SHARE

คัดลอกแล้ว

แม้ธุรกิจมากมายจะออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัสเซีย แต่ธุรกิจเหล่านั้นส่วนใหญ่กลับเป็นบริษัทจากชาติตะวันตก 

ส่วนบริษัทเอเชียกลับเดินสวนทาง ส่วนใหญ่ยังลังเล และบางรายประกาศเดินหน้าธุรกิจในรัสเซียต่อไป 

ทำไมบริษัทเอเชียถึงมีท่าทีแบบนั้น แล้วสถานการณ์บริษัทไทยในรัสเซียเป็นอย่างไร TODAY Bizview ชวนหาคำตอบไปด้วยกัน

ตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน หนึ่งในภาพที่เราเห็นกันคือบริษัทตะวันตกหลายแห่งออกมาประกาศว่าจะถอนตัวออกจากรัสเซีย

เพื่อแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของรัสเซีย

แต่บริษัทเอเชียส่วนใหญ่กลับไม่ได้ทำแบบเดียวกับบริษัทตะวันตก คือบางรายยังลังเลว่าจะถอนตัวดีไหม แต่บางรายก็ชัดเจนว่าจะดำเนินธุรกิจในรัสเซียต่อไปตามปกติ

เช่นกรณีบริษัทแม่ของ Uniqlo ที่ประกาศเดินหน้าให้บริการ 50 สาขาในรัสเซียต่อไป (ก่อนจะกลับลำ ประกาศหยุดให้บริการชั่วคราวในตอนหลัง)

โดย Tadashi Yanai ซีอีของ Uniqlo ให้เหตุผลของการเดินหน้าขายในรัสเซียต่อไปว่า “เพราะเสื้อผ้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต และคนรัสเซียก็มีสิทธิที่มีใช้ชีวิตแบบเดียวกับพวกเรา”

ขณะที่บริษัทตะวันตกอย่าง H&M, Nike, Netflix, Visa, Mastercard ฯลฯ ต่างก็ประกาศหยุดขาย หยุดให้บริการในรัสเซียอย่างรวดเร็ว

ส่วนบริษัทเอเชียนั้น แม้จะมีการระงับการดำเนินการในรัสเซีย แต่ก็มีแนวโน้มที่จะบอกว่า ในทางปฏิบัตินั้นมีความยากลำบากตามมาอีกมากมาย

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจแสดงจุดยืนของบริษัทเอกชน อาจมาจากท่าทีและแรงกดดันจากของรัฐบาลประเทศตัวเองด้วย

เพราะถ้าลองมาดูฝั่งอเมริกา ที่รัฐบาลมีจุดยืนต้านรัสเซียอย่างเจน  Apple ที่แม้จะมีรายได้ในรัสเซียมหาศาล (ข้อมูลจาก FactSet พบว่า Apple มียอดขายในรัสเซียประมาณ 4.5 พันล้านดอลลาร์/ปี หรือราว 1.5 แสนล้านบาท)

แต่บริษัทก็ประกาศชัดเจนทันทีว่าจะหยุดขายของทั้งหมดในรัสเซีย และ “ยืนหยัดอยู่กับทุกคนที่ทนทุกข์ทรมานจากความรุนแรงในยูเครน”

ไม่กี่วันหลังจากนั้น Samsung Electronics บริษัทสัญชาติเกาหลี ซึ่งมียอดขายในรัสเซียประมาณ 3.2 พันล้านดอลลาร์ ก็ออกมาบอกเพียงว่าจะหยุดการจัดส่งสินค้าไปยังรัสเซีย

แต่ก็ชวนตั้งคำถามว่า ความเคลื่อนไหวของซัมซุงเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลเกาหลีหรือไม่

เพราะหลังจากรัสเซียบุกยูเครน เกาหลีใต้ก็ประกาศห้ามส่งออกผลิตภัณฑ์เชิงกลยุทธ์กว่า 1,600 รายการ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์โทรคมนาคม และอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต ไปยังรัสเซีย

อย่างกรณีของ Shell ก็ถูกกดดันจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร จนต้องออกมาประกาศว่าจะหยุดการร่วมทุนกับ Gazprom ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ในรัสเซีย

แต่ในทางตรงกันข้าม Mitsui & Co. หนึ่งในบริษัทการค้าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นผู้ร่วมลงทุนกับ Shell และ Gazprom ในโครงการ Sakhalin-2 กลับไม่ได้ถอนตัวจากการลงทุนในรัสเซียทันที

โดยระบุว่า “บริษัทกำลังหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและคู่ค้าทางธุรกิจ เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้ในอนาคต โดยคำนึงถึงความต้องการด้านการจัดหาพลังงานด้วย”

ผู้บริหารบริษัทเอกชนในเอเชียบอกกับ Nikkei Asia ถึงเหตุผลหลายข้อที่จะไม่แสดงจุดยืนในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น การคำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงานและคู่ค้า และอยาก ‘เป็นกลาง’ ในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

ผู้บริหารอีกคนให้ความเห็นว่า เมื่อเทียบกับชาติตะวันตกแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะคว่ำบาตรรัสเซีย

ดังนั้น สถานการณ์แบบนี้ ถ้าบริษัทแสดงจุดยืนต่อต้านคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือชาติใดชาติหนึ่ง ธุรกิจก็เสี่ยงที่จะเจอกับภัยคุกคามต่างๆ เช่น การโจมตีทางไซเบอร์

Margaret Allen หุ้นส่วนของสำนักงานกฎหมาย Sidley Austin บอกว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ หากบริษัทเอกชนจะไม่ตัดสินใจปักธงเลือกข้างใดข้างหนึ่งไปในทันที เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น

นอกจากเรื่องท่าทีของรัฐบาลแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งอาจมาจาก ‘รัสเซีย’ ไม่ใช่ตลาดสำคัญสำหรับแบรนด์เอเชียขนาดนั้น และมีส่วนได้ส่วนเสียในรัสเซียน้อยกว่าบริษัทอเมริกาหรือยุโรป

ข้อมูลประมาณการจาก FactSet ชี้ให้เห็นว่า ใน 50 อันดับบริษัทต่างชาติที่มีรายได้สูงสุดรัสเซีย เป็นบริษัทจากเอเชียแค่ 7 แห่ง ขณะที่บริษัทยุโรปติดอันดับมากถึง 30 แห่ง

ถ้าลองดูเข้าไปในแบรนด์ ซัมซุงที่ว่ามีรายได้ในรัสเซียเป็นอันดับต้นๆ แล้ว แต่รายได้นั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.3% ของรายรับทั้งหมดของซัมซุงเท่านั้น

Moody’s Analytics รายงานว่า สำหรับประเทศหลักๆ ในเอเชียแปซิฟิก การส่งออกไปรัสเซียมีสัดส่วนไม่เกิน 1% ของ GDP

ดังนั้น หากประเทศเอเชียแปซิฟิกจะคว่ำบาตรรัสเซีย ผลกระทบเรื่องการค้าขายก็ลดลงเพียงเล็กน้อย แถมต่อไปหากสงครามสิ้นสุด การค้ากับรัสเซียก็อาจเป็นเรื่องยากขึ้นอีก

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าสร้างผลกระทบเพียงเท่านี้ แถมยังอาจค้าขายยากขึ้นในอนาคตอีก ก็ไม่รู้จะทำไปทำไมนั่นเอง

แล้วสถานการณ์ของบริษัทไทยในรัสเซียเป็นอย่างไร?

ถ้าพูดถึงบริษัทไทยเบอร์ใหญ่ๆ ที่เข้าไปลงทุนในรัสเซียแล้ว หนึ่งในนั้นก็คือ ‘CPF’ ในอาณาจักรของ ‘เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์’ ที่เริ่มเข้าไปทำธุรกิจในรัสเซียตั้งแต่ปี 2549 ด้วยทุนก้อนแรก 310 ล้านบาท

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ตั้งเป้าเป็น ‘ครัวของโลก’ ของเจ้าสัว ธุรกิจที่ CPF เข้าไปจับในรัสเซียก็คืออาหารสัตว์และการเลี้ยงสัตว์ เพราะตอนนั้นดีมานด์การบริโภคเนื้อในรัสเซียสูงมาก โดยเฉพาะเนื้อหมู

และ CPF ก็เดินหน้าเพิ่มการลงทุนในรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ครั้งสำคัญๆ คือปี 2558 ที่ทุ่มเม็ดเงิน 23,700 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการไก่ครบวงจรในรัสเซีย

รวมถึงปี 2564 ที่ผ่านมา CPF ก็มีการลงทุนซื้อกิจการฟาร์มหมูในรัสเซียถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกใช้เม็ดเงิน 404 ล้านบาท ส่วนอีกดีลปิดไปด้วยตัวเลขสูงถึง 9,900 ล้านบาท

แล้วซีพีมองประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ครั้งนี้อย่างไร?

กรุงเทพธุรกิจ รายงานถึงความเห็นของ ‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งมองว่าอาเซียนและไทยถือว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และผลกระทบจะเกิดขึ้นมากในยุโรป

เขายังบอกว่าอีกว่า ความขัดแย้งนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อธุรกิจไทย แต่ถึงอย่างนั้น วิกฤตก็ยังเป็นโอกาสในกรณีที่เกิดสงคราม

“ผมคิดว่าถ้าเราเดาใจรัสเซีย นี่จะเป็นจังหวะเวลา เป็นไทม์มิ่งที่เหมาะสมที่จะสร้างอำนาจต่อรองกับเหล่าประเทศยุโรป และพยายามไม่ให้ยูเครนเป็นปรปักษ์ต่อตนเอง และผมคิดว่าคงไม่มีใครตั้งใจให้ไปถึงการเกิดภาวะสงคราม ดังนั้นในตอนนี้ เราต้องมองในแง่บวกไว้ก่อน”

จึงชวนคิดได้ว่า คำว่า ‘แง่บวก’ ของศุภชัย อาจหมายถึงสถานการณ์คงไม่ไปถึงขั้นสงคราม

แต่ถ้าเกิดสงคราม ก็ยังมีโอกาสในวิกฤต คือ ยิ่งสถานการณ์ตึงเครียด ความต้องการอาหารก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลบวกต่อผู้ผลิตอาหารอย่าง CPF นั่นเอง

แต่ถ้ามองในภาพรวม อันที่จริงแล้วการค้าระหว่างไทยและรัสเซีย เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจสร้างผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยได้

โดย ‘เกรียงไกร เธียรนุกูล’ ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย บอกว่า สิ่งที่น่ากังวลคือมาตรการคว่ำบาตรที่นานาประเทศใช้กับรัสเซีย จะทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างนักธุรกิจไทยและรัสเซียยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

คือทำธุรกรรมผ่านธนาคารในรัสเซียไม่ได้ เลยทำให้ต้องไปใช้ธนาคารในประเทศอื่นแทน

แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าความลำบากและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้จะเพียงพอให้ธุรกิจไทยแสดงจุดยืนหรือไม่

ท้ายที่สุดแม้ยังไม่รู้ว่าทางออกของสงครามครั้งนี้จะเป็นแบบไหน แต่ก็แสดงให้เห็นชัดแล้วว่า ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์นั้นส่งผลต่อการตัดสินใจแสดงจุดยืนของแบรนด์อย่างชัดเจน

สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปคือ ในอนาคตโลกธุรกิจจะแบ่งชัดเจนด้วยหรือไม่ การทำธุรกิจจะแบ่งออกเป็นโลกฝั่งตะวันตก vs. ฝั่งตะวันออก หรือไม่อย่างไร ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป…

อ้างอิง:

https://asia.nikkei.com/Politics/Ukraine-war/Asian-companies-hesitate-on-Russia-pullout-as-Western-boycotts-mount

https://www.bangkokbiznews.com/business/990056

https://www.blockdit.com/posts/621cf7623687e6c8d283258d

https://www.facebook.com/todaybizview/posts/181546220750903

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า