไม่ได้มีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม
หรือบริการบางอย่างช่วยสนับสนุนได้ แต่ช่วยในมูลค่าค่อนข้างน้อย เช่น การขนส่งสินค้า

ในขณะที่ภาคบริการแบบใหม่ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมมากกว่า เช่น การบริการให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจ (Professional and Management Consulting Services) การให้บริการวิจัยและพัฒนา (R&D Services) ต่างยังไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างเต็มที่ในภาคบริการของไทย

3) ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยพึ่งพา “ภาคการท่องเที่ยว” สูงมาก

ภาคบริการไทยมีการเติบโตที่ค่อนข้างคงที่ ซึ่งสะท้อนว่าการเติบโตของภาคบริการอื่นๆ ไม่ได้เติบโตได้สูงมาก จนกระทั่งภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศก้าวขึ้นมาเป็นแรงส่งส่าคัญของเศรษฐกิจ จากเดิมที่มีสัดส่วนราว 5% ของ GDP ในช่วงปี 1999-2010 สูงขึ้นเป็นประมาณ 12% ของ GDP ในปี 2019

แต่การพึ่งพาภาคการท่องเที่ยว จะเป็นการฝากเศรษฐกิจไว้กับความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่รุนแรงขึ้น


ภาคบริการไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงในหลายด้าน หากต้องการผลักดันให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และก้าวขึ้นมาเป็นอีกแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทย

โดยสรุปคือ ทิศทางนโยบายของไทยสะท้อนว่า ภาคบริการไทยยังไม่ได้รับการใส่ใจจากนโยบายภาครัฐ และไม่ได้ถูกผนวกเข้าเป็นกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว ทำให้โครงสร้างภาคบริการของไทยยังเป็นภาคบริการแบบเก่า

ภาคบริการไทย จะเป็นคำตอบได้ ต้องปรับตัวให้เป็น “สมัยใหม่” โดยด่วน

KKP Research ชี้ว่าทางออกของเรื่องนี้ คือการปรับตัวไปเป็นภาคบริการสมัยใหม่ (Modern Services)

ตัวอย่างของภาคบริการสมัยใหม่ เช่น บริการทางการเงิน บริการด้านกฏหมาย บริการด้านทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและพัฒนาและการตลาด เรียกรวมๆ ได้ว่า “บริการทางธุรกิจ” หรือ Business Services 

โดยรูปแบบของภาคบริการสมัยใหม่ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมบริษัทในภาคอุตสาหกรรมให้ไม่จำเป็นต้องดำเนินการงานเหล่านี้ภายในบริษัทเอง แต่สามารถใช้บริการบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อประหยัดต้นทุนในการดำเนินงาน และสามารถพัฒนางาน หลัก เช่น การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างเต็มที่

กรณีศึกษาจากประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้สูง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากภาคบริการในสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา 

โดยลักษณะสำคัญของบริการในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ภาคบริการสามารถเติบโตได้ดี เกิดจากองค์ประกอบของภาคบริการที่มักมีลักษณะเป็นบริการสมัยใหม่ในสัดส่วนที่สูง ตัวอย่างเช่น การบริการในกลุ่มไอที คอมพิวเตอร์ ภาคการเงิน และผู้เชี่ยวชาญในการช่วยเหลือธุรกิจ (Professional Business Services) 

โดยสัดส่วนของประเทศพัฒนาแล้ว มีภาคบริการสมัยใหม่สูงถึง 30-40%
ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีสัดส่วนภาคบริการสมัยใหม่เพียง 10-20%
สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนภาคบริการสมัยใหม่อยู่ประมาณ 14% ของ GDP เท่านั้น
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ภาคบริการไทยยังคงตามหลังประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก

แล้วทางออก-ทางรอดของเรื่องนี้ อยู่ที่ไหน?

คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่ “นโยบายภาครัฐ” 

ถ้ารัฐไทยผลักดันภาคบริการสมัยใหม่ได้ จะทำให้
-เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ
-เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในทางอ้อม
-เพิ่มความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจไทยในมิติของการกระจายความเสี่ยง
-ลดการพึ่งพาการส่งออกในยุคของ De-Globalization
-สร้างโอกาสให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาจากลักษณะของภาคบริการที่พึ่งพาแรงงานเป็นหลัก 

แต่ประเด็นสำคัญคือ รัฐไทยจะต้องผนวกเรื่องนี้เข้าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว และจำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายในอย่างน้อย 4 เรื่องหลัก ดังนี้

1) ปฏิรูปกฎระเบียบ (Regulatory Reform)
สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ในภาคบริการ ลดการปกป้องบริษัทที่อยู่ในตลาด เพราะการเพิ่มการแข่งขันจะมีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มผลิตภาพการบริการและรายได้ให้สูงขึ้นได้

2) ปฏิรูป ปรับปรุงระบบการศึกษา พัฒนาทักษะแรงงาน
การพัฒนาภาคบริการจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากแรงงานที่มีทักษะสูง นี่คือวัตถุดิบสำคัญของภาคบริการซึ่งต่างจากภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น นโยบายปฏิรูปการศึกษาจะเป็นนโยบายระยะยาวที่สำคัญที่สุดในการช่วยปรับโครงสร้างตลาดแรงงาน เพื่อทำให้ภาคบริการของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงและแข็งแกร่งขึ้น

3) การลดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของภาคบริการ
การสนับสนุนให้มีการค้าระหว่างประเทศอย่างเสรี จะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านของการขยายฐานตลาดเพื่อส่งออกบริการในอนาคต และการเพิ่มการแข่งขันต่อภาคบริการในประเทศ เพื่อให้ภาคบริการสามารถพัฒนาและปรับปรุงได้เร็วมากยิ่งขึ้น 

4) เปิดเสรีภาคบริการ เพื่อให้ตลาดแรงงานและตลาดทุนทางการค้าระหว่างประเทศแข็งแกร่ง
ภาคบริการถือเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับการปกป้องมากที่สุดของไทย การเปิดเสรีจะช่วยให้การพัฒนาภาคบริการเกิดเร็วขึ้น

โดยเฉพาะกรณีของประเทศไทย ที่กำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุ จำนวนแรงงานลดลงเรื่อยๆ ต่อไปจะขาดแคลนแรงงานมีทักษะ 

แต่ตอนนี้ปัญหาคือ กฏระเบียบการเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างชาติในหลายกลุ่มอาชีพแรงงานที่มีฝีมือ ยังมีกฏระเบียบที่ซับซ้อน เช่น แม้จะเปิดเสรีตามเขตการค้าเสรีอาเซียน แต่ยังต้องใช้การสอบเป็นภาษาไทย นี่คืออุปสรรคกีดกันไม่ให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาในภาคบริการ

การพัฒนาภาคบริการในระยะยาวจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง

การวางแผนนโยบายเศรษฐกิจระยะยาวจำเป็นต้องพิจารณาโอกาสของภาคบริการในการเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มไปด้วย การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้หรือการพัฒนาบริการเชิงสร้างสรรค์จะเป็นอีกหนึ่งทางออกของไทย

อ้างอิงที่มาของข้อมูล – งานวิจัยจาก KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร” หรือ “เกียรตินาคินภัทร (KKP)

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ เมื่ออุตสาหกรรมแข่งไม่ไหว หรือภาคบริการคือคำตอบของไทย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า