วิษณุ เชื่อ รมต.แต่ละกระทรวงอยากไปตอบกระทู้สดเอง ส่วน 3 รมต.ตอบแทนเป็นแค่เตรียมการ ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านขู่ขาดอีกจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด
วันที่ 10 พ.ย. 2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้ตนเอง พร้อมด้วยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎรแทน หากรัฐมนตรีที่ถูกถามติดภารกิจไม่สามารถมาคำถามได้ ว่า ไม่ถึงขนาดตอบกระทู้แทน เพราะโดยปกติหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไม่ว่าง จะมีรัฐมนตรีช่วยเป็นผู้ตอบคำถามแทน หรือหากรัฐมนตรีไม่อยู่ เช่นติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ จะมีรองนายกรัฐมนตรีที่รักษาการแทนทำหน้าที่เช่นกัน
“คงไม่ถึงขั้นที่จะต้องให้ รัฐมนตรีที่สมัครใจไปตอบกระทู้แทนง่ายๆ เพราะแต่ละคนคงเลือกไปตอบกระทู้เอง หรือมอบรัฐมนตรีช่วยไปตอบ เพียงแต่เป็นการเตรียมการไว้ เผื่อแสดงถึงความร่วมมือกับสภาไม่ให้ขาดหายไป เพราะบางที รัฐมนตรีก็สมัครใจไปตอบกระทู้แทน แต่คนถามอยากฟังการตอบกระทู้จากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรง” นายวิษณุ กล่าว
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กระทู้ในปัจจุบันมีมากกว่าในอดีต แต่อยากให้รัฐมนตรีมาตอบกระทู้เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน แต่เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการตอบกระทู้แล้ว ยืนยันว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ มาตอบกระทู้มากเป็นพิเศษ และเพิ่งพบปัญหาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีการนัดประชุมคณะรัฐมนตรีตรงกับการนัดประชุมสภา แต่ยังสงสัยว่าเมื่อสภาฯ ยืนยันไปแล้วจะมีการประชุมในวันพฤหัสบดี เหตุใดคณะรัฐมนตรี จึงมีการนัดประชุมในวันเดียวกันอีก อย่างไรก็ตามการตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจารัฐมนตรีจะทราบว่าจะต้องมาตอบกระทู้ คือช่วงเช้าของวันประชุม ทำให้รัฐมนตรีหลายคนไม่ทราบกำหนดการล่วงหน้า ซึ่งบางครั้งติดภารกิจไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้ จึงได้ประสานกับนายวิษณุ ให้เน้นย้ำให้รัฐมนตรีมาตอบกระทู้
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า ตามปกติระบบรัฐสภาให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ สามารถตั้งกระทู้ถามสด ซึ่งรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องต้องมาตอบ ยกเว้นกรณีที่เป็นกฎหมาย หรือเรื่องคอขาดบาดตายมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศหรือของรัฐเท่านั้น ความหมายคือต้องมีมติ ครม.แจ้งมาว่าเรื่องนี้ตอบไม่ได้ แต่รัฐมนตรีจะแจ้งว่าติดภารกิจแล้วมาตอบไม่ได้ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ
“ดังนั้นมาตรการหลังจากนี้ ถ้ายังเป็นเช่นเดิมเราอาจต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีให้ช่วยวินิจฉัยชี้ขาด เพราะเราทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายบริหารกลับทำตัวตรวจสอบไม่ได้ ก็ต้องมีคนมาชี้ขาดตามกลไกรัฐธรรมนูญ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรเราไม่ว่า เพราะเราทำตามหน้าที่” นพ.ชลน่าน กล่าว