ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา หลายคนอาจเคยได้ยินแนวคิดการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์กันมาบ้าง ในปีนี้ดูเหมือนว่าแนวคิดนี้จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงในประเทศญี่ปุ่นด้วย ที่บริษัทต่างๆ เริ่มเปิดรับแนวคิดนี้มากขึ้น
ล่าสุดคือ ‘พานาโซนิค’ (Panasonic) ที่นำแนวคิดนี้มาใช้ ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยปรับปรุงสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (work-life balance) ให้กับพนักงานเท่านั้น แต่นี่ยังเป็นการส่งเสริมการ Retrain พนักงานของบริษัท และดึงดูดผู้มีความสามารถให้มาทำงานกับบริษัทได้อีกด้วย
โดยพานาโซนิคในประเทศญี่ปุ่นเพิ่งประกาศว่าจะเริ่มเสนอให้หยุด 3 วัน/สัปดาห์ให้กับผู้ที่สนใจ
“เราต้องสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานของเรา” Yuki Kusumi ประธานและซีอีโอของกลุ่มพานาโซนิคกล่าวในการบรรยายสรุปให้กลุ่มนักลงทุนฟัง
โดยพานาโซนิคหวังว่าจะนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้พนักงานมีเวลามากขึ้นให้กับเรื่องส่วนตัวหรือสิ่งที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นงานอาสาสมัครหรือแม้แต่งานเสริม โดยบริษัทที่ดำเนินการในแต่ละแห่งจะมีการแก้ไขรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผลสำรวจในปี 2020 ของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น พบว่า บริษัทญี่ปุ่นเพียง 8% เสนอให้หยุดมากกว่า 2 วัน/สัปดาห์ เพื่อช่วยตอบสนองความต้องการในการใช้ชีวิตส่วนตัวให้กับพนักงาน
โดยบริษัทที่เริ่มใช้นโยบายนี้แล้ว เช่น Yahoo Japan และ Sompo Himawari Life Insurance ซึ่งให้หยุด 3 วัน/สัปดาห์ในปี 2017 สำหรับพนักงานที่ต้องดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทจำนวนมากขึ้นเหมือนจะเริ่มเห็นประโยชน์มากขึ้นของการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์
โดยบริษัทอย่าง Shionogi ซึ่งดำเนินงานเกี่ยวกับการรักษาโควิด-19 ในช่องปาก จะเสนอทางเลือกให้หยุด 3 วัน/สัปดาห์ตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นไป โดยต้องการให้พนักงานมีเวลาเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ มากขึ้น เนื่องจากเป็นการรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น บริการด้านสุขภาพ
ด้านบริษัทพัฒนาระบบอย่าง Encourage Technologies ได้เริ่มใช้แนวทางให้ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ในเดือน เม.ย. 2564 โดยบริษัทระบุว่า พนักงานที่อายุน้อยให้ความสำคัญกับเวลาหยุด ดังนั้น เรื่องนี้ทำให้บริษัทได้เปรียบในเรื่องการว่าจ้าง
ทั้งนี้ ในรายงานการปรับปรุงประสิทธิภาพจากผลสำรวจของ University of Reading ในปี 2019 พบว่า บริษัทในสหราชอาณาจักรมากกว่า 60% ที่ใช้นโยบายทำงาน 4 วัน/สัปดาห์
ขณะที่ Microsoft ญี่ปุ่นได้ทำการทดสอบแนวคิดนี้ในปี 2019 โดยพนักงาน 90% ให้การตอบรับเป็นอย่างดี และท้ายที่สุดเรื่องนี้ก็ช่วยให้บริษัทประหยัดค่าไฟได้ด้วย
นอกจากนี้ ในเดือน ธ.ค. 2020 ยูนิลีเวอร์ในนิวซีแลนด์ก็เริ่มทดลองให้ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ โดยพนักงานจะได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน โดยบริษัทจะพิจารณาขยายแนวคิดนี้ไปยังการดำเนินการในประเทศอื่นๆ ด้วย แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะส่งผลต่อชั่วโมงการทำงานและการผลิตโดยภาพรวมอย่างไร
อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดนี้จะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่บริษัทญี่ปุ่นน้อยกว่า 10% ที่นำแนวคิดนี้ไปใช้จริง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะอุปสรรคด้านโลจิสติกส์
รวมถึงหลายบริษัทในญี่ปุ่นเองก็มักผูกค่าแรงไว้กับจำนวนวันที่ทำงาน เป็นต้น ขณะที่คนทำงานหลายคนก็ยังลังเลในเรื่องการหาเวลาพักผ่อนที่มากขึ้น แถมยังกังวลว่าเพื่อนร่วมงานอาจต้องรับภาระมากขึ้นด้วยเช่นกัน
โดยการหาแนวทางที่เหมาะสมระหว่างนายจ้างแต่ละคนกับพนักงานของตนเอง จะเป็นกุญแจสำคัญในการขยายแนวคิดเรื่องการทำงานในแต่ละสัปดาห์ให้มีจำนวนวันสั้นลง
อย่างบริษัทบำบัดน้ำ Metawater ซึ่งใช้นโยบายทำงาน 4 วัน/สัปดาห์มาตั้งแต่ปี 2019 โดยอาศัยการให้เงินเดือนเท่าเดิม แต่ให้เพิ่มชั่วโมงทำงานในวันทำงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ การที่คนทำงานชาวญี่ปุ่นหลายคนได้ทำงานในชั่วโมงที่น้อยลงกว่าที่เคยเป็นมา สาเหตุสำคัญมาจากการเรียกร้องให้มีการผลักดันการปฏิรูปวัฒนธรรมการทำงานที่ขึ้นชื่อว่าสุดโหดของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงรั้งท้ายกลุ่ม G7 ในด้านผลิตภาพแรงงาน ซึ่งแนวทางทำงาน 4 วัน/สัปดาห์คาดว่าจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และปรับปรุง work-life balance ของคนทำงานในประเทศนี้ได้
ขณะที่รัฐบาลกล่าวว่าจะส่งเสริมแนวคิดนี้ภายใต้แนวทางล่าสุดของนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง ซึ่งจะมีการพิจารณาเพื่ออนุมัติในเดือน มิ.ย.นี้
ที่มา : https://asia.nikkei.com/Business/Business-trends/Panasonic-joins-Japan-s-budding-shift-toward-4-day-workweek