SHARE

คัดลอกแล้ว

ช่วงปลายเดือน ม.ค.-ต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวดราม่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ข่าวสำคัญที่น่าติดตามหายไป workpointTODAY ได้รวบรวมข่าวที่เกิดขึ้น

1.การระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนยังอยู่ในช่วงขาขึ้น

สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมายอดผู้ติดเชื้อยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทั่งวันที่ 5 และ 6 ก.พ. 65 ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุหลักหมื่นติดกันสองวัน

ล่าสุดนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด -19 ในประเทศไทย ว่าขณะนี้แม้จะมีสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็ว แต่ข้อมูลวิชาการทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า ความรุนแรงไม่ได้มากกว่าสายพันธุ์เดลตา ดังนั้นการที่เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อดูจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยหนักไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ก็อยู่ในสถานการณ์ที่เราคาดการณ์ไว้ ระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับผู้ป่วยอาการหนักเพื่อป้องกันการเสียชีวิตได้

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 65 นพ.โอภาส ออกมาพูดถึงสถานการณ์โควิดในประเทศไทย หลังจากมียอดติดเชื้อกลับมาเป็นหลักหมื่นวันแรก ว่าตามเส้นกราฟแบบจำลองการคาดการณ์การติดเชื้อโควิด หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงถึง 3 หมื่นราย แต่วันนี้ผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 10,490 ราย ซึ่งอยู่ในเส้นกราฟสีเขียว ซึ่งเป็นคาดการณ์ที่ดีที่สุด อย่างที่ทราบกันดีว่าโอไมครอน เป็นสายพันธุ์ที่ติดง่าย ตัวเลขจึงเป็นไปตามที่คาดการณ์ และอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ตามมาตรการต่างๆ

ส่วนหลักเกณฑ์หรือข้อมูลเบื้องต้นให้ประชาชนสามารถวิเคราะห์หรือพิจารณาเบื้องต้นว่า สถานการณ์โควิดแนวโน้มจะน่ากังวลเมื่อไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า

ประการแรก คือ จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นอย่างไร อย่างที่กล่าวมาว่า โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ง่ายแพร่เร็ว จึงต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตร่วมด้วยเป็นสำคัญ คือ แม้โอไมครอนติดง่ายแต่ที่สำคัญคือต้องเสียชีวิตน้อย

ประการที่สอง การพิจารณาตัวเลขผู้ป่วยอาการหนัก อย่างปอดอักเสบ มีโอกาสเสียชีวิต ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ กลุ่มนี้มีความเสี่ยงเชื้อลงปอด ทางเดินหายใจล้มเหลว

ประการที่สาม จำนวนผู้เสียชีวิตตอนนี้ที่ตั้งเป้าให้ทั้งผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตมีอัตราจำนวนน้อยที่สุด โดยตัวเลขติดเชื้อขณะนี้ยังไม่ค่อยกังวลมากนัก ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณกว่า 500 รายและมีจำนวนผู้ใส่ท่อช่วยหายใจอีก ขณะที่เสียชีวิตประมาณ 20-30  ราย ซึ่งตัวเลขประมาณนี้เมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ติดเชื้อ ยังไม่ถึงเส้นกราฟสีแดง

สิ่งสำคัญการป้องกันการติดเชื้อไม่ให้เพิ่มขึ้นยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น คนก็เริ่มผ่อนคลาย มีการจัดงานเลี้ยง งานแต่ง งานบวช หรืองานศพ ส่วนใหญ่การติดเชื้อจะพบในคลัสเตอร์เล็กๆ ซึ่งจะใกล้ชิดกันและไม่สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งการรับประทานอาหารร่วมกัน ยังเป็นปัจจัยการติดเชื้อที่ต้องระวัง

2. พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพปี 2565 กรมควบคุมโรค เตือนโรคไข้หวัดจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2 เท่า

สัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงการพยากรณ์ภัยสุขภาพ ปี 2565 ระบุว่า

1.โรคไข้หวัดใหญ่ คาดว่าปี 65 จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือประมาณ 22,817 คน สูงสุดในช่วง ส.ค.-ธ.ค. แต่หากปลายปีประชาชนยังสวมหน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยป้องกันทั้งโรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดาได้

2.โรคไข้เลือดออก มีวงจรการระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี โดยปี 65 เป็นวงจรการระบาดรอบใหม่ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของคนไทย 2 ปีที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อน้อย ภูมิฯจะน้อยและกิจกรรมทางสังคมจะเพิ่มขึ้น คาดว่าผู้ป่วยจะเพิ่มสูงในเดือน มิ.ย.-ส.ค. และจะพบป่วยมากที่สุดในเดือน ก.ค. จำนวน 13,769 ราย จึงต้องรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกตั้งแต่ตอนนี้ เพราะมีรายงานผู้เสียชีวิตรายแรกจากไข้เลือดออกแล้ว เป็นหญิง อายุ 38 ปี เนื่องจากห่วงโรคโควิด-19 เมื่อเป็นไข้ จึงลืมนึกถึงโรคไข้เลือดออก และซื้อยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) หรือแอสไพริน ซึ่งเป็นยาต้องห้ามของโรคไข้เลือดออก ทำให้เลือดออกในทางเดินอาหาร และระยะหลังผู้ใหญ่จะเป็นโรคไข้เลือดออกมากขึ้นด้วย

3.อุบัติเหตุทางถนน คาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้น เพราะการเดินทางมีมากขึ้น คาดว่าผู้เสียชีวิตทางถนนจะสูงสุดในเดือน มี.ค. และ ธ.ค.

4.เด็กจมน้ำ คาดว่าจะสูงขึ้น เพราะโรงเรียนเปิดเรียน เด็กมีกิจกรรมมากขึ้น

ส่วนภัยสุขภาพที่คุกคามคนไทยปี 2564 ที่ผ่านมา นอกจากโควิด-19 แล้ว ยังมีไข้มาลาเรีย พบป่วย 2,893 คน, โรคเท้าช้าง พบ 83 คน, และโรคเรื้อน พบ 2,893 คน ทั้ง 3 โรคนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต และอยู่ในสถานะที่จะกำจัดให้หมดไปจากประเทศไทย

ถัดมาคือโรคไข้เลือดออกเด็งกี พบ 9,956 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมากในรอบหลายสิบปี และเสียชีวิต 6 คน โดยปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกดีขึ้น เพราะกิจกรรมการเดินทางนอกบ้านลดลง อยู่บ้านมากขึ้น ทำให้รังโรคถูกกำจัด,

วัณโรค พบ 105,000 คน เสียชีวิต 10,000 คน ซึ่งลดจำนวนลงได้มาก ทำให้ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยพ้นจากปัญหามีความชุกของวัณโรคสูงแล้ว

โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งทุกปีจะพบผู้ป่วยนับแสนคน แต่ปี 64 พบเพียง 10,698 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต

อุบัติเหตุจราจร มีผู้เสียชีวิต 12,376 คน เด็กจมน้ำ 560 คน ถือว่าลดลงเนื่องจากจำกัดการเดินทาง เด็กเรียนที่บ้าน

ส่วนโควิด-19 ในปี 2564 มีผู้ป่วย 2.2 ล้านคน เสียชีวิต 21,637 คน ซึ่งเมื่อเทียบหลายๆประเทศแล้ว สถานการณ์ของไทยดีกว่ามาก และหลังจากได้รับร่วมมือฉีดวัคซีน คิดว่าสถานการณ์ปีนี้จะดีขึ้น

3. ความคืบหน้าคดีหมอกระต่าย ก่อน 11 ก.พ. ส่งฟ้อง “ตำรวจขี่บิ๊กไบค์” ผู้ต้องหา และการปรับปรุงทางม้าลายที่เป็นรูปธรรม

กรณีที่ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ถูกส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ขี่บิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตขณะเดินข้ามม้าลาย หน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565

ล่าสุดเมื่อวันที่วันที่ 3 ก.พ. 2565 นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล มารดาของ พญ.วราลัคน์ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษร เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงควบคู่กับตำรวจ

นางรัชนี กล่าวว่าไม่อยากให้ลูกสาวตายฟรีคำนี้ตนเองไม่อยากพูดเลย แต่ถ้าไม่พูดทุกคนจะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และขณะนี้เป็นห่วงลูกสาวอีกคนนึงที่มีอาการหวาดกลัวการข้ามถนน จึงอยากให้สังคมเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยสภาฯ ในการขับเคลื่อน เพราะไม่อยากให้คดีนี้เหมือนคดีอื่นๆ ที่หายไปโดยไม่ส่งผลอะไรให้กับประเทศเลย
ซึ่งหมอกระต่ายจะได้ภาคภูมิใจที่คดีนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม

คดีนี้ ตำรวจแจ้งข้อหาส.ต.ต.นรวิชญ์ ไปแล้ว 9 ข้อหา คือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย, นำรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทาง, ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย, ไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง (ไม่หยุดรถให้คนข้าม), ฝ่าฝืนใช้รถที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี, ส่วนควบรถไม่ครบถ้วน, ไม่มีประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปี 2535, ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่นและขับรถจักรยานยนต์โดยใช้อัตราความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และจะมีการส่งฟ้องภายในวันที่ 11 ก.พ. นี้

ขณะที่ กทม.เตรียมปรับทางม้าลายเป็นสีแดงทั้งหมด พร้อมติดตั้งสัญญาณไฟคนข้ามเพิ่มอีก 100 จุด ขณะที่ ตร.เตรียมแก้กฎหมาย ไม่หยุดให้คนข้ามปรับ 4,000 บาท
โดย เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า กทม.ประชุมร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีมติให้แก้ปัญหาพร้อมกับแก้ไขในภาพรวมเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยในการข้ามทางม้าลาย โดยจุดหน้า รพ.สถาบันโรคไตฯ มีมติให้ทาพื้นสีแดงให้กว้างขึ้น ผู้ขับขี่เห็นชัดเจน, ตั้งสัญญาณไฟสำหรับคนข้าม ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 สัปดาห์ และติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับผู้กระทำความผิด จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งระบบ

ส่วนการแก้ไขในภาพรวม ข้อมูลของ กทม. มีทางข้ามทั้งหมด 3,280 แห่ง, ติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบเตือนให้ชะลอความเร็วบริเวณทางข้าม 1,277 แห่ง, สัญญาณไฟสำหรับคนข้าม 226 แห่ง และทาพื้นสีแดง 430 แห่ง ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ กทม.ติดตั้งสัญญาณไฟคนข้ามเพิ่มอีก 100 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วง มี.ค.-เม.ย.นี้ และทาพื้นสีแดงให้ครบทั้งหมดโดยเร็ว

4. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยื่น รมว.แรงงาน ขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท ทั่วประเทศ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการเข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อขอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาทต่อวัน

โดย คสรท. เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยค่าจ้างที่เสนอในปีนี้เป็นตัวเลขและข้อมูลที่ คสรท. ได้ทำการสำรวจจากคนงานในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศประมาณ 3,000 คน ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายรายวันที่เป็นค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ประกอบด้วย ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเลี้ยงดูครอบครัว บุพการี  ดังนั้นได้มีการเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เท่ากันทั้งประเทศ เพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างเพียงพอต่อการดำเนินชีวิต

ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ระบุว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ตัวเลขจะเป็น 492 บาทตามที่ คสรท.เสนอหรือไม่นั้นยังไม่สามารถตอบได้ แต่จะเร่งให้เร็วที่สุดจากอนุกรรมการจังหวัดและกรรมการกลาง สำหรับเรื่องให้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศก็จะพยายามไปหาแนวทาง

5.เลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 ยังไม่ประกาศรับรองผล เนื่องจากมีคำร้องต้องพิจารณา

วันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งซ๋อมใน 2 เขต 2 จังหวัดภาคใต้ ที่ จ.สงขลา เขต 6 และ จ.ชุมพร เขต 1 แทนตำแหน่งที่ว่างของ อดีต แกนนำ กปปส. อย่างนายถาวร เสนเนียม และ นายชุมพล จุลใส เนื่องจากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ในภาพใหญ่เป็นการขับเคี่ยวของสองพรคการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์เจ้าของพื้นที่เดิม และพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล

ผลปรากฎว่าผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งทั้ง 2 เขต โดยเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา กกต.ได้ประกาศรับรองผล น.ส.สุภาพร กำเนิดผล ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 2 พรรคประชาธิปัตย์ และได้เข้ารายงานตัวกับสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว ส่วน จ.ชุมพร เขต 1 นายอิสรพงษ์ มากอำไพ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง แต่ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้ง เนื่องจากยังมีคำร้องเรียนที่ต้องพิจารณา และยังพบว่าในวันเลือกตั้งพบว่าผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพบัตรเลือกตั้งหลายคนในหลายหน่วยเลือกตั้ง ขณะกำลังกากบาทลงคะแนนในคูหา อยู่ในระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งตามกรอบการรับรองผลการเลือกตั้งต้องรับรองภายใน 60 วันนับแต่วันที่เลือกตั้งเสร็จสิ้น หรือนับแต่วันที่ 16 ม.ค. 65

6.ราคาหมูหน้าฟาร์มเริ่มลง 100-104 บาท หลังห้องเย็นเร่งปล่อยของ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ที่ให้ตรวจสอบสต๊อกห้องเย็นทั่วประเทศเพื่อป้องกันกันการกักตุนเนื้อสุกร และให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจังหวัด และเจ้าหน้าที่พาณิชย์จังหวัด สนธิกำลังเร่งตรวจสอบห้องเย็นมาอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. – 4 ก.พ. 65 ได้ดำเนินการตรวจห้องเย็นสินค้าปศุสัตว์แล้ว 1,303 แห่ง ตรวจพบเนื้อสุกรรวม 24.48 ล้านกิโลกรัม การตรวจสอบดังกล่าว ส่งผลให้ห้องเย็นเข้มงวดในการรับฝากสินค้า ผู้ประกอบการนำเนื้อหมูมาจำหน่ายตามปกติ ราคาเนื้อสุกรจึงเริ่มปรับตัวลดลง

ในเบื้องต้น ทางกรมปศุสัตว์ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว กับ 8 บริษัท ผู้เกี่ยวข้อง 17 ราย ภายใต้พ.ร.บโรคระบาด พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์พ.ศ.2559 รวมจำนวนเนื้อสุกรที่ถูกอายัดทั้งหมด 1.07 ล้านกิโลกรัม โดยรวมกรณีล่าสุด ห้องเย็นในจ.นครปฐม ที่พบเนื้อและชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง จำนวน 1.04 ล้านกิโลกรัม ขณะที่หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องก็จะได้ดำเนินการใช้กฏหมายต่อผู้กระทำความผิดต่อไปด้วย

น.ส.รัชดา กล่าวว่า จากข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีให้หน่วยงานเครือข่ายเข้มงวดตรวจสต๊อกเนื่อสุกรในห้องเย็นทั่วประเทศ และต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้ห้องเย็นทุกแห่งมีการเข้มงวดในการรับฝากสินค้า บริษัทผู้ฝากไม่กล้ากักตุนเนื้อสุกรเพื่อโกยกำไร และนำเนื้อสุกรออกมาจำหน่ายตามปกติ ส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มขณะนี้ปรับลดลง โดยกรมปศุสัตว์รายงานว่า ล่าสุดราคาขยับลงมาที่ 100-104 บาทต่อกิโลกรัม ราคาค้าส่งห้างขายปลีก ลดลงมาที่ 160-166 บาทต่อกิโลกรัม และราคาขายปลีกสำหรับผู้บริโภคลงมาที่ 198-208 บาทต่อกิโลกรัม หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดด้านปศุสัตว์ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ตลอด 24 ชั่วโมง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า