SHARE

คัดลอกแล้ว

#explainer ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และพรรคพวก โดนขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ อย่างไรก็ตาม ในภาพที่เหมือนจะทะเลาะกัน หลายคนกลับตั้งคำถามว่า เป็นแผนที่ ร.อ.ธรรมนัส และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณวางหมากไว้หรือไม่

เรื่องราวเป็นอย่างไร เป็นแผนที่วางไว้ หรือ แตกคอกันจริง workpointTODAY จะอธิบาย เหตุการณ์ให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 14 ข้อ

1) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจุดเด่นของ ร.อ.ธรรมนัส คือการเชื่อมโยงทุกกลุ่มเอาไว้ รวมถึงเป็นคนที่จัดสรรเรื่องเงินทุนได้ดี โดยเขาเคยกล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา 80% ของส.ส. ในพรรค ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากตัวเขา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ร.อ.ธรรมนัส ไม่ได้รับความนิยมจาก ส.ส. พรรคพลังประชารัฐส่วนหนึ่ง สาเหตุเพราะเขาเคยมีความสนิทสนมกับฝั่งเพื่อไทยมาก่อน นอกจากนั้นยังมีภาพลักษณ์ไม่ดีนัก จากคดียาเสพติดที่ออสเตรเลียอีกด้วย

2) ไม่ใช่แค่กับกลุ่ม ส.ส.เท่านั้น ร.อ.ธรรมนัส ยังเคยมีประเด็นความขัดแย้งรุนแรง กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากกรณีหักเหลี่ยม เตรียมโหวตไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ในการอภิปรายของสภา วันที่ 9 กันยายน 2564 ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้น ทั้งสองคนถึงขั้นไม่ยอมสนทนากัน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมรับไหว้ และสุดท้าย ร.อ.ธรรมนัส ก็โดนปลดออกจากตำแหน่งรมช.เกษตร

3) แม้จะมีคู่ขัดแย้งเยอะ แต่การที่ร.อ.ธรรมนัส ยังยืนหยัดอยู่ในพรรคได้ เพราะมี พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคคอยซัพพอร์ท ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 27 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประวิตรเคยกล่าวว่า “ถ้าไม่เอาธรรมนัส แล้วจะเอาใคร เขาทำงานได้ ทำงานเพื่อพรรค ถ้ายังไม่เลิกทะเลาะกัน กูลาออก ใครอยากมาเป็นก็มาเป็นเลย”

4) เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส กับส.ส.คนอื่นในพรรค ยังมีอยู่เรื่อยๆ แต่มาปะทุรุนแรงอีกครั้ง ในวันที่ 12 มกราคม 2565 เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส ไปช่วย นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ผู้สมัครจากพลังประชารัฐ ลงเลือกตั้งซ่อมในเขต 6 ของจังหวัดสงขลา โดยธรรมนัสขึ้นไปปราศรัยบนเวทีว่า “ถ้าเราจะเลือก ส.ส. เลือกตัวแทนของพวกเรา เราต้องเลือกคนที่มีความพร้อม ใช่ไหมพี่น้อง หนึ่งชาติตระกูลต้องดี สองต้องมีตังค์ เวลาไม่มีตังค์หรอ ถ้าไปช่วยชาวบ้าน แล้วบอกว่าพี่น้องครับผมไม่มีตังค์ครับ พี่น้องเอาไหม!”

5) กลายเป็นว่า ร.อ.ธรรมนัส หยิบเอาความจน ความรวย มาเป็นประเด็น จนสุดท้ายชาวบ้านที่ฟังอยู่ไม่พอใจ หันไปเทคะแนนเลือก นางสาวสุภาพร กำเนิดผล ของพรรคประชาธิปัตย์แทน ทำให้พลังประชารัฐแพ้เลือกตั้งซ่อมในสงขลาไปอย่างขาดลอย เช่นเดียวกับเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร พลังประชารัฐก็แพ้ประชาธิปัตย์เช่นกัน โดยนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า มาจากคำพูดปราศรัยของร.อ.ธรรมนัส เป็นตัวชี้ขาดคะแนน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐกล่าวยอมรับว่า “เรื่อง ร.อ.ธรรมนัสปราศรัยต้องยอมรับว่าเป็นประเด็นหนึ่ง ที่มีผลให้ฝั่งตรงข้าม หยิบมาเป็นวาทกรรมคนรวย คนจน ในโซเชียล”

6) ไม่เพียงแค่นี้ ยังมี “แชทไลน์หลุด” ของกลุ่มทีมโฆษกวิปรัฐบาล ที่นายสุชาติ ชมกลิ่น เปิดประเด็นว่า “ทำโพลล์พรรคการเมืองสิครับว่าพรรค พปชร. ตกต่ำเพราะว่าอะไร” ต่อด้วย “ให้มีคำตอบ ให้เลือกเช่น เพราะว่ามีธรรมนัสเป็นเลขา หรือ เพราะธรรมนัสไม่มีคนยอมรับ” ซึ่งก็มีนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มาส่งสติกเกอร์กดไลค์ให้ด้วย

7) เมื่อมีความขัดแย้ง โดนแซะกันหนัก รวมถึงกรรมการระดับสูงของพลังประชารัฐมองว่า ธรรมนัสเป็นตัวปัญหาของพรรค จึงเกิดกระแสข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัสไม่พอใจ จึงรวบรวม 20 ส.ส. ที่มีความสนิทสนมกับตัวเอง ทำเรื่องขอไปให้พ้นจากพรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ 19 มกราคม 2565

8 ) รายงานระบุว่า กลุ่มของร.อ.ธรรมนัส ต้องการให้พรรคพลังประชารัฐมีมติขับออกจากพรรค เพื่อคงไว้ในการเป็น ส.ส. เพราะถ้าลาออกเอง จะพ้นสภาพการเป็น ส.ส.ทันที เงินเดือนและสิทธิประโยชน์ของ ส.ส. จะหายหมด แต่ถ้าโดนพรรคไล่ออก พวกเขาจะสามารถไปหาพรรคใหม่ได้ใน 30 วัน

9) สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ของพรรค มีมติให้ไล่ออกจริงๆ นั่นทำให้ ร.อ.ธรรมนัส และอีก 20 ส.ส. ต้องออกไปหาพรรคใหม่อยู่ โดยร.อ.ธรรมนัส โพสต์ในเฟซบุ๊กทันที ที่โดนไล่ออกว่า “ผมในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังคงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเดินหน้าทำงานเพื่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไปอย่างที่ผมตั้งใจไว้และสัญญากับประชาชนทุกคนไว้ตลอดมาครับ” พร้อมติดแฮชแท็กว่า #ไปอยู่พรรคไหนดีครับ ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย

10) แบ็กกราวน์ของเรื่อง ก็จบลงตรงนี้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตามมา คือคำถามของคนในสังคม ว่าสิ่งที่ร.อ.ธรรมนัสทำลงไป ว่าการแตกคอเป็นเรื่องจริง หรือมันคือแผนลวงที่เตรียมเอาไว้ โดยเราจะไปอธิบายถึง 2 มุมที่แตกต่างกันนี้

11) ฝ่ายแรกมองว่าแผนทั้งหมดเป็นการฮั้วกันของ ร.อ.ธรรมนัส กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวคือ ร.อ.ธรรมนัสมีปัญหากับคนในพรรคร่วมรัฐบาลมานานแล้ว เคยขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ แล้วจะมาอ่อนไหวอะไรกับการโดนแซะในแชทไลน์หลุด มันไม่ได้เจ็บปวดถึงขนาดต้องขออำลาพรรค

ทฤษฎีที่คนเชื่อกันคือ ร.อ.ธรรมนัส จะออกจากพรรคไป เพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ พรรคพลังประชารัฐเพิ่มขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีอยู่ของเขาทำให้พรรคมีรอยแผลเพิ่ม บวกกับทำให้พรรคขาดความสามัคคีเพราะมีการทะเลาะกันระหว่างกลุ่มเยอะ ยิ่งการเลือกตั้งทั่วไปจะมาถึง ในเดือนมีนาคมปี 2566 แล้ว พรรคพลังประชารัฐจำเป็นต้องทำตัวให้คลีนที่สุด และมีเสถียรภาพมากที่สุด เพื่อให้ได้เสียงกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

โดย ร.อ.ธรรมนัส บวกกับอีก 20 ส.ส. จะไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทยซึ่งก็มีโอกาสที่จะทำหน้าที่เหมือนเป็น “สาขา” ของพรรคพลังประชารัฐ ในหลักการเดียวกับ เพื่อไทย และ ไทยรักษาชาติ คืออยู่แยกพรรคกัน แต่ในการโหวตใดๆ ก็จะโหวตให้ในสิ่งเดียวกันอยู่ดี

อีกหนึ่งทฤษฎีที่คนเชื่อกันคือ นี่เป็นเกมการต่อรองที่ ร.อ.ธรรมนัสคิดไว้แล้ว เพราะถ้าหากเขายังสังกัดอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ก็จะไม่มีโอกาสได้โควต้ารัฐมนตรี แต่ถ้าหากไปเปลี่ยนบทบาทเป็น “พรรคร่วมรัฐบาล” ก็มีโอกาสได้

ตัวอย่างเช่น พรรคชาติไทยพัฒนาที่มี ส.ส. แค่ 12 คน แต่กลับได้โควต้ารัฐมนตรีถึง 2 ที่นั่ง แล้วนี่ ร.อ.ธรรมนัส มีส.ส. ในมือถึง 21 คน โอกาสที่จะต่อรองขอรัฐมนตรีก็ย่อมง่ายกว่าอยู่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ที่มีคนจองคิวรัฐมนตรีอยู่เป็นจำนวนมาก

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ตอนที่พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย ขับ ส.ส. ของตัวเองออกไป เป็นเรื่องใหญ่มากและใช้เวลานานยืดเยื้อ แต่เคสของพรรคพลังประชารัฐ กลับไม่ตั้งกรรมการตรวจสอบใดๆ ก่อน และดำเนินการอย่างเร่งรีบจบทุกอย่างในเวลาแค่ 24 ชั่วโมง โดยใช้เหตุผลว่า “การมีอยู่ของ ร.อ.ธรรมนัส มีผลต่อเสถียรภาพภายในพรรค” โดยไม่ได้ตั้งข้อสรุป หรือเผยแพร่ให้สังคมรับทราบว่า ความผิดดังกล่าวคือเรื่องอะไรกันแน่

นั่นคือมุมแรกที่สังคมคิดว่า อาจเป็นแผนลดแรงเสียดทาน โดย ร.อ.ธรรมนัส กับ พล.อ.ประวิตรอาจวางกลยุทธ์ร่วมกันไว้แล้ว เพราะการไล่ออกจากพรรค เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและง่ายดายมากจนน่าประหลาดใจ

12) ส่วนมุมที่สองคือ การแตกคออาจเป็นเรื่องจริง จากสาเหตุความผิดใจที่สั่งสมกันมานาน และอาจเป็นการสร้างแรงกดดันให้คนของพลังประชารัฐ ได้เห็นคุณค่าของ ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะผู้ประสานสิบทิศ ว่าบุคลากรแบบนี้ไม่ได้หาง่ายนัก

นอกจากนั้นการปรับบทบาทตัวเองเป็นพรรคขนาดกลาง  จะมีพลังในการต่อรองการเมืองได้มากขึ้น ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ยังไม่รู้ว่าฝ่ายไหนจะชนะ ดังนั้นการแยกตัวออกมา แล้วเป็นพรรคตัวเลือกที่จะยืนอยู่ข้างผู้ชนะ อาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีของ ร.อ.ธรรมนัส  คือไม่ว่าพลังประชารัฐ หรือเพื่อไทย ถ้าใครชนะ ร.อ.ธรรมนัส ก็อาจไปขอไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยได้ทั้ง 2 ฝั่ง

13) สำหรับสถานการณ์ที่น่ากังวลใจอีกหนึ่งอย่างของฝั่งรัฐบาลตอนนี้คือ “คะแนนเสียง” อาจไม่เพียงพอ ในการลงมติวาระต่างๆ เพราะปัจจุบัน มี ส.ส. ที่สามารถทำงานได้เพียง 475 คนเท่านั้น โดยในการออกกฎหมายใดๆ ต้องมีคะแนนเสียงเกินครึ่ง (238 เสียง) จึงจะผ่านวาระได้

เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส และพรรคพวก ออกจากพรรคพลังประชารัฐไป ถ้าหากในการโหวต พวกเขาเลือกไปอยู่กับฝ่ายค้าน จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเหลือคะแนนเสียงเพียง 246 เสียง มากกว่าครึ่งหนึ่งแค่ 8 เสียงเท่านั้น ดังนั้นถ้ามี ส.ส. เข้าประชุมไม่ครบ หรือโหวตสวนมติพรรคร่วมรัฐบาล มีสิทธิ์ที่จะได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง และส่งผลให้กฎหมายจะโดนตีตกร่วงไปได้เลย

และถ้าโหวตไม่ผ่านในสภา โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญอย่าง พรบ.งบประมาณ ก็เป็นมารยาททางการเมืองที่นายกรัฐมนตรีต้องลาออก หรือไม่ก็ต้องทำการยุบสภา ดังนั้นจึงเป็นความกดดันอย่างมากของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องให้ ส.ส.มาเข้าประชุมให้ครบทุกวาระ และที่สำคัญห้ามมีคนแตกแถวเพิ่มมากไปกว่านี้ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจแพ้การโหวตได้เลย

14) ดังนั้นบทสรุปของเรื่องนี้คือ ถ้า “ธรรมนัสแตกคอกับพลังประชารัฐจริง” จะเป็นงานหนักของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะต้องลุ้นทุกการโหวต ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายต่างๆ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 คือถ้าหากมีอะไรผิดพลาดขึ้นมาแม้แต่นิดเดียว เสียงไม่พอเมื่อไหร่ อาจปลิวจากตำแหน่งได้ง่ายๆ

แต่ถ้า “การแยกทางของธรรมนัสเป็นเรื่องที่วางแผนไว้แล้ว” ทุกอย่างก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น และส.ส. ที่แยกตัวออกไป สุดท้ายก็จะโหวตให้พรรคพลังประชารัฐตามเดิม และอาจมีการต่อรองขอโควต้ารัฐมนตรี 2 สล็อตที่ว่างอยู่ เพื่อเป็นการตอบแทน

เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนตอนนี้ว่าการโดนไล่ออกจากพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นแผนที่วางไว้แล้ว ยังจำเป็นต้องติดตามดูสถานการณ์ต่ออีกสักระยะหนึ่ง

 

 

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า