SHARE

คัดลอกแล้ว

“รักษาแก่นเดิม เพิ่มเติมความงามใหม่”

ตีความศิลปะแบบ ครูไก่ ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้อยู่เบื้องหลังโชว์สุดอลังการใน เพลงเอก ซีซั่น 2

 “ศิลปะที่บริสุทธ์ไม่มีหรอก ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเสมอ และเราต้องปรับตัวตามให้ทัน”

หากคุณเป็นอีกคนที่หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมไทย นิยมความงามของประเพณีพื้นบ้าน และชมชอบศาสตร์แห่งนาฎศิลป์ คุณอาจเคยได้ยินชื่อของ ครูไก่ – ดร.สุรัตน์ จงดา อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์ และผู้เชี่ยวชาญงานด้านศิลปะวัฒนธรรม ศิลปะการแสดง พื้นฐานนาฎศิลป์ไทย มาบ้าง

เขาเป็นทั้งผู้อยู่เบื้องหลังงานสร้างสรรค์การแสดงโขนพระราชทาน และผู้คร่ำหวอดในวงการออกแบบเครื่องแต่งกายย้อนยุคในสื่อละครและภาพยนตร์ ทั้งยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรรับเชิญ และผู้ออกแบบชุดการแสดงในรายการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ‘คุณพระช่วย’ และคอนเสิร์ต ‘คุณพระช่วยสำแดงสด’ มาตั้งแต่ปีแรกจนถึงตอนนี้

ล่าสุด ดูเหมือนดีกรีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้จากประสบการณ์ของครูไก่ จะถูกท้าทายด้วยโจทย์จากรายการประกวดร้องเพลงลูกกรุงและสุนทราภรณ์ “เพลงเอก ซีซั่น 2” ที่กำลังฉายอยู่ทางช่องเวิร์คพอยท์ 23

workpointTODAY จึงชวนครูไก่มาเล่าเรื่องราวความหลงใหล และความสนุกระหว่างทาง ตลอดจนมุมมองการออกแบบงานแสดงศิลปะแบบไทย ๆ ให้ไม่จมหายไปตามยุคสมัย และคงรักษารากเหง้าไว้ได้ไม่เสื่อมคลาย

นักสร้างมักเริ่มจากนักชม

ก่อนจะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมและนาฎศิลป์ไทย ใคร ๆ ก็ต้องเริ่มมาจากการเป็นผู้ชมกันทั้งนั้น ก่อนหน้านี้หลายสิบปี ด้วยสภาพแวดล้อมที่ความบันเทิงไม่ได้มีให้เลือกชมหลากหลาย ความสนุกวัยเด็กของครูไก่คือการได้ชมศิลปะพื้นบ้าน รู้จักประเพณีโบราณ และซึมซับวิถีชีวิตท้องถิ่น เขาผูกพันอย่างลึกซึ้งกับนาฎศิลป์ไทย ตั้งแต่ยังไม่รู้จักชื่อเรียก

“เราก็ไม่รู้หรอกว่านาฎศิลป์คืออะไร เราเข้าใจแค่ว่าเราชอบ ชอบดูของสวยงาม ถูกใจดนตรี เครื่องแต่งกาย รวมถึงเนื้อเรื่อง เมื่อก่อนพวกการแสดงโขน ละครไทย หรือหนังจักร ๆ วงศ์ ๆ นี่ชอบมาก รายการโทรทัศน์อย่างชีพจรลงเท้า คันฉ่องส่องไทย อะไรที่พาเราไปดูเกี่ยวกับศิลปะไทยเราชอบทั้งหมด”

เมื่อความชื่นชอบทับถมมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความรัก ครูไก่ไม่ลังเลที่จะเลือกเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยนาฎศิลป์ จ.กาฬสินธุ์ ทันทีที่จบการศึกษาภาคบังคับ หรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

“ตอนนั้นเรามีทั้งเพื่อนที่ออกไปหางานทำ เพื่อนที่ไปเรียนต่อม.4-6 เรารู้ว่าตัวเองไม่ได้ชอบเรียนสายสามัญ แต่ชอบศิลปะ ชอบดนตรีเพราะเคยเรียนเป่าขลุ่ย เลยคิดว่ามันน่าจะไปต่อได้ ตอนนั้นก็สมัครเข้าเรียนที่วิทยาลัยนาฎศิลป์ และได้เริ่มศึกษาด้านนี้อย่างจริงจัง”

ครูไก่ได้เรียนรู้พื้นฐานนาฎศิลป์ไทยหลากหลายแขนง โดยเน้นหนักไปที่เอกโขน ซึ่งเขาเองก็มีความสนใจ ครูไก่เล่าว่าสมัยนั้นการเรียนโขน ไม่ได้เรียนเฉพาะการรำ แต่ยังรวมถึงดนตรี เครื่องแต่งกาย และองค์ประกอบการแสดงอื่น ๆ

“สมัยเรียนประมาณปี 2530 วงโปงลางกำลังบูมมาก ถือว่าเป็นดนตรีแบบใหม่ ที่ได้รับความสนใจในภาคอีสาน นอกจากพวกคณะลิเก คณะหมอลำเลย ตอนนั้นใคร ๆ ก็อยากจ้างวงโปงลางไปโชว์ เพราะมันเป็นดนตรีที่สนุก คึกคัก บันเทิง ประกอบกับประเทศไทยตอนนั้นกำลังส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวพอดี เขาก็เลยมีการจัดแสดงศิลปะ 4 ภาคในหลาย ๆ จังหวัด วิทยาลัยเราก็เลยถือเอาดนตรีโปงลางและการแสดงอื่น ๆ เดินสายไปโชว์เสียหลายที่เลย”

ตลอดระยะเวลาที่ครูไก่ศึกษาในวิทยาลัยนาฎศิลป์ เขาได้มีโอกาสเดินทางไปโชว์ศิลปะการแสดงในฐานะตัวแทนภาคอีสาน ได้เดินทางไปโชว์ในจังหวัดอื่น ๆ แถมยังได้เห็นโชว์จากจังหวัดอื่น ๆ ด้วย เขาบอกว่าช่วงเวลานั้นคือการได้ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ พร้อมกับเปิดโลกของศิลปะในหัวใจให้กว้างกว่าเดิม

เพราะหลงใหลจึงเรียนรู้ถึงรากเหง้า

หลังเรียนจบจากวิทยาลัยนาฎศิลป์ จ.กาฬสินธุ์ ครูไก่ตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาตรีที่วิทยาลัยนาฎศิลป์ กรุงเทพฯ พร้อมกับบอกว่า นี่คืออีกหนึ่งช่วงเวลาที่เขาได้เพิ่มพูนองค์ความรู้เกี่ยวกับการแสดงโขน ซึ่งเป็นสาขาที่เขาชอบอย่างแท้จริง

“ตอนอยู่กาฬสินธุ์ เราอาจจะได้ความรู้พื้นฐานในเรื่องโขน รู้วิธีการรำ องค์ประกอบทางดนตรี หรือเครื่องแต่งกายต่าง ๆ แต่ถ้าอยากศึกษาเรื่องโขนให้ถึงแก่น ศูนย์กลางขององค์ความรู้จริง ๆ จะอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะไม่ว่าจะงานราชพิธีที่มีการแสดงโขนเข้ามาเกี่ยว โรงละครแห่งชาติที่ชอบจัดแสดงโขน หรือแหล่งซื้อขายเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์การแสดง ทุกอย่างรวมอยู่ที่นี่หมด”

ครูไก่ใช้เวลาว่างจากการเรียน ออกไปหาประสบการณ์ทั้งชมการแสดง ฝึกตัดเย็บเครื่องแต่งกาย ฝึกทำหัวโขนเพิ่มเติมที่วิทยาลัยเพาะช่าง ทั้งยังไปสมัครเป็นลูกศิษย์ของครูบุญรอด ประกอบนิล และอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤษ ปรมาจารย์ด้านหุ่นกระบอกไทย การได้มีโอกาสร่ำเรียนกับศิลปินในดวงใจ ยิ่งตอกย้ำให้ครูไก่เชื่อว่าเส้นทางที่เขาเลือกเดินนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง

“เมื่อก่อนเราไม่รู้หรอกว่าอ.จักรพันธุ์คือใคร เรารู้แค่ว่าภาพวาดที่เห็นในหนังสือพิมพ์มันสวย มันประณีต พอได้มาโชว์ที่กรุงเทพ ก่อนจะเจอเขา เรายังกำเงินเบี้ยเลี้ยงหนึ่งพันบาทซึ่งเยอะมากสมัยนั้น ไปซื้อผลงานอาจารย์ที่ร้านศิลปากรอยู่เลย พอได้ฝากตัวเป็นศิษย์ เราก็ยิ่งเคารพรักนับถือ อาจารย์ท่านเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจด้านการศึกษา ทำให้เราเชื่อว่า ยิ่งเรารักอะไร มันจะยิ่งผลักดันให้เราเรียนรู้ต่อยอดไปโดยไม่เบื่อ และนี่คือมุมมองที่เราใช้ต่อยอดในการสร้างสรรค์งานศิลปะอื่น ๆ มาจนถึงปัจจุบัน”

ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่หยุดค้นคว้า

เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อน ๆ หลายคนก็ถึงคราวต้องเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองใหม่ บางคนเลือกจะกลับบ้าน ไปเป็นครูที่เดิม บางคนสมัครเข้าทำงานที่โรงละครแห่งชาติ แต่ครูไก่ที่ยังมุ่งมั่นในเส้นทางการศึกษา ตัดสินใจสอบบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนวิทยาลัยนาฎศิลป์ กรุงเทพฯ สอนวิชาโขนตามความถนัด และเริ่มรับงานออกแบบคอสตูม รวมถึงรับงานแสดงโขนควบคู่กันไป

“มันเริ่มจากงานของเพื่อน ๆ รุ่นพี่รุ่นน้องที่มาทาบทาม จนกระทั่งเราได้มีโอกาสไปช่วยออกแบบโชว์ในอีเว้นท์ของบริษัทใหญ่ ๆ จากที่แค่ทำเสื้อผ้า ก็มาเริ่มดูภาพรวมงาน ช่วยคิดคอนเท้นต์ คอนเส็ปงานต่าง ๆ ให้เขา ตอนนั้นบริษัทอีเว้นท์เขาบอกว่าชอบที่เราความรู้แม่น เวลาจะจัดงานท่องเที่ยว ขบวนแห่วันสงกรานต์ หรือวันสำคัญต่าง ๆ ก็เลยมาจ้างเรา”

“หลัง ๆ ก็ได้เริ่มทำงานกับวงการบันเทิง ได้ออกแบบชุดให้หนังหรือละคร ก็เลยเป็นที่รู้จักมาขึ้น ประมาณ 18 ปีที่แล้ว ก็ได้มาร่วมงานกับทางรายการคุณพระช่วย ตอนแรกยังเป็นแค่ที่ปรึกษาคอยให้ข้อมูลต่าง ๆ พอเข้าปีที่สองรายการเริ่มเรียกหามากขึ้น ก็เลยเหมือนกลายเป็นวิทยากรประจำ ตอนหลังพอเขามีแผนจะทำคอนเสิร์ต คุณพระช่วยสำแดงสด เริ่มมีส่งเพลงมาให้เราช่วยคิด ช่วยออกแบบโชว์ มันก็เลยเหมือนเราทำงานร่วมกับรายการ เป็นคนคอยคิด ออกแบบโชว์และการแสดงต่าง ๆ ตั้งแต่นั้นมา”

การจะออกแบบชุดการแสดง หรือเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้น่าสนใจ เหมาะกับโอกาสต่าง ๆ ครูไก่บอกว่า ผู้ออกแบบต้องมีความรู้ที่กว้างขวาง และทันต่อความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อได้รับโจทย์ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม ตีความจากคอนเส็ปก่อนจะนำมาคิดโชว์ นี่คือหลักคิดที่เขาใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะในสื่อชนิดใด

“เห็นแบบนี้เราไม่ได้เสพแต่งานศิลปะของไทยนะ เวลาไปต่างประเทศเราก็ไปดูละครเวที ไปดูงานแสดงต่าง ๆ อย่างตอนไปดูบัลเล่ต์ ก็รู้สึกว่าการแปรแถว อารมณ์เพลง การเล่าเรื่องราวเขาน่าสนใจ ระบบโรงละครก็ดี เวลามีเทศกาลศิลปะ ก็จะขอบัตรเพื่อพานักเรียนไปดู นี่เป็นส่วนหนึ่งในการสอน อย่างเวลาจะสอนนาฎศิลป์จีน ก็มีให้เด็กไปดูหนังจีน ศึกษาประวัติศาสตร์ หรือถ้าจะสอนเรื่องวรรณกรรมตะวันตก ก็ให้ไปดูหนังเชกสเปียร์อินเลิฟ การรู้เรื่องพวกนี้ไว้เพื่อให้เข้าใจว่าโลกมันหมุนไปยังไง จะเป็นประโยชน์กับคนทำงานสร้างสรรค์ในอนาคตอย่างแน่นอน”

ศิลปะไทยก็ต้องตามยุคสมัยให้ทัน

แม้ในสายตาของหลายคน รายการคุณพระช่วยจะเน้นหนักไปที่การส่งเสริมศิลปวัฒธรรมแบบเก่า แต่ครูไก่บอกว่า เหตุผลที่ตลอดระยะเวลา 18 ปี รายการนี้ยังเป็นที่สนใจ ยังอยู่ในสายตาของผู้ชมรุ่นใหม่ ๆ ส่วนหนึ่งเพราะวิธีนำเสนอที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

“18 ปีแล้ว รายการคุณพระช่วยยังยืนโครงเรื่องของวัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมไม่ได้แปลว่าจะไม่ปรับไปตามยุคสมัย ที่ผ่านมาหลักคิดของเราคือการจับเอาวัฒนธรรมมาผสมผสานกับองค์ประกอบใหม่ ๆ ดนตรีใหม่ ท่าเต้นใหม่ หรือเครื่องแต่งกายแบบใหม่ เพื่อให้มันไม่น่าเบื่อ แต่ก็ยังไม่เสียตัวตน”

“ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าลองไปดูงานที่เราทำอย่าง โขนพระราชทาน การแสดงที่เล่นทุกปีที่ศูนย์วัฒนธรรม บัตรเต็มทุกรอบ แทบจะต้องเพิ่มรอบทุกปี นั่นคือการปรับวัฒนธรรมเก่ามาสู่สำนึกของคนรุ่นใหม่ โขนเนี่ย เนื้อเรื่องมันคือรามเกียรติ์ ซึ่งคือเรื่องแฟนตาซีใช่ไหม พอบอกว่าแฟนตาซี มันก็หมายความว่าเราเนรมิตอะไรเจ๋ง ๆ บนเวทีได้ ความสนุกของการทำโชว์เลยเป็นการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบ ทั้งโปรดักชั่น ฉาก ดนตรี เทคนิค การตัดต่อบท ทั้งหมดเราตีความได้ใหม่ โดยที่ยังคงเนื้อหาเดิม”

รักษาแก่นเดิม เพิ่มเติมความงามใหม่

ครูไก่บอกว่า สิ่งดีงามที่เป็นแก่นของการแสดง อย่างไรก็ต้องยึดไว้ ไม่ว่าจะเป็นท่วงท่าการรำ หรือเนื้อหาที่ยังคงต้องดำเนินไปแบบเคารพบทประพันธ์ แต่ข้อดีของการที่รามเกียรติ์แบ่งเนื้อหาเป็นตอน ๆ ทำให้เขาสามารถปรับเปลี่ยนการลำดับเรื่อง หรือนำเสนอตัวละครด้วยไอเดียอื่น และนี่จะทำให้การชมโขนไทย มอบความรู้สึกให้คนดูได้ต่างจากเดิม

หลักคิดการทำงานในแบบของครูไก่ ทำให้เขายังคงสนุกสนานกับการออกแบบการแสดงให้กับรายการคุณพระช่วย รวมถึงได้ปล่อยของอย่างเต็มที่ กับการคิดค้นและออกแบบโชว์ในรายการ ‘เพลงเอก ซีซั่น 2’ ที่เรียกได้ว่าอลังการ เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และไอเดียที่ยังไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนในทุก ๆ โชว์

“รายการนี้เราได้รับมาแต่โจทย์เพลงที่น่าสนใจทั้งนั้นเลย สนุกมากกับการได้ตีความ ได้หาองค์ประกอบเสริมอย่าง พร็อพ อุปกรณ์ คอสตูม เสื้อผ้า มารวมเป็นชุดการแสดงของเรา อย่างเพลง บุเรงนองพ่ายรัก ก็ตีความเลยว่าจะให้นักร้องแต่งเป็นพม่า แต่จะทำยังไงให้มันงาม เดี๋ยวไปหาบัลลังก์อ่างทองมาให้ก่อน แล้วก็ต้องให้มีสาวงามด้วย หรือ เพลงยอยศพระลอ ซึ่งเป็นเพลงไทยเดิม ลาวกระทบไม้เลย เราก็คิดภาพไว้ว่าจะมีการรำ แต่ดีไซน์ชุดใหม่ ไม่ให้เหมือนที่ผ่านมา นี่คือภาพที่เราเห็นตอนออกแบบ เราจะเอาองค์ประกอบพวกนี้มารวมกัน เพื่อให้เห็นมวลรวมของโชว์ก่อน จากนั้นถึงค่อยปรับแก้กันไป”

แม้จะเป็นรายการโทรทัศน์ แต่รายละเอียดของโชว์ต่าง ๆ ในรายการ รวมถึงขนาดของเวทีนับว่าออกแบบไว้เป็นโชว์ใหญ่ ครูไก่เล่าว่า ความยากของการคิดโชว์คือการที่ต้องใส่ใจรายละเอียดของทุกโชว์ให้สมกับขนาดของพื้นที่ รวมถึงคำนึงถึงความโดดเด่นของเหล่าผู้เข้าแข่งขัน

“รายการเพลงเอกเป็นโชว์นักร้อง ถึงเราจะออกแบบให้มีสตอรี่ มีพระเอกนางเอก แต่ทั้งหมดจะไม่คำนึงถึงตัวหลักของเราไม่ได้ บางทีคิดทุกอย่างมาหมดแล้ว แต่พอมารวมกันแล้วแดนเซอร์เด่นกว่าก็ต้องปรับ ชุดเด่นเกินไปก็เปลี่ยนชุด นักร้องจมเกินก็เปลี่ยนวิธีแปรแถว เปลี่ยนท่าเต้น สรุปคือ เพลงหนึ่งเพลงมีเวลาประมาณ 4 นาที เราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้มันมีสตอรี่ มีช่วงให้นักร้องพัก ด้วยโชว์คั่นกลางสวย ๆ แล้วก็ต้องทำให้นักร้องเด่นที่สุด จะว่าไป นี่ก็คือทั้งหมดที่เราคิดตอนที่ออกแบบโชว์”

ทั้งความละเอียดของการออกแบบ ความประณีตของเครื่องแต่งกาย รวมไปถึงการลำดับเรื่องราวที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ร้อยเรียงเป็นชุดการแสดงที่คนดูจะได้รับรู้ทั้งความบันเทิง ความเพลิดเพลิน จากองค์ประกอบแสง สี เสียง รวมถึงได้รับความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็ยังจะได้เห็นว่า ศิลปะไทยยังงดงามได้ขนาดไหนในปัจจุบัน

ติดตามผลงานการออกแบบโชว์ของ ครูไก่ – ดร.สุรัตน์ จงดา ใน “เพลงเอก ซีซั่น 2” รายการประกวดร้องเพลงที่จะสะท้อนความงามของผลงานเพลงอมตะออกมาในรูปแบบใหม่ ให้งดงามเข้ากับยุคสมัย แต่ไม่ทิ้งตัวตนเดิม ออกอากาศทุกวันเสาร์  เวลา 20.05 น. ทางช่องเวิร์คพอยท์  23

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า