SHARE

คัดลอกแล้ว

เชื่อว่าหนึ่งในสถานการณ์ในชีวิตการทำงานที่หลายคนเคยประสบพบเจอ คือ “การร้องไห้” ในที่ทำงาน

สาเหตุที่ทำให้เราต้องหลั่งน้ำตาในที่ทำงาน แน่นอนว่าไม่ใช่การที่เพื่อนร่วมงานวางมือบนบ่า แล้วน้ำตาก็ไหล แต่มาจากความเสียใจ ความผิดหวังที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องงาน อย่างเช่น เวลาโดนหัวหน้างานตำหนิ การถูกไล่บี้ยิงคำถามในที่ประชุม

หรือบางคนหนักหน่อยก็เจอคำวิจารณ์แรงๆ ที่ทำเอารู้สึกจุกๆ ที่คอ พูดไม่ออก น้ำตาไหลแบบอั้นไม่อยู่ หัวใจแตกสลาย และที่มากกว่าร้องไห้คือตั้งคำถามถึงคุณค่าในตัวเอง หมดไฟ กระทั่งไม่เหลือความมั่นใจในวิชาชีพและประสบการณ์ที่สั่งสมมาไปเลยก็มี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้รู้ก็คือ จริงๆ แล้วการร้องไห้ในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องใหญ่ และใครๆ ก็เป็นกันได้

ผลสำรวจจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า 45% ของคนทำงานระดับมืออาชีพ เคยร้องไห้ในที่ทำงาน โดย 20% ของคนกลุ่มนี้คือคนที่มีความอ่อนไหวสูง แต่ถึงอย่างนั้นงานวิจัยในหลายทศวรรษที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าความอ่อนไหวไม่ใช่จุดอ่อนของคน

ลักษณะนี้ของคนสัมพันธ์กับการประมวลผลในส่วนต่างๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความตระหนักในตนเอง และความสดใสของประสบการณ์มากกว่า

งานวิจัยที่เผยแพร่ไม่นานมานี้ยังระบุอีกว่า CFO ราว 75% จากการสำรวจ คิดว่าการร้องไห้บ่อยๆ เป็นเรื่องปกติเสียด้วยซ้ำ

ที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงร้องไห้ง่ายกว่าผู้ชาย ซึ่งนั่นไม่ใช่เป็นเพราะผู้หญิง ‘แข็งแกร่ง’ น้อยกว่าผู้ชาย แต่ตามหลักชีววิทยา ผู้หญิงมีฮอร์โมน ‘โปรแลคติน’ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการร้องไห้ มากกว่าผู้ชายถึง 6 เท่า ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ผู้หญิงจะร้องไห้ได้ง่ายกว่าในช่วงเวลายากลำบาก

โดยมีงานวิจัยระบุว่า 41% ของผู้หญิงร้องไห้ในออฟฟิศ ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งระหว่างการทำงาน

[ น้ำตามาจากความใส่ใจ ]

อย่างที่บอกว่าการร้องไห้ในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องน่าอาย เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เป็นกัน และยิ่งถ้าน้ำตาที่หลั่งรินนั้นมาจากเรื่องผลงานแล้วล่ะก็ นั่นอาจยังสะท้อนได้ว่าเราเป็นคนที่มีแพสชั่นกับงานแค่ไหน

Alison Green ผู้ดูแลบล็อกแนะนำอาชีพ และเจ้าของหนังสือ Ask a Manager ระบุว่า การร้องไห้ในที่ทำงาน มีความเกี่ยวข้องกับความเอาใจใส่ในงานอยู่ด้วย

โดยหากเราทุ่มเทกับงาน ใส่ใจ ตั้งใจที่จะให้งานออกมาดีเป็นพิเศษ เราก็มีแนวโน้มที่จะพบกับความผิดหวังหรือความคับข้องใจที่ส่งผลให้น้ำตาซึมได้ง่ายกว่า

ยิ่งเมื่อเจอหัวหน้าที่กดดันและอยากให้เราทุ่มกับงานแบบสุดตัว จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะแยกอารมณ์ออกจากการทำงานได้นั่นเอง

[ ร้องไห้ไม่มีผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพ ]

หลายคนยังมองว่าการเสียน้ำตาในที่ทำงานทำให้เราดูไม่เป็นมืออาชีพ ทำให้เรามีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง ทั้งยังอาจส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพในอนาคต

แต่ที่จริงแล้ว มีงานวิจัยที่บอกว่าการร้องไห้ไม่ได้ส่งผลต่อสถานะทางอาชีพของเรา และการร้องไห้ยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีผลกระทบน้อยที่สุดเสียด้วยซ้ำ

แต่พฤติกรรมอื่นๆ ที่ Toxic หรือเป็นพิษในที่ทำงาน รวมถึงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ฟาดฟัน ชักใยผู้อื่น กลั่นแกล้ง เหล่านี้ต่างหากที่ส่งผลต่อการเติบโตในอาชีพอย่างแท้จริง

เพราะการร้องไห้ของเราไม่ได้ทำลายโมเมนต์ของคนอื่น เราอาจจะรู้สึกอับอาย แต่น้ำตาที่หลั่งออกมาก็เป็นเพียงจุดเล็กๆ ในเรดาร์สายตาของคนอื่นเพียงชั่วครู่เท่านั้น

ความจริงก็คือการร้องไห้เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดไม่ว่าที่ไหนหรือเมื่อไหร่ เพราะเราไม่สามารถกักขังอารมณ์ตัวเองไว้ที่บ้านก่อนออกมาทำงานได้ และหลายครั้งการทำงานก็มีความซับซ้อนและมีสถานการณ์ที่ท้าทาย จึงทำให้เราเสียน้ำตาในบางครั้งได้นั่นเอง

การร้องไห้ในที่ทำงานยังมีข้อดีหนึ่งก็คือ ทำให้เราได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา ที่จะทำให้ดึงดูดเพื่อนร่วมงานให้ได้ใกล้ชิด สนิท และเข้าใจกันมากขึ้นกว่าเดิมได้

แน่นอนว่า It’s OK to not be OK. แต่ถึงอย่างนั้น การร้องไห้บ่อยๆ หรือมากเกินไปก็ใช่ว่าจะดี

ลองนึกดูว่าหากเราร้องไห้ทุกครั้งที่ได้รับคำติชมเรื่องงาน ยิ่งถ้าร้องไห้ถ้าเจอคำติที่ไม่ได้รุนแรงด้วยแล้วล่ะก็ หัวหน้าก็น่าจะเริ่มกังวลแล้วล่ะว่าเรารับคำวิจารณ์ได้ขนาดไหน ต่อไปจะพูดคุยเรื่องงานอะไรได้อีก และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเราตามมา

คำถามก็คือ แล้วเราจะต้องทำตัวอย่างไรหากเจอสถานการณ์แบบนี้ ร้องไห้ยังไงให้ดูเป็นมืออาชีพอยู่ ลองมาดูกัน

1)  เข้าใจและไม่ตำหนิตัวเอง – การร้องไห้ในที่ทำงานไม่ได้แปลว่าเรามาถึงวันสิ้นโลกในสายอาชีพ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าคนทั่วไปกลับแสดงความเห็นอกเห็นใจมากกว่าที่เราคิดด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารกว่า 2,000 คน พบว่า 44% ของผู้บริหารระดับ C-Suite เชื่อว่าการร้องไห้ในบางครั้ง ไม่ได้แปลกอะไร ขณะที่ 30% เชื่อว่าการร้องไห้ไม่ได้ส่งผลต่อทัศนคติในการทำงานด้วย

ดังนั้น เมื่อผู้บริหารบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลก สิ่งที่เราควรทำเมื่อร้องไห้คือ เข้าอกเข้าใจตัวเองก่อน และไม่วิจารณ์ตัวเองอย่างรุนแรง เพราะการตัดสินตัวเองจะยิ่งตอกย้ำให้เราเจ็บปวดไปมากกว่าเดิม

จงเชื่อมั่นว่าช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ได้กำหนดชีวิตทั้งชีวิตของเรา และความยากลำบากก็เป็นส่วนหนึ่งของคำว่าชีวิต

เราต้องเตือนตัวเองว่า ‘อารมณ์’ นั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าใช้อย่างถูกต้อง อารมณ์เหล่านี้อาจกลายเป็นพลังพิเศษที่ทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นได้ แม้จะไม่ใช่ช่วงเวลาที่เราภูมิใจก็ตาม

2) หายใจลึกๆ ให้พื้นที่กับตัวเองสักนิด – ช่วงเวลาที่เราอ่อนไหว แน่นอนว่าเราไม่สามารถเป็นตัวเราในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดได้

ดังนั้น เมื่อบ่อน้ำตาเริ่มแตก จงหยุดพูดหรือสนทนากับคนอื่นชั่วคราว แล้วไปใช้เวลาสัก 5 นาทีในการทำสมาธิ เช่น เดินออกจากห้อง ปิดกล้องซะหากกำลังประชุมออนไลน์ แล้วเปลี่ยนไปมองวิวทิวทัศน์ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ สัก 2-3 ครั้ง ให้อารมณ์แย่ๆ มันค่อยๆ ถูกไล่ออกไปจากจิตใจ

งานวิจัยหนึ่งชี้ว่า ผู้นำที่ดีนั้นจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ด้วย ดังนั้น การขอพื้นที่สักนิดเพื่อให้เวลากับตัวเองสักหน่อย ก็เป็นสัญญาณถึงความสามารถในการจัดการตนเองและความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำควรมีนั่นเอง

3) ปล่อยให้ไหลไป ร้องไห้ออกมาอย่างกล้าหาญ – เมื่อเราร้องไห้ สัญชาตญาณแรกของหลายคนคืออยากขอโทษคนอื่นที่ “มีอารมณ์มากไป” หรือทำให้คนอื่นไม่สบายใจ

แต่อันที่จริง นั่นไม่ใช่สิ่งที่ควรคิด เพราะนอกจากอาจถูกตีความไปผิดๆ ว่าเล่นละครหลอกตาอยู่หรือเปล่า ความคิดนั้นยังเป็นการลดคุณค่าในตัวเองลงอีกด้วย

บางครั้งสิ่งที่เราควรทำไม่ใช่กดอารมณ์ไว้ เพราะยิ่งกดและต่อสู้กับความรู้สึกนานเท่าไหร่ บางครั้งมันกลับยิ่งทำให้อารมณ์ปะทุได้มากกว่าเดิม

สิ่งที่เราควรทำคือ หยุดซ่อนความรู้สึก ปล่อยให้น้ำตาไหลออกมาซะ และอาจพูดบางอย่างออกไป เช่น “อย่างที่หัวหน้าเห็น ฉันทุ่มเทอย่างมากเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จ ก็เลยทำให้ฉันมีความรู้สึก/ปฏิกิริยาต่อโครงการนี้มากเป็นพิเศษ” เป็นต้น

โดยมีงานวิจัยชี้ว่า น้ำตาที่หลั่งไหลออกมาจาก ‘แพสชั่น’ จะถูกมองว่าเป็นน้ำตาจากคนที่ทุ่มเท มีความสามารถ และช่วยส่งเสริมอาชีพได้

4) ตอบโต้อย่างมืออาชีพ – เมื่อถูกวิจารณ์แรงๆ จนน้ำตาไหล พฤติกรรมและการโต้ตอบจะบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพของเรา โดยสิ่งที่เราควรทำคือการกอบกู้ภาพลักษณ์ สร้างความประทับใจเชิงบวก และโต้ตอบด้วยคำพูดที่แสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนมองไปข้างหน้า และน้อมรับคำติชมได้อยู่เสมอ เช่น

-ขอบคุณที่ให้คำติชมกับฉันในวันนี้ ฉันซาบซึ้งในสิ่งที่คุณแบ่งปัน และจะนำไปปฏิบัติตามที่ได้รับแนะนำ

-ฉันขอโทษที่มีปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่รุนแรงในวันนี้ เพราะฉันให้ความสำคัญกับงานนี้และอยากให้มันออกมาดีจริงๆ

5) เตรียมตัวรับมือให้ดี – การร้องไห้มักเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้หลายครั้งเราไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร ยิ่งถ้าเราเป็นอ่อนไหวง่าย ทางที่ดีคือเราต้องหากลยุทธ์ในการระบายอารมณ์ หรือควบคุมอารมณ์ให้ได้

สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ เลยก็คือการควบคุมลมหายใจ ทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการเผชิญกับความเครียด นอกจากนี้เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เครียดๆ ลองหาน้ำเย็นจัดๆ วางไว้ใกล้ๆ แล้วดื่มทันทีเมื่อรู้สึกว่าน้ำตาจะไหล อุณหภูมิเย็นๆ ของน้ำจะช่วยให้เราออกจากความรู้สึกอยากร้องไห้ไปได้ชั่วขณะหนึ่ง

หรือบางคนอาจใช้วิธีหาของใกล้มือมาบีบเพื่อคลายเครียดก็ได้ เช่น ลูกบอล เหรียญ หรือแม้แต่ปากกา

6) ขอความช่วยเหลือ หากมันจำเป็น – ร้องไห้ในที่ทำงานเป็นบางครั้งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ถ้าร้องไห้บ่อยๆ ก็อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากนักบำบัดทางจิต

ซึ่งเขาจะประเมินได้ว่าน้ำตาของเราเป็นผลมาจากการถูกกลั่นแกล้งหรือทารุณในที่ทำงานหรือไม่ หรือสภาพแวดล้อมในที่ทำงานดีต่อสุขภาพจิตหรือเปล่า เพื่อที่จะหาทางแก้ไข และซ่อมแซมความรู้สึกกันต่อไป

ท้ายที่สุด จำไว้ว่าคนเรามีอารมณ์เป็นธรรมดา แต่สิ่งที่ทำให้เราเป็นมืออาชีพ เป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยม คือวิธีที่เราเลือกตอบสนองและสื่อสารเมื่อมีปฏิกิรยาทางอารมณ์เกิดขึ้น

เพราะเราเป็นเจ้าของความรู้สึกและการกระทำของเราเอง หากเราจัดการกับอารมณ์ ควบคุมการกระทำได้ดี นั่นจะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความแข็งแกร่ง และทำให้คนอื่นมั่นใจ เชื่อมั่น และเคารพในตัวเราด้วย

อ้างอิง :

https://hbr.org/2022/01/so-you-cried-at-work

https://www.nytimes.com/2018/10/14/smarter-living/crying-at-work.html

https://www.forbes.com/sites/melodywilding/2018/06/11/the-surprising-truth-about-crying-at-work/?sh=63d01d1d4e79

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า