เปิดเบื้องหลังองค์การอนามัยโลกเลือก ‘โอไมครอน’ เป็นชื่อโควิดสายพันธุ์ล่าสุด ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการสับสน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังถูกมองว่า มีเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศมาเกี่ยวด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
เรื่องราวของเรื่องนี้เป็นอย่างไร วันนี้ workpointTODAY สรุปให้เห็นภาพเป็นข้อๆ
1.) วันที่ 26 พ.ย. 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 ซึ่งเพิ่งค้นพบล่าสุด เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) พร้อมตั้งชื่อสายพันธุ์ดังกล่าวว่า ‘โอไมครอน’ (Omicron)
2.) ชื่อ ‘โอไมครอน’ เป็นไปตามหลักการตั้งชื่อไวรัสโควิดขององค์การอนามัยโลก ที่จะนำชื่อตัวอักษรกรีกมาใช้เรียก เพื่อแก้ปัญหาการเรียกสายพันธุ์ไวรัสตามชื่อประเทศที่พบ ซึ่งอาจนำไปสู่อคติต่อประเทศนั้นๆ
3.) ตัวอย่างชื่อตัวอักษรกรีกที่ถูกนำมาใช้แล้ว เช่น สายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา รวมถึงล่าสุดคือสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งสายพันธุ์เหล่านี้ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) นอกจากนี้ยังมีไวรัสโควิดสายพันธุ์แลมป์ดาและมิว เป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกกำลังจับตา (VOI) ซึ่งเป็นชื่อตัวอักษรกรีกเช่นกัน

COVID-19 lateral flow test with variants using Greek Alphabet with PPE facemask
4.) ในตอนแรกที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศชื่ออย่างเป็นทางการ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ชื่อของไวรัสสายพันธุ์ B.1.1.529 จะใช้ชื่อว่า ‘นิว’ (Nu) ซึ่งเป็นตัวอักษรกรีกที่ต่อจากมิว ที่เป็นชื่อสายพันธุ์โควิดไปแล้ว
5.) อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกกลับเลือกใช้ชื่อ ‘โอไมครอน’ ซึ่งถ้าเป็นไปตามลำดับแล้วก็เท่ากับว่า องค์การอนามัยโลกไม่ได้ข้ามแค่ชื่อ ‘นิว’ เท่านั้น แต่ยังข้ามการใช้ชื่อ ‘ไซ’ (Xi) ซึ่งเป็นชื่อตัวอักษรกรีกต่อจากนิว และอยู่ก่อนหน้าโอไมครอนด้วย
6.) คนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่า ทำไมองค์การอนามัยโลกถึงข้ามชื่อตัวอักษรกรีกไปถึง 2 ชื่อ จนกระทั่งมีคำตอบที่ไม่เป็นทางการออกมาจากนายพอล นูกิ บรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์เทเลกราฟที่อ้างแหล่งข่าวว่า เป็นความตั้งใจขององค์การอนามัยโลกจริงๆ ที่ข้ามทั้งสองชื่อนี้ไป
A WHO source confirmed the letters Nu and Xi of the Greek alphabet had been deliberately avoided. Nu had been skipped to avoid confusion with the word "new" and Xi had been skipped to "avoid stigmatising a region", they said.
All pandemics inherently political!
— Paul Nuki (@PaulNuki) November 26, 2021
7.) บรรณาธิการของเทเลกราฟระบุว่า การข้ามชื่อ ‘Nu’ และ ‘Xi’ เป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน โดยหากเรียกไวรัสใหม่ว่า ‘Nu’ อาจไปพ้องกับคำว่า ‘New’ และอาจทำให้หลายคนคิดว่านี่เป็นไวรัสใหม่ได้
8.) ขณะที่การเลี่ยงใช้ชื่อไวรัสว่า ‘Xi’ เนื่องจากคำดังกล่าวไปพ้องกับชื่อนายสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีของจีน ซึ่งก็อาจทำให้คนสับสนเช่นกัน แม้จริงๆ แล้วจะออกเสียงตัวอักษรกรีกนี้ว่า ‘ไซ’ ก็ตาม
9.) หลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า หากนี่เป็นเหตุผลที่แท้จริงขององค์การอนามัยโลก ก็จะสะท้อนให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วทุกเรื่องล้วนเกี่ยวข้องและอาจเป็นประเด็นทางการเมืองได้ทั้งสิ้น
If the WHO is this scared of the Chinese Communist Party, how can they be trusted to call them out the next time they're trying to cover up a catastrophic global pandemic? https://t.co/wURdLcdqw2
— Ted Cruz (@tedcruz) November 26, 2021
10.) ขณะที่นายเท็ด ครูซ สมาชิกวุฒิสภารัฐเท็กซัส จากพรรครีพับลิกันมองว่า หากองค์การอนามัยโลกกลัวพรรคคอมมิวนิสต์จีนขนาดนี้ แล้วจะเชื่อมั่นในองค์การอนามัยโลกได้อย่างไรว่า จะไม่ปกปิดข้อมูลหากมีโรคระบาดเกิดขึ้นในครั้งหน้า