SHARE

คัดลอกแล้ว

CONTENT WARNING : เนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย และภาวะซึมเศร้า อาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจ

ห้องคอนโดแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ ขนาดใหญ่พอให้พ่อ แม่ และ ลูกน้อย ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ที่ผนังห้องมีกรอบรูปสามีและภรรยาแขวนอยู่ ที่โต๊ะรับแขกยังมีอัลบั้มรูปงานแต่งงานวางไว้ เผยให้เห็นภาพของคู่รักที่ยิ้มแย้มสดใสทั่วทุกมุมห้อง

ดูเหมือนสิ่งของต่างๆ ยังคงถูกจัดวางอย่างที่มันเคยเป็น แม้ว่าเป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้ว ที่สามีใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง หลังสถานที่แห่งนี้เป็นจุดที่ภรรยาของเขาตัดสินใจจบชีวิตไปพร้อมลูกน้อยวัย 5 เดือน

workpointTODAY พูดคุยกับ เฮมิช มากอฟฟิน สามีของ ประณัยยา อุลปากร และคุณพ่อของ อาร์เธอร์ มากอฟฟิน ผู้จากไปจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่

เมื่อร่างกายเปลี่ยน อารมณ์เปลี่ยน

ราวปี 2010 ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เฮมิช มากอฟฟิน ชายออสเตรเลีย ได้พบเจอกับหญิงไทย ประณัยยา อุลปากร เธอเป็นที่รักของคนรอบตัว เป็นคนร่าเริงแจ่มใส และคอยช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ สายสัมพันธ์ความรักจึงค่อยๆ เกิดขึ้น จนทั้งคู่ได้ตัดสินใจสร้างครอบครัวที่เมืองไทยในที่สุด พวกเขาแต่งงานในเดือนกันยายนปี 2017 เมื่อทุกอย่างลงตัว ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะมีลูก

หนูน้อย อาเธอร์ มากอฟฟิน ลืมตาดูโลกเมื่อเดือน มีนาคม 2021 ภายในอ้อมกอดของพ่อและแม่ที่เพียบพร้อม แม้จะเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี แต่ฮอร์โมนหลังคลอดที่แปรเปลี่ยนของคุณแม่ เป็นสิ่งที่ทุกคนแทบไม่ได้คาดคิด นี่คือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression – PPD)

“ถึงเราเตรียมตัวทุกอย่างดี แต่ก็ยังจบลงด้วยเหตุการณ์แบบนี้” เฮมิช กล่าวและเล่าเสริมว่าก่อนจะมีลูก เขาและภรรยาได้ลงเรียนวิชาการเลี้ยงเด็กต่างๆ รวมถึงหาพี่เลี้ยงเด็กรอไว้แล้ว เขาบอกว่าสิ่งที่ทำให้เปลี่ยนไปคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกาย

หลังจากการให้กำเนิดบุตร ฮอร์โมนของผู้เป็นแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ในผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดนั้น จะส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ร้องไห้บ่อย อ่อนไหวง่าย หงุดหงิดง่าย และบางครั้งผุดภาพทำร้ายตัวเองและลูก

ข้อมูลอาการของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลรามาธิบดีข้างต้น ไม่แตกต่างจากพฤติกรรมของประณัยยามากนัก 2-3 เดือนหลังจากให้กำเนิดอาเธอร์ เธอเริ่มเกิดความประหม่ามากขึ้น เริ่มกังวลกับสิ่งต่างๆ รอบตัว เพราะเธออยากให้ทุกอย่างออกมาดีที่สุดสำหรับลูกน้อย และประสบปัญหานอนไม่หลับ 

“ปัญหาการนอนหลับของเธอ เธอมักจะหลับๆ ตื่นๆ บางทีผมก็ไม่อยากจะขยับตัวเพราะถ้าขยับตัวอาจทำให้เธอตื่นได้ บางทีก็หลับ ยานอนหลับก็ช่วยเธอให้หลับได้ แต่เธอก็จะตื่นขึ้นมากลางดึกอยู่ดี มันกลายเป็นผลข้างเคียงต่อภาวะซึมเศร้า แต่พอหยุดกินก็กลายเป็นยิ่งเผชิญปัญหานอนไม่หลับ” เขาเล่าย้อนให้ฟังว่าพยายามศึกษาวิธีอื่นๆ มาแนะนำภรรยาด้วย เช่นการอาบน้ำอุ่นก่อนนอน แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยเท่าไหร่นัก

ชายผู้ไม่มีประสบการณ์ดูแลคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตมาก่อนมองเรื่องที่เขาต้องรับมือเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่เขาก็มองว่าเธอกำลังผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นกัน ทั้งคู่พยายามใช้เวลาร่วมกันให้มากขึ้น ทำในสิ่งที่เคยสร้างเสียงหัวเราะ ทั้งเล่นเกมมาริโอ้ และเต้นรำ แต่ประณัยยาบอกเขาว่า “ฉันไม่สามารถทำมันได้อีกแล้ว”

โควิด-19 ตัวแปรสำคัญภาวะซึมเศร้า

“การมีช่วงเวลาที่เธอชอบในช่วงนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นเลยเพราะโควิด”

การไปดินเนอร์ที่ร้านอาหารดีๆ การออกไปดูหนัง หรือทำกิจกรรมข้างนอกบ้าน แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เฮมิชอยากจะชวนประณัยยา เพื่อให้ได้พักผ่อนจากการเลี้ยงลูกและใช้เวลาร่วมกันเหมือนเแต่ก่อน แต่นั่นเป็นสิ่งที่แทบทำไม่ได้เลย เมื่อมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 บังคับใช้ในช่วงเดียวกัน

วิกฤติโรคระบาดส่งผลกระทบต่อทุกคน และปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้สุขภาพจิตของหลายคนย่ำแย่ลงด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องเผชิญสภาวะที่ย่ำแย่มากยิ่งขึ้น

ประณัยยากังวลเรื่องโควิด-19 มากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ เนื่องจากพบการแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น เธอพยายามหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนให้ได้มากที่สุด แต่ก็ยังกังวลทั้งพี่เลี้ยงเด็ก เด็กส่งน้ำ และช่างซ่อมท่อประปาที่ต้องเข้ามาที่บ้าน

“โควิดเป็นปัจจัยสำคัญเลย” เฮมิชพูดถึงสาเหตุหนักที่ทำให้สภาวะอารมณ์ของภรรยาของเขาย่ำแย่ลง การเลี้ยงดูแก้วตาดวงใจในช่วงโรคระบาดที่สามารถติดเชื้อในเด็กได้ ทำให้ความกังวลค่อยๆ ทวีคุณขึ้น

ความคิดลบ (Dark Thoughts) ของประณัยยาเริ่มมีมากยิ่งขึ้น วันหนึ่งเธอบอกกับสามีว่า “อยากให้ย้อนเวลากลับไปเป็นแบบเมื่อก่อน” นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เฮมิชรู้ได้ทันทีว่าการมีลูกทำให้เธอต้องกังวลมากแค่ไหน แม้เขาจะพูดให้กำลังใจเธอแต่นั่นก็ทำให้เธอรู้สึกในบางครั้งว่าเขามองโลกในแง่ดีมากเกินไป 

เฮมิช จำไม่ได้ว่าเขาได้ยินเรื่องโรคซึมเศร้าหลังคลอดมานานมากแค่ไหนแล้ว แต่หลังจากที่เพื่อนของเขามาเยี่ยมและเตือนให้ระวังเรื่องโรคนี้ เขาก็เริ่มสังเกตภรรยามากยิ่งขึ้น และสุดท้ายก็ถึงจุดที่เขาคิดว่าถึงเวลาต้องไปหาหมอแล้ว 

จิตแพทย์ท่านแรกไม่ได้วินิจฉัยว่าเธอเป็นโรค PPD และหลังจากนั้นอาการของเธอก็ค่อยๆ แย่ลง อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ และพูดถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย 

4 จิตแพทย์ 3 นักจิตวิทยา และการทำศิลปะบำบัด คือความพยายามหาทางช่วยเหลือให้ภรรยาของเฮมิชกลับมาสดใสได้อย่างเก่า อาการนอนไม่หลับของประณัยยาดีขึ้นเป็นบางช่วงเท่านั้น เฮมิชต้องการให้เธอเว้นจากการดูแลอาเธอร์บ้าง โดยบอกให้เธอไปพักผ่อนที่หัวหินกับน้องสาว หลังจากกลับมาไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ขึ้นในเดือนครบรอบแต่งงาน 4 ปีของเขาและเธอ

ตั้งมูลนิธิและวิ่งระดมทุน เพื่อให้คนเข้าใจภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ข่าวการจากไปของประณัยยา กลายเป็นพาดหัวในหลายสำนักข่าว ทำให้คนรอบตัวและครอบครัวของเฮมิชต่างเข้ามาให้กำลังใจ เพื่อนพาเฮมิชย้ายออกจากสถานที่เกิดเหตุไปพักอาศัยที่โรงแรมราวหนึ่งเดือน ก่อนที่เขาตัดสินใจขอกลับมายังห้องคอนโด

“การได้เห็นสถานที่เกิดเหตุครั้งแรกก็รู้สึกทำใจลำบาก” อาจจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับหลายคนที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์สูญเสีย แต่สำหรับเฮมิช การกลับไปอยู่ห้องคอนโดเป็นสถานที่ที่เขารู้สึกคุ้นเคย เขาพยายามพบปะเพื่อนฝูงมากขึ้นเพื่อปรึกษาและระบายความทุกข์ที่เก็บไว้

“การได้ออกไปเดินเล่นเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจ ทำให้ได้คิดถึงสิ่งต่างๆ แต่ละคนอาจจะมีวิธีต่างกัน บางคนอาจจะทำงานหนักขึ้น แต่สำหรับผม ผมอยากจะหยุดทุกอย่าง จึงออกไปเดินวันและ 2 ครั้ง และพูดกับผู้คน” เฮมิชเล่าถึงวิธีฟื้นฟูจิตใจ

ต่อมาเฮมิชตัดสินใจนำชื่อภรรยาและลูกของเขามาก่อตั้งเป็นมูลนิธิประณัยยาและอาร์เธอร์มากอฟฟิน (PAM Foundation) เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความตระหนักรู้ถึงภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดยเขามุ่งมั่นจะพัฒนาใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

1.สร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และให้คำแนะนำในการเลี้ยงลูกทั่วไป ทำให้โรคซึมเศร้าหลังคลอดเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและรู้จักวิธีการดูแลผู้ป่วย

2.พัฒนาการดูแลรักษาในประเทศไทย จัดการอบรมบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดให้มีมากขึ้น

3.วิจัยและศึกษาเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และหาแนวทางการรักษาหรือเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากการก่อตั้งมูลนิธิแล้ว เฮมิชเตรียมวิ่งระดมทุนและสร้างความตระหนักถึงโรคซึมเศร้าหลังคลอด โดยเขาจะวิ่ง 17 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. จนถึงวันที่ 3 เม.ย. จาก John o’ Groats เหนือสุดของสกอตแลนด์ สู่ใต้สุดของอังกฤษ ระยะทางกว่า 1,369 กิโลเมตร

สิ่งที่เขาทำในวันนี้คงไม่สามารถพาชีวิตของภรรยาและลูกของเขากลับมาได้ แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยให้ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอีกหลายชีวิตได้รับการเยียวยาและมีความสุขในโลกใบนี้ต่อไปได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า