Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

คนที่ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับ Stablecoin ในฐานะเหรียญที่มูลค่าดูมีแนวโน้มจะ ‘คงที่’ มากกว่าเหรียญประเภทอื่นๆ รวมถึงบิตคอยน์

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นบทเรียนครั้งใหญ่กับเหล่าเทรดเดอร์ในตลาดคริปโตฯ ว่า ไม่มีเหรียญอะไรที่มีมูลค่า ‘คงที่’ อย่างแท้จริง

แต่สาเหตุเกิดจากอะไร ทำไม Stablecoin จึงไม่ Stable อีกต่อไป วันนี้ TODAY Bizview จะมาสรุปให้ฟัง

[ จุดเริ่มต้นของหายนะ UST หลุด Peg ]

เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในคืนวันที่ 9 พ.ค. 2565 เมื่อ TerraUSD (UST) หลุดการตรึงมูลค่า (Peg)

ร่วงต่ำกว่าระดับ 0.99 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก จากปกติจะแกว่งอยู่แถวๆ 0.99-1.00 ดอลลาร์มาโดยตลอด

หลังจากหลุด Peg แล้ว UST ยังอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ โดยปรับลงทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.2998 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา แทบไม่เหลือมูลค่า

ในวันเดียวกัน Do Kwon หนึ่งในผู้สร้าง UST ทวีตข้อความว่า โดยสรุปใจความได้ว่า เขาจะอยู่กับทุกคนเพื่อสร้างมันขึ้นมาใหม่ จะไม่หนีไปไหน

วิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นคือต้องสร้าง (Mint) เหรียญ LUNA ออกมาเพื่อตรึงราคา และช่วยให้ UST กลับไป Peg ที่ 1 เหรียญได้เหมือนเดิม

เขาให้เหตุผลว่าการที่ UST หลุด Peg และราคาร่วงลงแรงในครั้งนี้ มาจากที่มีคน Exit จากเหรียญ หรือย้าย (Swap) ไปเป็นเหรียญอื่นมากเกินไป

วิธีการแก้ไขปัญหาของเขาทำให้ปริมาณ (Supply) ของ LUNA เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวจาก 715 ล้านโทเคน มาเป็น 2,900 ล้านโทเคน เพราะ UST ถูก Peg มูลค่าบางส่วนไว้กับ LUNA

หากปัญหานี้จบลง Do Kwon มีแผนจะปรับกลไกสินทรัพย์ค้ำประกัน

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าสภาพคล่องใน Pool ของ UST อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำราว 1.38 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.8 แสนล้านบาท แต่มีเงินที่เตรียมไหลออก (Exit Liquidity) สูงถึง 531 ล้านเหรียญ หรือราว 1.8 หมื่นล้านบาท

[ ปิดฉาก LUNA อดีตคู่เหรียญอนาคตไกล ]

นอกจากกรณี UST แล้ว เหรียญคู่สร้างคู่สมอย่าง LUNA ก็ปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (5-13 พ.ค.) จากระดับ 86 ดอลลาร์ ปัจจุบันมูลค่าลดลงต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 0.00003 (ณ 16.30 น. วันที่ 13 พ.ค. ประเทศไทย) โดยมีจุดต่ำสุดที่ 0.00000112 ดอลลาร์

ส่วนสาเหตุ เริ่มแรกนักลงทุนคาดว่าเป็นการปรับลงตามบิตคอยน์ (BTC) แต่เหตุผลที่แท้จริงมาจากความเกี่ยวเนื่องกันระหว่าง LUNA กับ UST เมื่อ UST ราคาลงหนัก Terra Protocol บริษัทผู้สร้างเหรียญทั้ง 2 (UST และ LUNA) ก็จะทำการเผา (Burn) UST และขุด LUNA ออกมาเพิ่ม

เหตุการณ์นี้ทำให้ Terra ประกาศหยุดระบบบล็อกเชนเพื่อลดผลกระทบจากการโจมตีระบบในคืนที่ผ่านมา (ราว 00.00 น.) ก่อนจะกลับมาเดินระบบต่ออีกครั้งในชั่วโมงถัดมา (ราว 01.00 น.)

อย่างไรก็ตาม ราคาของ LUNA จะดิ่งลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ Binance ต้องระงับการซื้อขาย LUNA ชั่วคราว ก่อนประกาศถอดเหรียญออกจากกระดาน ไล่ตั้งแต่โหมดฟิวเจอร์สและโหมดมาร์จิ้น และถอดคู่เหรียญ LUNA/UST ออกจากกระดานเทรดอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 พ.ค.

เหตุการณ์ในครั้งนี้เลวร้ายถึงขั้นที่ทำให้นักลงทุนหลายคนต้องหมดตัวภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ และทำให้ Do Kwon หนึ่งในผู้สร้างเหรียญ LUNA ต้องขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเกาหลีใต้ให้มาคุ้มครองจากกลุ่มนักลงทุนที่ไม่หวังดีที่บุกมาถึงที่พัก

วิกฤต Stablecoin ยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อนักลงทุนเกิดความกังวลว่า Stablecoin ตัวอื่นๆ ที่ใช้ระบบอัลกอริทึม (Altcoin: Algorithmic Stablecoin) จะพบจุดจบแบบเดียวกันกับ UST เช่น เหรียญ TRON (TRX) ที่ราคาปรับลงราว 10% เป็นต้น

[ ‘บิตคอยน์’ ไม่รอด ร่วงต่ำกว่า 1 ล้านบาท ]

ส่วนสถานการณ์ของบิตคอยน์ (BTC) ที่ได้ชื่อว่าเป็น Pure Cryptocurrency วานนี้ (12 พ.ค.) ราคาปรับลงหลุด 1 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน โดยทำจุดต่ำสุดที่ 900,100.10 บาทบนกระดาน Bitkub ลดลงกว่า 50% จากจุดสูงสุด

การปรับลงครั้งนี้คาดว่าเป็นเซนติเมนต์เชิงลบจากกรณีของ UST และ LUNA รวมถึงผลกระทบจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือน เม.ย.ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 8.3% เช่นเดียวกับอีกหลายๆ เหรียญในตลาดที่ปรับตัวลงมากกว่า 30-50%

ขณะที่ Bank of America ระบุในบทวิเคราะห์ล่าสุดว่า บิตคอยน์ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ที่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้อีกต่อไป

เพราะหลัง Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ บิตคอยน์กลับปรับลงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐและสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ทั่วโลก เพราะนักลงทุนกังวลว่าการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยพร้อมกับลดขนาดงบดุล (QT) อาจกระทบสภาพคล่องในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงตลาดคริปโตฯ

[ Attacker ได้เงินจากการโจมตี 2.8 หมื่นล้าน ]

หายนะที่เริ่มต้นจาก UST หลุด Peg ทำให้หลายคนในคอมมูนิตี้เริ่มสืบหาตัวผู้ร้ายที่คาดว่าเป็น ‘ผู้โจมตี’ (Attacker) หรือ ‘วาฬ’ (Whale) ในครั้งนี้

บางส่วนคาดว่าเป็นฝีมือของผู้สร้างเหรียญ Stablecoin ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานมานี้ เพราะเจ้าตัวเคยทวีตเกี่ยวกับการเข้าซื้อเหรียญ UST แถมบอกอีกว่าอาจจะมีแผนลับ อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น

ส่วนอีกกระแสหนึ่งคาดว่า Terra เองเป็นผู้เปิดช่องโหว่ให้ Attacker โจมตีได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่ที่ Luna Foundation Guard (LFG) ของ Terra เข้าซื้อบิตคอยน์เป็นจำนวนมากเพื่อเป็นสินทรัพย์อ้างอิงให้แก่ UST

อีกช่องโหว่หนึ่งเกิดจาก 4Pool ซึ่งเป็น Liquidity Pool ที่เปิดจากความร่วมมือระหว่าง Stablecoin 4 เจ้า คือ UST, USDT, USDC และ FRAX

โดยคาดว่าวิธีการที่ Attacker ใช้ คือเริ่มจากยืม (Short) บิตคอยน์จำนวน 1 แสน BTC ที่ราคาราว 42,000 ดอลลาร์ ในขณะเดียวกันก็ถอน UST ออกมาเป็นจำนวน 1 พันล้านเหรียญ ส่งผลให้เกิดการแห่ถอนเงินจนล่ม (Bank Run) และ UST หลุด Peg

มาถึงจุดนี้ LFG ต้องเทขายบิตคอยน์ที่มีออกเมื่อเพื่อทำให้ UST กลับไปสู่ระดับที่ต้องการ Peg ระหว่างนี้ส่งผลให้บิตคอยน์ร่วงเหลือ 29,000 ดอลลาร์

นอกจากนี้ คาดว่า Attacker รายเดียวกันน่าจะเปิดสถานะ Short ใน LUNA ด้วย ตีกลมๆ คาดว่า Attacker ท่านนี้จะได้กำไรจากการโจมตีดังกล่าวราว 800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.8 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

[ ‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ย โดมิโน่ตลาดคริปโต ]

ด้าน ‘ปรมินทร์ อินโสม’ ผู้ก่อตั้ง Satang กล่าวว่า ‘ตลาดคริปโตฯ ตอนนี้เข้าสู่ช่วงตลาดหมี (Bear Market หรือตลาดในช่วงที่ซึมลง) อย่างแท้จริง ซึ่งส่งสัญญาณมาตั้งแต่ต้นปี

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ราคาบิตคอยน์ตกลงไปต่ำกว่า 1 ล้านบาท เกิดจากแรงกดดันตลาดแพนิคทั้งจากวิกฤตของเหรียญ Stablecoin UST และ LUNA ที่ส่งผลให้เหรียญในกลุ่ม DeFi และ Stablecoin รวมทั้งเหรียญอื่นก็ถูกเทขายออกมา

สิ่งที่กดดันมากขึ้นคือธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่คงต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะตัวเลข ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI: Consumer Price Index) ซึ่งใช้เพื่อคำนวณอัตราเงินเฟ้อ เร่งตัวขึ้นแตะ 8.3% ในเดือน เม.ย. มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 8.1% และใกล้ระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี

คาดว่าปัจจัยลบจากการที่ Fed ต้องต่อสู้กับวิกฤตเงินเฟ้อนั้น ยังคงอยู่ไปอีกอย่างน้อย 3-4 เดือนต่อจากนี้ ย่อมกดดันให้คริปโตเคอร์เรนซียังสามารถลงไปทดสอบระดับล่างได้อีก

‘มองว่าทางเทคนิคบิตคอยน์และเหรียญ Altcoin อื่นๆ อยู่ในขาลง และคงไม่จบใน 1 ถึง 2 สัปดาห์นี้ อาจยืดยาวไป 1 ถึง 2 เดือนเป็นอย่างน้อย ราคาของบิตคอยน์อาจเคลื่อนไหวไปมาในช่วงกว้างๆ ระหว่าง 32,000-25,000 ดอลลาร์อยู่หลายสัปดาห์จากนี้ อยากเตือนนักเทรดว่าตอนนี้อย่าใช้อารมณ์ในการเทรด ต้องมีสติ และบริหารการเงินให้ดี’

ส่วน ‘สรัล ศิริพันโนน’ ซีอีโอ Satang Corporation กล่าวว่า เวลานี้ การจะมองหาว่าเหรียญหรือสินทรัพย์ใดเป็น Safe-haven อาจจะยากอยู่สักหน่อย แน่นอนว่าเมื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกำจัดอัตราเงินเฟ้อ ย่อมทำให้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ทองคำ คริปโตฯ อยู่ในภาวะกดดัน คือ ไม่ขึ้น หรือลงมาอีกในช่วง 4-5 เดือนนี้

เมื่อสินทรัพย์แทบทุกชนิดถูกเทขาย (ยกเว้นน้ำมันกับก๊าซที่ยังขาขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนี้) เงินก็จะไหลกลับมาที่เงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) อีก เพราะการที่ USD แข็งค่าขึ้น แสดงว่าไม่มีทรัพย์สินอื่นน่าสนใจลงทุน

[ กฎหลัก 2 ข้อ ต้องถามตัวเองก่อนลงทุน ]

จากเหตุการณ์นี้เขาอยากฝากข้อคิดว่า ก่อนจะลงทุนควรต้องตั้งคำถามกับตัวเอง 2 ข้อ คือ 1. สินทรัพย์ที่จะลงทุนจะลงไปได้มากที่สุดขนาดไหน (Maximum Drawdown) และ 2. อีกยาวนานแค่ไหนที่สินทรัพย์นั้นจะเริ่มกลับมาฟื้นอย่างมีนัยสำคัญ

คนส่วนใหญ่มักคิดถึงแต่ประเด็นข้อ 1 แต่ลืมถามข้อ 2 เรื่องที่เกี่ยวกับเวลาในการถือครองทรัพย์สินระหว่างขาลงยังไม่จบจนกลับมาขาขึ้นเป็นกำไร อย่าลืมว่าระยะเวลาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงต้นทุนของการได้หรือเสียโอกาสที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น อย่าถือสินทรัพย์ทั้ง 100% อย่าทุ่มการลงทุนไปในสินทรัพย์กลุ่มเดียว ควรมีเงินสดไว้ด้วย เพราะสินทรัพย์ช่วงนี้มีโอกาสที่ราคาจะผันผวนสูง อย่าพยายามสร้างหนี้สินเพิ่ม และไม่ควรกู้เงินมาลงทุนเด็ดขาด

‘สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์เสี่ยงสูง ควรศึกษาหาความรู้ให้เข้าใจ เทรดแบบมองข้อมูลเชิงพื้นฐานและศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้วยเพื่อป้องกันความเสี่ยง ที่สำคัญคือต้องใช้สติและวิจารณญาณในการลงทุน’

สุดท้ายก่อนจบบทความ ทราบว่ามีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่สูญเสียเงินเก็บทั้งหมด ไปจนถึงกระแสข่าวที่มีนักลงทุนบางท่านเลือกจบชีวิตตัวเองในวิกฤตครั้งนี้ ขอส่งกำลังใจให้ทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้

ที่มา

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า