SHARE

คัดลอกแล้ว

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในภาวะวิกฤตแบบนี้ ไม่ใช่การแบ่งแยก เชื้อชาติ สัญชาติ หรือสถานะทางสังคม คุณค่าความเป็นคนของทุกคนเท่ากันไม่ว่าจะทำอะไร เพราะฉะนั้นไม่ควรมีใครที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังเพียงเพราะแค่เขาไม่ได้มีฐานะเหมือนเรา มันไม่ใช่ช่วงที่จะแบ่งแล้วว่าใครเป็นใคร” – โอ๋ (สงวนชื่อจริงและนามสกุล)

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในประเทศมาตั้งแต่ต้นปี 2020 และจะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมต่อไปอีกพอสมควร ซึ่งเมื่ออุตสาหกรรมหลายประเภทต้องปิดตัวหรือหยุดชะงัก กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทย 

แรงงานหลายคนไม่มีบ้าน ไม่มีหลักประกันอะไรเพื่อความมั่นคงในชีวิต บางคนมีครอบครัวที่รออยู่อีกประเทศหนึ่ง ด้วยเหตุผลเหล่านี้ แรงงานทุกคนจึงคาดหวังรายได้และสวัสดิการจากการทำงานในประเทศไทย ซึ่งเดิมทีค่อนข้างมั่นคง มีรายได้สม่ำเสมอ แต่เมื่อทุกคนต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ จึงได้ทราบว่า ชีวิตของพวกเขาอยู่บนความไม่แน่นอนเพียงใด 

“การเป็นแรงงานแทบจะเข้าไม่ถึงสิทธิเลย เข้าถึงเงินเยียวยายากมาก ด้วยความที่เราไม่รู้กฎหมาย การเข้าถึงแหล่งสวัสดิการมันยาก ตอนนี้ก็เลยไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ”

เสียงเรียกร้องของ “โอ๋” (สงวนชื่อจริงและนามสกุล) นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลูกของแรงงานข้ามชาติ สัญชาติมอญ-เมียนมาสะท้อนถึงความเดือดร้อนของแรงงานข้ามชาติที่หนักหนาสาหัส แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยาในฐานะแรงงานอย่างเพียงพอ

ถูกเอารัดเอาเปรียบเนื่องจาก “ไม่รู้กฎหมาย” – “ไม่มีเอกสาร”  

 ปัจจุบันญาติของโอ๋ทำงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และงานรับจ้างทั่วไปในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ช่วงก่อนโควิด สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนได้เงินไม่ต่ำกว่า 9 พันบาทต่อเดือน แต่พอโควิดเกิดขึ้น นายจ้างได้ลดเงินเดือนเหลือเพียง 50% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของครอบครัว และยังไม่มีเงินชดเชยใด ๆ จากทางภาครัฐอีกด้วย

“โอ๋เป็นนักศึกษาไร้สัญชาติ ก็จะไม่ได้รับการเยียวยาในสวัสดิการโครงการจากรัฐทั้งหมดในสถานการณ์โควิด รวมถึงในบริบทของแรงงานก็ไม่สามารถเข้าถึงเงินเยียวยาได้ เช่น คนที่เป็นแรงงานมีประกันสังคม จะได้รับเงินคืน 50% จากการปิดตัวลงของโรงงาน หรือธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้เป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบจากนายจ้าง เนื่องจากแรงงานไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการตรงนั้นได้ แต่นายจ้างสามารถเข้าถึงได้

“หลังจากที่สถานการณ์โควิดหายไป เราคิดว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับการจ้างงานแรงงานข้ามชาติตามมาในภายหลัง เช่น นายจ้างไม่กล้าจ้างงาน ถูกกีดกัน และการตกงานของแรงงาน จึงอยากฝากให้กรมแรงงานหรือหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องเข้ามาส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มแรงงานด้วย” โอ๋กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ นโยบายการเยียวยาความเดือดร้อนของรัฐบาลไทยนั้นมีความซับซ้อน และต้องใช้หลักฐานยืนยันตัวตนจำนวนมาก การเยียวยาจึงเข้าถึงได้เฉพาะแรงงานที่มีความพร้อมในการเตรียมตัวเพื่อติดต่อภาครัฐเท่านั้น 

สำหรับปัญหาของการทำเอกสารราชการ ส่วย (สงวนชื่อและนามสกุล) แรงงานข้ามชาติจากเมียนมา เปิดเผยว่าการที่แรงงานต่างชาติจะทำเรื่องกับหน่วยงานราชการนั้นค่อนข้างลำบาก

“การทำหนังสือเดินทาง (passport) ต่อสัญญาอายุต่าง ๆ ในหน่วยงานไทยคือยาก และลำบากมาก เพราะกฎหมายในการจะทำพาสปอตเปลี่ยนบ่อยมาก แถมยังคิดเงินค่าทำอีก เขาก็ต้องคอยไปเปลี่ยนเรื่อย ๆ มันยุ่งยากและเสียเงินไปเยอะกับพวกนี้” 

เจาะลึกมาตรการเยียวยาแรงงานข้ามชาติ มีอะไรรองรับบ้าง

มาตรการเยียวยาแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด ปกติแล้วคุณภาพชีวิตของแรงงานขึ้นกับความช่วยเหลือของนายจ้าง ซึ่งในหลายกรณีนายจ้างก็มีการใช้ “ช่องโหว่” เพื่อเอาเปรียบลูกจ้าง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกทอดหนึ่ง มาตรการต่าง ๆ อย่างประกันสุขภาพและประกันสังคมมีความซ้ำซ้อน และมีช่องโหว่ที่เกิดจากการตีความกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม 

เราได้พูดคุยกับ กาญจนา อัครชาติ ผู้จัดการฝ่ายคดี ตัวแทนโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ปสุตา ชื้นขจร ผู้ประสานงานโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ และรวีพร ดอกไม้ ผู้ประสานงานโครงการคลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและข้อมูลเชิงลึกของมาตรการเยียวยาแรงงานข้ามชาติ และข้อกำหนดที่เกี่ยวกับสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติ

ปสุตากล่าวว่า ในประเทศไทยหากกล่าวถึงสวัสดิการ จะมีแค่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เหมือนคนไทยที่ใช้บัตร 30 บาทดูแลเรื่องสุขภาพ กับประกันสังคม ถ้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แล้วจะมีสิทธิประโยชน์ทั้งหมด 7 กรณี คือ เกิด ได้ค่าคลอดบุตร ค่าสงเคราะห์บุตร ว่างงานก็ได้รับเงินว่างงาน เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ชราภาพ และเสียชีวิต 

ส่วนกฎหมายอื่น ๆ อย่างเงินสงเคราะห์ด้านต่าง ๆ แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับเลย แม้แต่เงินอุดหนุนเด็กเล็กจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่กฎหมายเขียนว่าให้เด็กทุกคนบนประเทศไทย โดยไม่ได้ระบุสัญชาติ แต่เมื่อไปคุยกับเจ้าหน้าที่ กลับได้คำตอบว่า เด็กจะต้องกลับไปเอาเงินที่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน ขอเงินที่จังหวัดอื่นไม่ได้ ดังนั้นเด็กข้ามชาติที่ไม่มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านจึงหมดโอกาสได้รับเงินส่วนนี้” 

ปสุตาชี้ให้เห็นช่องโหว่ของสิทธิประโยชน์อย่างประกันสังคม ที่รัฐใช้เพื่อเอาเปรียบนายจ้างและแรงงานได้

“7 สิทธิ์นี้เกิดไม่พร้อมกัน อย่างสิทธิ์กรณีเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นต่อเมื่อส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน รัฐบาลเอาตรงนี้เป็นช่องว่าง โดยอ้างกับนายจ้างว่า ก่อนสามเดือนที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคมจะต้องซื้อประกันสุขภาพก่อน ก็มีคำถามตามมาว่าถ้าซื้อประกันสุขภาพไปแล้ว แล้วค่าขึ้นทะเบียนประกันสังคมจะขอเงินคืนได้ไหม เขาบอกว่าได้ แต่ขั้นตอนในการเอาเงินคืนยากมาก”

ปัญหาของการเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมนี้ รวีพร คุณกาญจนา และปสุตามองว่าเป็นเพราะรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเฉพาะ “ประชาชน” ซึ่งหมายถึงเพียงแค่คนที่มีสัญชาติไทย แรงงานข้ามชาติกว่า 3 ล้านคนในประเทศไทยจึงหมดโอกาสได้รับเงินช่วยเหลือ

ช่วงที่มีมาตรการเยียวยาตั้งแต่โควิด-19 ระลอกแรก แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการเยียวยาเลย มาตรการคนละครึ่ง เราชนะ อยู่ภายใต้พ.ร.บ.เงินกู้ชัดเจน พ.ร.บ.เงินกู้ เขียนว่าให้เงินกู้มาสำหรับเยียวยาประชาชน รัฐบาลไทยตีความคำว่าประชาชนหมายถึงคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น แต่ประเทศนี้ไม่ได้มีแค่คนสัญชาติไทย แรงงานข้ามชาติมีจำนวนเกือบ ๆ สามล้านคน และมีคนไร้สัญชาติอีกประมาณห้าแสนคน รวมกันแล้วประมาณสี่ล้านคน แรงงานข้ามชาตินับเฉพาะสามสัญชาติหลัก นับเฉพาะ Non Immigrant L-A (การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว) เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เขียนชัดเจน รัฐจึงตีความและนำมาใช้อย่างที่เห็น 

ส่วนโครงการม.33 เรารักกัน ที่อาศัยคุณสมบัติความเป็นผู้ประกันตน ผู้ประกันตนไม่ได้มีแค่คนไทย แรงงานข้ามชาติก็คือหนึ่งในนั้น แต่รัฐไม่ให้และเขียนในข้อกำหนดโครงการม.33 ว่าต้องเป็นผู้ประกันตนและมีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่ง HRDF เห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติ เพราะก็มีการส่งเงินสมทบเหมือนกัน เงินที่เก็บจากการขึ้นทะเบียนแรงงานก็เอาเข้ากระทรวงการคลังซึ่งนับเป็นการจ่ายภาษี แต่รัฐมนตรีก็บอกว่าเอาให้คนไทยรอดก่อน ก็คือไม่มีโครงการใด ๆ ที่มาสนับสนุนผู้ที่ไม่ใช่คนไทย” ปสุตากล่าว

รัฐบาลเพิกเฉยต่อการเรียกร้องสิทธิเพื่อแรงงานข้ามชาติ

ความเดือดร้อนของแรงงานข้ามชาติเริ่มชัดเจนและทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทางมูลนิธิ HRDF ไม่ได้นิ่งนอนใจ ปสุตาให้ข้อมูลว่า HRDF ได้เข้าไปเรียกร้องเรื่องสิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติ ในเรื่องค่าตรวจสุขภาพของแรงงาน และประกันสังคมให้แก่คณะกรรมาธิการแรงงาน แต่ไม่มีการตอบกลับหรืออธิบายเหตุผลใด ๆ มายังมูลนิธิ ต่อมาจึงยื่นไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะมูลนิธิคิดว่าการที่ไม่เยียวยาแรงงานข้ามชาติ ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็ส่งคำวินิจฉัยกลับมาว่า เงินนี้เป็นเงินของกระทรวงการคลังที่ให้จ่ายประชาชนคนไทยเท่านั้น 

“การตีความคำว่าประชาชนหมายถึงคนไทยเท่านั้น เป็นการลักลั่นทางกฎหมาย ถ้าจะบอกว่าประชาชนหมายถึงคนไทยเท่านั้น กฎหมายอาญาทั้งหลาย กฎหมายการขึ้นทะเบียน กฎหมายฉบับอื่นก็ยกเลิกไปเลย ทางมูลนิธิมองว่าเป็นการตีความที่ตรรกะไม่ได้ เวลานักกฎหมายตีความ ไม่ได้ตีความโดยใช้พจนานุกรม เราใช้การเทียบเคียงบริบท ไม่ได้ตีความตามตัวหนังสือ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินหยิบพจนานุกรมขึ้นมา แล้วบอกว่าคำว่าเชื้อชาติหมายถึงสิ่งนี้ คำว่าสัญชาติหมายถึงสิ่งนี้ ประเด็นที่มาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญไทยเขียนไว้ว่าเชื้อชาติเท่านั้น คำว่าเชื้อชาติตามพจนานุกรมหมายถึงคนที่มีสีผิวเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่คำว่าสัญชาติหมายถึงการที่รัฐมอบสัญชาติให้กับบุคคลธรรมดา 

ดังนั้นจะบอกว่าการที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานไม่จ่ายเงินให้ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานไร้สัญชาตินั้นไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติ ก็รู้สึกว่าตลก (ร้าย) ดีเหมือนกันที่ตีความแบบนี้ แต่มูลนิธิก็ไม่ได้หยุด กำลังดูกระบวนการทางกฎหมายต่อไปว่าจะทำการอุทธรณ์ ไม่ใช่การการอุทธรณ์ตามกฎหมาย คือตามกฎหมายแล้ววัตถุประสงค์ของเราต้องการให้มีการวินิจฉัยว่าโครงการนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในการเลือกมาพิจารณา”

แม้รัฐไทยจะไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ในเรื่องนี้ที่ชัดเจน แต่ความเงียบ และการตีความกฎหมายอย่างที่กล่าวไปนั้น ก็ถือเป็นคำตอบที่หนักแน่นว่ารัฐไทยมองสถานะของแรงงานข้ามชาติอย่างไร ซึ่งการปฏิบัติอย่างนี้ทำให้ทุกฝ่ายที่ดูแลแรงงานข้ามชาติ เห็นปัญหาสะสมชัดเจนขึ้น และต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อช่วยเหลือแรงงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งในเรื่องรายได้ และคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ

“สถานการณ์โควิดทำให้เห็นได้ชัดว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่เดิมทีก็เสียงเบาอยู่แล้ว ได้รับการบริหารจัดการดูแลจากรัฐบาลอย่างไร พอโควิดมา ลูกจ้างหลายคนต่อเอกสารไม่ได้ เพราะสามเดือนเสร็จไม่สามารถจ้างต่อได้แล้ว ประเทศก็ปิด ไม่สามารถเดินทางกลับสู่ประเทศต้นทางได้ แถมยังขาดรายได้อีก ขณะเดียวกันแรงงานบางคนถูกนายจ้างบังคับให้อยู่แต่ในโรงงาน ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ แต่สภาพการจ้างงาน สภาพความเป็นอยู่ แรงงานไม่สามารถอยู่ได้จริง ๆ” รวีพรกล่าว 


ผลงาน “ “เสียงที่รัฐไทยไม่ได้ยิน” : เจาะปัญหาการเยียวยาแรงงานข้ามชาติของรัฐไทยในสถานการณ์ COVID-19” จัดทำโดยผู้เข้าร่วมโครงการอบรม ‘USAID Thailand Counter Trafficking in Persons Project (CTIP): ข้างในคนนอก Media Training Program by workpointTODAY’ สมาชิกประกอบด้วย

อิลหาม มะนะแล
พิชญา ใจสุยะ
จรินญาภรณ์ บัวทอง
อัญชิษฐา รุ่งค้าวิวัฒน์
เอื้อการย์ โรจนจิรไพศาล

ภายใต้การสนับสนุนขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) จัดโดยองค์การ Winrock International ร่วมกับ Love Frankie และ workpointTODAY เป็นโอกาสใหม่ของคนอยากเรียนรู้งานสื่อ ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และความเข้าใจของนักเรียน-ผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ต่อประเด็นแรงงานข้ามชาติ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า