SHARE

คัดลอกแล้ว

แพทย์จุฬาฯ เปิดข้อมูลงานวิจัยโควิด-19 พบ 4 กลไกทำให้เกิดภาวะ Long COVID ชี้ไทยจะมีช่วงขาลงราว 42 วันหรือ 6 สัปดาห์

วันที่ 11 มี.ค. 2565 นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,516,256 คน ตายเพิ่ม 6,222 คน รวมแล้วติดไปรวม 451,056,270 คน เสียชีวิตรวม 6,042,565 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร…

สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชียในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 69 คน สูงเป็นอันดับ 20 ของโลก

รายงานขององค์การอนามัยโลก WHO Weekly Epidemiological Report วันที่ 8 March 2022 สรุปภาพรวมให้เห็นว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาทั่วโลก มีรายงานติดเชื้อใหม่ลดลง 5% และจำนวนการเสียชีวิตลดลง 8% แต่ได้ระบุไว้ว่า การที่จำนวนติดเชื้อลดลงนั้น อาจเป็นเพราะบางประเทศมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องการตรวจคัดกรองโรค

ทั้งนี้เราคงเห็นได้จากในประเทศไทยด้วย ที่ตรวจ RT-PCR อย่างจำกัด ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันไม่มาก แต่สถานการณ์จริง การระบาดเป็นไปอย่างกว้างขวาง และมีผู้ติดเชื้อที่ตรวจด้วย ATK จำนวนมากกว่า RT-PCR แต่ไม่รายงานรวมเป็นผู้ติดเชื้อ ทั้งที่นำเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาแบบ Home isolation, Community isolation, และแบบ OPD

องค์การอนามัยโลกได้สรุปเกี่ยวกับ Omicron ไว้ดังนี้
1. ล่าสุดจากระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่ระบาด พบว่า Omicron ครองการระบาดในสัดส่วนสูงถึง 99.7% ในขณะที่เดลต้าเหลือเพียง 0.1%
2. สำหรับ Omicron นั้น ขณะนี้มีสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์ โดยพบ BA.1.1 มากสุดคือ 41% รองลงมาคือ BA.2 มีราว 34.2% และ BA.1 ราว 24.7%
3. Omicron มีความได้เปรียบในการแพร่เชื้อมากกว่าเดลต้า 64%
4. หากเปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์ย่อยของ Omicron พบว่า BA.2 มีความได้เปรียบในการแพร่เชื้อมากกว่า BA.1 56% ทั้งนี้ในสหราชอาณาจักรพบว่าอาจสูงถึง 82.7% และมีอัตราการติดเชื้อทั้งในครัวเรือนและนอกครัวเรือนมากกว่า BA.1 อีกด้วย
5. ในแง่ความรุนแรงของโรค BA.2 ไม่แตกต่างจาก BA.1

นพ.ธีระ ย้ำเตือนอีกครั้งว่า เมืองไทยยังมีการระบาดรุนแรง กระจายทั่ว แม้ดูจะเป็นขาลง หลังพีคเมื่อ 3 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ธรรมชาติของการระบาดขาลงที่สังเกตจากประเทศอื่นจะยาวนานกว่าขาขึ้น 1.5 เท่า จึงคาดว่าไทยเราจะมีช่วงขาลงราว 42 วันหรือ 6 สัปดาห์ ระยะยาวเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่าวางใจ ลันล้าได้ แต่กลับหมายถึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะจำนวนติดเชื้อใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงขาลงที่ยาวนานนี้อาจมีจำนวนรวมมากกว่าขาขึ้นได้ หากประมาท ไม่ป้องกันตัวให้ดี

นอกจากนี้ยิ่งจำนวนติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นมากเท่าใด โอกาสเกิดการปะทุรุนแรงขึ้นกว่าเดิมย่อมมีได้ โอกาสเกิดสายพันธุ์ใหม่ย่อมมีได้มากขึ้น และที่ควรตระหนักคือ จำนวนคนที่จะประสบปัญหา Long COVID ในระยะยาวจะมากขึ้น

Long COVID จะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการดำรงชีวิต คุณภาพชีวิต และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งคนที่ป่วย ครอบครัว และประเทศ
ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาน้อยๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น
หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนใกล้ชิด และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

ด้วยสถานการณ์และทิศทางนโยบายและมาตรการดังที่เป็นมา คาดว่า 4 เดือน หรือ 3+1 ไม่มีทางที่จะเพียงพอสำหรับการประกาศเป็นโรคประจำถิ่นครับ
ความรู้เกี่ยวกับ Long COVID จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการจัดการโรคโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้องนำนโยบาย จึงจะมีโอกาสสำเร็จ ความสำเร็จนั้นวัดกันที่”ผลลัพธ์ที่เห็น”

ขณะที่วันนี้ นพ.ธีระ ได้โพสต์อัปเดตความรู้จากงานวิจัย ระบุว่า “การมีนโยบายใส่หน้ากากในโรงเรียนช่วยป้องกันโควิด-19 ได้มาก” Angelique E และคณะจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ระดับสากล Pediatrics เมื่อวันที่ 9 March 2022 ที่ผ่านมา ทำการศึกษาในหลายรัฐ ตั้งแต่กรกฎาคมถึงธันวาคม 2021 โดยมีนักเรียนถึง 1.12 ล้านคน และบุคลากรในโรงเรียนอีก 157,069 คน โรงเรียนที่ไม่มีนโยบายให้นักเรียนและบุคลากรใส่หน้ากาก จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อมากกว่าโรงเรียนที่ให้ใส่หน้ากากถึง 7.5 เท่า ในขณะที่โรงเรียนที่ใส่บ้างไม่ใส่บ้าง ไม่บังคับ จะมีความเสี่ยงติดเชื้อแพร่เชื้อมากกว่าโรงเรียนที่ให้ใส่หน้ากาก 2.1 เท่า

ผลจากการศึกษาในอเมริกานี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของนโยบายการใส่หน้ากากในโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชน ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายนี้ พร้อมรณรงค์ และสนับสนุน กระตุ้นหนุนเสริมให้บุคลากรในสถานศึกษาและนักเรียนนิสิตนักศึกษาใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“Long COVID” Science ฉบับล่าสุด 10 March 2022 ออกเป็นฉบับพิเศษเกี่ยวกับโควิด-19 ล้วนๆ บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่สนใจควรหาอ่านอย่างยิ่ง บทความวิชาการหนึ่งในนั้นสรุปให้เห็นความรู้วิชาการที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาระยะยาวที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อโรคโควิด-19

อาการผิดปกติระยะยาวหลังติดเชื้อ หรือภาวะ Long COVID นั้น พบมากขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก และเกิดได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง โอกาสเกิด Long COVID มีราว 20-40% เกิดได้ทุกเพศ ทั้งชายและหญิง แต่หญิงจะบ่อยกว่าชาย ทุกวัย ทั้งเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ โดยผู้ใหญ่พบบ่อยกว่าเด็ก ความผิดปกติเกิดขึ้นได้หลากหลายระบบของร่างกาย ทั้งสมอง/ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ต่อมไร้ท่อ กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ผิวหนัง ทางเดินอาหาร รวมถึงอาการทั่วร่างกาย

กลไกที่ทำให้เกิดความผิดปกตินั้น ขณะนี้เชื่อว่าอาจเป็นได้ 4 กลไก ได้แก่
– การเกิดการอักเสบตามระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง (Chronic inflammation)
– การมีไวรัสโควิด-19 หลงเหลือแฝงในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย (Viral persistence)
– การเกิดภูมิต่อต้านตนเอง (Auto-antibody)
– ภาวะไม่สมดุลของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเดินอาหาร (Dysbiosis)

สถานการณ์ไทยเราขณะนี้ การระบาดรุนแรง กระจายทั่ว และสายพันธุ์ย่อย BA.2 ขยายวงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีสมรรถนะในการแพร่เชื้อได้ไวกว่าสายพันธุ์ Omicron ดั้งเดิมอย่าง BA.1 ด้วยสถานการณ์เช่นปัจจุบัน ไม่ใช่เวลามาสร้างกระแสให้คนหลงใหลได้ปลื้ม วาดฝันว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในระยะเวลาไม่กี่เดือน ทั้งที่เป็นไปได้ยาก

ภาวะปกติ หรือ Normal นั้น ใครๆ ก็ล้วนปรารถนา ไม่ใช่แค่ไทย แต่เป็นกันทั้งโลก แต่ด้วยความรู้จนถึงบัดนี้ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และด้านพฤติกรรมศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่า การระบาดของโควิด-19 แบบ pandemic ทั่วโลกมาหลายปีอย่างไม่หยุดหย่อนนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่อาวุธที่มีอยู่ตอนนี้อย่างวัคซีน ต่อให้จะฉีดกี่เข็ม ก็ยับยั้งการติดเชื้อแพร่เชื้อไม่ได้ แม้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้ บทเรียนจากหลายประเทศที่หวนกลับไปประกาศอิสรภาพให้คนใช้ชีวิตแบบปกติที่คุ้นเคยในอดีต โดยปราศจากการป้องกันตัว ก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นคือ ติดเยอะ ป่วยเยอะ และตาย

ดังนั้น “ความปกติในอดีต” จึงไม่ใช่ความปกติที่จะกลับมาได้ในสภาวะที่ยังระบาดกันแบบนี้ ควรยอมรับเสียทีว่า “ความปกติ” ที่เป็นไปได้ในระยะถัดจากนี้ไป ต้องเป็น “ความปกติใหม่ที่ปลอดภัยและดีกว่าเดิม” ไม่ใช่ “ความปกติที่อันตราย” แบบในอดีต ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงาน

อย่าทำให้เกิด Pretendemic เลย เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งเรื่อง Long COVID และปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมจะตามมาระยะยาวอย่างมากมาย การสร้างนโยบายที่ไม่ประมาท ก้าวเดินช้าๆ แต่มั่นคงและปลอดภัยควรเป็นสิ่งที่กระทำ การควบคุมป้องกันโรคในขณะนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอครับด้วยความปรารถนาดีเสมอ

ที่มา : https://www.facebook.com/thiraw

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า