SHARE

คัดลอกแล้ว

Metaverse ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป หลังโลกเสมือนที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งจากบุคคลทั่วไปและภาคธุรกิจ

ล่าสุดตอนนี้ อะไรก็ตามที่พ่วงท้ายด้วยคำว่า ‘Metaverse’ หรือ ‘verse’ จะดูล้ำขึ้นมาทันทีแบบไม่มีเหตุผล

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า Metaverse จะช่วยสร้างมูลค่าแก่ธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของเราได้มากขนาดไหน แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2567 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ตลาดนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 28 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

ความเป็นไปได้ที่จะมีเงินสะพัดใน Metaverse สูงอย่างที่คาดการณ์กันก็ค่อนข้างสูง เพราะหลายบริษัทระดับโลก เช่น Meta (Facebook) หรือ Microsoft ก็มีความพยายามจะสร้างโลกเสมือนของตัวเองขึ้นมาเช่นกัน ในฐานะอนาคตของธุรกิจ

แต่รู้หรือไม่ว่าในโลก Metaverse อาจมีความเสี่ยงที่กำลังรอเราอยู่ แต่ความเสี่ยงนั้นคืออะไร และเราต้องระวังตัวอย่างไรบ้าง TODAY Bizview จะมาสรุปให้ฟัง

[ รู้จัก Stephenson ผู้สร้าง Metaverse เมื่อ 30 ปีก่อน ]

ปูพื้น Metaverse 101 คำว่า ‘Metaverse’ ถูกใช้ครั้งแรกในนิยายเรื่อง Snow Crash ของ Neal Stephenson ที่ตีพิมพ์ในปี 2535

ในนิยายดังกล่าว Metaverse เป็นโลกเสมือนที่ผู้คนเข้าไปสร้างตัวตนและใช้ชีวิตอยู่ เพราะโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ได้น่าอยู่ ซึ่งหลังจาก Metaverse ของ Snow Crash ก็มีการสร้างโลกเสมือนที่คล้ายกันออกมาในนิยายเรื่องอื่นๆ

กลับมาที่ยุคปัจจุบัน มีความพยายามสร้าง Metaverse ให้เป็นจริงด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้เราสร้างระบบเศรษฐกิจในโลกเสมือนนี้ได้ โดยมีคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นสื่อกลางการใช้จ่ายแทนเงินตรา

ส่วนของใช้หรือสินค้าต่างๆ ใน Metaverse จะถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบ Non-Fungible Token หรือ NFT ถ้าแปลตรงตัวก็คือเหรียญที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอก ทำให้แสดงความเป็นเจ้าของในสินค้านั้นๆ ได้

[ โอกาสของ Metaverse กับระบบเศรษฐกิจ ]

ปัจจุบันนักพัฒนากำลังสร้างโลก Metaverse ขึ้นมาหลายแห่ง เมืองที่เปิดให้เข้าได้แล้วและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ The Sandbox กับ Decentraland

ส่วนนักพัฒนาคนไทยก็กำลังสร้างโลก Metaverse ขึ้นเช่นกัน อาทิ Metaverse Thailand, Velaverse, T-Verse, Jakaverse และ Translucia เป็นต้น

การซื้อที่ดิน (Virtual Land) ในโลก Metaverse จะทำให้ผู้ซื้อได้สิทธิในการเปิดร้านใน Metaverse นั้นๆ ซึ่งการเปิดร้านอาจจะหมายถึงการเปิดร้านขายของที่เป็น NFT การสร้างเกมให้คนเข้ามาเล่น หรือการจัดกิจกรรม PR ต่างๆ

นอกจากนี้ ผู้ซื้อ Virtual Land อาจซื้อไว้เพื่อขายต่อในราคาที่สูงขึ้นก็ได้

ภาคธุรกิจอาจใช้ประโยชน์จาก Metaverse ในการ 1. ทำ PR/Marketing เพื่อหาลูกค้าใหม่ๆ 2. สร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าที่มีอยู่แล้ว และ

3. ใช้ประโยชน์จากบล็อกเชนเพื่อสร้างสินค้าใหม่ๆ หรือ ทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เช่น ขาย NFTs (อาทิ เครื่องประดับและวัตถุที่ใช้ในโลกเสมือน งานศิลปะ) สร้างเกม Play-to-Earn ขาย Virtual Land เป็นต้น

หากโลก Metaverse เติบโตขึ้นได้จริงน่าจะมีการจ้างงานประเภทใหม่ๆ ได้อีกมากมาย เช่น นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้จัดงานในโลก Metaverse วิศวกรบล็อกเชน

[ Facebook ต้นเหตุฟองสบู่ Metaverse ]

มาถึงความเสี่ยงกันบ้าง ในช่วงปลายปี 2564 ผู้คนค่อนข้างตื่นเต้นและตื่นตัวมากจากการประกาศรีแบรนด์ของ Facebook หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก

เพราะ Facebook ยอมทิ้งชื่อเก่าที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.2 ล้านล้านบาท และแนะนำตัวกับโลกด้วยชื่อใหม่ว่า ‘Meta’

สาเหตุที่ต้องเป็น Meta ก็เพื่อสะท้อนแนวทางของบริษัทต่อจากนี้ที่จะมุ่งเน้นเรื่อง Metaverse อีกทั้ง Meta ยังมีความหมายว่า ‘เหนือไปกว่า’ หรือ ‘ไกลไปกว่า’ ในภาษากรีกอีกด้วย

ผลการศึกษาของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) พบว่า ปรากฏการณ์นี้ทำให้ราคาราคาที่ดินใน Metaverse พุ่งแรงกว่า 300 เท่า ก่อนทยอยปรับลง

สะท้อนว่าที่ผ่านมาความคาดหวังจากข่าวบวก Facebook รีแบรนด์เป็น Meta ได้ผ่านจุดพีคไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ความเฟ้อของราคาที่ดินที่พุ่งหลายร้อยเท่าตัวนั้น เป็นราคาที่แปลงเป็นค่าเงินดอลลาร์มา แต่หากดูความเฟ้อของราคาด้วยเหรียญแซนด์ (SAND) ซึ่งเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ใน The Sandbox ราคาเหรียญจะเพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่า เท่านั้น

ดังนั้น ถ้าเราเป็นคนในโลกเสมือนนี้ กล่าวคือ เป็นประชาชนใน The Sandbox ใช้สกุลเงิน SAND อยู่แล้ว ราคาที่ดินอาจถือว่าไม่แพง เพราะปรับตัวขึ้นเพียง 3 เท่า แต่คนที่อยู่ข้างนอกที่จะเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจนี้ต่างหากที่จะถูกกระทบจากความเฟ้อของราคา

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า Metaverse แต่ละแห่ง ก็เปรียบเสมือนประเทศๆ หนึ่ง หากเราไปเที่ยวที่ประเทศที่ค่าเงินอ่อนกว่าประเทศตัวเอง เราก็จะรู้สึกว่าเรารวยเพราะของถูก แต่หากเราไปเที่ยวในประเทศที่ค่าเงินแข็งค่ากว่า เราก็จะรู้สึกว่าตัวเองจนเพราะของแพง

แต่ถึงแม้ราคาที่ดินใน Metaverse จะเพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่าเมื่อซื้อขายด้วยเหรียญ SAND แต่เมื่อเปรียบเทียบกับความเคลื่อนไหวของราคาที่ดินที่อยู่นอกโลกบล็อกเชนแล้ว การปรับขึ้นกว่า 3 เท่าภายใน 1 ปีก็ยังถือเป็นระดับที่สูงมาก

[ ที่ดินโลกเสมือนแพงกว่าสีลม 140 เท่า ]

การซื้อขายที่ดินในโลก Metaverse ได้รับความนิยมอย่างมาก สะท้อนจากรายงานข่าวที่ออกมาต่อเนื่องว่าราคาที่ดิน 1 แปลงเคยซื้อขายกันด้วยราคาหลักร้อยล้านเลยที่เดียว

ยกตัวอย่างราคาที่ดินใน The Sandbox ที่ 1 แปลงเคยซื้อขายกันสูงสุดที่ 4.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 140 ล้านบาทเลยทีเดียว สูงกว่าราคาที่ดินบนถนนสีลมซึ่งเป็นทำเลที่แพงที่สุดในกรุงเทพฯ ถึง 140 เท่า

อีกหนึ่ง Metaverse ที่ได้รับความนิยมอย่าง Decentraland ราคาที่ดินเคยพุ่งสูงสุดที่ 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 115 ล้านบาท

นอกจากความร้อนแรงของราคาที่ดินที่พุ่งขึ้นในระยะเวลาอันสั้น อีกหนึ่งความเสี่ยงให้เกิดภาวะฟองสบู่แตก คือการที่ที่ดินในโลก Metaverse สามารถสร้างได้แบบไม่จำกัด ใครๆ ก็สร้างได้

แตกต่างจากที่ดินในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น สาทร หรือสีลม ฯลฯ ที่มีเพียงแห่งเดียว ไม่สามารถสร้างใหม่ได้

[ นักลงทุนฟันกำไรสูงสุดกว่า 670 เท่า]

จากผลการศึกษายังพบว่า กำไรจากเงินลงทุนที่นักลงทุนจะได้เมื่อซื้อที่ดินในโลก Metaverse ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 2 เท่า แต่ค่าเฉลี่ยจากข้อมูลทั้งหมดจะอยู่ที่ 25.03 เท่า

แต่คนที่ได้กำไรจากการลงทุนสูงสุด ทำได้ถึง 673.83 เท่าเลยทีเดียว ซึ่งคาดว่าคนกลุ่มนี้น่าจะเข้าซื้อที่ดิน Metaverse ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น และมาขายทำกำไรในช่วงที่โลกเสมือนบูม

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตสำคัญว่า จากข้อมูลที่เผยแพร่เราไม่สามารถทราบได้ว่ามีการปั่นหรือสร้างราคาอันเกินจริงหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการเกิดขึ้นของ Metaverse เมืองใหม่ๆ อาจทำให้ราคาของที่ดินในเมืองที่สร้างมาก่อนปรับลดลง และราคาที่ดินที่สูงเกินไปอาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดฟองสบู่แตกได้

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทุกสินทรัพย์บนโลกนี้ล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่ได้ทั้งสิ้น แต่ที่แตกต่างกับฟองสบู่ Metaverse คือ เมื่อความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว เราสามารถมองเห็นมันได้ชัดเจนมากน้อยแค่ไหน

ในโลก Metaverse ด้วยข้อมูลที่อยู่บนบล็อกเชน เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เราเห็นความเสี่ยงได้ชัดเจนมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ที่ เมื่อเกิดภาวะฟองสบู่ในโลกเสมือนแล้ว จะมีคนอยู่ 2 ประเภท คือ

1. คนที่กลัวและไม่กล้าเข้าไปเกี่ยวข้อง และ 2. คนที่รู้ว่าเป็นฟองสบู่ แต่อยากจะเข้าไปเก็งกำไร เพราะคิดว่าหากออกมาเร็วก็ไม่เป็นปัญหา ซึ่งกลุ่มหลังอาจเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดภาวะฟองสบู่แตกได้

อยากชวนทุกคนลองคิดดูว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เคยมีอะไรบ้างที่ราคาพุ่งขึ้นกว่า 300 เท่าในระยะเวลา 1-2 ปี ซึ่งน่าจะตอบคำถามได้ดีที่สุดว่า Metaverse ตอนนี้ กำลังเผชิญภาวะอะไรอยู่

ที่มา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า