SHARE

คัดลอกแล้ว

หนึ่งในคำถามคลาสสิก เวลาพูดเรื่อง ‘เพศสภาพ’ และ ‘การคอร์รัปชัน’ คือ ผู้ชาย หรือ ผู้หญิง ที่โกงมากกว่ากัน?

งานวิจัยของ World Bank เคยบอกเอาไว้ ผู้หญิงมักจะทุจริตน้อยกว่าผู้ชาย ยิ่งผู้หญิงมีอำนาจบริหารมากเท่าไหร่ การคอร์รัปชันก็จะน้อยลงด้วย เหมือนกับงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ชี้ว่า ผู้หญิงในองค์ภาครัฐหรือแวดวงทางการเมือง มีโอกาสที่จะติดสินบน หรือโกงน้อยกว่า

คำถามคือ ทำไมผู้หญิงถึงทุจริตน้อยกว่าผู้ชาย อะไรคือคำอธิบาย และมันมีเหตุผลอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังกันแน่
TODAY Bizview ชวนย้อนรอยไปดูการศึกษาผ่านงานวิจัย พร้อมสรุปให้เข้าใจในโพสต์เดียวจบ

เพศสภาพถูกจับคู่โยงใยไปกับเรื่องคอร์รัปชันมานาน

คำถามที่ว่า ‘เพศหญิง หรือ เพศชาย ใครทุจริตมากกว่ากัน’ อาจฟันธงได้ยาก แม้จะมีผลการศึกษาว่า องค์กรที่รับผู้หญิงทำงานเป็นสัดส่วนจำนวนมาก จะช่วยลดคอร์รัปชันลดลงได้ และรัฐบาลที่ผู้หญิงมีอำนาจบริหารจะเกิดการทุจริตน้อยกว่า

แต่ที่จริงแล้ว ประเด็นนี้มันซับซ้อนกว่าที่คิด ผู้หญิงและผู้ชายมีแนวโน้มที่จะทุจริตได้เท่าๆ กัน หากเขาหรือเธอมี ‘อำนาจ’ มากพอ และมี ‘โอกาส’ ที่เหมาะสม

งานวิจัยของ UNODC หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ รวบรวมความสัมพันธ์ ระหว่างการคอร์รัปชันและเพศไว้ได้อย่างครอบคลุม ข้อมูลสำคัญได้บอกไว้ว่า ผู้หญิงและผู้ชายมีแนวโน้มทุจริตได้พอๆ กัน ขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรม

อีกหนึ่งงานวิจัยที่อธิบายเรื่องนี้ไว้ได้ดีมากๆ คืองานของ Esarey and Chirillo ในปี 2013 บอกว่า บริบทแวดล้อม หรือโครงสร้างทางสังคมเป็นตัวกำหนดการคอร์รัปชัน บางครั้งผู้หญิงยอมรับการทุจริตเช่นเดียวกับผู้ชาย

เช่น ในประเทศที่มีประชาธิปไตยสูง มีระบบตรวจสอบป้องกันการคอรัปชันค่อนข้างเข้มงวด ผู้หญิงมักโอนอ่อนไปตามสัญญาณทางสังคม ส่วนใหญ่จึงไม่เห็นด้วยและมีส่วนร่วมน้อยในการทุจริต

แต่ตรงกันข้าม ประเทศที่มีการคอร์รัปชันสูงหรือมีโครงสร้างแบบอุปถัมภ์ เมื่อผู้หญิงขึ้นสู่ตำแหน่งสูงด้วยอำนาจของผู้ชาย สุดท้ายแล้วเธอจะไม่กล้าเปิดโปง หรือต่อต้านการกระทำผิด เพราะกลัวจะสูญเสียตำแหน่ง

ข้อมูลเหล่านี้บอกเราว่า การทุจริต ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสภาพอย่างเดียว แต่ถูกกำหนดด้วยโครงสร้างเชิงอำนาจ ระบอบการปกครอง และบริบทแวดล้อมต่างๆ

ผู้หญิง ผู้ชาย ใครโกงมากกว่ากัน?

แต่ในอีกทาง ก็ต้องยอมรับว่า ในสังคมส่วนใหญ่ อำนาจมักจะตกอยู่ในมือของ ‘ผู้ชาย’ เป็นหลัก ดังนั้น พอผู้ชายมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมมากกว่า มีอำนาจครอบงำ เข้าถึงทรัพยากร และชักจูงให้กลุ่มเพื่อนพ้องเข้าร่วมได้ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชายเหมือนกัน) จึงไม่แปลกที่สัดส่วนการทุจริตของผู้ชาย จะมากตาม

ในทางตรงข้าม ผู้หญิงมีโอกาสในการใช้อำนาจน้อยกว่า ทั้งการเข้าถึงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียมกับเพศชาย การเลื่อนตำแหน่งบริหาร การเลือกปฏิบัติของสังคม ฯลฯ

มีหลายประเทศในโลก ที่ผู้หญิงไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหญ่ๆ ได้ หรือมีโอกาสน้อยที่จะได้เป็นสมาชิกและได้รับความไว้วางใจจากเครือข่ายอุปถัมภ์ ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้มักมีสมาชิกเป็นผู้ชาย

ถ้ามองเรื่องนี้ในมุมสถิติ ก็ไม่แปลกที่ ข่าวคราวการทุจริตของผู้หญิงจะเกิดขึ้นน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นการรับสินบน การใช้เส้นสาย หรือการโกงในรูปแบบต่างๆ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในประเทศอาร์เจนตินา สมาชิกสภานิติบัญญัติหญิงมีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ น้อยกว่าผู้ชาย

หรืออย่างในประเทศเม็กซิโก ผู้หญิงหลายคนในแวดวงการเมืองเริ่มต้นอาชีพจาก NGOs แทนที่จะสร้างเครือข่ายคอร์รัปชัน

สรุปคือ ผู้หญิงทั้งในอาร์เจนตินาและเม็กซิโก มีโอกาสน้อยกว่าที่จะโกงในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในทางการเมือง เพราะมีหนทางเข้าสู่อำนาจที่น้อยกว่าผู้ชาย

นักวิชาการ Francesco Decarolis จาก Bocconi University ได้ข้อสรุปที่คล้ายๆ กัน คือ
– ระหว่างปี 2522-2557 ข้าราชการหญิงอาวุโสในจีน ถูกจับกุมในข้อหาทุจริตน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานชายถึง 81%
– ระหว่างปี 2543 ถึง 2559 เจ้าหน้าที่หญิงในอิตาลี ถูกสอบสวนเรื่องการทุจริตน้อยกว่าผู้ชาย 22%

ส่วน World Bank ก็ได้ฉายภาพใหญ่ให้เห็นชัดขึ้น ในปี 2001 พบผลสำรวจ 100 ประเทศทั่วโลก ยิ่งประเทศที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นผู้หญิงมากเท่าไหร่ การรับสินบนก็จะน้อยตาม

นอกจากนั้น ยังมีคำอธิบายอื่นๆ ที่น่าสนใจ คือนักการเมืองหญิงมักหลีกเลี่ยงการทำทุจริต เพราะพวกเธอจะถูกลงโทษรุนแรงกว่าผู้ชาย นั่นก็เป็นเพราะผู้คนในสังคม คาดหวังให้นักการเมืองหญิงปฏิบัติตามแบบแผน มีความซื่อสัตย์ อ่อนโยน และเห็นอกเห็นใจมากกว่าผู้ชาย
ทำให้พวกเธอไม่กล้าเสี่ยงกระทำความผิด เพราะกลัวถูกจับได้ และจะได้รับบทลงโทษที่รุนแรงมากกว่า

เพิ่มบทบาทผู้หญิงในองค์กร ช่วยลดการทุจริตได้ จริงหรือไม่?

ความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงทุจริตน้อยกว่าผู้ชายแพร่หลายฝังลึกมาตั้งแต่อดีต นำไปสู่นโยบาย ‘เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิง’
เพราะเป็นไปได้ว่า เมื่อผู้หญิงมีอำนาจบริหารมากขึ้น การทุจริตก็จะน้อยลง

และจากความเชื่อนี้ ทำให้ในหลายประเทศจ้างงานผู้หญิงเข้ามาทำงานในองค์กรมากขึ้น หรือเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งบริหาร หวังลดการทุจริตและสร้างความโปร่งใส กลายเป็นทางเลือกขององค์กรต่างๆ ในยุคนี้

ตัวอย่างเช่น
– ปี 2011 ในประเทศเม็กซิโกได้จัดตั้งหน่วยตำรวจจราจรหญิงล้วน เพื่อลดการติดสินบนจากผู้กระทำความผิดบนท้องถนน
– เช่นเดียวกับในประเทศเปรู ก็เคยใช้ตำรวจจราจรหญิงทำงานบนท้องถนนเช่นเดียวกัน ในช่วงปลายทศวรรษ 1990
– ในอินเดีย มีการให้โควตาผู้หญิงเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาหมู่บ้าน ถึง 30% นับตั้งแต่ปี 1993 เพราะพวกเธอช่วยให้การทุจริตลดลง และยังทำให้เกิดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดีขึ้นด้วย

แม้บางคนจะมองว่า วิธีการนี้ไม่ได้ลดการคอร์รัปชันโดยตรงหรอก แต่อย่างน้อยก็มีส่วนส่งเสริมทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ

และในอีกแง่มุมหนึ่ง หากมองว่าทั้งเพศหญิงและเพศชายมีโอกาสทุจริตได้ทั้งคู่ การแก้ปัญหาโดยการเพิ่มสัดส่วนเพศหญิงในองค์กร แค่วิธีนี้อาจจะยังไม่พอ

ถ้าลองเอาไปเปรียบเทียบกับการก่ออาชญากรรมทั่วไป โดยเฉลี่ยผู้หญิงกระทำความผิดน้อยกว่าผู้ชาย แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนอาชญากรหญิงกลับเพิ่มมากขึ้น

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสังคม ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ พอผู้หญิงมีเวลาทำงานนอกบ้านเหมือนผู้ชาย ก็อาจไปเกี่ยวข้องกับงานผิดกฎหมายได้เช่นกัน นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงก่ออาชญากรรมเพิ่มตามไปด้วย

สำหรับกรณีการทุจริตก็อาจลงเอยแบบนั้น เมื่อตำแหน่งของเจ้าหน้าที่หญิงเติบโตขึ้น และมีความเท่าเทียมเทียบเท่ากับผู้ชาย สัดส่วนการทุจริตในอนาคตก็อาจเพิ่มขึ้นด้วยเหมือนกัน

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ‘พฤติกรรมการทุจริต’ ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม อำนาจและโอกาส ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสภาพเสมอไป
โดยเฉพาะในประเทศที่มีระบบอุปถัมภ์และมีการคอร์รัปชันสูงอยู่แล้ว ก็จะยิ่งเปิดประตูให้เกิดการทุจริตได้มาก ไม่ว่าจะเป็นเพศชาย เพศหญิง หรือเพศใดๆ ก็ตาม

 

ที่มา :
https://blogs.worldbank.org/governance/gender-and-corruption-time-now
https://www.unodc.org/documents/corruption/Publications/2020/THE_TIME_IS_NOW_2020_12_08.pdf
https://www.u4.no/publications/are-men-and-women-equally-corrupt.pdf
https://www.economist.com/the-economist-explains/2022/02/18/why-women-are-less-likely-to-be-corrupt-than-men

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า