SHARE

คัดลอกแล้ว

ตลอดระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “วัคซีนป้องกันโควิด-19” ได้ถูกยกให้เป็นฮีโร่ของคนทั่วโลก เพราะการได้รับวัคซีนจะช่วยลดปัญหาด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ ที่ตามมาได้ ทำให้หลายประเทศต้องเร่งจัดหาวัคซีนมาให้ประชาชนกันครั้งใหญ่ เพื่อป้องกันและหยุดยั้งการติดเชื้อให้เร็วที่สุด แต่ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจัดหาวัคซีนสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องรอให้ประเทศมหาอำนาจที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนทำการฉีดวัคซีนให้กับประชากรของเขาให้มากพอเสียก่อน จึงจะทำการส่งออกนอกประเทศ ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนวัคซีนตามมา

ไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางป้องกันไวรัสก่อนการระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับไทย ได้ตั้งเป้าให้เป็นประเทศที่สามารถคิดค้น ทดลอง วิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนในประเทศได้เอง ตาม ‘ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) 2560 – 2569’ โดยตั้งมั่นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มั่นคง และปลอดภัยในการป้องกันเชื้อไวรัส ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นตัวเร่งสำคัญให้การวิจัยและพัฒนาวัคซีนให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ในปี 2563 ปีเดียวกับที่ไทยต้องเผชิญหน้ากับการระบาดรอบแรก ก็เริ่มมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนอย่างรวดเร็ว เป็นต้นว่า การวิจัยวัคซีนต้านโควิด-19 ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศูนย์วิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ภายใต้ชื่อ ChulaCov19 และคาดว่าจะเป็น ‘บูสเตอร์โดส’ หรือวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนทั่วไป หรือวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ ของบริษัท ใบยาโฟโตฟาร์ม

การแพร่ระบาดคือปัญหาที่รอไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ระหว่างนั้นรัฐบาลจึงมีแผนการจัดสรรวัคซีนที่ตั้งเป้าหมายว่าจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ครอบคลุมคนไทย 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ภายในสิ้นปี 2564 ควบคู่กับการเดินหน้าเป็น ฐานการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของคนไทย

โดยในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565) พบว่าประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนไปได้แล้วกว่า 119 ล้านโดส มีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 70.6% และประชากรที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 มีเพิ่มขึ้นเป็น 24.8% โดยวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรให้ประชาชนมากที่สุดในประเทศไทย คือ แอสตร้าเซนเนก้า ที่ฉีดไปแล้วกว่า 46 ล้านโดส

ทำไมไทยต้องเป็นฐานการผลิต

แม้ว่าประเทศไทยจะเดินหน้าพัฒนาวัคซีนทันที แต่สถานการณ์การขาดแคลนวัคซีนที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก เป็นสิ่งที่ช่วยเน้นย้ำว่าไทยไม่ควรพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ควรเร่งสนับสนุนให้มีการผลิตวัคซีนภายในประเทศให้มากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงเดินหน้าเรื่องนี้ด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่

1. ผลิตโดยหน่วยงานร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน

2. ผลิตโดยเจ้าขององค์ความรู้ โดยปัจจุบัน บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ที่สร้างโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนบนเนื้อที่ 1,200 ตาราเมตร ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกำลังการผลิต 1-5 ล้านโดสต่อปี และ

3. การจ้างโรงงานผลิต ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตแก่โรงงาน ซึ่งเป็นรูปแบบการผลิตหลักที่ใช้ในปัจจุบันในประเทศไทย

โดยฐานการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศจัดอยู่ในข้อที่ 3 เนื่องจากเป็นการจ้างโรงงานในไทย ผ่านการลงนาม ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข บริษัทเอสซีจี บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในหนังสือแสดงเจตจำนง ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุดและเสริมยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนในประเทศ โดยในขณะนั้นรัฐบาลได้ชี้แจงเหตุผลที่เลือกวัคซีนตัวนี้ ว่าตัววัคซีนมีการทดลองในคนกว่า 1 พันคน และพบว่าการฉีดในเข็มแรกให้การตอบสนองได้ดีมาก โดยกว่า 90% มีภูมิต้านทานดี และเป็นวัคซีนที่ผลิตได้เร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ซึ่งบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ที่มีกำลังการผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ อยู่ที่ปีละ 185 – 200 ล้านโดสนั้น ได้รับเลือกจากแอสตร้าเซนเนก้า ให้เป็น “ศูนย์การผลิต” แห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งรัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสายการผลิตด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ต้องซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มูลค่า 600 ล้านบาท คืนให้รัฐบาล ทั้งนี้ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้ส่งมอบวัคซีนที่ผลิตได้ให้ประเทศไทย ในฐานะฐานการผลิตประมาณ 1 ใน 3 ของวัคซีนที่ผลิตได้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือถูกส่งมอบให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศใกล้เคียง

ผลจากงานวิจัยดังกล่าว สรุปว่า “การที่ไทยเป็น ‘ศูนย์กลาง’ การผลิตวัคซีนนั้น จะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงวัคซีน และการระดมฉีดวัคซีนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น กล่าวคือหากฉีดวัคซีนได้เกิน 50 ล้านคน หรือมากกว่า 70% ของจำนวนประชากร ก็จะสามารถป้องกันการเสียชีวิตของคนไทยได้มากกว่า 4.8 แสนคน ทั้งยังช่วยลดการป่วยหนัก และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งหมายความถึงการลดภาระระบบสาธารณสุขได้อีกมหาศาล”

ซึ่งปัจจุบันข้อสรุปจากงานวิจัยนี้ก็ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการระดมฉีดวัคซีนสามารถช่วยลดอาการป่วยหนักและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และช่วยบรรเทาวิฤตในระบบสาธารณสุข เตียงเต็ม โรงพยาบาลล้น จนสามารถผ่อนคลาย ‘ล็อกดาวน์’ ได้ในที่สุด

การมีฐานการผลิตวัคซีนในประเทศ  ‘คุ้มค่า’ หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่วัคซีนทางเลือกมีจำนวนมากขึ้น นำมาซึ่งปริมาณวัคซีนที่เพียงพอกับการระดมฉีดให้คนในประเทศแล้ว จึงเกิดคำถามว่า การเป็น ‘ฐานการผลิต’ ในประเทศด้วยตัวเองนั้น มีความ ‘คุ้มค่า’ มากขนาดไหน และหากเปรียบเทียบความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์ และความคุ้มค่าเชิงสังคม ระหว่างรอรับวัคซีนจากต่างประเทศ และสามารถผลิตวัคซีนด้วยตัวเองนั้น เป็นอย่างไร? ซึ่งเรื่องนี้ งานวิจัยฯ ก็ได้ไขความกระจ่างในประเด็นต่าง ๆ ไว้ดังนี้

  • ฐานการผลิตวัคซีนจะเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน ที่ทำให้คนไทยมีวัคซีนใช้เพียงพอ หากเกิดการระบาดครั้งใหม่ของโรคโควิด-19 เพราะมีกำลังการผลิตวัคซีน 260 – 295 ล้านโดสต่อปี ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัคซีน และปัญหาการขาดแคลน มีการประเมินสถานการณ์ว่า การที่ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนด้วยตัวเองนั้น จะสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนได้ จากเดิมที่รัฐบาลไทย ต้องใช้เงินมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายด้านวัคซีน
  • การผลิตวัคซีนได้เองและการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง ช่วยคืนความ ‘ปกติ’ ในแง่การใช้ชีวิต ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในประเทศและเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
  • ฐานการผลิตวัคซีนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะแรงงานในประเทศ รองรับอุตสาหกรรมใหม่ และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนในภูมิภาค
  • การผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้เอง ยังมีส่วนสำคัญในการต่อยอดให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และรองรับการอุบัติใหม่ของโรคระบาดในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับการมุ่งเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ของไทยในอนาคต

ฐานการผลิตวัคซีนช่วยพลิกฟื้นชีวิตที่หยุดชะงัก

ขณะเดียวกัน ฐานการผลิตวัคซีนแห่งภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและการระดมฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ยังช่วยพลิกฟื้นความเป็นอยู่ของคนไทยหลังจากหยุดชะงักด้วยโรคระบาดมานานกว่า 2 ปีได้อีกด้วย

  • เพราะฐานการผลิตวัคซีนและการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง ช่วยคืนความปกติให้ชีวิตคนไทยได้ โดยเมื่อคลายล็อกดาวน์แล้วพบว่าในภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 10.36% และดัซนีการลงทุนของภาคเอกชน เพิ่มขึ้นกว่า 6.95% ขณะที่ตัวเลขผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมในไตรมาสที่ 4/2564 ก็ลดลงถึง 32.23% หรือเกือบ 4.5 แสนคน
  • ช่วยพลิกฟื้น GDP การันตีความมั่นคง เพราะการมีวัคซีนในมือสามารถการันดีความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ โดยข้อมูลชี้ว่าหากประเทศต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง และคลายล็อกช้ากว่ากำหนด อาจทำให้จีดีพีติดลบ จนเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดการสูญเสียมากกว่า 1.6 แสนล้านบาท และรายได้ต่อหัวประซากรจะตกลงกว่า 2,283 บาท
  • ฐานการผลิตวัคซีนช่วยพลิกฟื้นรายได้ เพราะมูลค่าของวัคซีนจากสยามไบโอไซเอนซ์กว่า 2.7 หมื่นล้านบาทนั้นใช้วัตถุดิบจากในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดการจ้างงาน ทั้งในอุตสาหกรรมวัคซีน อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ จนเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย รวมทั้งสิ้น 1.5 – 1.8 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากประเทศไทยสามารถเป็นได้ทั้งผู้คิดค้น ผู้พัฒนา ผู้ผลิต หรือบริษัทชั้นนำมาจ้างผลิต จะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตได้อีกมหาศาล อีกทั้งยังทำให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย

ฐานการผลิตวัคซีนสร้างโอกาสใหม่ให้ประเทศ

นอกจากนี้ การที่ไทยมีฐานการผลิตวัคซีนในประเทศ ยังช่วยสร้างโอกาสใหม่และต่อยอดให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และรองรับการอุบัติใหม่ของโรคระบาดในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับการมุ่งเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในอนาคต

จากผลงานวิจัยดังกล่าวและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นแล้วว่าการมีฐานการผลิตวัคซีนในประเทศนั้นเป็นประโยชน์กับคนไทย ระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมไทย รวมถึงมิติอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกันอย่างยิ่ง

ที่มา:

การศึกษา“ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศ” โดย สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า