SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer ความฝันของคนกรุงเทพ ที่อยากมีบัตรใบเดียว ขึ้นขนส่งมวลชนได้ทุกอย่าง ไม่ต้องไปแลกเหรียญใหม่ให้วุ่นวายหลายสเต็ป เคยเกือบจะเป็นความจริง เมื่อ ครม. อนุมัติโปรเจ็กต์ “บัตรโดยสารร่วม” ให้เกิดขึ้นมา

แต่จนถึงวันนี้การใช้งานบัตรดังกล่าว ไม่สามารถครอบคลุมขนส่งสาธารณะทุกอย่างในกรุงเทพฯ ได้อยู่ดี ปัญหาคืออะไร และเหล่าแคนดิเดทผู้ว่าฯ กรุงเทพ มีไอเดียในการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้อย่างไร workpointTODAY จะสรุปทุกอย่างให้เข้าใจใน 15 ข้อ

1) ในเมืองใหญ่ทั่วโลก ที่มีทั้งรถไฟ รถใต้ดิน รถเมล์ และ เรือโดยสาร จะมีการนำ “ระบบตั๋วร่วม” มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน บัตรเดียวจบ ขึ้นรถได้ทุกอย่าง เป็นการลดความวุ่นวาย และประหยัดเวลา ตัวอย่างเช่นในกรุงลอนดอนจะมีบัตร Oyster ที่สามารถใช้งานระบบขนส่งได้ทั้งหมด หรือในเมืองนิวยอร์ก จะมีบัตรชื่อ OMNY หรือในฮ่องกงจะมีบัตร Octopus Card เป็นต้น

2) กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ ที่มีคนอยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านจำนวน 5 ล้านคน เรามีขนส่งมวลชนหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดก็ต้องจ่ายเงินแยกกัน ดังนั้นในปี 2550 รัฐบาลยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงมีไอเดียเรื่อง ตั๋วร่วม (Common Ticket) ขึ้นมา โดยเริ่มต้นจะให้ BTS กับ MRT รถไฟฟ้าสองบริษัท ลองนำร่อง ทำดูก่อน

3) BTS จึงคิดค้นบัตร Rabbit ขึ้นมาในปี 2555 โดยตั้งใจจะเปิดใช้งานร่วมกับ MRT แต่ฝั่ง MRT ไม่ร่วมด้วย โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้กล่าวว่า “พอทำบัตร Rabbit เสร็จแล้ว กลับไม่มีคนมาร่วมด้วย ก็ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไม แต่พอทำมาแล้ว ก็เลยเอามาใช้เอง โดยไปร่วมกับขนส่งแบบอื่น เช่น BRT”

4) เมื่อคนอื่นไม่เอาด้วย BTS เลยใช้งาน Rabbit เอง และจากจุดนั้นฝั่งรัฐบาลจึงตัดสินใจ ทำตั๋วร่วมด้วยตัวเอง โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ในการวางโปรเจ็กต์นี้

5) ปี 2558 สนข. จัดประกวดหาชื่อและโลโก้บัตรตั๋วร่วม ชิงเงินรางวัล 1 แสนบาท ผลสรุปคือ “บัตรแมงมุม” จากการออกแบบของ เตย-วรรธิชา อเนกสิทธิชน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชนะการประกวด

6) ณ เวลานั้น พอจะเห็นได้ว่า ไอเดียตั๋วร่วมเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นกว่าเดิม มีการวางโครงสร้างการใช้งาน วางนโยบายชัดเจนว่าจะเก็บเงินกันอย่างไร เช่นเดียวกับระบบเทคโนโลยีทุกอย่างก็เชื่อมต่อกันกับรถไฟฟ้าทุกสาย อย่างไม่มีปัญหา ทิศทางตั๋วร่วม ดูจะเดินหน้าไปในทางที่ดีมาก

7) ไอเดียของบัตรแมงมุม คือสามารถใช้ได้ทั้ง BTS, MRT, แอร์พอร์ตลิงค์, รถเมล์ของขสมก. และ เรือทั้งเจ้าพระยาและคลองแสนแสบ โดยรัฐบาลออกมา นำโดย พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกมากล่าวว่า จะเริ่มทำการทดสอบระบบ และทุกอย่างจะเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2559

8 ) การทดสอบเทสต์ระบบเป็นไปอย่างเรียบร้อย นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า จะเปิดใช้บริการบัตรแมงมุม โดยเริ่มจาก BTS, MRT และ แอร์พอร์ต ลิงค์ ภายในเดือนมกราคม 2560 และถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ก็จะขยายไปสู่ขนส่งชนิดอื่นต่อไป โดยคณะรัฐมนตรีได้ทำการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบโปรเจ็กต์บัตรแมงมุม จากเดิมเป็น สนข. เป็น รฟม.

9) แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ที่ทำให้บัตรแมงมุมไม่สามารถใช้การได้จริง คือทุกๆ หน่วยงาน ไม่ได้เชื่อมต่อกัน

อธิบายให้เข้าใจคือ รถไฟฟ้าสายต่างๆ ในประเทศไทยนั้น มีบริษัท ที่รับผิดชอบดูแลอยู่ตามนี้

บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
– รถไฟฟ้า BTS สีเขียวอ่อน (คูคต – เคหะฯ)
– รถไฟฟ้า BTS สีเขียวเข้ม (สนามกีฬา – บางหว้า)
– รถไฟฟ้า BTS สีทอง (ธนบุรี – คลองสาน)

รฟม. (MRTA) รัฐวิสาหกิจในสังคมกระทรวงคมนาคม
– รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน (ท่าพระ -บางซื่อ -หัวลำโพง -หลักสอง)
– รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง (เตาปูน – บางใหญ่)

บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม
– รถไฟฟ้า Airport Rail Link (พญาไท – สุวรรณภูมิ)
– รถไฟฟ้าชานเมือง สีแดงอ่อน (บางซื่อ – ตลิ่งชัน)
– รถไฟฟ้าชานเมือง สีแดงเข้ม (บางซื่อ – รังสิต)

10) ในขณะที่ รฟม. พร้อมใช้งานบัตรแมงมุม แต่การเจรจากับ BTS กลับไม่คืบหน้า โดย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยกล่าวไว้ในปี 2561 ว่า “จริงๆ BTS ก็คุยกันมานานแล้ว แต่ต่างคนก็ต่างรีรอ ว่ามันจะเกิดจริงหรือไม่ แต่ตอนนี้มันก็เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นก็อยู่ที่ BTS แล้วครับ”

11) เดือนมิถุนายน 2561 รฟม. เปิดตัวบัตรแมงมุม พร้อมกับแจกบัตร 2 แสนใบ โดยจะเริ่มใช้กับ MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงก่อน โดยจะเจรจาให้ทาง BTS เข้าร่วมให้ได้ในอนาคต แต่สุดท้าย การเจรจากับ BTS ก็ไม่สำเร็จ เพราะทางฝั่ง BTS ก็มีบัตร Rabbit ของตัวเอง ที่มียอดคนเติมบัตรมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องเข้าร่วมใช้บัตรแมงมุม

12) มาโนช พฤฒิสถาพร นักเขียนจาก Brand Inside ได้วิจารณ์ว่า “ถ้าไปรวมกับคนอื่น ความฝันที่จะปั้น Rabbit LINE Pay ให้เป็น wallet และ payment solution ที่คนใช้มากที่สุด ก็จะไม่เกิด … ถ้า BTS คิดเช่นนี้จริง ต่อให้ภาครัฐกดดันขนาดไหน ก็คงยากที่จะทำให้ BTS เป็นส่วนหนึ่งของบัตรแมงมุม เพราะ BTS ไม่ได้อะไร มีแต่เสีย”

13) สถานการณ์ทุกอย่างจึงไม่สามารถเดินหน้าไปได้ จน ณ เวลานี้ ก็ยังไม่มีบัตรใด ที่สามารถใช้การได้ทุกระบบขนส่ง สิ่งที่น่าสนใจคือ จะมีการหาทางออกร่วมกันได้อย่างไร โดยเฉพาะ กับภาครัฐ และ BTS ที่เป็นเส้นทางรถไฟฟ้า ที่ทำรายได้มากที่สุดในประเทศ

14) ด้วยความที่ตั๋วร่วม คือหนทางที่จะทำให้การเดินทางของคนกรุงเทพฯ สะดวกสบายมากขึ้น ทำให้ทาง workpointTODAY ได้ชวนผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ว่า จะมองปัญหานี้อย่างไร

[ เบอร์ 1 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ]

“เราทำตั๋วร่วมไม่ได้ เพราะว่ามันติดอยู่ที่เส้นไข่แดง (หมายถึงสายสีเขียวของ BTS) ซึ่งเส้นไข่แดงสำคัญยังไง มันคนใช้เยอะสุด แล้วเขามีตั๋วของเขา (หมายถึง Rabbit) เขาก็เลยไม่มาร่วมกับตั๋วแมงมุมนี่ไง ดังนั้นเราถึงพูดตลอดเลย ว่าการต่ออายุสัมปทานนี่นะครับ เราขอดูเงื่อนไขก่อน”
ความหมายของวิโรจน์ คือ BTSC เจ้าของ BTS ได้สัมปทานการเดินรถ ระยะยาวจนถึงปี พ.ศ. 2585 สามารถกำหนดราคาค่าโดยสารได้อย่างอิสระ การเข้าร่วมกับตั๋วแมงมุม หมายถึงต้องลดค่าโดยสารลง ซึ่งในมุมของบริษัทเอกชน ใครจะอยากได้รายได้ลดลง
มุมของวิโรจน์ ถ้าได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เขาจะขอเปิดเอกสารที่ BTS เซ็นสัญญากับกทม. ในยุคผู้ว่าฯ คนก่อนๆ อย่างละเอียด ถ้ากางดูและรู้ว่าอะไรไม่เป็นธรรม ก็สามารถต่อรองเพื่อให้ BTS มาเข้าร่วมกับตั๋วแมงมุมได้

[ เบอร์ 3 สกลธี ภัททิยกุล ]

“2 ผู้ให้บริการ (หมายถึง BTS กับ MRT) ตกลงกันไม่ได้ว่า ถ้ามีการใช้บัตรแมงมุม ขึ้นรถไฟคันนี้แล้วไปต่อคันนั้น ใครจะได้ค่าแรกเข้าใช่ไหม”

(Note : ค่าแรกเข้า หมายถึงในการใช้รถไฟฟ้า สถานีแรกสุด คนขึ้นต้องจ่ายเงินเยอะ แต่พอเป็นสถานีต่อไป ค่าโดยสารก็จะเพิ่มขึ้นแค่ไม่กี่บาท แต่ปัญหาคือ ถ้า BTS กับ MRT ไม่ร่วมมือกัน คนใช้บริการอาจต้องจ่ายค่าแรกเข้าถึง 2 ครั้ง เพราะเป็นคนละระบบขนส่งกัน)

“และคำถามคือเงินที่อยู่ในบัตร ใครจะเป็นคนเก็บไว้ เพราะเงินที่คนใช้บริการเติมเงิน บริษัทก็สามารถไปฝาก ได้ดอกเบี้ย”

“ในส่วนของกทม. เราคุยกับทาง BTS อยู่แล้ว มันก็มีความสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้นคนที่มาเป็นผู้ว่าฯ ก็ต้องคุยในฝั่งตัวเอง และรัฐบาลก็ต้องไปคุยกับ รฟม. ซึ่งผมว่าตัวนี้มันรวมได้แน่อยู่แล้วในอนาคต”

[ เบอร์ 4 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ]

“ถ้าปกติคนขึ้นรถเมล์ 20 บาทต่อเที่ยว และใช้ลงเรือ 12 บาทต่อเที่ยว ต้องจ่าย 32 บาท แต่ถ้าใชับัตรนี้ (บัตรแมงมุม) แล้วเหลือ 30 บาท คนจะควักเงินสดไหม ไม่ เขาก็คงใช้บัตร ดังนั้นบัตรแมงมุมสามารถเอามาเป็นส่วนลดได้”

และในอนาคตมันต้องไม่ใช่บัตรนี้แล้วครับ มันต้อง BKK Token อยู่ในซิมได้ อยู่ในกระเป๋าตังค์ อยู่ในมือถือได้หมด เมืองนอกเขาเรียกว่า Utility Token ตรงนี้อยากริเริ่มในกทม. เติมเต็มจากตั๋วร่วม ซึ่งนี่ถือว่าโบราณแล้วครับ”

[ เบอร์ 6 อัศวิน ขวัญเมือง ]

“ผมพยายามผลักดันคุยกันมาหลายรอบแล้ว เขาก็เห็นด้วย แต่มันยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติสักทีนึง ผมไม่มีอำนาจทำคนเดียวได้ ส่วนรถไฟฟ้าสีอื่นเราทำอะไรไม่ได้เลยนะ รถร้อน รถเย็น เรือด่วนเจ้าพระยา นี่ไฟดับผมยังทำอะไรไม่ได้เลยนะ เพราะต้องแจ้งการไฟฟ้า”

“ผมเชื่อว่าถ้าผมกลับมาใหม่ ผมก็จะต้องประสานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง เราก็เคยคุยมาแล้วหลายครั้ง แต่มันยังไม่เกิดสักที”

[ เบอร์ 7 รสนา โตสิตระกูล ]

“ถ้าดิฉันเป็นผู้ว่ากทม. จะกำหนดให้รถไฟฟ้าสายสีเขียว โอนเข้าไปรวมกับระบบของรฟม. เพราะระบบรางทั้งหมดควรจะเป็นของรัฐ เพื่อให้รัฐสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารได้ แล้วทำให้มันมีราคาเดียว เหมือนกับบัตรแมงมุมที่เคยมีเจตนารมณ์แบบนั้น”

“เราก็จะให้ รฟม. มีค่าแรกเข้า ซึ่งเขาคิดแค่ 12 บาท แล้วก็บวกสถานีละ 2 บาท สูงสุดก็ไม่ควรเกิน 44 บาท 44 บาท เดินทางได้ทั่วกรุงเทพฯ เลย ถ้าทำได้ มันจะทำให้รถไฟฟ้าทั้งระบบ เป็นขนส่งมวลชน เป็นรถสาธารณะอย่างแท้จริง”

“ถ้าเราผลักดันให้คนใช้บัตรแมงมุมได้มากขึ้น คนก็จะขึ้นรถไฟฟ้ามากขึ้น มันก็จะแก้ปัญหารถติด และลดเรื่อง PM 2.5 ได้ด้วย”

[ เบอร์ 8 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ]

“พอเราออกบัตรแมงมุมมาปุ๊บ มันก็ไปไม่ได้ไกล สาเหตุเป็นเพราะมันไม่มีกฎหมายบังคับที่ให้ผู้ประกอบการต้องใช้บัตรแมงมุม แล้วบัตรพวกนี้มันมีผลประโยชน์อยู่ เพราะเวลาคนซื้อบัตร ตัวเงินก็จะถูกเอาไปใช้ได้เลยโดยไม่มีดอกเบี้ย แล้วมันก็มีข้อมูลของผู้ใช้ด้วยว่า ไอ้นี่มันซื้ออะไร มันไปไหน แล้วมันอาจเอาไปซื้ออย่างอื่นได้ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการแต่ละเจ้าก็อยากจะมีบัตรของตัวเองไง”

“ปัจจุบันมีการทำระบบ EMV (ระบบที่ใช้บัตรเครดิตแตะเข้าสถานีได้เลย ไม่ต้องซื้อบัตรแมงมุม) แต่อันนี้ก็มีปัญหา คือคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีบัตรเครดิตการ์ดไง อาจจะไม่สะดวก เพราะฉะนั้น เราต้องผลักดันบัตรนี้แหละ ต่อให้บังคับใช้กฎหมายก็ต้องทำ กทม.เอง เราควรให้ทุกขนส่งที่เรากำกับดูแล ยอมรับในตัวแมงมุม สัญญาต่อจากนี้ไปต้องมีว่า ถ้ามีบัตรแมงมุมมา ผู้ประกอบการต้องเอามาใช้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน”

[ เบอร์ 11 ศิธา ทิวารี ]

“ข้อมูลทุกอย่างเราสามารถบรรจุในบัตรประชาชนได้ไหม (หมายถึงใช้บัตรประชาชนที่เป็นสมาร์ทการ์ด แทนบัตรแมงมุมไปเลย) แล้วการใช้บัตรประชาชนแบบที่อัจฉริยะแล้วเนี่ย ทุกวันนี้ก็ยังต้องเอาบัตรไปซีรอกซ์ทั้งหน้าและหลัง มันไม่ใช่แล้ว”

“ขั้นที่สองคือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม. คุยกับรถไฟฟ้าเจ้าเดียว คุณยังคุยกันไม่จบเลย ตรงนี้ต้องการความเป็นผู้นำ ที่จะสามารถเข้าไปจัดการได้อย่างแท้จริง แล้วจะคิดแบบ 1+1 เป็น 2 ไม่ได้ คุณต้อง Make the thing done หรือทำอย่างไร ให้ปัญหามันจบให้ได้ ผมเข้าไปผมทำให้จบได้”

“แต่ถามว่ายากไหม ก็ยาก เพราะทุกคนต้องมีระบบที่ตัวเองเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แต่ถามว่าทำได้ไหม ทำได้”

15) บทสรุปของเรื่องนี้ จะเห็นว่า แต่ละผู้สมัคร ก็มีแนวทางของตัวเอง บางคนจะผลักดันให้มีกฎหมายมาเพื่อให้ BTS ยอมเข้าร่วมกับบัตรแมงมุม บางคนบอกว่าควรจะเปลี่ยนรถไฟฟ้าสีเขียวให้กลายเป็นของรัฐไปเลย

ในข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องตั๋วร่วม เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ของภาครัฐ และอาจเกินอำนาจผู้ว่าฯ กทม. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนคาดหวังคือ ผู้ว่ากทม. คนใหม่ จะใช้ทักษะอย่างไร ในการประสานปัญหาที่ค้างคาทั้งกับ BTS และ รฟม. ให้ลุล่วงไป และทำให้ “ตั๋วร่วม” เกิดได้จริงๆ เสียที

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า