SHARE

คัดลอกแล้ว

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไวรัลแคมเปญที่เป็นกระแส และถูกพูดถึงในโลกโซเชียลมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘จดหมายถึงคนธรรมดา จากห่านคู่’

แคมเปญทางการตลาดแสนเรียบง่ายแต่กินใจคนรุ่นใหม่ จนทำให้แบรนด์อื่นๆ พากันออกจดหมายถึงคนธรรมดาล้อไปกับแบรนด์ห่านคู่ รวมๆ แล้วน่าจะมากกว่าสิบฉบับ

แต่ทำไมการเป็นคนธรรมดาจึงกลายเป็นความพิเศษที่คนรุ่นใหม่โหยหา

คนเก่ง ร่ำรวย มีหน้ามีตาในสังคม ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดอีกต่อไปแล้วหรือเปล่า

แรงขับแบบไหนที่ทำให้คนธรรมดาเป็นสิ่งล้ำค่าในยุคสมัยนี้ TODAY Bizview จะพาไปสำรวจอินไซต์ของคนรุ่นใหม่ ในวันที่สังคมถามหาความสำเร็จจากพวกเขากัน

[ คนกลางๆ คือคนส่วนใหญ่ในสังคม ]

ชีวิตสวยหรูในอินสตาแกรม (Instagram) ความสำเร็จของอายุน้อยร้อยล้านในยูทูบ (YouTube) ภาพที่ใกล้ตาเราเช่นนี้ทำให้เราเข้าใจไปว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมคือคนเก่ง ประสบความสำเร็จกันตั้งแต่อายุน้อยๆ มองว่ารูปแบบการใช้ชีวิตแบบนี้เป็นค่ามาตรฐานของสังคมไปแล้วหรือไม่

แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป หากมองสังคมเปรียบเสมือนองค์กรแห่งหนึ่ง การเป็น ‘ที่สุด’ หรือ ‘Top Performance’ ก็หมายถึงการเป็นที่หนึ่ง

เมื่อมีอันดับสูงสุดนั่นแปลว่าต้องมีลำดับที่ 2, 3, 4 ฯลฯ ตามมาอีกมากมาย

ความหมายก็คือ การเป็น ‘ที่สุด’ จึงไม่ใช่ค่ากลางหรือคนส่วนใหญ่ในสังคม และการทำงานจะสำเร็จไม่ได้เลยหากขาด ‘คนกลางๆ’ ไป

พอล ไวต์ นักจิตวิทยา จากสหรัฐอเมริกา ให้คำอธิบายถึงคนที่มีความสามารถกลางๆ ไว้ว่า ให้เราลองจินตนาการโครงสร้างการทำงานเป็นเส้นโค้งดู ทุกคนในทีมต่างก็อยู่ตรงไหนสักแห่งบนนั้น หากขาดคนใดคนหนึ่งไป ขอบโค้งมนที่เชื่อมร้อยกันก็คงไม่สามารถเรียงต่อไปจนถึงจุดสิ้นสุดได้

ความสำเร็จจึงไม่ได้เกิดจากคนเก่งไม่กี่คนเท่านั้น แต่คนธรรมดาที่มีความสามารถกลางๆ ก็เป็นส่วนสำคัญที่พาทีมเข้าใกล้ความสำเร็จได้เหมือนกัน

เหมือนกับจิ๊กซอว์ที่ขาดไปสักชิ้นก็ไม่สมบูรณ์ เหมือนกับทีมฟุตบอลที่ต้องมีครบทุกตำแหน่ง บางครั้ง คนดูที่อยู่รอบนอกอาจให้ความสนใจไปที่ดาวเด่นอย่างคนทำประตูมากกว่า

แต่เบื้องหลังกว่าที่ลูกฟุตบอลจะถูกส่งต่อไปใกล้ประตูฝั่งตรงข้ามได้ ล้วนต้องใช้ความพยายาม และ ‘ทีมเวิร์ก’ จากทุกคน จนเกิดเป็นความสำเร็จให้คนอื่นๆ ชื่นชมนั่นเอง

[ ไม่มีความสำเร็จครั้งไหนอยู่กับเราไปตลอด ]

แม้การเป็นคนกลางๆ จะมีข้อดีมากมายตามที่นักจิตวิทยาบอก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเราก็อยากไปให้ถึงจุดที่ประสบความสำเร็จมากๆ ได้เป็น ‘Top Performance’ ดูบ้าง ก็คงจะให้ทำให้คนรอบข้างยอมรับเราในฐานะบุคคลผู้ซึ่งประสบความสำเร็จคนหนึ่งในสังคมได้เหมือนกัน

แต่รู้หรือไม่ว่า คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยกลับต้องพบเจอกับสิ่งที่เรียกว่า ‘Top Performance Curse’ หรือ ‘The Talent Curse’ คือ คำสาปของคนที่เคยทำงานได้มาตรฐานสูง และไม่สามารถรักษาระดับความเก่งไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง

ภาวะเช่นนี้เกิดจากการที่คนคนหนึ่งไปถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากสังคมว่ามีความสามารถแล้วเรียบร้อย แต่สิ่งที่มาเขย่าและแปรสภาพให้กลายเป็นคำสาปในท้ายที่สุด ก็คือความคาดหวังจากตนเองและคนรอบข้าง

บทความจากเว็บไซต์ Harvard Business Review อธิบายว่า สภาวะนี้เกิดจากกลไกทางจิตวิทยาสองข้อ คือ การทำให้ความสำเร็จเป็นภาพในอุดมคติ (Idealization) และการประทับตราความสำเร็จเป็นส่วนหนึ่งของตัวตน (Identification)

เมื่อถึงจุดที่ไม่อาจรักษามาตรฐานเดิมไว้ได้ จึงทำให้ผู้คนวิตกกังวล หวาดกลัว กลับมาตั้งคำถาม สงสัยเคลือบแคลงในความสามารถตัวเอง ยิ่งตกอันดับเร็วเท่าไร ก็ยิ่งสร้างบาดแผลให้ร้าวลึกเท่านั้น

กรณีศึกษาในบทความนี้ได้เปรียบเทียบไว้ว่า “มันเหมือนกับการตกจากทางด่วนที่ขาไปฉันออกตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผ่านไปไม่นานก็ถูกดีดออกมาเสียแล้ว”

การแข่งขันที่ไม่มีจุดจบ ความสำเร็จที่ไม่มีเพดาน ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความรู้สึกอ่อนล้า หมดแรง เหนื่อยกับการเร่งฝีเท้าเพื่อวิ่งเข้าสู่ลู่ ‘fast track’

แต่การค่อยๆ ไปอย่างช้าๆ โฟกัสแค่ตัวเองมากกว่าคนรอบข้างต่างหากที่จะทำให้เกิดสมดุลชีวิตได้ นำมาสู่แนวคิดที่เรียกว่า ‘Late Bloomer’ เติบโตช้าๆ ค่อยๆ บานสะพรั่งอย่างมั่นคง

[ Late Bloomer – ชีวิตที่ไม่ต้องเร่งรีบประสบความสำเร็จ ]

Late Bloomer คือคำอธิบายถึงคนที่อาจจะเติบโตช้ากว่าคนอื่นๆ แต่ไม่ได้แปลว่า จะไม่ประสบความสำเร็จ

คนกลุ่มนี้เปรียบเหมือนกับดอกไม้บานสะพรั่งที่อาจต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะสักหน่อย แต่ที่สุดแล้ว พันธุ์ไม้เหล่านี้ก็จะผลิดอกออกผลเข้าในสักวัน

ก็เหมือนกับคนเราที่ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามรูปแบบความสำเร็จของใคร เราอาจเห็นคนรอบข้างที่อายุใกล้เคียงกันเติบโตในหลายๆ พาร์ตของชีวิตไปไกลมากแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้การันตีว่า เส้นทางเหล่านั้นจะกลายเป็นพิมพ์เขียว หรือสูตรสำเร็จของคุณไปด้วย

ในทางกลับกัน แม้จะเดินช้ากว่าสักหน่อย แต่ถ้าเดินไปอย่างมั่นคงในทุกๆ ฝีก้าว ทำความรู้จักกับตัวเองได้ดีพอ ช้าๆ ค่อยๆ ไป เพราะความสำเร็จไม่เหมือนกัน อาจเป็นช่วงเวลาที่เราได้สำรวจตัวเองอย่างถี่ถ้วน ดีกว่าก้าวพลาดเพราะรีบตามคนอื่น แม้จะถึงช้าแต่ก็ได้ไปถึงปลายทางที่ต้องการ

เพราะสุดท้ายแล้ว เราเองก็เป็นดอกไม้ที่สวยงาม และบานสะพรั่งในฤดูกาลที่เหมาะสมได้ไม่ต่างจากช่ออื่นๆ เลย

ที่มา:

https://www.bbc.com/worklife/article/20210921-why-hard-work-alone-isnt-enough-to-get-ahead

https://hbr.org/2017/05/the-talent-curse

https://www.gallup.com/workplace/231587/millennials-job-hopping-generation.aspx

https://www.psychologytoday.com/us/articles/200811/confessions-late-bloomer

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า